ณรงค์ชัย อัครเศรณี "เขามือไม่ถึงที่จะเป็นผู้จัดการทั่วไปบรรษัท"

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่กระแสข่าว บรรษัทนกำลังคึกโครมอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยปัญหากระทรวงการคลังมีท่าทีเย็นชาต่อการหาทางออกให้บรรษัท กรณีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และขณะที่ศุกรีย์ แก้วเจริญ ผู้จัดการทั่วไป และเป็นกรรมการบรรษัทอยู่ด้วยกำลังวิ่งพล่านพบคนโน้นทีคนนี้ที เพื่อขอความเห็นใจและเข้าใจในสิ่งที่เขาและผู้บริหารบรรษัททุกคนได้กระทำลงไป ในการบริหารกิจการบรรษัทตลอด 9 ปีที่ผ่านมา

ปรากฏว่า เรื่องนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ออกมาเลยจาก ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาบรรษัทและที่ปรึกษาด้านนโยบายนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

ทำไม ณรงค์ชัย จึงเงียบ ทั้ง ๆ ที่เขามีฐานะเป็นที่ปรึกษาบรรษัทอยู่และมีอดีตเป็นถึงผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปบรรษัท เมื่อ 3 ปีก่อน

มีการพูดกันหนาหูมากว่า งานนี้เขามีสิทธิ์เป็นแคนดิเดท สวมตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปบรรษัทแทนศุกรีย์ ด้วยถูกมองว่า หนึ่ง - เขาเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงในบรรษัทมาก่อน ย่อมรู้ปัญหาและหนทางแก้ไขบรรษัทได้ดีกว่าคนอื่น และ สอง - เขามีประสบการณ์ในการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากจอห์น ฮอปกิ้น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม ที่ตรงกับธุรกิจของบรรษัทที่ทำอยู่ และเป้นผู้บริหารโครงการวิจัยระดับสูงในทีดีอาร์ไอ ถึงตำแหน่งรองประธานและผู้อำนวยการโครงการวิจัยอุตสาหกรรมและการค้าต่างประเทศแถมมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้วย

เหตุผล 2 ประการนี้ ถูกสังเกตด้วยความเชื่อจากคนวงนอกบรรษัทว่า เหมาะสมยิ่งนักที่จะเป็นผู้จัดการทั่วไปบรรษัท

"เขามือไม่ถึงหรอก" ศุกรีย์พูดเปรย ๆ กับดุสิต โสภิชา นักการเมืองฝ่ายค้ายที่ห้องอาหารแห่งหนึ่งแถว ๆ อโศกต่อหน้า อัศวิน คงสิริ มือขวาของเขา

จริงหรือไม่ที่ณรงค์ชัย "มือไม่ถึง" คงไม่มีใครรู้นอกจากณรงค์ชัยกับผู้บริหารบรรษัทอีก 4 คนคือ อโนมัย เตชะมนตรีกุล ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป และผดุง เตชะศิรินทร์ รองผู้จัดการทั่วไป (ย้ายไปเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ธ.นครหลวง) เท่านั้นที่รู้เพราะเคยทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาก่อนที่บรรษัท

อุปมาอุปมัยเหมือน "ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่" ว่ากันว่า ตอนที่ผดุงลาออกไปอยู่ธ.นครหลวงช่วงที่บรรษัทเริ่มประสบมรสุมด้านอัตราแลกเปลี่ยน ณรงค์ชัยมาขอตำแหน่งนี้กับศุกรีย์ แต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลเพียงว่ายังไม่เหมาะสม "ผลงานและความสามารถไม่ได้เหนือกว่าอโนทัยและจักรทิพย์เลย" คนในบรรษัทเล่าย้อนอดีตให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

นอกจากนี้ บทบาทการเป็นนักคิดของณรงค์ชัย ในบางครั้งทำให้ผู้บริหารของบรรษัทหลายคนอึดอัดที่ณรงค์ชัย ชอบพูดความเห็นของตัวเองออกไปก่อนเข้าที่ประชุมผู้บริหารในบรรษัท

ผู้ใหญ่บางคนมองว่า ณรงค์ชัย ชอบล้ำเส้นอยู่เรื่อย ขณะเดียวกันก็มีข่าวกระจายออกไปภายนอกว่า ณรงค์ชัยไม่ได้รับมอบหมายงานที่สำคัญ ๆ ทำ และเริ่มเบื่อหน่ายที่จะอยู่บรรษัท

การลาออกของณรงค์ชัยจากบรรษัทในช่วงกลางปี 2531 โดยให้ดร.เสนาะ อูนากูล โทรมาขอกับศุกรีย์ด้วยเหตุผลว่า "ต้องการให้ไปช่วยงานที่ทีดีอาร์ไอ" ถูกมองว่าเขากำลังทิ้งบรรษัทไป ขณะที่บรรษัทกำลังประสบมรสุมอยู่อย่างเงียบ ๆ

จนเมื่อเรื่องราวที่เป็นมรสุมของบรรษัทถูกเปิดเผยออกมาอย่างคึกโครม ก็ไม่มีเสียงอันใดจากณรงค์ชัย ที่จะแสดงออกมาในฐานะอดีตผู้บริหารระดับสูงผู้รู้เรื่องดี "แกเป็นที่ปรึกษาบรรษัท แต่ผมยังไม่เคยได้รับคำปรึกษาอะไรจากแกเลยสักคำ" ศุกรีย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงณรงค์ชัยในยามที่วิกฤติ

ณรงค์ชัยกำลังถูกพูดถึงว่า อาจเป็นแคนดิเดทที่จะแทนศุกรีย์ในบรรษัทเป็นไปได้หรือไม่ คำถามนี้ คงตอบได้ยากกว่าจริงหรือไม่ แต่ถ้าณรงค์ชัยมาจริง อัศวินที่จ่อรอคิวในตำแหน่งรองมานานและอยู่โต้กระแสมรสุมกับศุกรีย์มาตลอดและมีตำแหน่งเหนือกว่าณรงค์ชัยมาก่อน คงอยู่ไม่ได้แน่

จักรทิพย์และอโนทัย ซึ่งมีตำแหน่งเท่าณรงค์ชัยมาก่อนในบรรษัทก็คงอึดอัด สมการนี้คงเป็นโจทย์ให้ประมวลและเหล่าที่ปรึกษาประมวลโดยเฉพาะกอบศักดิ์ สภาวสุ ลูกชาย ส.ส.สอบตกจากพรรคชาติไทยขบคิดอย่างหนัก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.