|

ชี้บอนด์สั้นผลตอบแทนอุ่นใจรอปลอดภัยก่อนผันเงินลงหุ้น
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
นักวิเคราะห์ชี้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนกอดบอนด์ระยะสั้น โดยเฉพาะที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี รอจังหวะตลาดหุ้นฟื้นตัว ชูผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่แห่ออกหุ้นกู้เพิ่มเหตุระดมทุนต่างประเทศยากกว่า-ต้นทุนสูงกว่าในประเทศ ส่งผลดีให้นักลงทุนมีหุ้นกู้คุณภาพดีให้เลือกมากขึ้น
เผดิมภพ สงเคราะห์ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง เปิดเผยว่า ในช่วงที่การลงทุนหุ้นผันผวนมีความไม่แน่นอนสูง นักลงทุนควรเพิ่มพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจจะปรับตัวลงได้ ส่งผลให้ผลตอบแทนที่ได้รับมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากยังมีแรงขายจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งต้องการเงินทุนจำนวนมากกลับไปช่วยเหลือประเทศตนเอง
อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาว 3-10 ปีจะปรับตัวลดลงจากช่วงกลางปี 2551 เนื่องจากราคาปรับสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 วัน(อาร์/พี) ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 3.75%ในปัจจุบัน จึงเปลี่ยนคำแนะนำให้ลงทุนในตราสารอายุสั้นต่ำกว่า 1 ปีจากเดิมแนะถือตราสารหนี้ระยะยาว
ส่วนผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น 1-2 เดือนอยู่ที่ระดับ 2.9-3.1% ส่วนกองทุนประเภทซื้อขายหน่วยลงทุนเป็นรอบ (โรลโอเวอร์) ระยะเวลา 3-6 เดือนจะมีผลตอบแทนอยู่ที่ 3.4-3.5% ขณะที่กองทุนเพื่อไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ (FIF) เช่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยหลังจากหักค่าปิดความเสี่ยงแล้วประมาณ 3.7-3.8%
“ผลตอบแทนของตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศคงอยู่ในเกณฑ์ดี และสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ของแบงก์ ทำให้นักลงทุนมีแหล่งพักเงินที่ดีกว่า ซึ่งตลาดหุ้นมีโอกาสรีบาวนด์จากแรงซื้อนักลงทุนในประเทศอยู่ ดังนั้นควรเลือกลงทุนในตราสารอายุต่ำกว่า 1 ปีจะเหมาะสมกว่า”
สำหรับพอร์ตการลงทุนในตราสารหนี้ ควรแบ่งเงินลงทุนในกองทุนรวมที่สามารถไถ่ถอนเงินลงทุนได้ทุกวันเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และนำเงินมาลงทุนในหุ้นเมื่อตลาดฟื้นตัวดีขึ้นได้ เช่น กองทุนตลาดเงิน(Money Market) 40% และลงทุนในตราสารหนี้ประเภทโรลโอเวอร์ระยะสั้น 3-6 เดือน 30% ส่วนที่เหลือลงทุนในกองตราสารหนี้ต่างประเทศอีก 30%
“การเลือกลงทุนในกองทุนที่ถือตราสารของต่างประเทศที่มีอันดับความเชื่อมั่นดี(เครดิต) และจะต้องมีการปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน100% ด้วย แต่ถ้าไม่ชอบความเสี่ยงสามารถแบ่งเงินลงทุนในหุ้นปันผลสูง 20% และตราสารหนี้ 80% แต่หากรับความเสี่ยงได้มากกว่าควรให้น้ำหนักลงทุนในตราสารหนี้ 70% ตราสารอนุพันธ์ 20% และหุ้น 10% ”
ธวัชชัย อัศวพรไชย ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก กล่าวว่า ปริมาณตราสารหนี้ภาคเอกชน(หุ้นกู้) เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนเนื่องจากการออกพันธบัตรในต่างประเทศจะมีราคาสูงกว่าภายในประเทศ ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียน(บจ.)ขนาดใหญ่ เช่น บมจ.ปตท.(PTT), บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.การบินไทย(THAI), บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH)เป็นต้น เริ่มหันกลับมาออกหุ้นกู้ในประเทศมากขึ้น และส่งผลให้การซื้อขายมีความคล่องตัวขึ้น
“นโยบายผ่อนปรนด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติเริ่มมีมากขึ้น ทำให้มีโอกาสอาจปรับลดดอกเบี้ยได้อีก ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนหันมาออกหุ้นกู้ในประเทศเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะดึงดูดนักลงทุนได้ดี โดยแนะนำว่าช่วงนี้ควรให้สัดส่วนลงทุนในตราสารหนี้ 40%ของพอร์ต”
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|