หลังจากกลุ่มสยามสปอร์ต (SSPORT) ปรับโครงสร้างหนี้ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม
และกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติอีกครั้ง ทำให้ตลาดจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจะสามารถทวง
บัลลังก์ความยิ่งใหญ่แห่งธุรกิจสื่อกีฬาได้หรือไม่ แต่ปัจจุบันนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มั่นใจศักยภาพการดำเนินงานแนะนำซื้อลงทุน
สำหรับผู้ชื่นชอบกีฬาและไม่พลาดกับผลการแข่งขันอาจจะเคยเป็นลูกค้าหนังสือพิมพ์
สตาร์ซอกเกอร์, สปอร์ตพูล, สยามกีฬารายวัน, มวยสยาม, สแลมดั้ง หรือผู้ที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวโลกดนตรีต่างประเทศอาจจะเป็นสมาชิกนิตยสารมิวสิคเอ็กซ์เพรส
และสำหรับนักท่องเที่ยวต้องเคยซื้อนิตยสารแค้มปิ้ง
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ บมจ. สยามสปอร์ตซินดิเคท (SSPORT) ที่มีกลุ่มนายระวิ
โหลทอง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และถือว่าเป็นเจ้าตลาดแห่งสื่อวงการกีฬาในประเทศไทย
อย่างแท้จริงด้วยส่วนแบ่งตลาด 90%
ปีนี้ SSPORT ฉลองครบรอบการดำเนินธุรกิจปีที่ 30 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนว่าต้องต่อสู้มาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการยอมรับจากประชาชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์กีฬาซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ และท้าทาย
อย่างไรก็ตามภายใต้การนำของนายระวิ สามารถสร้างอาณาจักร SSPORT ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
พร้อมกับการขยายฐานธุรกิจออกไปอย่างกว้างขวางท่ามกลางการเติบใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ
ในที่สุดด้วยเม็ดเงินที่จมไปกับการลงทุนขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มซวนเซและดำดิ่ง
ส่งผลให้บริษัทล้มเหลวจากการดำเนินธุรกิจ
หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมา SSPORT ประสบภาวะขาดทุนในช่วงปี 2541-2543 เนื่องเพราะการขยายธุรกิจอย่างหนัก
และเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากการกู้สถาบันการเงินและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
ตัวอย่างการลงทุนขยายธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไร ได้แก่ การลงทุนในวรรคสรโปรโมชั่น
ธุรกิจค้าปลีกโดยจัดจำหน่ายสินค้าที่ระลึกลิขสิทธิ์ของสโมสรฟุตบอลต่างประเทศผ่านร้านสตาร์
ซอกเกอร์ที่มีมากถึง 21 สาขา
กระนั้นก็ตาม SSPORT ได้ทำการขายหุ้นในบริษัทวรรคสรโปรโมชั่นทั้งหมดออกไปในปี
2542 เนื่องจากประสบปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบซึ่งมีราคาถูกกว่า รวมถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
อีกทั้งการลดค่าเงินบาทส่งผลให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ปิดตัวลง หนังสือพิมพ์ นิตยสารหลายฉบับหายไปจากแผงหนังสือ
ขณะที่หนังสือพิมพ์ดำเนินการอยู่ต้องประสบปัญหายอดโฆษณาหดหาย และยอดจำหน่ายลดลง
ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ SSPORT เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมกับมุ่งเน้นธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน
นั่นคือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารกีฬา ผลลัพธ์ คือ ความสำเร็จของการจัดการปัญหา
"ช่วงปี 2541-2543 ขาดทุนอย่างหนัก ทำให้สิ้นปี 2545 มียอดขาดทุนสะสมถึง 159.9
ล้านบาททำให้ไม่สามารถจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้" นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลักทรัพย์
บล. พัฒนสินเล่า "แต่ในไตรมาสแรกปีนี้พวกเขาได้ นำเงินสำรองตามกฎหมายและส่วนล้ำมูลค่าหุ้น
จำนวน 167.5 ล้านบาท มาล้างขาดทุนสะสมออกทั้งจำนวนทำให้มียอดกำไรสะสม 26 ล้านบาท"
สะสางหนี้เก่า เริ่มฟื้นตัว
แม้ว่า SSPORT จะมีกลุ่มเจ้าหนี้มากราย แต่ก็ได้พยายามเจรจากับทุกรายเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องจนประสบผลสำเร็จ
ทำให้ภาระหนี้ปรับลดลงจากกว่า 1,000 ล้านบาท ในปี 2541 เป็น 637.23 ล้านบาท ในไตรมาสแรกปีนี้
โดยจำนวนหนี้ดังกล่าวเป็นเงินกู้ระยะยาว 282 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะครบกำหนดชำระคืนในปีนี้
และปีถัดไป "พวกเราเชื่อว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานและเงินจากการใช้สิทธิวอร์แรนต์บางส่วนมีมากเพียงพอในการชำระหนี้ได้"
นักวิเคราะห์ บล.พัฒนสิน กล่าว
นอกจากทยอยชำระคืนหนี้เดิมแล้วก็ไม่มี การก่อหนี้ใหม่เพิ่ม และในปีที่ผ่านมาบริษัทได้เพิ่มทุนด้วยการวอร์แรนต์จำนวน
10.5 ล้านหน่วยให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม มีอายุ 5 ปี อัตราการใช้สิทธิ 1:1 ที่ราคา
10 บาท
อีกทั้ง ได้ออกวอร์แรนต์อีก 1.05 ล้านหน่วยให้แก่กรรมการและพนักงาน โดยกำหนด
อัตราใช้สิทธิ 1:1 ราคาใช้สิทธิ 15 บาท เนื่อง จากราคาหุ้นในปัจจุบันสูงกว่าราคาใช้สิทธิอยู่ประมาณ
43% ประเมินว่าผู้ถือวอร์แรนต์บางส่วนจะทยอยใช้สิทธิ
"ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นปรับตัวสูงขึ้น และหนี้สินสุทธิต่อทุนของบริษัทลดลง"
นอกเหนือจากสถานะทางการเงินเริ่มแข็ง แกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา
ผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย สังเกตได้จากยอดขายหนังสือและยอดโฆษณาเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้น
จากผลสำรวจยอดโฆษณาของสมาคมโฆษณาคาดการณ์การใช้จ่ายงบประมาณปี 2546 ว่าจะขยายตัวสูงกว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม
ภายในประเทศ (จีดีพี) โดยงบโฆษณาจะเพิ่มขึ้น 15% เป็น 70,393.9 ล้านบาท โดยครึ่งหลังของปีจะมีการเร่งใช้จ่ายงบดังกล่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง
"จากการเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินโฆษณาและการฟื้นตัวของการจับจ่ายของผู้บริโภค และการ
แข่งขันของสินค้าอุปโภคบริโภคจะเป็นประโยชน์ต่อ SSPORT" สุทธาทิพย์ พีรทรัพย์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์
บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้ความเห็น
ปัจจุบัน SSPORT ผลิตหนังสือพิมพ์กีฬารายวัน 5 ฉบับ โดยมียอดจำหน่ายก่อนหักรับคืนประมาณ
400,000 ฉบับต่อวัน อีกทั้งยังผลิตนิตยสารกีฬาและบันเทิงหลายฉบับ และผลิตรายการโทรทัศน์
3 รายการ
"พวกเขามีรายได้หลัก 61% มาจากการขายหนังสือซึ่งแตกต่างจากค่ายสิ่งพิมพ์อื่นที่มีรายได้หลักจากค่าโฆษณา"
สุทธาทิพย์ บอก
จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ SSPORT เริ่มเข้าที่เข้าทางและพร้อมกลับมาอยู่ในเส้นทางที่ตนเองเชี่ยวชาญอีกครั้ง
ซึ่งหากพิจารณาในภาพรวมแล้วพบว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมต่อการทวงบัลลังก์ความยิ่งใหญ่
เนื่องเพราะธุรกิจสิ่งพิมพ์กีฬามีคิกออฟรายวัน ในเครือฐานเศรษฐกิจ และถือเป็นคู่แข่งรายเดียวในขณะนี้
ดังนั้น SSPORT มีความได้เปรียบอย่างยิ่งในแง่ประสบการณ์และความโดดเด่นของเนื้อหา
ประกอบกับการเข้ามาคู่แข่งรายใหม่เป็นไปได้ยากทำให้บริษัทโดดเด่นพอสมควร
คาดกำไรโต
การที่ SSPORT มีการปรับโครงสร้างหนี้ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราหนี้สินสุทธิต่อทุน
(D/E Ratio) ลดลงอย่างมากจาก 14.34 เท่าในปี 2543 เป็น 4.16 เท่าในปีที่ผ่านมา
และคาดว่าจะลดลงเหลือ 3.19 เท่าในปีนี้ และ 1.74 เท่าในปีถัดไป
จากเหตุผลดังกล่าว ประกอบกับการหยุดขยายกิจการและการฟื้นตัวธุรกิจสิ่งพิมพ์ทำ
ให้ไตรมาสแรกปีนี้บริษัทมียอดขาย 256 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย
โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) 20.9% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกปีที่ผ่านมา
กระนั้นก็ดี SSPORT ยังโชว์กำไรสุทธิ 19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.33% จากงวดเดียวกันของ
ปีก่อนหน้า ที่อยู่ระดับ 12 ล้านบาท
"ถ้าไม่รวมกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ กำไรจะมีจำนวน 16 ล้านบาท และจากการปรับโครงสร้างทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลง
37% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้ว" สุทธาทิพย์ กล่าว
สำหรับปีนี้เธอประเมินว่ารายได้ของ SSPORT จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย 2%
เป็น 1,154 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโต 12% ในปีหน้า จากการที่มีการปรับราคาขายหนังสือพิมพ์สปอร์ตพูล
25% และการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการจัดรายการที่เกี่ยวเนื่องกับฟุตบอลยูโร 2004
ด้านนักวิเคราะห์ บล.พัฒนสินคาดว่า ยอดโฆษณาของ SSPORT จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง
3.5% เป็น 421.6 ล้านบาทในปีนี้ และจะบันทึกกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้อีกประมาณ
10 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่จะมีรายการพิเศษเช่นนี้
เมื่อรวมกับกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ
71.6 ล้านบาทในปีนี้ และเชื่อว่าปีถัดไปจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็น 136.4 ล้านบาท
"เป็นผลมาจากฤดูกาลการแข่งขันฟุตบอลยูโร และกีฬาโอลิมปิค"