ไทยโมบายฟื้นโคม่าจ้างที่ปรึกษารื้อใหม่


ผู้จัดการรายวัน(4 สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

หมอเลี้ยบ ผ่าตัดใหญ่ไทยโมบาย ให้ทศทจ้างที่ปรึกษาบริษัท Ureka รื้อโครงสร้างทั้งระบบ รวมทั้งแนวทางดึงมืออาชีพด้านการตลาดเข้ามาบริหาร ด้านสหภาพฯทศทย้ำนาทีนี้ต้องรีบตัดสินใจระหว่างทศทกับกสท.ให้ใครทำ ดีกว่ากอดคอจมน้ำตายทั้งไทยโมบายกับ ซีดีเอ็มเอ

ไทยโมบาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 1900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เป็น บริการภายใต้กิจการร่วมค้าระหว่าง บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่นกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.) ในสัดส่วน 58/42 กำลังมีความหวังที่จะพลิกฟื้นกลับมาเป็นผู้มีบทบาทในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ หลังจากที่เป็นได้แค่ไม้ประดับ หรือเป็นธุรกิจกาฝากที่ยากจะเห็นอนาคต เนื่องมาจากปัญหารุมเร้าตั้งแต่ต้น

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ นักการตลาดมีระดับกับอดีตกรรมการบอร์ดทศทเคยกล่าววิเคราะห์ไทยโมบายไว้ว่าการให้บริการไทยโมบาย มีประเด็นสำคัญคือ 1.คู่แข่งในธุรกิจมือถือรายใหญ่ทั้งนั้น ไม่ว่าเอไอเอส ดีแทค ออเร้นจ์ การเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ต้องคิดว่าจำเป็นจะต้องเข้าหรือไม่ ถ้าจะเข้าจะต้องเข้าอย่างไรในขณะที่ 3 รายแรกยึดครองตลาดไว้แล้ว ไทยโมบายจะค่อยเป็นค่อยไปหรือก้าวร้าวรุนแรง

2.ถ้าไทยโมบายจะก้าวร้าวรุนแรง ทศท คาดหวังอะไรหวังส่วนแบ่งตลาดแค่ไหน และจะมีกลยุทธ์ ในการเจาะทะลวงแย่งส่วนแบ่งตลาดจากชาวบ้านที่เป็นบิ๊กทรีได้อย่างไร

3.หรือในขณะที่ทศทมีจุดแข็ง ที่มีไลเซนส์ 3G (โทรศัพท์มือถือ ในยุคที่3) รายเดียว ตอนนี้จะค่อยเป็นค่อยไปก่อนแล้วรอเข้าไปครองตลาด 3G เพราะทศท เป็นคนบุกเบิกก่อน หรือไม่ แต่จุดที่น่าระวังคือกว่าจะถึงเวลานั้นจะมี 4G มาหรือไม่และ 4. การมีซูเปอร์บอร์ด (บอร์ดร่วม 2 องค์กร) การทำงานมีความคล่องตัวจริงหรือไม่ ต้องทบทวน แม้กระทั่งการจัดการก็ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย

ในธุรกิจที่มีพลวัตรสูง ความคล่องตัว การตัดสินใจ เป็นเรื่องสำคัญ การมีซูเปอร์บอร์ด การ มีทีมแมเนจเมนท์ร่วมกัน องค์กรแบบนี้จำเป็นหรือไม่

ไทยโมบาย ถ้าต้องการทำให้เกิดอย่างน้อย ต้องค้นหา 2-3 ประเด็นคือ1.ต้องหาจุดแข็ง 2. จะเชื่อมหรือมีลูกเล่นกับโทรศัพท์พื้นฐานได้อย่างไร 3.การหาพันธมิตรเรื่องคอนเทนต์โพรวายเดอร์อย่างไร ต้องหาจุดที่เป็นนิชมาร์เก็ตให้ได้ ประเด็นคือต้องหาตลาดหรือเซ็กเมนต์ไหน ที่ไทยโมบายเข้มแข็งสุดๆหรือคู่แข่งไม่อยากเข้ามา

ปัญหาของไทยโมบายตอนนี้ คือปัญหาด้านบริหารจัดการ โครงสร้างทั้งระบบ การขาดผู้บริหารที่มีความชำนาญด้านการตลาดซึ่งผูก พันถึงประสิทธิภาพของการจัดการเน็ตเวิร์กหรือเครือข่ายซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการให้บริการซึ่งที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวไม่เคยถูกแก้ไข อย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตามดูเหมือนไทยโมบายเริ่มฟื้นไข้ขึ้น หลังจากเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมาน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เรียกผู้บริหารทศท อย่างนายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ นายอรัญ เพิ่มพิบูลย์ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ในฐานะที่เป็นผู้จัดการไทยโมบายเข้าพบเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาไทยโมบาย

น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การหารือดังกล่าวเพื่อหาข้อสรุปในการปรับเปลี่ยนในอนาคต รวมทั้งรับรู้ถึงผลดำเนินงานเพื่อทำให้ไทยโมบายสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือรวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะดึงมืออาชีพ จากคนนอกเพื่อเข้ามารับผิดชอบด้านการตลาด

"ทศท กำลังจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อทำแผนธุรกิจและการตลาดใหม่ทั้งหมดของไทยโมบายมาเสนอ"

ปัจจุบันไทยโมบายมีลูกค้าประมาณ 1.2 แสนราย ส่วนมากเป็นลูกค้าที่ได้จากการรับคืนเงินประกันโทรศัพท์พื้นฐาน 3,000 บาท ในรูปโทรศัพท์มือถือไทยโมบาย รวมทั้งยังมีลูกค้าอีกประมาณ 1.3 แสนรายที่ต้องการไทยโมบาย

ด้านนายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทศท กล่าวภายหลังการประชุมว่า ทศท จ้างบริษัท Ureka ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเพื่อทำข้อเสนอไทยโมบายในภาพรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแผนธุรกิจโพสิชั่นของสินค้า งานด้านการตลาด โดยได้ทำงานร่วมกันมา 3-4 เดือน แล้ว และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีก 3 สัปดาห์

แหล่งข่าวในทศท กล่าวว่า ทศท ใช้วิธีพิเศษ ในการคัดเลือก บริษัท Ureka ด้วยค่าจ้าง 10 ล้านบาท ซึ่งบริษัทดังกล่าวเคยทำงานที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมให้ผู้ให้บริการในหลายประ เทศไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง เยอรมัน

"หน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาคือการวิเคราะห์ ข้อมูลของไทยโมบายร่วมกัน ก่อนนำเสนอกลับมาในรูปแผนธุรกิจและโครงสร้างแบบครบวงจรให้ทศท กิจการร่วมค้าไทยโมบาย รวมทั้งน.พ. สุรพงษ์ รมว.ไอซีทีด้วย"

ข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการทำแผนทางออกไทยโมบายคือ ปัญหาการขัดแย้งที่เรียกว่า Conflict of Interest ของหน่วยงานทั้ง 2 ที่ถือหุ้นร่วมกัน เนื่องจากกสท.ยังมีโครงการโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอเป็นของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องการมีส่วนร่วมในไทยโมบาย เพราะข้ออ้าง ของการได้รับสิทธิในการใช้ความถี่ร่วมกัน

ข้อมูลที่สำคัญอีกประการคือการบริหารจัดการ ที่ยังอยู่ในรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ทำให้ขั้นตอน การตัดสินใจล่าช้า ไม่ทันการแข่งขันในธุรกิจที่พลวัตรสูงอย่างโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งปัญหาในเรื่องที่ 2 องค์กรขาดผู้บริหารที่เชี่ยวชาญด้าน การตลาด ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่น่าจะใช้มืออาชีพจากคนนอกมารับผิดชอบด้านการตลาด ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของน.พ.สุรพงษ์ ที่เห็นว่าปัจจุบันคนนอกมีฝีมือและอาจมีความเหมาะสมกว่า

สำหรับการที่ไทยโมบายแต่งตั้ง ไออีซีและสามารถ ทำหน้าที่ตัวแทนขายและให้บริการเป็นเวลา 5 ปี ก็แล้วแต่ผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาว่าจะดำเนินการกับทั้ง 2 บริษัทอย่างไร

"แนวทางด้านการตลาดนอกจากดึงมืออาชีพคนนอกเข้ามาอาจทำในลักษณะการ outsourcing ได้อีก"

นายมิตร เจริญวัลย์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า ปัญหาของไทยโมบายผิดมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างซึ่งไม่เพียงแต่สหภาพฯ กับพนักงานจะเห็นตรงกัน แม้แต่ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ที่เคยเป็นบอร์ดทศท ก็เห็นด้วย

ประเด็นสำคัญคือตั้งแต่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงไอซีที มาเป็นประธานบอร์ดทศท และเป็นประธานซูเปอร์บอร์ดไทยโมบายก็มีความเชื่อว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ปรากฏว่าผ่านไปเกือบปี ก็ไม่มีความคืบหน้า ถึงแม้คุณหญิงจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ดกสท.อีกหน่วยงานหนึ่ง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

"คุณหญิงเคยบอกว่าการเป็นผู้นำต้องกล้าตัดสินใจ แต่เมื่อดูไทยโมบาย กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะถ้าหากกสท.อยากทำทั้งซีดีเอ็มเอกับไทยโมบาย ก็ยกให้ไปทำเลย ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่ เกิดทั้ง 2 โครงการหรือไม่ก็ให้ทศท ทำไทยโมบาย กสท.ไปทำซีดีเอ็มเอ แบ่งกันไปเลย ไม่ใช่ลากให้จมน้ำตายทั้งคู่"

สำหรับความคืบหน้าด้านเครือข่ายสถานีฐานติดตั้งไปแล้วกว่า 450 แห่ง จากแผนที่ต้องติดตั้งให้ได้ครบ 500 แห่งตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ เป็นเพราะกระบวนการจัดหาฝีมือดร.สมควร บรูมินเหนทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่คิดฉลาดแบบดอกเตอร์ แทนที่จะให้เอกชนติดตั้งแบบเทิร์นคีย์หาสถานที่เบ็ดเสร็จ กลับทำสัญญา มัดคอตัวเองให้ทศท ต้องหาที่ติดตั้งสถานีฐานให้ อันเป็นสาเหตุให้เครือข่ายไทยโมบายล่าช้ามาจนทุกวันนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.