|
CPFเล็งทำโรงผลิตไบโอดีเซลลดต้นทุน
ผู้จัดการรายวัน(28 ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
CPF เล็งลงทุนสร้างโรงผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วในโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์เพิ่มอีก 2 แห่งที่โคราชและมีนบุรี ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 1แสนลิตร/เดือน หลังโครงการนำร่องที่สระบุรีประสบความสำเร็จ ลดต้นทุนการผลิตสูง
นายนพดล ศิริจงดี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจอาหารแปรรูปเนื้อไก่ (สระบุรี-โคราช) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF ) เปิดเผยว่า บริษัทฯมีแผนจะขยายการลงทุนสร้างโรงผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วในโรงงานแปรรูปอาหารเพิ่มเติมที่จังหวัดนครราชสีมา และมีนบุรี คาดว่าจะผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้แห่งละ 1 แสนลิตรต่อเดือน หลังจากโครงการนำร่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลของบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน)ที่สระบุรี ประสบความสำเร็จ โดยทดลองนำน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้มาใช้กับรถเครื่องยนต์ดีเซลของโรงงานในเครือฯ พบว่ามีอัตราการสิ้นเปลืองเมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลทั่วไป 3% แต่ราคาต่ำกว่าดีเซลถึงลิตรละ 4 บาท ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสึกหรอของเครื่องยนต์
ทั้งนี้ การลงทุนสร้างโรงผลิตน้ำมันไบโอดีเซลอีก 2 แห่ง จะใช้เงินลงทุนไม่สูงมากเพียงแห่งละ 1ล้านกว่าบาท คาดดำเนินการได้ปีหน้า เพราะต้องขอใบอนุญาตจากกรมธุรกิจพลังงานด้วย ซึ่งโครงการนำร่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลที่สระบุรีนี้ ได้รับการรับรองมาตรฐานไบโอดีเซลชุมชน และอยู่ระหว่างการยื่นเพิ่มการตรวจสอบบางรายการเพิ่มอีก 2-3 รายการ ซึ่งจะทำให้น้ำมันไบโอดีเซลที่บริษัทฯผลิตได้สามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้
แม้ว่าจะได้รับการรับรองว่าน้ำมันไบโอดีเซลผ่านมาตรฐานจนสามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ แต่ไม่มีแผนที่จะจำหน่ายภายนอก เพราะจะนำมาใช้ภายในเครือซีพี เพื่อลดต้นทุนการใช้น้ำมันดีเซลแทน ซึ่งปัจจุบันโรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซลที่กรุงเทพโปรดิ๊วสนั้น สามารถผลิตได้ 1 แสนลิตรต่อเดือน แต่ผลิตจริงเพียง 3.5-5 หมื่นลิตรต่อเดือน เพราะต้องการทดสอบคุณภาพน้ำมัน ส่วนน้ำมันพืชที่ใช้แล้วครึ่งหนึ่งประมูลขายให้บุคคลภายนอกนำไปใช้ผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลต่อไป
นายนพดล กล่าวว่า จากราคาน้ำมันดีเซลที่อ่อนตัวลงในช่วงนี้เหลือเพียง 63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่เชื่อว่าราคาดีเซลน่าจะปรับตัวสูงขึ้นไป หลังจากโอเปคปรับลดกำลังการผลิตลง ซึ่งจะทำให้โครงการดังกล่าวยังคุ้มการลงทุนเพราะต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 4 บาท ทำให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันดีเซลได้ปีละ 80-90 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงปีละ 7,500 ตัน โดยโรงงานผลิตไบโอดีเซลใหม่นี้จะมีการยื่นขอคาร์บอนเครดิตด้วย เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยลงอันเนื่องจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯลามไปทั่วโลกนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่การที่บริษัทฯดำเนินธุรกิจด้านอาหาร ทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะเป็นสินค้าจำเป็นและต้นทุนการผลิตก็ต่ำลงทั้งต้นทุนอาหารสัตว์และราคาเชื้อเพลิง ซึ่งโรงงานแปรรูปอาหารของกรุงเทพโปรดิ๊วสในเครือซีพีเอฟนั้นจะส่งออกไปยังอังกฤษไม่มีปัญหา แม้ยอดสั่งซื้อจากอียูช่วงนี้ชะลอตัว เพราะลูกค้าต่อรองขอปรับลดราคาสินค้า เนื่องจากต้นทุนน้ำมันลดลงและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งขณะนี้ออร์เดอร์ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น รวมทั้งร้านสะดวกซื้อ เเซเว่น-อีเลฟเว่นจากญี่ปุ่นเสนอให้บริษัทฯนำสินค้าอาหารภายใต้แบรนด์ซีพีหรือซีพีเอฟไปจำหน่ายได้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ตัวเองทั้งในและต่างประเทศจากเดิม 5-6% เพิ่มเป็น 20-25%ในปี 52
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|