|
สุชาติยืดค้ำเงินฝากอีก3ปี-ผู้ว่าฯธปท.ค้านลดค่าบาทอุ้มส่งออก
ผู้จัดการรายวัน(21 ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ยืดเวลาคุ้มครองเงินฝาก 100% ออกไปอีก 3 ปี “สุชาติ” เตรีมถก “โอฬาร" พร้อมเตรียมค้ำประกันเงินกู้อินเตอร์แบงก์ให้ธนาคารเล็กที่จะเข้าไปกู้ธนาคารใหญ่ อ้างสร้างความเชื่อมั่นสถาบันการเงิน ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากเด้งรับแก้ไขกฎหมายยืดเวลาคุ้มครองเงินฝาก รมว.คลังยังจี้แบงก์ชาติใช้ทำให้บาทอ่อนค่าต่ำกว่าจริง 5% ช่วยเหลือส่งออกโตเป็น 2 เท่า หนุนจีดีพีสูงกว่า 4% "ธาริษา" สวนไปเพิ่มศักยภาพการส่งออกแทนที่จะให้แบงก์ชาติแทรกแซงค่าเงิน ยันเดินหน้าบาเซิล 2
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ : วิกฤตหรือโอกาส?” ในงานครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปีที่ 47 ว่า การขาดความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของโลกที่เริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาได้ส่งผลถึงทุกประเทศทั่วโลก และสำหรับประเทศไทยคาดจะส่งผลชัดเจนในปี 2552 โดยจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศขยายตัวได้ต่ำกว่าระดับ 4%
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงินและนักลงทุน โดยในภาคการเงินจะต้องเสริมสภาพคล่องแก่ระบบเพื่อทำให้สถาบันการเงินอยู่ได้ และผู้ฝากเงินก็เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะดูแลผู้ฝากเงินทุกคน จึงมีแนวคิดจะให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากรับประกันเงินฝากเต็มวงเงิน 100% ต่อไปอีก 3 ปี จากกำหนดเดิมที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเงินฝากกำหนดไว้ว่าตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2552 จะลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียง 100 ล้านบาท จากนั้น 11 สิงหาคม 2553 จะลดเหลือ 50 ล้านบาท 11 สิงหาคม 2554 จะเหลือ 10 ล้านบาท และตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2555 จะเหลือวงเงินคุ้มครองเพียง 1 ล้านบาท
จี้ค่าบาทอ่อนอีก 5% ดันส่งออกโต
นอกจากนี้ในการดูแลทุนของสถาบันการเงิน รัฐบาลจะพิจารณาเพิ่มทุนหรือเพิ่มเงินกองทุนให้ธนาคารเพื่อนำเม็ดเงินมาปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอีซึ่งจะได้รับผลกระทบหนักจากการส่งออกที่คาดว่าจะชะลอตัวลงจนทำให้การส่งออกในปีหน้าขยายตัวได้เพียง 10% จากปีนี้ที่ขยายตัวสูงถึง 25% ซึ่งในส่วนนี้จะเสนอให้ผู้หน่วยงานเกี่ยวข้องดูแลตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนค่าลงกว่าที่เป็นอยู่อีก 5% เนื่องจากการทำให้บาทอ่อนค่าได้ 10% จะทำให้ส่งสินค้าออกได้เพิ่ม 20% ซึ่งภาคส่งออกปัจจุบันมีมูลค่าถึง 6 ล้านล้านบาท ถือเป็นรายได้หลักของจีดีพีประเทศไทยทั้งปีที่มีอยู่ 10 ล้านล้านบาท
"จำเป็นมากที่จะต้องทำให้บาทอ่อนค่าลงในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้และก็ควรจะอ่อนค่าลงต่ำกว่า 5%จากปัจจุบันด้วย เพราะปีหน้าภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบหนัก การทำให้ค่าบาทอ่อนจะช่วยให้ส่งออกเพิ่ม สร้างรายได้ให้ภาคชนบท แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับให้ได้ด้วยว่าการนำเข้าก็จะแพงขึ้นด้วย 10% และหากทำเช่นนี้ได้จะส่งผลให้จีดีพีของประเทศในปีหน้าขยายตัวได้มากกว่า 4% แน่นอน" นายสุชาติกล่าวและว่า กระทรวงการคลังยังมีแนวคิดจะเข้าไปค้ำประกันวงเงินกู้ระหว่างธนาคาร(อินเตอร์แบงก์)ให้ธนาคารขนาดเล็กที่จะเข้าไปกู้เงินจากธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะได้เข้าหารือกับนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ รัฐบาลจะเพิ่มบทบาทของงบประมาณภาครัฐเพื่อเข้าไปสร้างอำนาจซื้อของประชาชนในประเทศมากขึ้น ผ่านโครงการกองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอลและโอทอป เพื่อช่วยให้เกิดการสร้างงานในชนบทมากขึ้น และรองรับการตกงานที่จะเกิดขึ้นตามมาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
สถาบันคุ้มครองฯ รับลูกแก้ กม.
ด้านนายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวถึงแนวคิดของรมว.คลังในการขยายเวลาการค้ำประกันเงินฝาก 100% จาก 1 ปีเป็น 3 ปี ว่า สถาบันฯพร้อมดำเนินการตามนโยบายซึ่งในทางปฎิบัติสามารถดำเนินการได้โดยพิจารณาในระดับคณะกรรมการสถาบันและเสนอเรื่องไปที่กระทรวงการคลังเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยการออกเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดวงเงินการคุ้มครอง โดยหากขยายการคุ้มครอง100%เป็น 3 ปี ก็ต้องลดสัดส่วนการคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทในอีก 7 ปีข้างหน้า จากปี 2555 เป็นปี 2557
“ในภาวะปัจจุบันอาจมีความจำเป็นที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงิน เพราะปัญหาสถาบันการเงินล้มเกิดเป็นกระแสรุกรามไปทั่วทั้งสหรัฐ ยุโรปและทั่วโลก จึงอาจยิ่งทวีความรุ่นแรงมากขึ้นใน1-2 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลการันตีให้ประชาชนมั่นใจในช่วง 3 ปีนี้จะได้ไม่เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินระหว่างสถาบันการเงินซึ่งอาจเกิดปัญหากับสาบันการเงินบางแห่งได้ จึงถือเป็นการดูแลทั้งผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินของไทย” นายสิงหะกล่าวและว่า ขณะนี้รอนโยบายจาก รมว.คลัง อีกครั้ง และเรื่องดังกล่าวสถาบันฯ สามารถพิจารณาได้โดยไม่จำเป็นต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
อย่างไรก็ตามการขยายเวลาการค้ำประกันเงินฝากออกไปนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสถาบันที่เริ่มมีผลในทางปฎิบัติแล้วตั้งแต่เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
ผู้ว่าฯ ธปท.เมินลดค่าเงิน 5%
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงแนวคิดของ รมว.คลัง กรณีต้องการให้ ธปท.แทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง 5% เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออกในปีหน้า ว่า การดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.นั้น จะดูแลค่าเงินบาทเป็นไปตามทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค และทำให้ค่างินบาทมีเสถียรภาพไม่ผันผวนเร็ว แต่จะไม่แทรกแซงเพื่อให้ราคาของเงินอยู่ที่อัตรานั้นอัตรานี้ เนื่องจากหากค่าเงินบาทอิงกับค่าเงินของภูมิภาค จะไม่มีผลต่อการส่งออก เพราะความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยจะไม่ลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง สิ่งสำคัญคือเพิ่มศักยภาพของการส่งออก และหาตลาดใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นยอดและการเพิ่มประสิทธิภาพ
"การเปลี่ยนการดูแลนโยบายการเงิน โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนฯ เป็นเป้าหมายแทนอัตราเงินเฟ้อนั้น เท่ากับเป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทคงที่ เราจะต้องมีเป้าหมายค่าเงินบาท และรักษาเป้าหมายค่างินบาทไว้ ซึ่งในปัจจุบัน ไม่มีประเทศไหนที่อยากใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หรือรักษาค่าเงินได้ไว้ในช่วงใดช่วงหนึ่งเพราะทำได้ยาก" นางธาริษากล่าวและว่า อัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ยังหนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ ภาครัฐควรใช้นโยบายการคลังกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อเร่งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศดีกว่า
ส่วนประเด็นที่ รมว.คลังต้องการให้เลื่อนการประกาศใช้ แนวทางการกำกับสถาบันการเงิน ฉบับที่ 2 ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บาเซิล 2) ที่จะใช้ในต้นปี 2552 ออกไปนั้น มีการดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 2 ปี ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมโดยไม่กระทบกับฐานะและยอดการปล่อยสินเชื่อ เพราะธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองหนี้เสียเพื่อรองรับบาเซิล 2 เรียบร้อยแล้ว
"การใช้บาเซิล 2 ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้นเพื่อปล่อยสินเชื่อใหม่ เพราะการสำรองเงินเพิ่มเพื่อปล่อยสินเชื่อใหม่นั้น จะเกิดขึ้นเฉพาะสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น แต่ในกรณีสินเชื่อจำเป็นเช่น สินเชื่อเอสเอ็มอี ที่เดิมหากกลายเป็นหนี้เสียต้องกันสำรอง 100% แต่ในบาเซิล 2 ลดการกันสำรองหนี้เสียลงเหลือ 85% ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์อยากปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท.อธิบาย.และกล่าวถึงการขยายระยะเวลารับประกันเงินฝากไปอีก 3 ปีว่าเป็นหน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ขณะที่การค้ำประกันเงินกู้อินเตอร์แบงก์ ตนเห็นว่าฐานะสถาบันการเงินไทยยังไม่มีปัญหาและวงเงินกู้ยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|