|
ธุรกิจอุ้มบุญกับกฎหมายใหม่ของอินเดีย
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
อินเดียกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นแหล่งการจ้างแรงงานภายนอก (outsourcing) และศูนย์บริการลูกค้า (Call Center) ธุรกิจที่นำเข้าเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาล แต่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา อีกภาคส่วนของตลาดที่กำลังทำรายได้เกินความคาดหมายคือการรับจ้างตั้งครรภ์แทน (Surrogacy) หรือการอุ้มบุญ ซึ่งปัจจุบันทำเงินสะพัดอยู่ราว 20,000 ล้านรูปีต่อปี แต่กลับเต็มไปด้วยช่องโหว่ทางกฎหมายและคำถามทางจริยธรรม ล่าสุดรัฐบาลอินเดียได้สรุปร่างกฎหมายใหม่ที่คาดว่าจะช่วยวางระเบียบและลดความล่อแหลมทางจริยธรรมในธุรกิจ ทางการแพทย์ดังกล่าว
การจ้างตั้งครรภ์แทนในอินเดียจุดประเด็นทางข้อกฎหมายและจริยธรรมมาเป็นระยะ หนึ่งในรายแรกๆ เมื่อ 10 ปีก่อนคือ กรณีของเนียระมาลา เทวี หญิงชาวปัญจาบที่รับจ้างอุ้มบุญให้กับนายจ้างเพื่อหาเงินมารักษาสามีที่พิการ กรณีนั้นแม้จะก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง แต่เป็นผลให้สังคมยอมรับการจ้างตั้งครรภ์แทนอยู่เงียบๆ กระทั่ง ในปี 2002 กฎหมายอินเดียอนุญาตอย่างเป็นทางการ ให้ผู้หญิงรวมถึงหญิงที่ยังไม่แต่งงาน สามารถตั้งครรภ์แทนผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการอาสาหรือในรูปของการว่าจ้าง
อีกกรณีที่กลายเป็นข่าวครึกโครมคือ รายของหญิงอินเดียที่ตั้งท้องแทนลูกสาวตนเอง ซึ่งไปตั้งรกรากอยู่ที่อังกฤษและให้กำเนิดหลานแฝด ในปี 2004
จากกรณีที่เป็นข่าวเหล่านี้ ประกอบด้วยตลาดการท่องเที่ยวทางการแพทย์ที่บูมขึ้นในอินเดีย ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้คู่แต่งงานชาวต่างชาติที่มีบุตรยากหรือไม่สามารถมีบุตรได้พากันเดินทางมารับการรักษาในอินเดีย ส่วนใหญ่มาจาก อังกฤษ ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงชาวอินเดียโพ้นทะเลทั้งจากอังกฤษและอเมริกา เดิมนั้นบริการส่วนใหญ่เป็นการทำปฏิสนธิ ในหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization หรือ IVF) ทั้งแบบที่ใช้ไข่และสเปิร์มของพ่อแม่ และแบบที่ใช้ไข่หรือสเปิร์มจากผู้บริจาค โดยฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ตั้งครรภ์เอง จนเมื่อล้มเหลวหลายครั้งเข้าหรือชัดเจนว่าฝ่ายหญิงมีปัญหาที่มดลูก แพทย์จึงจะแนะนำให้ใช้การตั้งครรภ์แทน แต่ปัจจุบันแพทย์จำนวนไม่น้อย เมื่อเห็นว่าคนไข้พร้อมจ่าย จะตัดบทลดขั้นตอนแนะนำให้เลือกการตั้งครรภ์แทนแต่ต้น
ดร.อนิรุทธ์ มัลปานี ซึ่งเปิดคลินิกให้คำปรึกษาแก่ผู้มีบุตรยากในเมืองมุมไบ ให้ความเห็นว่า ปกติการตั้งครรภ์แทนจะใช้ในกรณีที่ผู้หญิงไม่มีมดลูก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกจริงๆ และควรเป็นทางเลือกสุดท้าย "จากสถิติในอินเดียแล้ว ในการทำปฏิสนธิในหลอดแก้ว 30,000 ครั้ง จะมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จำเป็นต้องหันไปพึ่งการตั้งครรภ์แทน แต่ทุกวันนี้ทำกันมากเกิน และส่วนมากทำในคนไข้ที่ยังไม่มีความจำเป็น เพียงเพราะหมออยากได้เงินแบบทันอกทันใจ"
นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญของแพทย์ในอินเดียเกี่ยวกับวิทยาการด้านการเจริญพันธุ์ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรถือเป็นเรื่องใหญ่ของครอบครัวชาวอินเดีย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การอุ้มบุญบูมขึ้นในช่วง 3-4 ปีมานี้ คือค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า บริการจัดหาผู้รับตั้งครรภ์ ที่แสนสะดวก โอกาสวางไข่ผสมแล้วในครรภ์ของหญิงผู้รับได้ถึง 5 ใบ ซึ่งเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จย่อม สูงกว่า 2 ใบที่เป็นมาตรฐานในอังกฤษและยุโรป รวมถึงช่องโหว่หรือจะเรียกให้ถูกคือภาวะการไม่มีกฎหมายเฉพาะคุ้มครองของอินเดีย
สำหรับค่าใช้จ่ายในการตั้งครรภ์แทนในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย อยู่ระหว่าง 55,000-65,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.5 ล้าน รูปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายในอินเดียอาจอยู่ระหว่าง 5 แสน ถึง 1 ล้านรูปี ขึ้นกับลักษณะของแพ็กเกจ ซึ่งปกติจะรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดพร้อมตั๋วเครื่องบินไปกลับ 2 เที่ยวสำหรับคู่สามีภรรยา และโรงแรมที่พักระดับห้าดาว
ราชและโรหิณี คู่สามีภรรยาชาวอินเดียนจากอังกฤษ เล่าว่าพวกเขาใช้เวลากว่าหกปีกับความ พยายามที่จะมีลูกและหมดเงินไปกว่า 4.5 ล้านรูปีกับบรรดาคลินิกในอังกฤษ แต่ที่อินเดียเขาจ่ายแก่หญิงที่รับตั้งครรภ์เพียง 1.5 แสนรูปี เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ไม่ถึงห้าแสน แต่พวกเขากำลังจะบินกลับอังกฤษพร้อมกับลูกน้อยที่รอมานาน
แดนกับอเล็กซานดร้าบินตรงจากไอร์แลนด์ มายังคลินิกในกุจาราตเพื่อรับบริการผสมเทียมในหลอดแก้ว แต่เมื่อมาถึงแพทย์กลับเสนอข้อตกลงใหม่ ของการตั้งครรภ์แทน ในราคาค่าใช้จ่ายเพียง 6.5 แสนรูปี ซึ่งเงิน 3 แสนจะเป็นของหญิงรับตั้งครรภ์ ทั้งคู่ตกลง "เก้าเดือนต่อมาเราบินมารับลูกสาวพร้อม ใบเกิด อะไรจะง่ายขนาดนั้น"
อีกกรณีที่น่าสนใจคือ โจนาธานและโยอาฟคู่เกย์จากอิสราเอล ซึ่งกฎหมายของอิสราเอลอนุญาต ให้คู่ที่เป็นเพศเดียวกันสามารถรับอุปการะบุตรบุญธรรมได้ แต่ไม่สามารถจ้างหรือขอให้ใครตั้งท้องแทนได้ พวกเขาจึงเลือกมาอินเดียเพื่อหาคนรับตั้งครรภ์ โดยใช้สเปิร์มจากโจนาธานและไข่จากผู้บริจาค กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งปี พวกเขาก็ได้ลูกกลับไปสมใจ กรณีของคู่ที่เป็นเพศเดียวกัน มีเพียงคลินิกบางแห่งเท่านั้นที่ยอมให้บริการตั้งครรภ์ แทน
สำหรับผู้หญิงอินเดียที่รับจ้างตั้งครรภ์นั้น ตามข้อแม้ทั่วไปพวกเธอจะต้องมีบุตรของตนเองก่อนแล้ว เพื่อป้องกันปัญหาความผูกพันทางใจต่อเด็กในท้อง และมีประสบการณ์ในการดูแลตนเอง ค่าตอบแทนที่ได้รับมักอยู่ระหว่าง 1.5-6 แสนรูปี หรือเท่ากับรายได้ของแรงงานในชนบทในเวลา 10 ปี ซึ่งร้อยทั้งร้อยของผู้หญิงที่มารับจ้างตั้งครรภ์ต่างมีเหตุผลด้านการเงินเป็นแรงจูงใจ บ้างหวังจะเก็บเงินไว้ปลูกบ้านใหม่ ให้สามีทำทุนเปิดธุรกิจเป็นทุนการศึกษาให้ลูก จนถึงเป็นค่าสินสอดสำหรับ แต่งงานลูกสาว ระหว่างตั้งท้องพวกเธอมักต้องย้ายออกจากชุมชนเดิมเป็นการชั่วคราวเพื่อเลี่ยงคำครหา
ที่ผ่านมา การปลอด ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการตั้งครรภ์แทนของอินเดีย ด้านหนึ่งอาจเปิดช่องให้เกิดการบูมจนแทบจะกลายเป็นธุรกิจเต็มรูป ขณะเดียวกันปัญหาและความสับสนในเรื่องของการแจ้งเกิด สัญชาติ และการทำเอกสาร สำคัญต่างๆ เพื่อรับเด็กกลับไปเลี้ยง ได้ก่อความเวียนหัวให้แก่บรรดาพ่อแม่ชาวต่างชาติมานับคู่ไม่ถ้วน อย่างกรณีของทารกชาวญี่ปุ่นชื่อ มันจิ ที่กลายเป็นข่าวในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
พ่อและแม่ของมันจิเดินทางมาอินเดียเพื่อใช้บริการตั้งครรภ์แทนเมื่อปลายปีก่อน ต่อมาในเดือนมิถุนายน คู่สามีภรรยาตกลงใจหย่าขาดจากกันและ ฝ่ายภรรยาไม่ต้องการบุตรอีกต่อไป ปลายเดือนกรกฎาคมพ่อของมันจิเดินทางมารับลูกสาวตามกำหนด ซึ่งตามกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้น เขาจะต้อง ขอรับอุปการะลูกสาวของตนเองเป็นบุตรบุญธรรม แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายอินเดียไม่อนุญาต พ่อบุญธรรมที่เป็นชายโสดและไม่ยอมรับการพิสูจน์ สายเลือดทางดีเอ็นเอ ถึงขณะนี้มันจิยังต้องนอนโรงพยาบาลอยู่ในอินเดีย และคดีดังกล่าวยังอุทธรณ์ ค้างอยู่ในศาลชั้นสูง
สำหรับร่างกฎหมายว่าด้วยเทคโนโลยีช่วยการ เจริญพันธุ์ หรือ ART Bill (Assisted Reproductive Technologies Bill) ที่คาดว่าจะเป็นญัตติเข้าสู่ที่ประชุมสภาในช่วงปลายปีนี้มีประเด็นสำคัญ อาทิ หญิงรับอุ้มบุญไม่สามารถเป็นผู้บริจาคไข่ให้ในเวลาเดียวกัน ต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป และต้องไม่เป็นญาติ กับผู้ที่จะตั้งท้องให้ การว่าจ้างต้องทำเป็นหนังสือสัญญา ชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการจะต้องลงทะเบียนชื่อและความจำนงกับสถานทูตของตน ห้ามผู้หญิงตั้งครรภ์แทนผู้อื่นมากกว่า 3 ครั้ง คลินิก หรือแพทย์ที่ดำเนินการให้คนไข้ใช้การตั้งครรภ์แทนทั้งที่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ จะถูกยึดหรือระงับใบอนุญาตทางวิชาชีพ เป็นต้น ซึ่งคณะทำงาน ด้านสิทธิผู้หญิงและผู้บริโภคหลายฝ่ายมองว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นเพียงความพยายามที่จะขจัดช่องโหว่ที่เคยเป็นความยุ่งยากคลุมเครือ มากกว่ามีเจตนารมณ์ที่จะป้องกันการหาประโยชน์และปกป้อง สิทธิของหญิงรับตั้งครรภ์และคนไข้ หรือป้องปรามไม่ให้วิทยาการทางการแพทย์แขนงนี้กลายเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจแบบเต็มรูป
เราคงต้องติดตามต่อไป ว่ากฎหมายดังกล่าวจะผ่านสภามาในโฉมหน้าใด จะกลายเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้การตั้งครรภ์แทนกลายเป็นธุรกิจ เปิดช่องให้ตลาดเอาท์ซอสซิ่งของอินเดียเพิ่มบริการภาคตั้งครรภ์ ส่งเสริมการตั้งครรภ์ แทนจนไม่มีใครคิดเลือกการรับเด็กไปอุปการะ
หรือมีส่วนวางหลักการให้สังคมตระหนักว่า การตั้งครรภ์แทนไม่ใช่การให้เช่ามดลูก และการตั้งครรภ์ทุกครั้งเป็นเรื่องของสุขภาพ ความผูกพันและชีวิต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|