|
เทคโนโลยีรวมความเร็ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอนทำให้บริษัทหลายแห่งไม่กล้าลงทุนมากนักและหาหนทางเพื่อลดต้นทุนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บริษัท สามารถ อินโฟเน็ต จำกัด จึงใช้โอกาสนี้เปิดตัวเทคโนโลยีบริหารจัดการช่องทางอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ช่วยลดต้นทุนได้ถึงครึ่งหนึ่ง
บริษัท สามารถ อินโฟเน็ต จำกัด ร่วมมือกับบริษัท เน็กซ์จี จำกัด ประเทศเกาหลี นำเทคโนโลยีที่เรียกว่า Smart Bonded Broadband Service ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ NexG Vforce มาทำ ตลาดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
เทคโนโลยีดังกล่าวมีคุณสมบัติรวมสายสื่อสารความเร็วสูง ที่แยกเป็นอิสระไว้ในท่อเดียวกัน ช่วยเพิ่มความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล ทำให้การบริหารจัดการง่ายขึ้นด้วยคุณสมบัติที่สามารถ รองรับการทำงานได้ในเครื่องเดียวกัน
ยกตัวอย่างกรณีนำเทคโนโลยีเชื่อมต่อสายสัญญาณความ เร็วสูง G.SHDSL ดาวน์โหลดที่ความเร็ว 4Mbps/และอัพโหลดที่ความเร็ว 4 Mbps ในขณะเดียวกันก็เชื่อมต่อด้วยระบบ ADSL ดาวน์โหลดที่ความเร็ว 2 Mbps/และอัพโหลดที่ความเร็ว 1 Mbps
เมื่อนำอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยี Smart Bonded Broadband Service มาเชื่อมต่อกับสายสัญญาณ G.SHDSL และเชื่อมกับระบบ ADSL เทคโนโลยี Smart Bonded Broadband จะทำหน้าที่รวมสัญญาณของทั้งสองระบบไว้ด้วยกันทำให้ขยายดาวน์โหลดเป็น 6 Mbps และอัพโหลดเป็น 5 Mbps ส่งผลให้ความเร็วในการรับส่งสัญญาณขณะเล่นอินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น
เทคโนโลยีใหม่นี้จะแตกต่างจากเทคโนโลยีปัจจุบันที่เรียกว่า Load Balancing ที่มีลักษณะการทำงานกระจายโหลดการใช้งานไปยังช่องทางสื่อสารต่างๆ ทำให้ความเร็วที่ไปสู่ปลายทางมีความเร็วเท่าเดิมจากต้นทางที่ส่งมา
ดังนั้นเทคโนโลยี Smart Bonded Broadband Service จะเข้ามาช่วยเพิ่มความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตทำให้องค์กรไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนเทคโนโลยีไปเป็นสายสัญญาณความเร็วสูงอย่างเช่น สายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) หรือ Leased Line ส่งผลทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 50%
Smart Bonded Broadband Service มีระบบรักษาความปลอดภัยป้องกันเครือข่ายซึ่งแตกต่างจากการติดตั้งระบบทั่วไปที่จะต้องติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมที่ทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่ง
เจริญ ลายประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามารถ อินโฟเน็ต จำกัด ในฐานะตัวแทนจำหน่ายบอกว่าเทคโนโลยีดังกล่าวเหมาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอส เอ็มอี อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ โรงเรียน ธนาคารและองค์กรที่มีสาขาที่ต้องการใช้บริการสื่อสารความเร็วสูงและลดความล่าช้าในการดำเนินการที่มาจากระบบเครือข่ายล่มให้น้อยที่สุด
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้จำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าวบ้างแล้วก็ตามแต่เน้นลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ในระดับพรีเมียมแต่บริษัท สามารถจะเลือกลูกค้าองค์กรขนาดกลางและเล็กที่ยังต้องการประสิทธิภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงแต่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งมองว่าเป็นสถานการณ์ที่สมเหตุสมผลในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ส่วนการตลาดบริษัท สามารถฯ ได้มองหาพันธมิตรมาร่วม ทำตลาดเพิ่มมากขึ้นจากที่มีช่องทางจำหน่ายจำนวน 30 แห่ง และทำหน้าที่ให้บริการหลังการขาย
บริษัท สามารถ อินโฟเน็ต จำกัด เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัท สามารถ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และวางเป้าหมายไว้ว่า ในปีนี้จะต้องมีรายได้จากการดำเนินงาน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัท สามารถ อินโฟเน็ต ต้องทำงานอย่างหนัก ด้วยสภาพเศรษฐกิจและการเมืองไทยที่ยังสับสนทุกวันนี้ ซึ่งเขาก็รู้ดีว่า มันไม่ง่าย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|