|
ส่งออกเสื้อผ้าต้องหาตลาดใหม่
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
วิกฤติการณ์ทางการเงินของสหรัฐฯ ที่กำลังลุกลามไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศในเอเชียคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในปี 2552 เป็นอย่างมาก โดยมีการคาดการณ์ว่า เสื้อผ้าสำเร็จรูปจะเป็นสินค้าลำดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบ
เนื่องจากเป็นสินค้าที่ภาคประชาชนสามารถปรับลดปริมาณการซื้อได้ในภาวะกำลังซื้อชะลอตัว โดยไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก หากจะซื้อก็มีแนวโน้มพิจารณา สินค้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ อาทิ จีน อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชาเป็นทางเลือก ส่งผลให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงภายใต้กำลังซื้อที่มีอย่างจำกัด
จากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญประมาณร้อยละ 85 มีการชะลอตัวรุนแรงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการเสื้อผ้า สำเร็จรูปของไทยจึงจำเป็นต้องเร่งแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าตลาดส่งออกหลัก
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดใหม่ก็ใช่ว่าเป็นสิ่งที่จะทำได้ง่าย เนื่องจากมีอุปสรรคพอสมควร โดยเฉพาะอุปสรรคทางด้านความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับพฤติกรรมความต้องการของผู้ซื้อในตลาดใหม่ ในขณะเดียวกันการที่กำลังซื้อของตลาดส่งออกหลักมีปัญหาก็ทำให้ประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปอื่นๆ ต่างก็มุ่งหวังกระจายหาตลาดส่งออกใหม่เหมือนกับไทยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่จะนำพาให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง คือการพัฒนารูปแบบและคุณภาพที่มีความแตกต่างกับสินค้าคู่แข่ง การลดต้นทุนการผลิตด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของสินค้าไทยให้ถูกเลือกจากผู้ซื้อมากขึ้นนั่นเอง
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 ไทยมีการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 2,293.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 คาดว่าตลอดทั้งปี 2551 ไทยจะสามารถส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้ประมาณ 2,987-3,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0-2 (ปี 2550 ขยายตัวลดลงร้อยละ 6.6) สำหรับในปี 2552 คาดว่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ของไทยจะใกล้เคียงกับปี 2551 อาจจะหดตัวถึงร้อยละ 5.0 จากปี 2551 เนื่องจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาด ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญถึงร้อยละ 85 ต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลกระทบต่อทิศทางการส่งออกเสื้อผ้า สำเร็จรูปของไทยเป็นอย่างมาก โดยจากการคาดการณ์ของกองทุน การเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ประเมิน ว่าในปี 2552 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น อาจจะมีอัตรา การขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ร้อยละ 0.2 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ (จากปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ร้อยละ 1.3 และร้อยละ 0.7) ขณะเดียวกันการชะลอตัวของประเทศ ผู้นำทางเศรษฐกิจหลักยังส่งผลกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจของ ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลก ปี 2552 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0 (จากปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 3.9) ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุด ในรอบ 7 ปี
เป็นที่น่าสังเกตว่า เสื้อผ้าสำเร็จรูปถือเป็นสินค้าที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกคิดเป็นเงินตราต่างประเทศตกปีละประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดการจ้างแรงงานจำนวนถึงประมาณ 8 แสนคนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.6 ของการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมหรือร้อยละ 2.2 ของการจ้างแรงงานทั้งประเทศ ดังนั้น ในภาวะที่คำสั่งซื้อสินค้าจากทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำเป็นต้องมีการปรับตัวในหลายๆ ด้านเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งสรุปได้ดังนี้
การปรับตัวด้านการผลิต
การพัฒนาสินค้า : ผู้ประกอบการของไทยควรมีการหันมา พัฒนาสินค้าที่มีสไตล์และรูปแบบที่ทันสมัย มีความหลากหลายตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งการเพิ่มตราสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า (BRAND NAME) ของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้สินค้ามีความโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ควรเพิ่มการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยใช้พลังงานน้อยเพื่อลดต้นทุน รวมทั้ง ทำให้การผลิตและการส่งมอบสินค้ามีความรวดเร็วและตรงเวลาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้สั่งซื้อ
การย้ายฐานการผลิต : ปัจจุบันการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของ ไทยที่แข่งขันกันทางด้านราคา ต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าอย่างจีน อินโดนีเซีย อินเดีย บังกลาเทศ กัมพูชา เวียดนาม ดังนั้น เพื่อให้สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมีศักยภาพ ในการแข่งขันมากขึ้น การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าไทยแล้วยังได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญต่างๆ ประการสำคัญ การไปตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศเพื่อนบ้านสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากไทย อาทิ ด้ายและผ้าผืน โดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีตามข้อตกลงอาฟตา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปในกลุ่มที่เน้นแข่งขันด้านราคาของไทยมีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น
การปรับตัวด้านการตลาด
ตลาดดั้งเดิม : ตลาดส่งออกหลักเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 85 ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จ รูปทั้งหมด โดยแยกเป็นตลาดส่งออกสหรัฐฯ มีสัดส่วนค่อนข้างสูง ถึงร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด รองลงมาคือสหภาพยุโรปร้อยละ 30 และญี่ปุ่นร้อยละ 5.0 สำหรับตลาดส่งออกหลักนี้
แม้ว่าจะประสบกับปัญหาภาวะกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง รวมทั้งภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2552 แต่จากจำนวนประชากรที่มาก อีกทั้งรายได้ประชากรต่อคนก็อยู่ในระดับสูง ดังนั้น ตลาดกลุ่มนี้จึงยังมีความสำคัญที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมไว้ไม่ให้ถูกคู่แข่งแย่งตลาดไป โดยผู้ส่งออกของไทยจำเป็นต้องทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับผู้สั่งซื้อสินค้าของประเทศเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวางแผนร่วมกันทางด้านการผลิต สต็อกสินค้า รวมทั้งการส่งมอบ สินค้าที่ตรงเวลา ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้สั่งซื้อ และทำให้สินค้า ไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ในส่วนของตลาดสหภาพยุโรปนั้น เนื่องจากไทยมีความพร้อมทางด้านการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานตามที่ผู้นำ เข้ากำหนด อาทิ มาตรฐานสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรฐานความ ปลอดภัยของผู้ใช้ เช่น สี และสารเคมี ที่เหนือกว่าสินค้าจากประเทศ คู่แข่งทั้งจีน อินเดีย และเวียดนาม ดังนั้นไทยควรจะใช้ข้อได้เปรียบ นี้ขยายตลาดให้มากขึ้น สำหรับในส่วนของประเทศญี่ปุ่นนั้น ผู้ส่งออกของไทย ควรใช้ข้อได้เปรียบจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเสื้อผ้า สำเร็จรูปของไทยในด้านการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศคู่แข่ง
ตลาดใหม่ : มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมดทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดส่งออกดั้งเดิมมิอาจจะเป็นที่พึ่งสำหรับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยจึงควรต้องเร่งแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดที่มีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ภาคประชาชนมีฐานะและกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะต้องเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในระดับที่รุนแรงน้อยกว่า ตลาดส่งออกหลักที่สำคัญมีดังนี้
- ตลาดอาเซียน แม้ว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายรายจะเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดโลกด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และในจำนวนนี้บางรายมีการนำเข้าวัตถุดิบที่ผลิตได้ไม่เพียงพอประเภทเส้นด้ายและผ้าผืนจากไทยไปผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออกอีกทอดหนึ่ง แต่อาเซียนก็เป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีโอกาสเติบโตของไทย ทั้งนี้เนื่องจากข้อได้เปรียบทางด้านภาษีจากข้อตกลงอาฟตา ทำให้เสื้อผ้าสำเร็จ รูปของไทยซึ่งมีรูปแบบและคุณภาพดีจับตลาดกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงมีความได้เปรียบสินค้าในระดับเดียวกันที่นำเข้าจากฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน
ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปตลาดอาเซียนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด ในปี 2545 สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.3 ในปี 2547 และร้อยละ 2.4 ในปี 2550 และปี 2551 สำหรับในปี 2552 คาดว่า สัดส่วนการส่งออก เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปยังตลาดอาเซียนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มอินโดจีนยังคงมีการเติบโตโดยต่อเนื่องตามภาวะการขยายตัวของ ภาคการลงทุน ภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคในประเทศ ยกเว้นภาคการส่งออกสินค้าที่ต้องพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอ ตัว โดยตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า และฟิลิปปินส์
- ตลาดตะวันออกกลาง ปัจจุบันประเทศในตะวันออก กลางมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากความมั่งคั่งที่ได้รับภายหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันจะได้มีการปรับลดลงมาจากระดับสูงสุดที่ประมาณ 140-150 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในปัจจุบัน แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ในขณะเดียวกันปัจจุบันประเทศตะวันออกกลางบางแห่ง อาทิ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้มี การลงทุนด้านต่างๆ ทั้งทางด้านภาคการค้า ก่อสร้าง และการท่องเที่ยว แทนการพึ่งพารายได้จากน้ำมันเพียงแหล่งเดียว ส่งผล ให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคงมากขึ้นและเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูปไทย
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปยังตลาด ตะวันออกกลางในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2551 มูลค่าการส่งออกมีทั้งสิ้น 80.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 3.3 และมีแนวโน้มว่า ตะวันออกกลางจะเป็นตลาดส่งออกใหม่ๆ สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยที่จะเพิ่มบทบาทความสำคัญยิ่งขึ้น โดยตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญในตะวันออกกลาง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัดส่วนร้อยละ 47.6 ของมูลค่าที่ส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง รองลงมา ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สัดส่วนร้อยละ 23.9 และตุรกี สัดส่วนร้อยละ 9.4
- ตลาดเอเชียใต้ ไทยมีการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดเอเชียใต้ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 คิดเป็นมูลค่า 20.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.9 ของมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด (อินเดียสัดส่วนร้อยละ 0.3 มัลดีฟส์สัดส่วนร้อยละ 0.2 ปากีสถานสัดส่วนร้อยละ 0.2 เนปาลสัดส่วนร้อยละ 0.1 อื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 0.1) ทั้งนี้แม้ว่าประชากร ของประเทศในเอเชียใต้ส่วนใหญ่จะมีรายได้ค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีประชากรอีกเป็นจำนวนมากที่มีรายได้สูง ส่งผลให้เสื้อผ้าสำเร็จรูป ของไทยมีโอกาสขยายตลาดในเอเชียใต้เพิ่มขึ้น โดยประเทศที่โดดเด่นในกลุ่มนี้ได้แก่ อินเดีย ซึ่งมีประชากรราว 1,100 ล้านคน และมีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงจำนวนประมาณ 300 ล้านคน โดยเศรษฐกิจอินเดียขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ นโยบายเปิดเสรีทางการค้าและเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศ
- ตลาดจีน ปัจจุบันแม้ว่าจีนจะกลายมาเป็นประเทศผู้ผลิต และส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปจำหน่ายยังทั่วโลก ด้วยจุดเด่นทางด้านต้นทุนและราคาจำหน่ายที่ต่ำ แต่ในขณะเดียวกันจีนเองก็มี การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน อันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คนชั้นกลางและสูงซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในประเทศจีนมีความต้องการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปคุณภาพดี มีรูปแบบสวยงาม บ่งบอกฐานะผู้สวมใส่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังจีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากมูลค่า 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2545 เพิ่มขึ้นมาเป็น 8.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2549 และ 13.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2550 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 ไทยมีการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังจีนคิดเป็นมูลค่า 16.6 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.1 และคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้แม้ว่าเศรษฐกิจ จีน ในปี 2552 จะชะลอตัวลงจากร้อยละ 9.7 ในปี 2551 มาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 9.3 แต่อัตราการเติบโตก็ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาคประชาชนของจีนยังคงมีกำลังซื้อที่ดี
- ตลาดอื่นๆ ที่เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผล ให้ประชาชนในประเทศมีกำลังซื้อที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ รัสเซีย และประเทศที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม รวมทั้งประเทศในยุโรปตะวันออก โดยประเทศที่โดดเด่นในกลุ่มนี้ได้แก่รัสเซีย ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตโดยได้รับแรงหนุนจากภาคพลังงาน และภาคการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปยังรัสเซียปรับเพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่องจาก 3.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2545 เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2547 และ 13.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2550 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกปี 2551 มีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 13.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวที่ส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาด ส่งออกหลักเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้จำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม การที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยจะขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิใช่จะเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างสะดวกราบรื่นนัก ทั้งนี้เนื่องด้วยเป็นตลาดใหม่ทำให้ความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมความต้องการของผู้ซื้อยังมีจำกัด ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามพอสมควร ในการศึกษาพฤติกรรม ความต้องการ และรสนิยมทั้งทางด้านวัสดุที่นำมาใช้ผลิต รูปแบบ ลวดลาย สี เนื้อผ้า ขนาด ความเชื่อ ทางศาสนา และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและแต่ละภูมิภาค โดยผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูป ของไทยต้องมีการพัฒนาบุคลากร นักออกแบบ ที่เข้าใจถึงความต้องการของตลาดเหล่านี้อย่างถ่องแท้ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรวมทั้งภาครัฐจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจและไปรับรู้ถึงรสนิยมและความต้องการของผู้ซื้อ ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้สั่งซื้อทราบถึงคุณภาพและรูปแบบสินค้าไทยได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การออกไปจัดแสดงสินค้าต่างประเทศจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง ซึ่งผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี มีข้อจำกัด ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนทางด้านงบประมาณในส่วนนี้ให้เพิ่มมากขึ้น
บทสรุป
กล่าวโดยสรุปแล้ว เสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงถึงปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันก็มีความเกี่ยวข้องกับการจ้างงานถึงประมาณ 8 แสนคน ดังนั้น ผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้วางแผนการผลิตและการตลาดให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที โดยกลยุทธ์สำคัญเร่งด่วนก็คือการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ จะไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากตลาดมีความต้องการที่หลากหลาย แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและท้องถิ่น แต่การแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ก็นับเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในยามที่ต้องเผชิญกับผลกระทบ จากวิกฤติเศรษฐกิจโลก คาดว่าระดับความรุนแรงจะมีมากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกหลายครั้งที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย ได้เตรียมพร้อมปรับตัวทั้งทางด้านการผลิตและการตลาดอย่างมุ่งมั่นและจริงจัง ก็เชื่อว่าจะบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ที่กำลังเผชิญอยู่ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|