พลังต่อรองของทุนชายแดน

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากจีนได้รุกเข้ามาปักธงในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เปิดทางออกให้กับสินค้าสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะแถบตะวันตกเฉียงใต้ เกิดโครงการลงทุนนับหมื่นๆ ล้านขึ้น ภาคธุรกิจท้องถิ่นเชียงราย เมืองหน้าด่านสำคัญ จึงจำเป็นต้องระดมกำลังสร้างอำนาจต่อรองด้วยการตั้ง "หอการค้าอำเภอ" ขึ้นมารองรับ

แม้ว่าตาม พ.ร.บ.หอการค้า พ.ศ. 2509 มาตรา 6 จะระบุไว้ชัดเจนว่า หอ การค้า มีอยู่เพียง 4 ประเภท คือหอการค้า จังหวัด, หอการค้าไทย, หอการค้าต่างประเทศ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ได้มีการตั้ง "ที่ทำการหอการค้าอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย" ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

ถือเป็น "หอการค้าอำเภอ" นำร่อง ก่อนที่จะผลักดันจัดตั้งขึ้นตามอำเภอต่างๆ ทั่วประเทศที่มีความพร้อม โดยเฉพาะกลุ่ม อำเภอชายแดนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนทุกจุด

บุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธาน ฝ่ายการค้าชายแดน หอการค้าจังหวัดเชียงราย ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าอำเภอแม่สายเป็นคนแรก มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า เป็นนโยบายของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ต้องการผลักดันให้เกิดหอการค้าอำเภอขึ้นมา กอปรกับ "แม่สาย" เป็นส่วนหนึ่งในกรอบการพัฒนา "สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" ซึ่งประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว จีน ที่กำลังเกิดการเปลี่ยน แปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

หลังโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก และทางน้ำ เริ่มเสร็จสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นถนน R3b (แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-สป.จีน), ถนน R3a (เชียงของ-แขวงบ่อแก้ว-แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว-สป.จีน) รวมถึงการเดินเรือในแม่น้ำโขงระหว่างสิบสองปันนา (เชียงรุ่ง) สป.จีน-อ.เชียงแสน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ของไทย

เฉพาะชายแดนแม่สายก็มีตัวเลขการค้าผ่านด่านศุลกากรมากกว่า 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี เช่นปี 2550 ที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างแม่สาย-ท่าขี้เหล็กเกิดขึ้นถึง 2,489.38 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.87% แต่ถ้ารวมสินค้าที่มีการค้าผ่านนอก ระบบ ยอดตัวเลขอาจสูงกว่าหมื่นล้านบาท ต่อปี เพราะเพียงแค่สินค้าเกษตร-กลุ่มสินค้า ต้องห้ามของรัฐบาลพม่า 17 รายการ ก็มียอดมากกว่า 100 ล้านบาทต่อวันเข้าไปแล้ว

จึงจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรภาคเอกชนระดับอำเภอในพื้นที่เข้าไปติดต่อประสานงานกับองค์กรในประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างคล่องตัว และโดยหลักการแล้ว "หอการค้า" เป็นสถาบันที่บุคคลหลายคนจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้า การบริการ การประกอบวิชาชีพอิสระ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินหรือเศรษฐกิจ อันมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือแบ่งปันรายได้กันอยู่แล้ว เชื่อว่าจะสามารถประสานงานกับเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหา อุปสรรคทาง การค้าที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

บุญธรรมบอกว่า หอการค้าแม่สาย หรือจะเรียกให้ถูกต้องก็คือ "ที่ทำการหอการค้าอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย" จะทำงานภายใต้ "หอการค้าจังหวัดเชียงราย" การดำเนินงานหรือใบเสร็จ ก็จะออกในนามหอการค้าจังหวัด เพียงแต่คนทำงาน จะเป็นของหอการค้าแม่สาย ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักธุรกิจ หรือพ่อค้าในท้องถิ่นที่รู้สภาพ ปัญหากว่า 70 คน นอกจากบุญธรรมซึ่งเป็นประธานแล้วยังมีผกายมาศ เวียร์รา ผู้บริหารโรงแรมแม่โขงเดลต้า ทราเวลเอเจนซี่ จำกัด บริษัทท่าขี้เหล็กอินเตอร์ช็อป และนันทวัฒน์ ธารกาญจน์ ผู้ส่งออก วัสดุก่อสร้าง เป็นรองประธาน

เขาย้ำว่า ที่ผ่านมาพลังในการต่อรองการค้าชายแดนของนักธุรกิจแม่สายมีน้อย เนื่องจากมีการรวมตัวไม่แข็งแกร่ง ต่างคนต่างทำ หากมีการรวมกลุ่มก้อนกันชัดเจนภายใต้บทบาทใหม่ เป็นสมาชิกหอการค้า สาขาแม่สาย ซึ่งเจาะจงลงลึกในเขตรับผิดชอบมากกว่าจะทำให้พ่อค้าแม่สายที่เข้าร่วมทุกคนมีบทบาทชัดเจนขึ้น

เฉพาะหน้า สิ่งที่หอการค้าแม่สายจะผลักดันก็คือการพัฒนาการค้าชายแดนแม่สายไปสู่อีกมิติหนึ่ง เพราะทุกวันนี้ไทย ส่งสินค้าเข้าพม่าได้ช้ากว่าประเทศอื่น ทั้งที่มีชายแดนติดกันกว่า 2,000 กิโลเมตร แต่สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ กลับส่งสินค้าเข้าถึงศูนย์กลางของพม่าได้เร็วกว่า ไม่เท่านั้น สินค้าหลายตัวที่ผลิตใน ประเทศไทยและส่งไปสิงคโปร์ก่อนส่งเข้าย่างกุ้ง ใช้เวลาเพียงแค่ 1-2 วันเท่านั้น ขณะที่ไทยส่งออกผ่านทางแม่สาย ถ้าฤดูแล้งจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 วัน แต่หากเป็นฤดูฝนอาจนานเป็นเดือน

ซึ่งถ้ารัฐบาลไทยเข้าไปช่วยพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพม่าเพิ่มเติม จากท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง (160 กม.) ที่เสร็จสมบูรณ์ แล้ว ต่อไปยังตองกี (475 กม.) ก็จะแก้ปัญหาการส่งสินค้าไทยเข้าพม่าได้ เพราะช่องทางนี้สามารถส่งต่อเข้าสู่มัณฑะเลย์ ย่างกุ้งหรือต่อเนื่องไปถึงอินเดีย บังกลาเทศ ได้ โดยรัฐบาลไทยอาจจะจัดงบช่วยเหลือ 2,000 ล้านบาท แต่ผลตอบแทนในอนาคต จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล

ประเด็นที่ 2 คือการสะสางปัญหาพม่าห้ามนำเข้าสินค้าจากไทย 17 รายการ ที่หมายรวมทั้งสินค้าเกษตร-เครื่องอุปโภค บริโภคบางชนิดมานานกว่า 10 ปี แต่หน่วย งานราชการไทยที่เกี่ยวข้องกลับไม่เคยเหลียวแล ทั้งที่สินค้ากลุ่มนี้สามารถทำยอดขายได้วันละนับ 100 ล้านบาท เฉพาะ กลุ่มสินค้าเกษตรที่ทุกวันนี้ส่งเข้าพม่าผ่านช่องทาง (ไม่) ปกติ วันละหลายสิบตัน จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวแน่นอน

"ปลายทางสินค้าไทยไม่ได้หยุดเฉพาะพม่าที่มีผู้บริโภคอยู่ประมาณ 50 กว่า ล้านคน แต่ยังหมายรวมถึงจีนตอนใต้กว่า 200 ล้านคน ลาว เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย"

นอกจากนี้เขาหวังอีกว่าจะผลักดันให้มีการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลการค้าชายแดนในเชียงราย เพื่อรวมข้อมูลที่จำเป็นต่อการ ตัดสินใจทางธุรกิจของประเทศคู่ค้าต่างๆที่จำเป็น ทั้งพม่า ลาว จีน เวียดนาม อินเดีย บังกลาเทศ เป็นต้น รวมถึงสร้างศูนย์กระจายสินค้าขึ้นที่แม่สาย เป็นศูนย์รวมสินค้าจากคู่ค้าทุกๆ ประเทศ ก่อนกระจายไปยังตลาดปลายทางต่อไป

"แม่สายมีโอกาสเป็นประตูการค้าที่ยิ่งใหญ่ มีโอกาสตามธรรมชาติของพื้นที่อยู่แล้ว วันนี้เหลือแต่เราจะต่อยอดอย่างไร ให้โอกาสที่ว่านั้นเป็นจริงในทางปฏิบัติ นำความได้เปรียบทางธรรมชาติมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้มากน้อยเพียงใด เท่านั้น"

บุญธรรมยังย้ำอีกว่าปัญหาเรื่องฐานข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ทุกวันนี้ไทยเราขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนสำหรับการส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวในลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ดีมาประกอบการตัดสินใจ มิพักต้องพูดถึง "ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย" ที่ 8 ปี เปลี่ยนไป 8 คน ทำให้ทิศทางการพัฒนาจังหวัดเปลี่ยนแปลงตามตัวบุคคลไปด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.