เอไอจีและเอไอเอความเชื่อมั่นที่ซื้อไม่ได้

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ดูเหมือนว่า เอไอจีจะเป็นสถาบันการเงินแรกของสหรัฐอเมริกาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดดเข้าไปอุ้มหลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์ ประกาศล้มละลายเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินให้กับบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ (AIG) มูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา หลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์ ประกาศล้มละลายได้เพียง 1 วัน (15 กันยายน 2551)

เงินกู้จำนวนดังกล่าวทำให้เฟดเข้า ไปถือหุ้น 79.9% ตามกฎหมาย Section 13 (3) of the Federal Reserve Act เพื่อให้เอไอจีมีสภาพคล่องทางด้านการเงิน และเงินกู้นี้มีเงื่อนไขชำระคืนภายในเวลา 24 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรฐาน Libor ประเภทสามเดือนที่ 8.50%

ทันทีที่มีข่าวเอไอจีทำให้ลูกค้าของบริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (เอไอเอ) บริษัทประกันชีวิต ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเอไอจีวิตกกังวลโดยเฉพาะกลุ่มเอไอเอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้บริการประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุด

ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เอไอเอให้บริการประกันชีวิตเป็นอันดับ 1 ที่มีผู้ถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตมากกว่า 4.6 ล้านฉบับ หากรวมกรมธรรม์ประกันภัย อุบัติเหตุ และสุขภาพจะมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับมากกว่า 5.8 ล้านฉบับ

นอกจากธุรกิจประกันชีวิตและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว บริษัทยังให้บริการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ ประกันสินเชื่อ ประกันภัยกลุ่ม โครงการออมทรัพย์รายเดือนและสินเชื่อเคหะ

เอไอเอผู้ให้บริการประกันชีวิตในประเทศไทยมา 70 ปีถูกสั่นคลอนจาก ความเชื่อมั่นของลูกค้า เมื่อมีข่าวออกมาจากต่างประเทศ แผนกคอลเซ็นเตอร์ของเอไอเอต้องทำงานอย่างหนัก

ยิ่งกว่านั้นต้องชี้แจงตัวแทน 80,000 คน ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเอไอเอ

จากความไม่เชื่อมั่นของลูกค้า ทำให้ผู้บริหารเอไอเอตัดสินใจแถลงข่าวอย่างต่อเนื่อง ครั้งแรกวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา นำทีมโดยโทมัส เจมส์ ไวท์ รองประธานบริหารระดับสูงและผู้จัดการทั่วไปเอไอเอ ยืนยันสถานะทางด้านการเงินว่า บริษัทมีสินทรัพย์รวม 380,307 ล้านบาทและมีเงินสำรองประกันภัย 271,814 ล้านบาท โดยอ้างว่าสูงเป็นอันดับ หนึ่งของธุรกิจและมีเงินสำรองประกันภัยตามราคาประเมิน 286,674.28 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เอไอเอในประเทศไทยพยายามชี้ให้เห็นว่าสินทรัพย์ของเอไอเอคิดเป็นร้อยละ 1.036 ของสินทรัพย์รวมของเอไอจีเท่านั้น

นอกจากธุรกิจเอไอเอที่มีอยู่ในประเทศไทย ยังมีธนาคารเอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อรายย่อย บริษัท นิวแฮมเชอร์ อินชัวรันส์ ให้บริการประกันวินาศภัย

สถานการณ์เพื่อรอผู้ถือหุ้นรายใหม่ในส่วนของเอไอจีหรือบริษัทในเครือโดยเฉพาะเอไอเอยังไม่มีความชัดเจนมากนักแม้ว่าผู้บริหารจะออกมาแถลงข่าวสร้างความเชื่อมั่นแล้วก็ตาม เพราะขณะนี้ลูกค้ายังเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด

เพราะความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินที่มีอายุกว่า 100 ปีหลายแห่ง ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้อีกต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.