|
“ไทย”ปท.เสี่ยงสุดอันดับ2ในเอเชีย การเมืองภายในบวกวิกฤตเศรษฐกิจ
ผู้จัดการรายวัน(29 ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
รอยเตอร์ – ประเทศไทยมีความเสี่ยงทางด้านการเมืองและสังคมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชียแปซิฟิกในปี 2009 รองลงมาจากอินเดียเท่านั้น สืบเนื่องจากปัญหาความไร้เสถียรภาพภายในเป็นปัจจัยหลัก ทั้งนี้เป็นการจัดอันดับของ บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ (เพิร์ก)
เพิร์ก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง ได้เผยรายงานการประเมินความเสี่ยงของประเทศในเอเชียแปซิฟิก 16 ประเทศ โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ความวุ่นวายทางการเมือง การคุกคามจากพวกนักกิจกรรมทางสังคม และความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาล จากนั้นให้ค่าคะแนนการประเมินซึ่งมีช่วงตั้งแต่ 0-10 คะแนน โดยค่าคะแนนศูนย์แสดงถึงสถานการณ์ทางสังคม-การเมืองที่ดีเยี่ยม ส่วนค่าคะแนน 10 แสดงถึงสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงสุด
ผลการประเมินปรากฏว่าอินเดียมีค่าคะแนนสูงสุดคือ 6.87 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดกลัวว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านความมั่นคงและความไม่สงบในปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้นยังมีความไม่มั่นใจต่อผลการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า อีกทั้งในระยะหลังก็ยังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและการถูกจู่โจมจากพวกก่อการร้ายบ่อยครั้งขึ้นด้วย
“อินเดีย ไทย และมาเลเซียไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินโลกมากนัก แต่ปัญหาความเสี่ยงส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ” รอเบิร์ต แบรดฟุต กรรมการผู้จัดการของพีอีอาร์ซ๊ กล่าว
ทั้งนี้รายงานของพีอีอาร์ซีระบุด้วยว่า “สำหรับประเทศทั้งสามนี้ พายุเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะถล่มเข้ามาจะเข้าเสริมให้สถานการณ์เลวร้ายลงยิ่งขึ้น” อย่างไรก็ตาม “อินเดียยังเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนอยู่ดี ไม่ว่าจะใครจะชนะการเลือกตั้งปีหน้าก็ตาม”
ส่วนไทยนั้นรั้งอันดับสองของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในเอเชียในปี 2009 ด้วยค่าคะแนน 6.28 เนื่องจากปัญหาความผันผวนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะส่งผลกระทบลากยาวไปถึงปี 2009 โดยจะกระทบต่อสถาบันหลักๆ ของประเทศด้วย
สำหรับมาเลเซียมีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับสามในภูมิภาคนี้ ก็เพราะการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองได้ซ้ำเติมความตึงเครียดในเรื่องเชื้อชาติและศาสนาให้รุนแรงยิ่งขึ้น ในรายงานยังระบุด้วยว่า “สถานการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะได้เห็นการคัดค้านทางการเมืองที่รุนแรงกว่าในอดีต”
ส่วนประเทศในกลุ่มที่มีเสถียรภาพสูงสุดและมีความเสี่ยงทางการเมืองต่ำสุดในปีหน้าก็คือ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินโลกก็ตาม
ส่วนสหรัฐฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวิกฤตการณ์ทางการเงิน ก็กำลังอ่อนแอลงทั้งทางเศรษฐกิจและจิตวิทยา ขณะที่ศักยภาพทางด้านการเมืองและการทหารก็จะลดต่ำลงจากเดิม อีกทั้งจะมีความกระตือรือร้นกับการผลักดันแนวคิดต่างๆ ของตนในต่างประเทศน้อยลงตามไปด้วย โดยจะหันไปพึ่งพาพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ และออสเตรเลียมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับเอเชีย
ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนได้คะแนน 5.33 เนื่องจากรัฐบาลจะต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการรักษาระดับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไว้ พร้อมไปกับการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพื่อรับมือกับตลาดส่งออกที่จะอ่อนตัวลงในปีหน้า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|