|

ทุนนอกไล่ขย้ำ‘โลจิสติกส์’สัญชาติไทย‘ยุ่น-สิงคโปร์-มาเลย์’รอแบ่งชิ้นเค้ก..!
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
โลจิสติกส์ไทยง่อนแง่น “การเมือง”ฉุดจนกู่ไม่กลับ สหภาพฯปิด “สนามบิน-ท่าเรือ”กระทบหนักลูกค้าต่างชาติเซย์โน ขณะที่ “รถบรรทุกพืชผล”งานไม่เข้าราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลอยแพกว่า 5,000 คัน ด้านทุนนอกรุกหนักบีบ “ขนส่งสัญชาติไทย”แห้งตาย เหตุดั๊มราคาต่ำกว่าทุน อาศัยช่อง FTA-AEC พาเหรดยึดหัวหาดโลจิสติกส์ทั้งระบบ 8 แสนล้าน ส่วนสัญญาณปีหน้ายังเป็นลบ “3 ปัจจัยหลัก” ยังไม่กระเตื้อง.!
ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังหาทางออกไม่เจอ เพราะรัฐบาลมัวแต่แก้เรื่องการเมืองภายในมากกว่าจะหันมามองภาคเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเป็นเรื่องปาก-ท้องจับต้องได้มากกว่า และในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบตลอดปีที่ผ่านมาคือธุรกิจขนส่ง หรือโลจิสติกส์ที่เจอพิษราคาน้ำมันเล่นงานจนย่อยยับเจ๊งไปหลายราย แต่ในภาวะที่ราคาน้ำมันทรงตัวและยังลดลงน้อยกว่า 30 บาท/ลิตร ก็ไม่ใช่ว่าธุรกิจเหล่านี้จะโกยเพียงอย่างเดียว เพราะทุนข้ามชาติกำลังไล่ทำลายร้างธุรกิจขนส่งสัญชาติไทยอย่างมันมือ..!
เจ๊งยับ.! ปิดสนามบิน-ท่าเรือ
“ทองอยู่ คงขันธ์” นายกสมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและการส่งออก และในฐานะเลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย (สขบท.) เปิดเผยผ่าน “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ขณะนี้ถือว่ายังทรงตัวแม้จะได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงก็ตาม แต่ก็ยังมีต้นทุนอย่างอื่นที่ยังไม่ลดลงตามราคาน้ำมันทำให้ภาคธุรกิจขนส่งยังต้องชะลอตัวต่อไป
โดยสาเหตุใหญ่ๆมาจากการปิดท่าเรือในช่วงที่ผ่านมาทำให้ต่างชาติที่ค้าขายกับผู้ประกอบการคนไทยไม่กล้าสั่งของอีก อีกทั้งผู้ประกอบการคนไทยยังต้องเสียต้นทุนเพิ่มจากการเปลี่ยนท่าเรือส่งของจากคลองเตยไปแหลมฉบังเพื่อให้ทันต่อเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้แล้วช่วงเดือนต.ค.-เม.ย.ถือว่าช่วงไฮซีซั่นเพราะประเทศไทยมีเทศกาลทั่วทุกภาคของไทยตั้งแต่ออกพรรษาเป็นต้นไป แต่การขนส่งขณะนี้กลับไม่คึกคักเท่าที่ควรเพราะคนจับจ่ายใช้สอยน้อยลงทำให้การขนส่งแม้จะอยู่ในช่วงพีคของปีก็ลดน้อยลงไปด้วย
“การเมืองจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ขอวิงวอนว่าอย่าปิดถนน อย่าปิดท่าเรืออย่าปิดสนามบิน เพราะประเทศเสียหายมาก การขนส่งของออกนอกประเทศไม่ได้ ผู้ประกอบการก็ตายกันหมด” เลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ระบุ
ขนส่ง “พืชผลทางการเกษตร” กระอัก.!
ทองอยู่ ย้ำอีกว่าขณะนี้ 4 ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือภาคพืชผลการเกษตรที่ราคาตกต่ำทำให้ธุรกิจขนส่งทางการเกษตรขณะนี้มีรถบรรทุกในภาคอีสานที่ว่างงานมากถึง 4,000-5,000 คัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหนักก็ยังไม่ขยายตัวเพราะยังไม่มีลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพิ่มเติม และตามมาด้วยเรื่องท่องเที่ยวที่ซบเซาต่อเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สงบ ส่วนเรื่องการนำเข้า-ส่งออกถือว่ายังทรงตัวเพราะประเทศไทยนำเข้ามาผลิตและส่งออกไปจึงยังไม่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้
อย่างไรก็ดีแม้จะธุรกิจโลจิสติกส์ประสบปัญหาจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้แต่ที่ยังปัญหาที่กำลังคุกคามอย่างหนักคือทุนใหญ่ข้ามชาติที่กำลังรุกเข้ามาทำลายร้างธุรกิจขนส่งของไทย “วชิรศักดิ์ เล้าประเสริฐ” นายกสมาคมขนส่งทางบกที่มีสมาชิกในสังกัดเขตภาคกลางและภาคเหนือมีรถยนต์รวมกันมากกว่า 70,000-80,000 คัน อธิบายเพิ่มเติมถึงสัญญาณร้ายธุรกิจขนส่งไทยว่า ในช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุดในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายเล็ก-ขนาดกลางปิดกิจการกันไปมากทีเดียวที่เหลือรอดอยู่ก็เป็นกิจกาจที่ขนาดใหญ่เท่านั้นเพราะธุรกิจนี้ต้องมีทุนหนาพอสมควรในการประกอบธุรกิจ อีกทั้งธุรกิจดังกล่าวมีต่างชาติที่เข้ามาในเมืองไทยที่ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผยตัวกว่า 200 ราย
ทุนนอกไล่ขย้ำ “ขนส่ง”สัญชาติไทย
“ตอนนี้ต้องบอกว่าเหนื่อย (มาก) เพราะธุรกิจขนส่งของคนไทยไม่สามารถสู้ต่างชาติได้ เพราะเขามีทั้งเงินทุนที่มากกว่า และเทคโนโลยีที่สูงกว่า” นายกสมาคมขนส่งทางบก ระบุ และว่าโรงงานต่างชาติที่เข้ามาเปิดกิจการในเมืองไทยก็นิยมใช้บริการขนส่งจากประเทศเดียวกันอาทิ นักลงทุนจากญี่ปุ่นก็นิยมใช้บริการขนส่งจากญี่ปุ่นด้วยกัน หรือที่พบมาคือโรงงานจากฝรั่งเศสแม้จะไม่มีบริการขนส่งของฝรั่งเสศในประเทศไทยแต่เขาก็หันไปใช้บริการขนส่งในเครือสหภาพยุโรป (EU) แทนซึ่งผู้ประกอบการคนไทยจะอยู่ในตัวเลือกลำดับท้ายๆ
อย่างไรก็ดีมูลค่าในระบบโลจิสติกส์ในไทยปีหนึ่งๆประมาณ 800,000 ล้านบาทแต่ขณะนี้ต่างชาติกำลังรุกคืบเข้ามาเรื่อยๆจนมีส่วนแบ่ง 1/3ของมูลค่าทั้งหมดคือ 100,000-200,000ล้านบาททั้งๆที่ไทยยังไม่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาอย่างเป็นทางการ ก็ตาม
“เพราะ FTA ที่เราทำกับประเทศต่างๆทำให้เขารุกคืบในธุรกิจขนส่งของไทยได้มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการในภาคธุรกิจนี้ต้องบอกว่าแค่ประคับประคองให้อยู่รอดได้นานแค่ไหนเท่านั้น”
“ญี่ปุ่น-สิงคโปร์-มาเลย์”รอฮุบ.!
ขณะเดียวกันหากไปดูรายชื่อต่างชาติที่พาเหรดกันเข้ามาแล้วคือนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่อาศัยเจเทปป้า (JTEPA) ที่เปิดช่องให้เข้ามาลงทุนได้ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นนี่เองคือกลุ่มทุนใหญ่อันดับหนึ่งในธุรกิจใหญ่ในเมืองไทย ขณะที่อีก 2 ประเทศที่กำลังจะกระโจนตามมาคือ สิงคโปร์และมาเลเชีย ที่รอให้ AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน)มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2558 ที่จะเปิดในสมาชิกในอาเซียนด้วยกันสามารถไปลงทุนในประเทศสมาชิกอื่นๆได้ไม่เกิน 70%
“ ขณะนี้สิงคโปร์และมาเลเชียกำลังสนใจจะมาลงทุนกิจการขนส่งชายฝั่งทางเรือจำนวนมากรอแต่เพียง AEC มีผลบังคับใช้เท่านั้น” สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอเรชั่น อินเตร์เนชั่นแนล จำกัด (EBCI) ผู้เชี่ยวชาญวางระบบและปฏิบัติการโลจิสติกส์และวิเคราะห์ระบบโลจิส ติกส์ ระบุและว่า รัฐบาลน่าจะทบทวน พ.ร.บ.การแข่งขันที่ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการตัดราคาที่ไม่เป็นธรรม เพราะทุนต่างชาติสามารถลดราคาขนส่งต่อเที่ยวได้มากกว่าคนไทยอยู่แล้วจึงน่าจะมีการหยิบพ.ร.บ.การแข่งขันขึ้นมาทบทวนกันอีกที เหมือนอย่างที่กรมการค้าภายในคุมห้างสรรพสินค้าลดราคาเกินจริงเพราะให้ผู้ประกอบการคนไทยอยู่รอดได้
ชี้ “3ปัจจัย”ฉุดโลจิสติกส์ไทย
โดยตั้งแต่ปีนี้จนถึงกลางปีหน้า (2552) ธุรกิจโลจิสติกส์ยังไม่สดใสมาจาก 3สาเหตุด้วยกันคือ
1 .การส่งออกที่จะขยายตัวลดลงทำให้การขนส่งก็ลดลงตามไปด้วย 2. การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจะลำบากมากขึ้นเพราะเกรงว่าผู้ประกอบการจะมีความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 3. ท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ยอดจองโรงแรม,ยอดจองทัวร์ตามแหล่งท่องเที่ยวลดลง ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยล้วนจะทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงกลางปีหน้ายังอยู่ในภาระตั้งรับมากกว่าจะรุกเดินหน้าค้ากำไร
คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า “ธุรกิจขนส่ง” ของไทยที่ตกอยู่ภายใต้การแข่งขันของตามข้อบังคับ FTA ธุรกิจของคนไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรเพราะเอฟทีเอมีได้-มีเสีย ขึ้นอยู่ว่าใครจะเสียอะไรให้ใคร และสิ่งที่ประเทศจะได้กลับมาคุ้มค่าหรือไม่ต้องใช้เวลาพิสูจน์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|