|

จุดจบของ "สังคมแห่งความเป็นเจ้าของ"
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 20 ตุลาคม 2551
ประธานาธิบดี George W. Bush ชูแนวคิด "สังคมแห่งความเป็นเจ้าของ" เป็นนโยบายหาเสียง เมื่อครั้งที่เขาชิงชัยศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ในปี 2004 ซึ่งเป็นการวาดฝันถึงโลกที่ชาวอเมริกันทุกครอบครัวจะมีบ้านเป็นของตัวเอง และเป็นเจ้าของพอร์ตการลงทุนในหุ้น โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปขวางทางของความฝัน "American Dream" นั้น
แน่นอนว่าครอบครัวในอุดมคติของ Bush นั้นย่อมต้องเป็นครอบครัวอนุรักษนิยมหรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นครอบครัวเดี่ยวแบบดั้งเดิม ซึ่งประกอบ ด้วยพ่อแม่ที่ต่างเพศกันและลูกอีกอย่างน้อย 2 คน อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวที่มีสนามหญ้า รถ 1 หรือ 2 คัน และห้อง multimedia ที่มีทีวีจอแบน อย่างหลังนี้ เติมเข้ามาใหม่ สำหรับแนวคิดสังคมแห่งความเป็นเจ้าของสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งแทบจะลอกมาจากในทศวรรษ 1950
Bush ยืนยันในครั้งนั้นว่า ประเทศที่สามารถจะเป็นเช่นนั้นได้จะมีเสถียรภาพมากกว่าและเจริญรุ่งเรืองมากกว่า "ประเทศอเมริกาจะแข็งแกร่งขึ้นทุกครั้งที่มีครอบครัวย้ายเข้าสู่บ้านที่พวกเขาได้เป็นเจ้าของ" Bush กล่าวในเดือน ตุลาคม 2004 และเพื่อทำให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวของเขากลายเป็นจริง Bush ได้ผลักดันนโยบายใหม่หลายอย่างที่ส่งเสริมให้เป็นเจ้าของบ้าน เช่น การริเริ่มใช้นโยบายไม่ต้องวางเงินดาวน์ในการซื้อบ้านเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือโครงการที่รัฐบาลอุดหนุนและทำให้ประชาชนสามารถกู้เงินซื้อบ้านได้โดยไม่ต้องวางเงินดาวน์ และก่อให้เกิดสินเชื่อที่อยู่อาศัยแบบแปลกๆ เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย เช่นแบบที่ไม่ต้องผ่อนรายเดือนเป็นเวลานานถึง 2 ปีแรก บางแบบผู้กู้แทบไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานเลยนอกจากเพียงคำพูดเท่านั้น
ไม่ว่าสินเชื่อแบบใหม่ๆ เหล่านั้นจะฟังดูแปลกประหลาดมากเพียงใด ก็ยังดูจืดชืดไปเลยเมื่อเทียบกับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ที่มีกำเนิดจากสินเชื่อ ประหลาดๆ เหล่านั้นอีกต่อหนึ่ง ได้แก่ ตราสารอนุพันธุ์ที่เกิดขึ้นซ้อนบนตราสารอนุพันธุ์อีกต่อหนึ่ง ตราสารที่ถูกจับมัดรวมแล้วจับแยกและมัดรวมกันใหม่อีกครั้ง จนกระทั่งไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ตราสารเหล่านั้นประกอบขึ้นด้วยอะไรบ้างและมีมูลค่าที่แท้จริงเท่าใด
อย่างที่เราได้ประจักษ์กันแล้วในตอนนี้ เครื่องมือการเงินเหล่านั้นได้ทำให้ระบบการเงินโลกเกือบจะล่มสลายไปอย่างแทบไม่น่าเชื่อ เช่นเดียวกับปัญหาการเงินที่ทำให้สามีภรรยาต้องแตกแยก การส่งเสริมความเป็นเจ้าของของ Bush แทนที่จะส่งเสริมครอบครัว ในอุดมคติอย่างที่ฝ่ายอนุรักษนิยมของ Bush ต้องการ ก็อาจจะลงเอยด้วยการทำให้ครอบครัวอเมริกันต้องแตกแยกแทน
การฝันถึงสังคมที่ดีขึ้นโดยผ่านการส่งเสริมความเป็นเจ้าของบ้าน ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากคนที่ชื่อ George W. Bush แต่มันเป็นความปรารถนาลึกๆ ในใจของคนอเมริกันเหมือนกับ "โองการแห่งพระเจ้า" กฎหมาย Homestead Act ในปี 1862 เสนอให้ที่ดินแก่ใครก็ตามที่เต็มใจจะไปบุกเบิกดินแดนตะวันตกอันทุรกันดาร ในช่วง "ยุคสร้างชาติ" ของอเมริกา ทาสที่ได้รับการปลด ปล่อยเป็นอิสระได้รับคำสัญญาว่าจะได้รับที่ดิน 40 เอเคอร์และล่ออีก 1 ตัว หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านกลายเป็นรางวัลสำหรับ ชัยชนะ อย่างไรก็ตาม แต่ไหนแต่ไรมา ความหวังและความฝันที่จะมีบ้านจะต้องสัมพันธ์กับรายได้และการทำงานที่สร้างประโยชน์อย่างแท้จริง แต่ไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไปในสมัยของ Bush
Bush สร้างสังคมบนคำสัญญาของ "เศรษฐกิจใหม่" ซึ่งให้สัญญาว่า ทุกคนสามารถจะเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคย มีความสามารถที่จะซื้อได้ แต่ความฝันนั้นก็แทบสูญสลาย เมื่อฟอง สบู่หุ้นอินเทอรเน็ตแตกในปี 2000-2001 ตามด้วยเหตุวินาศกรรมช็อกโลก 9/11 เหตุการณ์ทั้งสองได้ทำให้ความมั่งคั่งสูญหายไปนับเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์ แต่ความฝันนั้นได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งในปี 2002 จากการกระตุ้นซ้ำๆ ของรัฐบาล Bush หลังเหตุการณ์ 9/11 ว่า ชาวอเมริกันสามารถจะทำหน้าที่รักชาติได้ ด้วยการออกไปชอปปิ้งและจ่ายภาษีต่ำ แม้ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล คนอเมริกันจึงออกไปชอปปิ้งและซื้อบ้าน
การชอปปิ้งอย่างมโหฬารนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในสหรัฐฯ อังกฤษก็มีแนวคิดสังคมแห่งความเป็นเจ้าของในแบบของอังกฤษเอง โดยได้รับการส่งเสริมจาก Margaret Thatcher ซึ่งส่งเสริม "ประชาธิปไตยแบบเป็นเจ้าของที่ดิน" ได้รับการสนับสนุนต่อมาจาก ทั้ง Tony Blair และ Gordon Brown ผู้สืบทอดอำนาจพรรคแรงงาน ต่อจากเธอ Blair ชอบที่จะพูดถึงการสร้าง "เศรษฐกิจแห่งการมีส่วนเป็นเจ้าของ" ซึ่งหมายถึงการที่พลเมืองธรรมดาที่มีบ้านเป็นของ ตนเองควรมีบทบาทที่สำคัญ
ส่วน Brown เพิ่งพูดถึงการสร้าง "ประชาธิปไตยแห่งการเป็น เจ้าของบ้าน สินทรัพย์และความมั่งคั่ง" ชาวอังกฤษนับล้านๆ คน มีความสุขกับการซื้อความฝันนี้ ผู้เช่าบ้านที่รัฐบาลเป็นเจ้าของต่างดีใจและยอมรับข้อเสนอของ Thatcher ที่เสนอจะขายบ้านให้แก่พวกเขาในราคาที่ลดแหลก ทำให้กว่า 70% ของชาวอังกฤษในขณะนี้มีบ้านเป็นของตนเอง เทียบกับเพียง 40% ในเยอรมนีและ 50% ในฝรั่งเศส
ในอังกฤษก็เหมือนกับในสหรัฐฯ ภาพฝันของการเป็นเจ้าของบ้านมีความหมายมากกว่าเพียงการได้เป็นเจ้าของบ้านหลังหนึ่ง แต่มันหมายถึงการเป็นคนที่มีคุณภาพที่ดีกว่า สิ่งที่มาพร้อมกับบ้านคือคุณค่าที่ยึดถือกันมาแต่ดั้งเดิม คุณค่าของการทำงานหนัก การใช้ชีวิตอย่างสุขุมรอบคอบ การตระหนักในหน้าที่พลเมือง ความรักชาติ และท้ายที่สุดคือการนำไปสู่สังคมที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
ในที่สุดมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในช่วงเวลาที่กำลังเปลี่ยนศตวรรษนั้นเอง เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ได้มาง่ายๆ บวกกับการได้เป็นเจ้าของหุ้นกันอย่างถ้วนหน้าได้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดขึ้น ยกเว้น สิ่งเดียวที่ทุกคนปรารถนา นั่นคือสังคมอนุรักษนิยมแห่งความมัธยัสถ์ อดออม หนี้ภาคครัวเรือนโดยเฉลี่ยในขณะนี้พุ่งสูงขึ้นในอังกฤษมากกว่าประเทศใหญ่อื่นๆ ในโลกของชาติพัฒนาแล้ว ในสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงจากเงินบำนาญของบริษัทไปเป็นบัญชีเกษียณอายุ 401 (k) ผลักให้คนอเมริกันนับล้านๆ ต้องเข้าสู่ตลาดหุ้น ทำให้ความ สัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับพนักงานที่มีมาแต่ดั้งเดิมค่อยๆ สลายตัวไป ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความฝันแห่ง ทศวรรษ 1950 ของสังคมแห่งความเป็นเจ้าของ แต่กลุ่มอนุรักษนิยม อย่าง Bush กลับทำเป็นลืมข้อนี้ไป
สังคมแห่งความเป็นเจ้าของในทศวรรษ 1950 ยึดเหนี่ยวอยู่กับขบวนการเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้แรงงานมั่นใจได้ว่า จะได้รับส่วนที่พวกเขาพึงได้ เหมือนกับแนวคิด "ข้อตกลงที่ยุติธรรม" ของ Truman แต่ข้อตกลงตลอด 8 ปีที่ผ่านมาในสหรัฐฯ ยุติธรรมสำหรับฝ่ายผู้ค้าที่เป็นต้นกำเนิดของสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่สำหรับข้าง ฝ่ายผู้รับเป็นสิบๆ ล้านคนกลับไม่ค่อยได้รับความยุติธรรมเท่าใดนัก
หามิได้ นี่มิใช่การกล่าวหาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการฉ้อโกงหรือ หลอกลวง เราทุกคนต่างมีส่วนทำให้เกิดวิกฤติที่เป็นอยู่ ไม่มีใครสามารถจะขายในสิ่งที่ไม่มีคนต้องการซื้อ ในช่วงแรกๆ มันยังดูเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนที่ยุติธรรมดี Wall Street ร่ำรวยส่วน Main Street หรือประชาชนคนธรรมดาก็ได้มีบ้านเป็นของตัวเอง เงื่อนไขง่ายๆ ของการกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน ทำให้หลายคนมีโอกาสได้เป็นเจ้าของบ้าน ที่พวกเขาไม่เคยมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะกู้เงินมาซื้อได้ในอดีต แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนอื่นๆ มีทางเลือกที่จะซื้อ ขายและเล่นพลิกแพลง จนแทบจะเรียกได้ว่า เกิดนักเก็งกำไรต่อการซื้อขายบ้าน 1 หลัง ซึ่งนั่นคงจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ
ที่แปลกก็คือ การที่มีเจ้าของบ้านและเจ้าของหุ้นมากขึ้นกลับ ทำให้ชีวิตคู่อ่อนแอลง ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีคนได้เป็นเจ้าของบ้านเพิ่มขึ้น แต่กลับมีคนแต่งงานน้อยลงกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน บ้านที่มีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียวก็กำลังเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการว่างงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 6.1% จาก 4.5% ในปี 2000 มีการยึดบ้านมากกว่า 300,000 หลังต่อเดือน ในขณะที่พอร์ตการลงทุนในหุ้นและเงินออมเพื่อการเกษียณหดตัวลง เนื่องจากการเทขายหุ้นที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ความต้องการบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจนสังเกตเห็นได้ ซึ่งก็กลายเป็นอีกปัญหาหนึ่งเพราะแผนประกันสุขภาพ โดยมาก โดยเฉพาะของภาคเอกชน ครอบคลุมค่าปรึกษาจิตแพทย์เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความทุกข์ทางเศรษฐกิจกับสุขภาพที่เสื่อมลงและอัตราการตายที่สูงขึ้น Tina Brown บรรณาธิการและนักเขียน ซึ่งติดตามแนวโน้มในสังคมอย่างใกล้ชิดเชื่อว่า วิกฤติการเงินครั้งนี้จะทำให้ชีวิตแต่งงานของอีกหลายคู่ต้องตึงเครียดอย่างหนัก เมื่อสามีต้องตกงาน เขาจะรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตัวเองและศักดิ์ศรีความเป็นลูกผู้ชายอย่างมาก และนั่นจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตคู่
สิ่งที่จะเปรียบเสมือนการลงประชามติรับรองหรือไม่รับรองแนวคิดสังคมแห่งความเป็นเจ้าของเป็นครั้งสุดท้าย คงจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน จากคำพูดของทั้ง 2 พรรคและผู้สมัครของทั้ง 2 พรรคล้วนบ่งชี้ว่า ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งก็ตาม แต่ความฝันที่จะสร้างสังคมแห่งความเป็นเจ้าของ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมากำลังจะถูกปฏิเสธ และหันไปให้ความสำคัญกับการจ่ายคืนหนี้ การควบคุมโลกของสินเชื่อและตราสารอนุพันธุ์ที่โกลาหลวุ่นวาย และหาทางแก้ปมปัญหาที่ดูเหมือนจะหาทางแก้ไม่ได้ราวกับปมกอร์เดียน เหมือนกับที่ Barack Obama พูดว่า เราเรียกมันว่าสังคมแห่งความเป็นเจ้าของ แต่แท้ที่จริงแล้ว มันหมายถึงการที่เหลือคุณเพียงลำพังคนเดียว
วิกฤติครั้งนี้จะผ่านไปในที่สุด และก็จะยังคงมีตลาดหุ้นที่ซื้อ ขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้า มากยิ่งขึ้น เหมือนๆ กับที่เคยเป็นมา จะยังคงมีสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีความใฝ่ฝันจากส่วนลึกที่จะได้เป็นเจ้าของที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ฟองสบู่จะน้อยลงและวินัยจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ เหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ จะลดลงรวมทั้งเงินที่จะน้อยลงด้วย แต่ช่วงเวลาแห่งความฝืดเคืองนั้น โดยตัวมันเองคือแหล่งที่ก่อให้เกิดความหวังและความปรารถนา ซึ่งจะผลักดันให้ผู้คนแสวงหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อจะสนองตอบความปรารถนาในส่วนลึกของตนเอง จะมีวิธีใหม่ที่สุขุมรอบคอบกว่า ในการสร้างโลกซึ่งประกอบด้วยครอบครัวที่มีความมั่นคง และได้อาศัยอยู่ในบ้านที่เป็นของตัวเอง แต่ช่องว่างระหว่างความฝันอันสวยงามกับความจริงอันยุ่งเหยิงคงจะไม่หดแคบเข้าหากันได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันใกล้นี้ ได้แต่หวังว่าเราได้เรียนรู้แล้วถึงบทเรียนที่ว่า เราควรจะมีได้มากเท่าใดหรือเร็วเท่าใด และโดยเฉพาะสำหรับชาวอเมริกัน หากสามารถเรียนรู้บทเรียนดังกล่าว นั่นจะนับเป็นการปฏิวัติที่แท้จริง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|