|
มังกรกลางคลื่น New Great Depression
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
กว่างเจียวฮุ่ย หรืองานแสดงสินค้ากวางเจา (Canton Fair) ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานจากเดิม ณ ศูนย์แสดงสินค้าหลิวฮวา มาเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติ ผาโจว เมืองกวางเจา มณฑล กวางตุ้ง
ว่ากันว่างานแสดงสินค้ากวางเจาครั้งที่ 104 นี้ไม่เพียงจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม โดยมีการขยายเวลาจัดงานจาก 12 วัน เพิ่มเป็น 15 วัน (ช่วงเวลาของการจัดงานแบ่งออกเป็นสามเฟส ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม ถึง 6 พฤศจิกายน 2551) แต่ยังจัด ณ สถานที่ใหม่คือ ศูนย์ประชุมแห่งชาติผาโจวที่มี พื้นที่ใหญ่โตเทียบได้กับสนามฟุตบอล 200 สนาม สามารถยัดบูธสินค้าเข้าไปได้ 55,600 บูธ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่างานแสดงสินค้าฤดูใบไม้ผลิ เมื่อต้นปีกว่า 10,000 บูธ
...ทว่าความยิ่งใหญ่ของงานนี้กลับแฝงไว้ด้วยความเศร้าซึมของภาวะเศรษฐกิจโลก
ปลายเดือนกันยายนต้นเดือนตุลาคม หลังข่าวการล้มสลายของวาณิชธนกิจ (Investment Bank) ยักษ์ใหญ่ของโลก 5 แห่งรวด แพร่สะพัดและสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดการเงินของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียอย่างรวดเร็ว พิษของ "โรคแฮมเบอร์เกอร์" ก็สร้างผลกระทบให้กับภาวะเศรษฐกิจของทั้งโลก จนเป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกว่า วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ อาจเปรียบเทียบได้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง (The Great Depression) ที่เกิดขึ้นราวช่วงทศวรรษ 2470 (ค.ศ.1930) เมื่อเกือบ 80 ปีก่อนเลยทีเดียว
มิตรสหายของผมที่อยู่ในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนต่างรีบโทรมาแจ้งสถานการณ์และรายงานวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจว่า ปลายปีนี้เศรษฐกิจของประเทศไทย และหลายประเทศในทวีปเอเชีย น่าจะได้รับผลกระทบเป็นการปลดคนงานเพื่อทำให้ตัวเลขบัญชีของบริษัทต่างๆ ดูสวยหน่อย ส่วนปีหน้านั้น ประเทศที่ส่งสินค้าออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างไทยและจีนน่าจะมียอดสั่งซื้อสินค้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด และนั่นหมายความว่า "การเผาจริง" ทางเศรษฐกิจ ได้เริ่มขึ้นแล้ว
ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานสถิติ แห่งชาติจีนออกมาประกาศตัวเลขแล้วว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 นี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจีนที่แท้จริง (Real GDP) เติบโต เพียงร้อยละ 9.0 เท่านั้นและฉุดให้อัตราการเติบโต ของเศรษฐกิจจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 นั้นลดเหลือเพียงเลขหลักเดียวคือร้อยละ 9.9 เท่านั้น ลดลงจากครึ่งแรกของปีที่เติบโตอยู่ที่ร้อยละ 10.4
ทั้งนี้ตัวเลขอัตราการเติบโตร้อยละ 9.9 ของเศรษฐกิจจีนถือเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนครั้งล่าสุดเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปี 2546 นั้นมิได้มีต้นเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เกิดจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส โดยครั้งนั้นเศรษฐกิจจีนเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 6.7
ถามว่า ภาพเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และปีหน้า 2552 จะมีรูปลักษณ์เป็นอย่างไร? ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราต้องค้นหาก่อนว่าผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้จะกระทบจีนผ่านช่องทางใดได้บ้าง
ช่องทางการค้า ตัวเลขในปี 2550 ปรากฏชัดว่า สหรัฐอเมริกาถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของจีน โดยในปีที่แล้วจีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คิดเป็น มูลค่าสูงถึง 232,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นอุปสงค์ต่อสินค้าจีนที่ลดลงของชาวสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยย่อมปรากฏแน่ชัดตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า(1)
สำหรับตัวเลขการซื้อขายสินค้าจากงานแสดงสินค้ากวางเจาได้ส่งสัญญาณมาระดับหนึ่งแล้วว่า จำนวนผู้เข้าชมงานมีแนวโน้มที่จะลดลง ขณะที่ผู้จัดงานบางคนปฏิเสธที่จะเช่าบูธ แต่เลือก บินไปตื้อลูกค้า เจาะตลาดถึงที่แทน
ทั้งนี้ตัวเลขที่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจากมู่ ซินไห่ โฆษกของคณะผู้จัดงานเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ได้บ่งชี้ชัดว่า ตัวเลขการซื้อขายสินค้าในงานแสดงสินค้าครั้งนี้นั้นลดลง โดยในเฟสแรก มูลค่าสินค้าส่งออกที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายกันเรียบร้อยแล้วคิดเป็นเงินรวม 16,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนับว่าลดลงจากช่วงเวลาเดียว กันของปีก่อนราวร้อยละ 3.8 และลดลงจากการจัดงานแสดงสินค้ากวางเจาครั้งที่ 103 ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมามากถึงร้อยละ 10.8
"พายุวิกฤติการเงินที่ขยายตัวมาจากวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจภายในและภายนอก สภาวะการส่งออกของจีนกำลังเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่ และย่อมส่งผลต่อการเยี่ยมชมงานของบรรดาลูกค้าที่จะเยี่ยมชมงานนี้ โดยในช่วง 5 วันแรก จำนวนผู้ชม 87,000 คน ก็ถือว่าไม่น้อยแล้วเมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจของโลกในขณะนี้" โฆษกงานแสดงสินค้ากวางเจาครั้งที่ 104 กล่าว(2)
มากกว่านั้นภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้มีมูลค่าลดต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินเหรินหมินปี้ หรือเงินหยวน เมื่อเทียบกับดอลลาร์ เงินหยวนย่อมแข็งค่าขึ้นไปอีกและทำให้การส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ นั้นประสบความยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันการอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐย่อมส่งผลกระทบต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ของจีน ที่ปัจจุบันมีปริมาณมากที่สุดในโลกกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยเช่นกัน
ในแง่มุมการเงิน วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งกำลังลุกลามไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ส่งผลเป็นระลอกคลื่นให้สถาบันการเงินในทุกภูมิภาคของโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในทันที ไม่ว่าจะเป็นธนาคารในยุโรปหลายแห่ง สถาบันการเงิน-ธุรกิจประกันในเอเชีย จำนวนมาก ทว่า ในส่วนของจีนนั้นผลกระทบจากวิกฤติ แฮมเบอร์เกอร์ต่อภาคการเงินของจีนนั้นถูกจำกัดวงอยู่พอสมควร ด้วยนโยบายการควบคุมเงินไหลเข้า-ออกของรัฐบาลจีนที่เข้มงวดยิ่ง แม้ว่าจีนจะเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกมาเกือบ 7 ปีแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกันในภาคการเงินและธนาคาร ด้วยความที่ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน หรือในชื่ออย่างเป็นทางการ ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนนั้นสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้จำนวนมหาศาล ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในจีนเองก็ค่อนข้างมีฐานะแข็งแกร่ง กอปรกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายออกมาตรการหลายประการเพื่อควบคุมการปล่อยสินเชื่อ เพื่อลดความร้อน แรงทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ดังนั้น สถาบันการเงินของจีนจึงไม่น่าจะล้มลงเป็นโดมิโนดังเช่นสถาบันการเงินในประเทศอื่นๆ
ด้านทัศนะจากฝั่งจีนอย่างฝาน กัง นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ ภายใต้กองทุนเพื่อการปฏิรูปจีน (China Reform Foundation; CRF) ก็ออกมาให้ความเห็นว่า วิกฤติเศรษฐกิจ ณ พ.ศ.นี้ มีความผิดแผกแตกต่างจาก Great Depression เมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้วอยู่พอสมควร โดยเขามองว่าวิกฤติครั้งนี้จะไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างรุนแรงในระดับครึ่งต่อครึ่งดังเช่นที่เกิดในยุค Great Depression อย่างแน่นอน และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ สามารถเลือก ใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาวิกฤติครั้งนี้ได้(3)
ฝาน กัง คาดการณ์ว่าในช่วงหลายปีข้างหน้านี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะซึมยาวเป็นรูปตัวแอล (L) โดยจะถดถอยประมาณร้อยละ 2 ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปน่าจะทรงตัวไม่เติบโตแต่ก็ไม่ถดถอย ในส่วนของเศรษฐกิจจีน เขาระบุว่า ภาคการเงินของจีนนั้นค่อนข้างจะเป็นอิสระ แม้จะมีความเชื่อมโยงกับภาคการเงินโลกบ้างแต่ก็ยังไม่ถลำตัวลงลึกมากนัก ดังนั้นวิกฤติการเงินโลกจะไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อระบบการเงินของจีน ขณะที่ภาคเศรษฐกิจ จีนที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็มีเพียงภาคการส่งออก
"ผมเห็นว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีน ปริมาณเงินสดหมุนเวียน ปริมาณการปล่อยสินเชื่อ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ ขณะเดียวกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจจีนเผชิญกับภาวะร้อนแรงเกินไป ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็อยู่ในภาวะฟองสบู่ รัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มงวดมาควบคุมอยู่แล้ว และก็ค่อนข้างจะได้ผลด้วย" ฝานกล่าวพร้อมระบุว่า วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นและกำลังขยายตัว กระตุ้นให้รัฐบาลจีนต้องพิจารณาขยายตลาดภายใน ประเทศ ขยายการลงทุนในประเทศมากขึ้น
ประเทศจีนยังโชคดีครับที่มีตลาดภายในที่ใหญ่ แม้ระบบการเงิน-ภาคการผลิตจะพึ่งพาตลาดต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ถลำลึกและพึ่งพิงเศรษฐกิจโลกมากนัก ซึ่งถ้าหันกลับมามองประเทศไทยแล้ว ตลาดเงิน ตลาดทุน ภาคการค้าและระบบ เศรษฐกิจของเราเสียอีกที่แนบแน่นอยู่กับระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคงจะเป็นเรื่องยากที่เราจะรอดพ้นจาก Great Depression ครั้งใหม่นี้
อ้างอิงจาก :
(1) PRC General Administration of Customs, China's Customs Statistics
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|