กรุงเทพประกันชีวิตยื่นกรมการประกันภัย ขนเงินลงทุนนอกประเทศ ลดภาระอุ้มพอร์ตลงทุนที่รายได้การลงทุนไม่คุ้มจ่ายดอกเบี้ย
การันตีกรมธรรม์ขณะนี้ อธิบดีกรมการประกันภัยยอมรับเงินล้น ผลตอบแทนต่ำ ต้องหาช่องระบายไปต่างประเทศ
ด้าน "ประกันเอื้ออาทร" ต้องเลื่อนจากตารางเดิม 1 ก.ย. เป็นกลางเดือน เพราะทักษิณติดภารกิจต้อนรับผู้นำอินโดนีเซียเดินทางเยือนไทยช่วงนั้น
นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยวานนี้ (31 ก.ค.) ว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) อนุญาตสถาบันการเงินสามารถลงทุนต่างประเทศได้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ
2.1 หมื่นล้านบาท) บริษัทประกันชีวิต 2 บริษัทสนใจลงทุน คือบริษัทอเมริกันอินเตอร์
แนชชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด และบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด ทั้ง 2 บริษัทยื่นเรื่องขอนำเงินลงทุน
ต่างประเทศต่อกรมการประกันภัย เพื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม
หากต้องนำเงินออกต่างประเทศ ต้องขออนุญาต ธปท.ด้วย
"ตอนนี้ ยังไม่มีบริษัทประกันรายใดที่นำเงินไปลงทุนที่ต่างประเทศ เพียงแต่ส่งเรื่องเข้ามา
ที่กรมฯ เพื่ออนุมัติหลักเกณฑ์ เช่น จะนำเงินไปลงทุนเมื่อไร เมื่อนำไปลงทุนแล้ว
ก็ต้องแจ้งกลับมาให้ทางกรมฯ รับทราบภายใน 30 วัน ที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยไม่ได้รับอนุญาตให้นำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ
เนื่องจากทางรัฐเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นมากนัก จึงให้ลงทุนได้เฉพาะในประเทศเท่านั้น
ปัจจุบันมีบริษัทประกันชีวิตขอเข้ามาเพียง 2 ราย ขณะที่ประกันวินาศภัยยังไม่มีการขอ"
เธอกล่าว
สำหรับการอนุญาตให้บริษัทประกันชีวิตนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้ กรมฯจะพิจารณา
หลักเกณฑ์ โดยดูจากส่วนเกินเงินกองทุนบริษัทประกัน ซึ่งจะเป็นไปตามเกณฑ์ที่กรมการประกันภัยกำหนด
เพราะกรมฯ มีหน้าที่คุ้มครองผู้เอาประกันภัย แต่ส่วนเกินเงินกองทุน ถ้ามีมากและไม่ได้ใช้อะไรก็สามารถใช้สิทธิ์ที่จะลงทุนได้
"ธปท.เพิ่งอนุมัติสถาบันการเงินสามารถลงทุนต่างประเทศได้ เมื่อประมาณวันพฤหัสฯที่ผ่านมา
โดยก่อนหน้านี้ คิดว่าทางรัฐยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ
แต่ขณะนี้ สภาพคล่องในประเทศไทยมันล้นมาก และไม่รู้ว่าจะเอาเงินในส่วนนี้ไปทำอะไร
ดังนั้นจึงเปิดช่องให้สามารถลงทุนในต่างประเทศได้ ตรงนี้ คือนโยบายภาพรวมของประเทศ
ซึ่งกฎเกณฑ์ที่ออกมา ก็ต้องทำให้สอดคล้องตามความ จำเป็นของประเทศด้วย" นางสาวพจนีย์กล่าว
ทางด้านนายสุทธิ รจิตรังสรรค์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายบริหารบริษัท บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล
อินชัวรันส์ เปิดเผยว่าแม้กรมการประกันภัยจะอนุมัติวงเงินที่ขอไปแล้ว แต่บริษัทก็ต้องทำเรื่องส่ง
ธปท.ด้วย การจะนำเงินออกนอกประเทศ ธปท.จะดูว่ายอดเงินเท่าไร ส่วนเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดให้บริษัท
ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าอนุมัติเท่าไร
"การอนุมัติวงเงินลงทุนออกมานั้นไม่ได้หมายความว่า บริษัทลงทุนได้ในวัน หรือ
2 วันนี้ทันที แต่เราจะต้องไปดูว่าลงทุนในอะไร ที่ไหน บ้าง ตามกรอบที่ทางรัฐกำหนดไว้ให้"
นายสุทธิกล่าวว่า หลักเกณฑ์เลือกลงทุนต่างประเทศ สิ่งที่บริษัทพิจารณาอันดับแรก
คือความมั่นคง โดยต้องเป็นพันธบัตรรัฐที่มั่นคงสูงผลตอบแทน ระยะยาวดีกว่าการลงทุนในประเทศ
อีกทั้งขณะนี้พันธบัตรในไทยมีไม่น้อยที่ไม่ค่อยเพียงพอกับความต้องการ เชื่อว่าการเปิดช่องให้ลงทุน
ต่างประเทศจะเป็นหนทางที่ดี เพิ่มผลตอบแทนการลงทุน
หลักเกณฑ์หนึ่งที่กรมฯจะพิจารณาให้สามารถนำลงทุนต่างประเทศ ดูจากเงินส่วนเกิน
กว่ากองทุน ซึ่งส่วนเอไอเอ เงินส่วนเกินกองทุน ถึงประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม
การพิจารณาวงเงินลงทุนต่างประเทศ บริษัทไม่สามารถบอกได้ว่าเท่าไร
ด้านนายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ เปิดเผยว่าขั้นตอนประกันภัยเอื้ออาทร
จะเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันอังคารหน้า เพื่อรองรับหลักเกณฑ์การปฏิบัติ
เนื่องจากโครงการดังกล่าว มีความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น กรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก
เป็นต้น คาดว่าเรื่องจะออกทัน ก.ย.นี้แน่นอน
เลื่อนขายประกันเอื้ออาทรเป็นกลาง ก.ย.
ก่อนหน้านี้ คาดการณ์ว่าจะสามารถขายประกันภัยเอื้ออาทรได้ 1 ก.ย. อาจต้องเลื่อนเป็น
ช่องกลาง ก.ย. นายวัฒนาอ้างว่า เนื่องจากอยากให้นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เป็นประธานพิธีเปิดงาน เพราะเป็นต้นคิดเรื่องดังกล่าว
แต่เนื่องจากช่วงต้นเดือนดังกล่าวไม่ว่าง ต้องต้อนรับนางเมกาวาตี ซูกาโน บุตรี
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่เดินทางเยือนไทยระยะเวลาใกล้ๆ ออกสินค้า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องเลื่อนขายสินค้าดังกล่าว
นายวัฒนากล่าวว่า ประกันเอื้ออาทรจะเป็นปัจจัยหนึ่ง เพิ่มจำนวนผู้ถือกรมธรรม์เป็นไปตามเป้าหมาย
5 ปีข้างหน้า คือผู้ถือกรมธรรม์ 30% ของคนไทยทั้งหมด เมื่อประกันเอื้ออาทรเป็นตัวนำร่องให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการประกันชีวิตมากขึ้น
จะนำไปสู่การซื้อกรมธรรม์ประเภทอื่นมากขึ้น ทำให้ระยะยาวธุรกิจเติบโตได้แข็งแรง
เพิ่มอายุคนทำประกันตามบัตร ปชช.
อย่างไรก็ตาม ได้ปรับเงื่อนไขส่วนอายุผู้เอาประกันชีวิต จาก 12-70 ปี เป็น 15-70
ปีเนื่องจากมองว่า วัยต่ำกว่า 15 ปี ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการทำประกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ปรับอายุขึ้นใหม่ ยังมั่นใจว่าทำได้ตามเป้า คือจะมีผู้ถือกรมธรรม์เอื้ออาทร
10 ล้านคน ไม่กระทบฐานแน่ เพราะสถิติประชาชนไทยช่วง อายุ 15-70 ปี มีถึง 46 ล้านคน
ขณะที่อายุ 12 ปี จะเพิ่มฐานอีกแค่ 3 ล้านคน