สุชาติฟุ้งอัดอีก9หมื่นล้านหนุนอสังหา-SME-เกษตร


ผู้จัดการรายวัน(28 ตุลาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังเตรียมอัดฉีดเงิน 9 หมื่นล้านบาทผ่านแบงก์รัฐเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี อสังหาริมทรัพย์และภาคเกษตร ดีเดย์ 1 พ.ย.นี้ พร้อมถกหน่วยงานตลาดเงินตลาดทุนสร้างยุทธศาสตร์รับมือวิกฤต ขณะที่ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์เข้าพบยื่น 5 มาตรการขยายมาตรการด้านภาษีสร้างความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและผู้บริโภค กรมที่ดินยอมรับจัดเก็บรายได้ปีงบ'51 พลาดเป้า

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้รัฐบาลจะเริ่มอัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 9 หมื่นล้านบาท ให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคการเกษตร โดยจะดำเนินการผ่านสถาบันการเงินของรัฐทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์

"การดำเนินการเรื่องนี้เพื่อต้องการให้การดูแลสภาพคล่องในระบบเพียงพอและเหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งจะใช้เงินในเบื้องต้น 8-9 หมื่นล้านบาทผ่านทางแบงก์รัฐ และยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินไปดูแลเพื่อให้สภาพคล่องในระบบสมดุล ซึ่งจะเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลรับผิดชอบต่อประชาชนและรับใช้ประชาชน" นายสุชาติกล่าว

ถกวอรูมเศรษฐกิจ 30 ต.ค.นี้

นายสุชาติกล่าวว่า ในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคมนี้จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านตลาดเงิน ตลาดทุนและตลาดเศรษฐกิจจริง ประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้าหารือเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

"จะมีการประชุมยุทธศาสตร์เพื่อดูแลปัญหาเศรษกิจทั้งระบบในเช้าวันพฤหัสนี้ แต่ในตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีรูปแบบออกมาอย่างไรบ้าง" นายสุชาติกล่าว

3 สมาคมอสังหาฯ ยื่น 5 ข้อเสนอ

รมว.คลังกล่าวว่า ตัวแทนจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3 สมาคม ประกอบไปด้วย สมาคมบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยและสมาคมอาคารชุดไทย ได้เข้าหารือเพื่อให้รัฐบาลดูแลปัญหาสภาพคล่องในระบบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยตัวแทนจาก 3 สมาคมได้ยื่น 5 ข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินได้แก่ 1.ต้องการให้รัฐบาลส่งสัญญาณให้ภาคธนาคารพาณิชย์ดูแลการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากกำลังซื้อที่แท้จริงมีมากถึง 8 หมื่นยูนิตแต่คาดว่าทั้งปีมียอดขายเพียง 7 หมื่นยูนิตเท่านั้น

2.ให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนปรมมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง ภาษีธุรกิจเฉพาะ และการจดจำนอง โดยกระทรวงการคลังจะรับไปพิจารณา 3.เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดให้มีการประมูลและเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการเมกกะโปรเจกต์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ตามแผน 300 กิโลเมตร เอกชนก็จะมีความเชื่อมั่นพัฒนาพื้นที่บริเวณแนวรถไฟฟ้า

4.ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคและขยายกำลังการผลิดให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น โดยจะให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารออมสินเข้ามาดูแลสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องในระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และ5.เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเนื่องจากปัจจุบันความเชื่อมั่นลดลงไปมากมีการชะลอการซื้อลงจึงต้องเร่งสร้างความมั่นใจในจุดนี้อย่างเร่งด่วน

อสังหาฯ หวั่นปีหน้ายอดขายทรุด

นายประสงค์ เอาฬาร นายกสมาคมบ้านจัดสรร กล่าวว่า สมาคมทั้ง 3 ได้หารือกันเพื่อหาวิธีเสริมเศรษฐกิจปีหน้าให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งหลักและเตรียมแผนการดำเนินธุรกิจปีหน้าได้อย่างเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากในปีนี้เหลือเวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นคงไม่สามารถทำอะไรได้มาก

ทั้งนี้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริงในแต่ละปีเฉลี่ยจะอยู่ที่ 8 หมื่นยูนิต แต่ในปีนี้หลังจากที่ประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกทำให้ยอดขายลดลงแล้วเหลือเพียง 7.4 หมื่นยูนิตเท่านั้น และหากสมาคมไม่ทำอะไรยอดขายในปีหน้าอาจลดลงต่ำกว่า 7 หมื่นยูนิตก็ได้ ทั้งที่กำลังซื้อที่แท้จริงยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ หากภาคอสังหาริมทรัพย์สามารถเดินหน้าไปได้ธุรกิจของประเทศก็จะเดินหน้าได้เช่นกัน

ดบ.ลดกระตุ้นการลงทุน-จ้างงานเพิ่ม

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ข้อเสนอที่สนับสนุนให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็น 1ใน5ข้อเสนอ ที่3สมาคมยื่นต่อกระทรวงการคลัง ซึ่งเห็นด้วยกับแนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) และธนาคารกลางของเกาหลี ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดใน 2 ส่วนคือ ในส่วนแรกคือ เป็นการเพิ่มกำลังซื้อของลูกค้า ส่วนที่สอง กระตุ้นให้เกิดการลงทุนของผู้ประกอบการในภาคการผลิต ช่วยเร่งให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง

" แต่หากไม่มีการลดดอกเบี้ยการลงทุนไม่เกิด จะส่งผลให้การจ้างงานลดลง แรงงานว่างงานเพิ่มขึ้น กระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จากการหยุดลงทุนของผู้ประกอบการธุรกิจโดยรวม"นายอิสระกล่าว

ส่วนข้อเสนอให้รัฐฯส่งเสริมให้สถาบันการเงินสังกัดหน่วยงานรัฐฯ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)เข้ามาสนับสนุนการปล่อยกู้นั้น เนื่องจากกังวลว่าธนาคารพาณิชย์จะเข้มงวดปล่อยกู้มากขึ้นจากภาวะเงินฝืดในขณะนี้ สำหรับข้อเสนอให้มีการยืดระยะเวลามาตรการด้านภาษีอสังหาริมทรัพย์โดยให้เพิ่มการลดภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการทำให้มีต้นทุนที่ลดลง และกล้าตัดสินใจพัฒนาโครงการใหม่ได้เพิ่มขึ้น และยังเป็นการเพิ่มกำลังซื้อประชาชนในทางอ้อม

นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจโดยรวมด้วย แม้ว่าการลดภาษีดังกล่าวจะส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีให้มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการก็ยังคงต้องเสียภาษีเงินได้เต็มจำนวนอยู่ การลดลงของรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่หายไปนั้น จะส่งผลต่อรายได้จากการจัดเก็บภาษีในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้ขยายตัว

คาดกรมที่ดินปีงบ'51พลาดเป้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการลดภาษี ค่าธรรมเนียมอสังหาริมทรัพย์ มีผลไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดวันที่ 28 มี.ค. 2552 นั้น ในส่วนของกรมที่ดินซึ่งทำหน้าในที่ในการจัดเก็บรายได้นำส่งกรมสรรพากร รวมถึงท้องถิ่นต่างๆ ปรากฎว่าตัวเลขล่าสุดของการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2551 (ต.ค.50- ส.ค.51) ตัวเลขจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 42,165.70 ล้านบาท มีประชาชนมาใช้บริการและทำธุรกรรมประมาณ 5.08 ล้านคน ขณะที่เป้าหมายของกรมฯปีงบ'51 (ต.ค.50- ก.ย.51) วางไว้ 50,000 ล้านบาท ซึ่งสถิติในการจัดเก็บรายได้ในแต่ละเดือนของกรมฯเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3,000 - 4,000 ล้านบาท ดังนั้น คาดว่าในปีงบ'51 การจัดเก็บรายได้จะพลาดเป้าประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 52 (ก.ย.51-ต.ค.52) วางเป้าจัดเก็บรายได้ 50,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเปรียบเทียบของปีงบ'51 กับปีงบ'50 (ต.ค.49-ก.ย.50) จะพบว่า ในปีงบประมาณ50 ทางกรมฯสามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 51,123 ล้านบาท มีประชาชนมาใช้บริการและทำธุรกรรม 5.3 ล้านคน

จี้ อปท.เบิกจ่ายสิ้นปี 7 หมื่นล้าน

นายสุชาติกล่าวหลังการประชุมร่วมกับโครงการกองทุนหมู่บ้าน โอทอปและเอสเอ็มแอลว่า จะกระตุ้นการเบิกจ่ายเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีสูงถึงปีละ 4 แสนล้านบาท โดยเป็นงบประจำและงบลงทุนอย่างละ 2 แสนล้านบาทให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา อปท.มีความกังวลว่าเงินไม่ได้อยู่ในมือจึงไม่กล้าเปิดประมูลจึแก้ปัญหาโดยการใช้เครดิตของรัฐบาลเปิดประมูลไปก่อนแล้วค่อยประสานด้านการจ่ายเงินต่อไป โดยช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนก่อนสิ้นปีนี้ ท้องถิ่นน่าจะเบิกจ่ายได้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

ในขณะที่การดูแลกองทุนหมู่บ้าน โอทอปและเอสเอ็มแอลนั้นจะให้บุคคลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือโครงการทั้ง 3 เท่าที่จะทำได้ทั้งในเรื่องการเงิน การบริจาคและการช่วยเหลือ โดยจะให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังสมาคมหลักๆ เช่น สมาคมธนาคารไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างอยู่ดีมีสุขได้ รมว.คลังกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ (28 ต.ค.) กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเวลาการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน ให้กับผู้ฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ จาก 1 ปี เป็น 3 ปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.