ซีพี ลงทุนร่วม โซลเวย์ การขยายธุรกิจแนวนอนที่ฉลาด


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

มีผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ว่าถ้าจะวิเคราะห์องค์กรธุรกิจขนาดยักษ์อย่างซีพีไม่ต้องไปดูอะไรมากนัก ให้ดูแต่เพียงแต่คน 5 คน เท่านั้นที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ซีพีคือ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประเสริฐ พุ่งกุมาร มิน เธียรวร วีรวัฒน์ กาญจนกุล และอาชว์ เตาลานที่ว่าผู้ใหญ่ 5 ท่านนี้มีแนวคิดการทำธุรกิจอย่างไร และชีวิตที่ผ่านมาในการทำธุรกิจเป็นอย่างไรเท่านั้นพอ เป็นอันรู้กันหมดไส้หมดพุงซีพีกันเลยทีเดียว

เพราะอะไร เหตุผลเพราะทุกอย่างก้าวในเวทีธุรกิจของซีพีที่บ่งบอกถึงการเคลื่อนไหวเชิงกิจกรรมทางยุทธศาสตร์ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจ การร่วมลงทุน การเปิดประตูสู่ตลาดโลก ที่ปรากฎเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน หรือรายสัปดาห์ ทำนองว่าเดี๋ยวซีพีขยายทำโน่นทำนี่ทั้งหมด โดยเนื้อแท้ที่อยู่เบื้องหลังข่าวมาจากการตัดสินใจของผู้ใหญ่ 5 ท่านนี้เท่านั้น ไม่ใช่ใครอื่น

ปีที่แล้ว (2531) ซีพีทำธุรกิจร่วมลงทุนกับค่ายยุโรปหลายโครงการไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันทำสยามแม็คโคร ซูเปอร์มาร์เก็ตขายส่ง การเช่าลิขสิทธิ์กับ 7-ELEVEN เพื่อขายปลีกหน้าร้านทั่วประเทศ การทำเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำขนาดใหญ่ ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้ อยู่ในสายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฐานธุรกิจอาหารสำเร็จดั้งเดิมของซีพีทั้งสิ้น

โครงการทั้งหมดปีนี้ (2532) จะต้องลงทุนกันจริง ๆ ไม่ใช่อยู่เฉพาะบนกระดาษสัญญา

ในจำนวนโครงการขยายธุรกิจใหม่ ๆ ดังว่า มีอยู่โครงการหนึ่งที่ออกจะผิดแปลกไปมากจากความคาดหวังของนักวิเคราะห์ข่าวทั่วไป คือโครงการร่วมลงทุนกับโซลเวย์ แห่งเบลเยียมผลิต PVC

ถ้าวิเคราะห์หลังจากได้ตรวจสอบโครงข่ายธุรกิจของซีพีจะพบว่า ซีพีมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปเป็นหลักใหญ่ การขยายธุรกิจที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อรองรับธุรกิจหลัง

การกระโดดข้ามจากธุรกิจอาหารไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ไม่มีโครงการร่วมลงทุนกับโซลเวย์เพื่อผลิต PVC ที่กำลังจัดเตรียมร่างสัญญาเพื่อให้ผู้ใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่ายได้เซ็นกันในอีกเดือน 2 เดือนข้างหน้านี้ จึงเป็นเรื่องที่ซีพีทำ SURPRIZE ให้กับวงการจริง ๆ

สำหรับที่ว่าทำไม โซลเวย์จึงไปจับมือลงทุนร่วมกับซีพีที่ไม่เคยรู้เรื่องธุรกิจอื่นใดนอกเหนืออาหาร ก็เป็นปุจฉาที่น่าคิด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่โซลเวย์จะไม่รู้มาก่อนว่า ความยิ่งใหญ่ของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ของบ้านเรามีใครบ้าง กลุ่มใดบ้างที่พอจะคุยกันรู้เรื่องในธุรกิจผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

และก็เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน ที่โซลเวย์จะได้รู้ประวัติศาสตร์ความชอกช้ำที่แวนฮูล กลุ่มธุรกิจเพื่อนร่วมชาติได้ถูกกระทรวงคมนาคมไทยเบี้ยวสัญญาเอาดื้อ ๆ เพียงเพราะมีการเปลี่ยนตัว รมต. เจ้ากระทรวงกัน ในโครงการเช่าและซื้อรถโดยสารสำหรับวิ่งในกทม. ที่สมัคร สุนทรเวช เจ้ากระทรวงคนก่อนได้ไปตกลงทำสัญญาไว้กับแวนฮูลเรียบร้อยแล้ว และถูกบรรหาร ศิลปอาชา เจ้ากระทรวงคนต่อมาสั่งยกเลิกตามมติครม.

เพราะถ้าประวัติศาสตร์เรื่องราวเหล่านี้ ทางโซลเวย์ไม่ทราบมาก่อน ก็เป็นอันว่า เป็นความบกพร่องของสถานทูตเบลเยียมกรุงเทพฯเอามาก ๆ

แต่ความจริงก็รู้กันอยู่ว่าโซลเวย์นั้นมีข้อมูลพร้อมและรู้ดีว่า การเจรจาร่วมทุนกับกลุ่มนักธุรกิจไทยและรัฐบาลไทยนั้นจะต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวอย่างไร

โซลเวย์มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเคมีชั้นสูงมานานกว่า 125 ปี มาเมืองไทยด้วยเจตจำนงใช้ฐานผลิตเมืองไทยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการวางเครือข่ายผ่านแปซิฟิกริม ในเวทีธุริจแข่งขันด้านเคมีภัณฑ์ในตลาดโลก เพราะอะไร ก็เพราะประเทศไทยมีวัตถุดิบปิโตรเลียมและาฐานผลิตผลิตภัณฑ์ชั้นกลาง ที่ได้จากวัตถุดิบปิโตรเลียม ประกอบกับฐานตลาดที่นำเข้าอยู่ปีละหลายพันล้านบาท

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบที่จูงใจให้โซลเวย์มองเมืองไทยด้วยเหตุผลดังว่านั้น

กับซีพีก็เช่นกัน แม้ประเสริฐพุ่งกุมาร ผู้ใหญ่คนหนึ่งในซีพีจะเคยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าอุตสาหกรรมอาหารของซีพีเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของซีพพีแต่ในอนาคตข้างหน้า ธุรกิจอื่นใดที่ซีพีสามารถทำกำไรได้โดยมีผลประโยชน์ต่อประเทศชาติด้วย ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ซีพีจะไม่มุ่งไปสู่ธุรกิจนั้น

กับโซลเวย์แห่งเบลเยียมผลิต PVC ก็เช่นกัน แม้ซีพีจะไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่พาร์ตเนอร์อย่างโซลเวย์ก็เข้มแข็งในวิทยาการที่ซีพีสามารถเรียนรู้ได้ แต่เมื่อหันมาพินิจพิเคราะห์กับคำพูดของธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งของซีพีที่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า "หัวใจสำคัญของซีพียังอยู่ที่ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ที่บ้านเรามีทรัพยากรอยู่เป็นจำนวนมากที่พร้อมให้เขาใช้วิทยาการสมัยใหม่ไปพัฒนาเลี้ยงประชากรโลก" ก็ย่อมเห็นจุดที่แตกต่างกันของแนวคิดของผู้ใหญ่ในซีพีอยู่บ้าง

หลักฐานยืนยันถึงคำพูดที่มีความหมาสะท้อนถึง ยุทธศาสตร์การลงทุนของซีพีในโลกธุรกิจนี้ของธนินทร์ ก็คือ โครงการลงทุนในสยามแม็คโคร และ 7-ELEVEN ที่โครงการทั้ง 2 อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของธนินท์เพียงผู้เดียว

คำถามคือเพราะอะไรธนินท์ถึงให้ความสำคัญมากเพียงนี้ทั้ง ๆ ที่โครงการทั้ง 2 นี้มันไม่ใช่การผลิต แต่เป็นการค้าธรรมดา ๆ

คำตอบก็คือ ทางสยามแม็คโครและ 7-ELEVEN ซีพีต้องการใช้เป็นช่องทางจดัจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทุกตัวของซีพีสู่ตลาดโลกที่ทั้ง 2 มีอยู่อย่างกว้างขวางทั่วโลก นั่นเอง

"เพราะซีพีมุ่งผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรโลก ไม่ใช่แต่เพียงคนไทยเท่านั้น" นี่คือยุทธศาสตร์ใหม่ของซีพีในคริสต์ศักราช 1990

ด้วยเหตุผลด้านยุทธศาสตร์เดียวกันนี้ การร่วมลงทุนกันโซลเวย์ก็เช่นกัน การร่วมมือกันระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซีพีกับยักษ์ใหญ่ของเบลเยียม และประชาคมยุโรปอย่างโซลเวย์ประสานเข้ากับบริษัทการค้าสาขาของซีพีในบรัสเซลย์ ก็ย่อมเป็นหมากสำคัญในการรุกคืบธุรกิจอาหารของซีพี ที่ผลิตจากฐานผลิตต่าง ๆ ทั่วโลก เข้าสู่ตลาดประชาคมยุโรป ก่อนร่วมเป็นหนึ่งเดียว (SINGLE MARKET) ในปี 1992 ได้โดยง่าย โดยมีบารมีของบริษัทโซลเวย์เป็นหลักผิงที่แข็งแกร่ง

ความจริงหมากลของซีพีวิธีนี้เป็นหมากที่ซีพีเคยใช้มาแล้วในตลาดญี่ปุ่น โดยผ่านกลไกการลงทุนร่วมกับบริษัทมินิแบในเมืองไทยเพื่อผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และตลับลูกปืน

ประเสริฐ พุ่งกุมาร ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า เหตุที่ต้องลงทุนร่วมกับมินิแบ ก็เพราะหวังว่าจะอาศัยบารมีของผู้ใหญ่ในมินิแบคุยกับมิติญี่ปุ่นให้เปิดตลาดหมูของซีพีเข้าญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น ดังนั้น หมากกลของซีพีในการลงทุนร่วมกับกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่างโซลเวย์เพื่อผลิต PVC นี้ จึงฉลาดเฉียบแหลมมาก ๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.