|
เอกชนผวาวิกฤตกว่าปี40อุ๋ยขอแบงก์อย่าทิ้งส่งออก
ผู้จัดการรายวัน(30 ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เอกชนจี้นายกฯ ยุติปัญหาการเมืองด่วน หากยืดเยื้อปีหน้าเผาจริงแน่ ระบุเศรษฐกิจไทยส่อเค้าวิกฤติกว่าปี40 เหตุรัฐบาลเน้นแต่การเมืองมากกว่าแก้ไขเศรษฐกิจ เผยออร์เดอร์ไตรมาส1/52 หด 30% ปีหน้าโอกาสเห็นแรงงานเตะฝุ่น 2 ล้านคนไม่ไกลเกินจริง ซัดมาตรการรัฐที่ผ่านมาแก้ไม่ถูกที่คัน ด้านหม่อมอุ๋ยชี้วิกฤตการเงินโลกรอบนี้ฟื้นช้า เผยกระทบภาคการส่งออกโดยตรง แนะแบงก์อย่าทิ้งลูกค้ากลุ่มนี้และต้องดูแลใกล้ชิด แบงก์ชาติมองปีหน้าจีดีพีมีโอกาสหลุดกรอบ 3.8-5.0% ทีดีอาร์ไอคาดส่งออกปีหน้าอาจติดลบ
นายสมมาต ขุนเศษฐ รองเลขาธิการงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนมีความกังวลกับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากเพราะมีทั้งปัจจัยภายนอกคือปัญหาวิกฤติการเงินโลกที่จะทำให้การส่งออกไทยลดลง และปัจจัยการเมืองภายในที่จะผสมโรงให้เศรษฐกิจไทยแย่ไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านอีก ดังนั้นปัญหาเร่งด่วนของไทยคือทำให้ปัญหาการเมืองยุติโดยเร่งด่วนซึ่งเห็นว่าการแก้ไขนั้นเป็นความรับผิดชอบของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลโดยตรง ซึ่งหากปัญหาการเมืองไม่ยุติโดยเร็วและยืดเยื้อเช่นปัจจุบันในปี 2552 ไทยจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจมากกว่าปี 2540
ทั้งนี้สาเหตุสำคัญคือ ปัญหาการเมืองส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การเมืองเป็นหลักมากกว่าจะยึดผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชาติและมาตรการที่ออกมาดูแลเศรษฐกิจของรัฐยังไม่ไปในทิศทางที่สอดคล้องและนำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริงบางมาตรการดูแลเฉพาะกลุ่ม แต่ภาพรวมความไม่เชื่อมั่นทำให้แรงซื้อในประเทศยังลดต่ำอยู่ ภาคการผลิตจึงต้องเผชิญกับการส่งออกที่ลดทั้งในและนอกประเทศโดยการส่งออกไตรมาส 4 ปีนี้จากการสอบถามสมาชิกคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์)ลดลงแล้วเฉลี่ย 15-20% ส่งผลให้ภาคการผลิตแก้ไขด้วยการไม่มีการทำงานล่วงเวลา(โอที) และลดกะการทำงานลง และสิ้นปีนี้คงยากจะเห็นการจ่ายโบนัส หรือหากจ่ายก็คงจะลดลงโดยเฉลี่ยกว่าปีที่แล้ว
แรงงานปี52 อาจเตะฝุ่น 2 ล้านคน
ขณะที่ไตรมาส 1/52 ออร์เดอร์ส่งออกลดลง 30-40% ซึ่งจะส่งผลให้กระทบแรงงานจำนวนประมาณ 1 ล้านคน แต่หากทั้งปีปัญหาการเมืองไทยยังไม่จบและไม่สามารถดูแลปัญหาด้านเศรษฐกิจได้ดีเท่าที่ควรทั้งปีมีโอกาสจะกระทบแรงงานได้ถึง 2 ล้านคนทั้งแรงงานเก่าที่มีอยู่และแรงงานที่ควรจะเข้าสู่ตลาดใหม่เมื่อมีการจบการศึกษาแล้ว ซึ่งถือว่าโชคดีที่ค่าเงินบาทในขณะนี้อยู่ระดับอ่อนค่า 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐหากอยู่ในระดับ 30-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐภาคการผลิตอาจจะเจ๊งไปแล้ว
“ วิกฤตปี’40 กระทบถึงขั้นรายที่ไม่แข็งแรงตายหมดรายที่รอดมาได้ทุกวันนี้ในช่วงนั้นมีงานทำเพียง 2-3 วันก็พยายามพยุงกันมาส่วนหนึ่งเพราะมีแรงซื้อในประเทศมาช่วย เราวิตกว่าหากการส่งออกที่มีผลต่อการผลิตลดลงต่อเนื่องการเมืองซ้ำเติมอีกจะผลิตขายใคร แถมเราเองก็มีปัญหาชายแดน 3 จังหวัดใต้ ปัญหากับเขมร วิกฤติปี 52 คงหนีไม่พ้นมากกว่าปี 40 แน่ ”นายสมมาตกล่าว
จี้ลด ดบ.- ภาษีรายได้นิติบุคคลด่วน
นายสมมาตกล่าวว่า รัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการออกมาแบบเร่งด่วนในการฟื้นสภาพคล่องของเอกชนและแรงซื้อประชาชนด้วยการ 1. ดูแลค่าบาทให้อยู่ในสภาพที่ไม่แข็งค่าจนเกินไปโดยให้อ่อนค่าสอดคล้องกับภูมิภาค 2. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาเพื่อพยุงภาคธุรกิจให้มีสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้น 3. การลดภาษีรายได้นิติบุคคลลงจากปัจจุบัน 30% ลงมาเหลือ 20% อย่างน้อยเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนที่ถึงกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ 4. รัฐบาลต้องเร่งตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านบาทหรือปล่อยกู้ผ่านแบงก์รัฐเพื่อช่วยธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ด้านการเงินที่ขณะนี้เอสเอ็มอีมีปัญหาการกู้เงินอย่างมาก
ชี้เอสเอ็มแอลอัดฉีดไม่ก่อให้จ้างงาน
สำหรับมาตรการต่างๆ หากพิจารณาช่วงที่ผ่านมายังไม่สามารถอัดฉีดไปสู่รากหญ้าได้อย่างแท้จริงซึ่งเห็นว่าโครงการเอสเอ็มแอลก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ควรจะต้องพิจารณาว่าจัดสรรงบประมาณไปแล้วได้ก่อให้เกิดการจ้างงานหรือไม่หรือควรจะนำไปใช้ในการดูแลงานเก่าที่ค้างอยู่เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานไม่ควรเน้นแต่เพียงการหว่านเงินเข้าไปเพียงเพื่อหาเสียงแต่ไม่มองผลที่จะได้กลับมาที่เป็นประโยชน์ต่อชาติและชุมชน
อุ๋ยแนะแบงก์อย่าทิ้งลูกค้าส่งออก
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาถกฐาพิเศษหัวข้อ “ความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา” ในงานสัมมนา “Global Events and the Future of Thai Economy” ซึ่งจัดโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ว่า การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบของทางการสหรัฐฯ นั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาด้านเดียว คือ การทำให้สถาบันการเงินยังสามารถทรงตัวอยู่ได้ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในภาคประชาชน ไม่ได้ทำให้การสร้างบ้านมีมากขึ้นหรือคนมีงานทำมากขึ้น ทั้งนี้ จากราคาน้ำมันโลกที่มีการปรับตัวลดลงนั้นจะช่วยในภาคการบริโภคให้ฟื้นตัวได้บ้าง แต่โดยรวมการบริโภคจะยังคงมีน้อยอยู่ เนื่องจากการเก็บออมของคนสหรัฐฯ จะมาจากการลงทุนในหุ้น และตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้นที่ได้ปรับตัวลงแล้วประมาณ 40-45%
อย่างไรก็ตาม มองว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯนั้นจะยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีแรกของปีหน้า โดยไม่มีมาตรการใดที่จะมาแก้ไขได้ และจะใช้เวลาระยะหนึ่งในการฟื้นตัว ส่วนเงินเฟ้อจะมีการลงต่ำลง จนอาจจะติดลบได้ แต่การลดลงนั้นจะเป็นไปแบบที่ช้ามาก
“วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ได้ลุกลามไปในยุโรป ซึ่งมีการลงทุนในซับไพรม์แล้ว ส่วนญี่ปุ่นแม้ว่าจะมีการลงทุนตราสารนี้น้อยมาก แต่คงจะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ในด้านของการส่งออกที่น่าจะลดลงอย่างชัดเจน จึงทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า G3 นั้นจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกัน”
ส่วนผลกระทบต่อไทยนั้นแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คือ ผลกระทบต่อการส่งออก ผลกระทบต่อสถาบันการเงิน และผลกระทบต่อรัฐบาล โดยผลกระทบต่อการส่งออกนั้นเนื่องจากปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลต่อ G3 ทำให้ผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นกับคู่ค้าในทุกประเทศซึ่งรวมถึงไทยโดยตรงด้วย โดยอุตสาหกรรมที่เริ่มชะลดตัวชัดเจนก็คือ อุตสาหกรรมไอที รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องประดับและเสื้อผ้าที่เริ่มเห็นผลกระทบแล้ว แต่ที่ผ่านมาในส่วนของไทยนั้นผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกมีไม่มากนัก เนื่องจากได้ประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น แต่ในขณะนี้ก็เริ่มลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลง
ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องมีการปรับตัวเพื่อรับสภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะต้องมีการลดการเก็บสต็อกให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่ให้เงินจม และต้องดูแลกิจการในภาวะที่การขายชะลอตัวลง โดยยังคงต้องมีการจ้างงานไว้ เพื่อช่วยไม่ให้ผลกระทบลุกลาม เนื่องจากในความเป็นจริงคนยังต้องบริโภคอยู่ สินค้าก็ยังขายได้ และเศรษฐกิจปีหน้าจะยังมีการเติบโตที่เป็นบวก
"สิ่งที่ธนาคารต่าง ๆ จะต้องทำตอนนี้ คือ การดูแลลูกค้าโดยเฉพาะภาคการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินโลกนี้ให้สามารถดำเนินธุรกิจให้ดี และธนาคารไม่ควรกระทำการใด ๆ ที่เป็นการซ้ำเติมและเตรียมมาตรการดูแลลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบนี้"
ส่วนผลกระทบต่อสถาบันการเงิน ซึ่งหลายฝ่ายกลัวว่าจะลุกลามมายังไทยนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเชื่อว่าคงจะมาแน่ แต่จะมีความแตกต่างกันเนื่องจากโครงสร้างมีความแตกต่างกับประเทศอื่น อีกทั้งสถาบันการเงินในมีการลงทุนในตราสารที่มีปัญหาน้อยมาก และไม่ได้มีการลงทุนในหุ้นมากนัก
ธปท.จีดีพีมีสิทธิหลุดกรอบ 3.8-5.0%
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวต่ำ 3.8% ซึ่งเป็นคาดการณ์ขั้นต่ำในช่วง 3.8-5.0 ที่ ธปท.ประเมินไว้ และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ช่วงต่ำสุดภายในปีหน้า ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีโอกาสได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยโดยตรง ขณะที่การลงทุนในประเทศก็อาจจะได้รบผลกระทบจากโครงการเมกะโปรเจ็คต์ของภาครัฐที่มีโอกาสเลื่อนออกไปจากที่วางแผนไว้ว่าจะเริ่มขับเคลื่อนได้ในไตรมาส 1/52 อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้
"ธปท.ยังหวังว่าการที่รัฐบาลพยายามผลักดันมาตรการต่าง ๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการลดผลกระทบวิกฤติการเงินโลก หากมาตรการเหล่านี้ประสบความสำเร็จและสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวได้ดีขึ้นได้ ตอนนี้จะต้องให้รัฐเป็นตัวนำในการสร้างควาเชื่อมั่นให้กับเอกชน ในการไปลทุนต่าง ๆ รวมทั้งต้องพึ่งพาความต้องการภายในประเทศมากขึ้นด้วย"นางอมรากล่าวและว่า จากที่พูดคุยกับภาคเอกชนพบว่า ปัญหาการเมืองทำให้นักธุรกิจหลายรายชะลอการลงทุนออกไป ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลงเรื่อย ๆ นักลงทุนไม่กล้าเข้าไปลงทุน และมองว่าภาคเอกชนนอกจากจะชะลอการลงทุนใหม่ ๆ แล้วก็จะคงกำลังการผลิตที่มีอยู่ไว้ในระดับเดิมด้วย
"หลายประเทศต่างมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า เมื่อประสบวิกฤติจากปัญหาภายนอกประเทศ จึงต้องกลับมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของไทยเองพื้นฐานเศรษฐกิจยังแข็งแกร่งเพียงพอรับมือวิกฤติจากภายนอกได้ แต่ยอมรับว่าปัญหาการเมืองเป็นสิ่งที่จะต้องปลดล็อคและหาทางออกให้ได้ เพราะปัญหาการเมืองไทยกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องใช้ความระมัดระวังประกอบการตัดสินใจลงทุน"
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวม และการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ไม่อยากให้เอกชนหยุดการลงทุน ควรหาช่องทางเพื่อลงทุนเพิ่ม ส่วนภาครัฐควรเร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ ในส่วนของการส่งออกปีหน้าของไทย มีโอกาสอยู่ที่ 0 ถึง ติดลบ ซึ่งสิ่งที่ช่วยได้ คือ งบประมาณรัฐบาล และการนำเข้าที่ลดลง คาดการณ์ GDP ปีหน้า อยู่ที่ 2-4%
มศวให้นักศึกษาผ่อนค่าธรรมเนียม
ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า จากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย อีกทั้งปัญหาการเมืองในประเทศได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศและกระทบต่อการจ้างงาน ขณะนี้คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยได้ให้กองบริการการศึกษา สำรวจว่าในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างนี้ นิสิตได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ปรากฏว่ามีนิสิตที่ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ตอนนี้ทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยกำลังจะหาทางแก้ปัญหาด้วยการให้นิสิตสามารถผ่อนค่าทำเนียมการศึกษารายเดือนได้
"เรื่องที่น่าห่วงอย่างมากสำหรับนิสิตที่สำเร็จการศึกษาและต้องออกไปสู่โลกแห่งการทำงาน มหาวิทยาลัยจึงได้เร่งสร้างทัศนะใหม่ให้แก่นิสิต ต้องรู้จักสร้างที่จะสร้างงานของตัวเองให้มากขึ้น และต้องไม่รอที่จะเป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนหรือรอทำงานในหน่วยงานราชการเพียงอย่างเดียว ” อธิการบดี มศว กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|