เฮาส์แบรนด์คัมแบ็กเปิดเกมชิงตลาดอินเตอร์แบรนด์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

- อุณหภูมิตลาดโทรศัพท์มือถือระอุ "มือถือจีน" "เฮาส์แบรนด์หน้าใหม่" เปิดศึกฟีเจอร์พื้นๆ "ทีวีโมบาย" ซื้อใจลูกค้า
- ก่อนปล่อยหมัดเด็ด "มาร์จิ้น" จูงใจ "ลูกตู้" แปรพักตร์อินเตอร์แบรนด์

ตัวเลข 9,000,000 เครื่องสำหรับขนาดตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะระบบจีเอสเอ็มในประเทศไทยปี 2551 ที่ทางจีเอฟเค บริษัทวิจัยตลาดคาดการณ์ไว้ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 700,000 เครื่อง แต่ถ้าหากเทียบกับปี 2549 ถือว่าห่างกันถึง 1,600,000 เครื่อง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากพอที่จะดึงดูดให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ โดดลงมาเล่นในตลาดนี้กันเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่รู้ดีว่า ตลาดนี้เป็นอีกตลาดที่มีการแข่งขันสูง

การแข่งขันของเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มร้อนแรงขึ้นมา เมื่อบรรดา "ลูกตู้" ที่ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไหลทะลักมาจากประเทศจีนเข้ามาวางจำหน่ายหลากหลายแบรนด์ โดยมีการประเมินกันว่า น่าจะมีมากถึง 200 แบรนด์ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ประเทศจีนได้กลายเป็นศูนย์กลางโรงงานผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโลก มีมากถึง 500 โรงงาน ส่งผลให้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีราคาที่ค่อนข้าง "ถูก" อีกทั้งยังไม่ต้องมีภาระค่าการตลาด รวมถึงการควบคุมคุณภาพสินค้าเหมือนกับอินเตอร์แบรนด์อย่าง โนเกีย โซนี่ อีริคสัน โมโตโรล่า ซัมซุง ที่ทำให้มาร์จิ้นที่ทางลูกตู้หรือร้านขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับน้อยกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่จากประเทศจีน

"มาร์จิ้นที่ทางอินเตอร์แบรนด์ให้เวลานี้เป็นตัวเลขดิจิเดียว ขณะที่มือถือจีนมาร์จิ้นอยู่ 2 ดิจิ" ผู้คลุกคลีในแวดวงโทรศัพท์เคลื่อนที่มานานบอกถึงเหตุผลที่ทำให้มือถือจีนเป็นที่ต้อนรับจากร้านค้าเป็นอย่างมาก

เรื่องของ "ราคา" เทียบกับ "คุณสมบัติ" ถือเป็นจุดขายที่มือถือจีนสามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ซื้อในตลาดระดับกลางจนถึงระดับล่างได้เป็นอย่างดี โดยมีราคาตั้งแต่ 1,000 กว่าบาทจนถึง 7,000 บาท ฟีเจอร์อย่าง กล้องดิจิตอล ฟังเอ็มพี3 รับวิทยุ ฯลฯ มือถือจีนสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้หมด ต่างจากครั้งแรกที่มือถือจีนพยายามรุกเข้าตลาดไทย ในยุคที่กระแสเลียนแบบโทรศัพท์เคลื่อนที่อินเตอร์แบรนด์ นับเป็นโอกาสทองของมือถือจีนได้มีโอกาสเข้ามาสร้างสีสันให้กับตลาดเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้ไม่น้อย

โดยมี "ราคา" ที่ถูกกว่าอินเตอร์แบรนด์ค่อนข้างมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยขอลองซื้อหาโทรศัพท์เคลื่อนที่จีนมาใช้กัน แต่หลังจากที่ใช้งานไปได้สักระยะหนึ่ง ก็พบกับปัญหาเรื่อง "คุณภาพการผลิต" ส่งผลให้เครื่องมือถือจีนเสียบ่อยมาก ต้องทำการซ่อมกันเอง ไม่มีอะไหล่ให้เปลี่ยน ไม่มีบริการหลังการขายจากเจ้าของแบรนด์ ส่งผลให้ผู้ใช้ต้องหันกลับมาใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่อินเตอร์แบรนด์แทน กระแสมือถือราคาถูกจากเมืองจีนก็ค่อยๆ จางหายไป

แต่การกลับมาครั้งนี้ของมือถือจีน นอกเหนือจากมาร์จิ้นที่ดึงดูดใจ อันเป็นผลมาจากที่ได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิตที่โรงงานในจีนมีกำลังการผลิตล้นความต้องการจึงทำให้มีราคาถูกกว่า ประกอบกับรูปแบบการนำเข้าของมือถือจีนมีต้นทุนที่ต่ำเนื่องจากลักลอบนำเข้าทางตะเข็บชายแดนแล้ว ยังได้ทำการยกระดับเทคโนโลยีภายในตัวเครื่องที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น แถมยังมีฟีเจอร์อย่าง "รับสัญญาณโทรทัศน์" ได้ มาเป็นจุดขายสำคัญ แต่ถึงกระนั้นปัญหามือถือจีนที่สร้างปัญหากวนใจในการเข้าใช้บริการต่างๆ ที่ทางบรรดาโอเปอเรเตอร์ให้บริการ ที่ไม่สามารถใช้บริการได้ อาทิ ดาวน์โหลดริงโทน ดาวน์โหลดเพลง

"ที่ผ่านมาผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเกือบทุกรายกำลังประสบปัญหาในการให้บริการลูกค้า เพราะมีลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ใช้โทรศัพท์มือถือของประเทศจีน และไม่สามารถใช้บริการบางคอนเทนต์ที่ผู้ให้บริการจัดเตรียมไว้ให้ได้ เช่น การดาวน์โหลดเสียงเรียกเข้า หรือการดาวน์โหลดเพลง ซึ่งทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ต่อว่าเข้ามายังบริษัทเป็นจำนวนมาก" ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

ธนา วิเคราะห์ว่า การทะลักเข้ามาของโทรศัพท์มือถือราคาถูกจากประเทศจีนเป็นกระแสใหม่ เชื่อว่าคนไทยจะนิยมใช้โทรศัพท์มือถือจากจีนมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกและมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย ดีแทคก็จะพยายามเรียนรู้ และศึกษาโทรศัพท์มือถือจากจีนให้ลึกซึ้งขึ้นเพื่อหาทางแก้ปัญหาให้กับลูกค้า และทำให้สามารถใช้บริการของบริษัทได้อย่างครบถ้วนมากที่สุด

ขณะที่ ธนานันท์ วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โทรศัพท์มือถือจากจีนได้รับความนิยมมากในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา โดยเข้ามาในรูปแบบทีวีโมบาย แต่ปัจจุบันผู้บริโภคไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก เนื่องจากคุณภาพไม่ค่อยดี

ทีวีโมบาย ฟีเจอร์เด็ด "เฮาส์แบรนด์"

ถึงแม้กระแสความนิยมมือถือจีนลดจะความร้อนแรงลงไปบ้าง แต่กลับปลุกกระแสให้ "เฮาส์แบรนด์" รายเล็กๆ ที่นำเข้าโดยบริษัทที่เคยเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือรีเซลเลอร์ รวมถึงบริษัทหน้าใหม่ในตลาดที่สั่งให้โรงงานผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสเปกที่ต้องการแล้วนำมาจัดจำหน่ายภายใต้เฮาส์แบรนด์ของตนเองที่แต่เดิมทำตลาดอย่างเงียบๆ เริ่มหันมาเปิดตัวมากขึ้นดังจะเห็นได้จากในงาน "โมบาย เอ็กซ์โป 2008" ที่เพิ่งจัดไปไม่นานมานี้ มีบรรดา "เฮาส์แบรนด์" ใหม่ๆ ที่เข้าร่วมงานเคียงข้างอินเตอร์แบรนด์มากถึง 8 แบรนด์ อาทิ "มิโซ" จัดจำหน่ายโดยบริษัท อินฟินิตี้ มิโซ จำกัด "แม็กซ์เน็ค" จัดจำหน่ายโดยบริษัท แม็กซ์เน็ค โมบาย จำกัด "เอสเคจี" จัดจำหน่ายโดยบริษัท เอส เค จี อีเล็คทริค กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด "สกูล โมบาย" นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที แซด อินเตอร์เนชั่นแนล "ไอโนโว" จัดนำหน่ายโดยบริษัท แซด.เอ.อินเตอร์เทรด จำกัด เป็นต้น แม้กระทั่งบริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด บริษัทผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้แบรนด์ "เอเจ" เองก็ลงมาเล่นตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเหมือนกันเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมานี้

ฟีเจอร์หลักที่ "เฮาส์แบรนด์" น้องใหม่ใช้ทำตลาดในปัจจุบันนี้ก็คือ เรื่องของคุณสมบัติเด่นที่ทางอินเตอร์แบรนด์ยังไม่มีก็คือ รับสัญญาณโทรทัศน์ฟรีทีวี กับเครื่องที่รองรับการใช้งาน 2 ซิม สำหรับยอดขายในแต่ละเดือนของเฮาส์แบรนด์แต่ละรายมีอยู่ในระดับ 20,000-50,000 เครื่องเลยทีเดียว

แหล่งข่าวผู้ค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เฮาส์แบรนด์หน้าใหม่ได้รับความนิยมมากขึ้นมาจากกำไรต่อเครื่องที่สูงกว่าแบรนด์เนมมาก เฮาส์แบรนด์บางแห่งให้มาร์จิ้นกับร้านค้าสูงถึง 10% ขณะที่อินเตอร์แบรนด์ให้ได้เพียง 3%

ทางด้านบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ "ไอ-โมบาย" ซึ่งถือเป็นพี่ใหญ่ในตลาดเฮาส์แบรนด์ที่สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากอินเตอร์แบรนด์ในช่วงที่เฮาส์แบรนด์ล้มหายตายจากไปเป็นอันมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จนมีส่วนแบ่งทางการตลาดในปี 2550 ถึง 34% รองจากผู้นำตลาด "โนเกีย" เพียงรายเดียว

ธนานันท์ วิไลลักษณ์ กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจในขณะนี้อาจจะทำให้มูลค่าตลาดรวมของไอ-โมบาย ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคปรับลดรายจ่ายต่างๆ พร้อมปรับกลยุทธ์การขายด้วยสินค้าคุณภาพทางด้านเสียงและภาพเพื่อให้สามารถเทียบเท่าผู้นำตลาดได้

"ยอดจำหน่ายของไอ-โมบายยังอยู่ในอันดับที่ 2 ตามเดิม ส่วนยอดขายจะลดลงหรือเพิ่มขึ้นขอให้รอดูตัวเลขในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่เท่ากับแบรนด์เล็กๆ ทั้งนี้เฉพาะทีวีโมบายในช่วงปลายปีนี้ น่าจะเป็นตัวเพิ่มยอดขายรวมให้กับทางบริษัท ซึ่งตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 60,000 เครื่องต่อเดือน"

สิ่งที่ทำให้เฮาส์แบรนด์ยังยืนหยัดในตลาดได้นั้น เป็นผลมาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้คนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยทางไอ-โมบายเข้าไปควบคุมคุณภาพของสินค้าถึงโรงงานโดยตรง ตั้งแต่เรื่องการกำหนดสเปก ตลอดจนติดต่อซัปพลายชิปเซตที่เป็นฟีเจอร์ใหม่โดยตรงจากโรงงาน ไม่ได้เป็นเพียงแค่ให้โรงงานติดแบรนด์แล้วนำเข้ามาขาย

"อย่างฟีเจอร์โทรทัศน์ เดี๋ยวนี้โรงงานผลิตออกมาได้ในคุณภาพที่ดี ความแตกต่างของไอ-โมบายกับแบรนด์อื่น อยู่ตรงที่เราเขียนซอฟต์แวร์เอง ให้สอดคล้องกับการใช้งานของคนไทย ต้องใช้งานง่าย ทำให้ฟีเจอร์โทรทัศน์ของเราแตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน คาดว่าสิ้นปีนี้ มือถือรุ่นใหม่ๆ ของไอ-โมบายที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่จะมีฟีเจอร์โทรทัศน์มาให้ทั้งหมด"

ล่าสุดทางไอ-โมบายได้เปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ 7 รุ่น ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นมัลติมีเดียเพื่อให้ผู้ใช้เลือกใช้ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ประกอบไปด้วย ไอ-โมบาย 522 ดูโอซิม โทรศัพท์มือถือ 2 ซิมเครื่องแรกของไอ-โมบาย ไอ-โมบาย ทีวี 523 โทรศัพท์มือถือดูทีวีได้ที่ใช้ลำโพง 2 ตัวจากยามาฮ่า ออดิโอ แอมพลิไฟเออร์ วางจำหน่ายในราคา 4,190 บาท ไอ-โมบาย ทีวี 530 โทรศัพท์มือถือในกลุ่มมัลติมีเดียซีรีส์ที่สามารถดูทีวีได้ด้วย ไอ-โมบาย 627 โทรศัพท์มือถือกล้อง 3 ล้านพิกเซล ระบบเสียงจาก ยามาฮ่า ออดิโอ แอมพลิไฟเออร์ และกล้องคุณภาพ คาสิโอ ฮิตาชิ ไอ-โมบาย Hitz 202 ที่เน้นคุณภาพเสียงจากยามาฮ่า และไอ-โมบาย 319 ในกลุ่มมิวสิกโฟน พร้อมโมชั่นเซ็นเซอร์

"ไอ-โมบายตั้งเป้ารักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดโทรศัพท์มือถือกลุ่ม Mid-low ซึ่งเป็นตลาดหลักของประเทศด้วยกลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และตรงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยไอ-โมบายวางแผนที่จะเปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฟังก์ชั่นใหม่อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากโทรศัพท์ 2 ซิมและทีวีโมบายซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีในตลาด โดยเน้นประสิทธิภาพการทำงานที่เหนือกว่า อีกทั้งยังเน้นการสร้างความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้วยดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ ครบครันด้วยฟังก์ชั่นมัลติมีเดีย ฟรีโหลดคอนเทนต์และแอปพลิเคชั่นในเครื่อง ใช้งานได้ทนทานพร้อมการรับประกันคุณภาพ เช่น เปลี่ยนเครื่องภายใน 10 วัน และบริการหลังการขายที่รวดเร็ว ด้วยบริการซ่อมเสร็จภายใน 1 วัน จากศูนย์บริการกว่า 350 แห่งทั่วประเทศ"

เมื่อถามถึงบทบาทของเฮาส์แบรนด์ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะระบบจีเอสเอ็มนั้น ทางผู้ค้าเฮาส์แบรนด์ประเมินว่า น่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมทุกแบรนด์แล้วไม่น้อยกว่า 30%

คงจะต้องจับตามองว่า โอกาสของเฮาส์แบรนด์ที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากอินเตอร์แบรนด์จะยั่งยืนเพียงใด หรือจะซ้ำรอยในอดีตที่เฮาส์แบรนด์รายเล็กตกม้าตายเมื่ออินเตอร์แบรนด์เอาจริง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.