ผ่ากลยุทธ์ยอดแบรนด์เอเชีย-แปซิก 2008


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 ตุลาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

- เผย 20 แบรนด์ครองใจผู้บริโภคเอเชียแปซิฟิกแห่งปี 2008
- โซนี่ ผงาดครองแชมป์เหนือแบรนด์ตะวันตก
- แคนอน-ซัมซุง-พานาฯ-ฮอนด้า-แอลจี นำทัพแบรนด์เอเชียติดโผ

ทีเอ็นเอส ฮ่องกง ซึ่งเป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจทั้งด้านมีเดีย มาร์เก็ตติ้งและแอดเวอร์ไทซิ่ง ได้ทำการจัดอันดับสุดยอดแบรนด์ดัง ทั้งในรูปแบบของสุดยอดแบรนด์ที่ได้รับการโหวตสูงสุด และแยกตามประเภทธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิก

การสำรวจการโหวตครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากผลการสำรวจของปีที่แล้ว โดยได้ผลตอบรับจากผู้บริโภคใน 10 ตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

สิ่งที่น่าสนใจคือ สุดยอดแบรนด์ในสายตาของผู้บริโภคในย่านเอเชีย-แปซิฟิก มีทั้งแบรนด์ระดับโลกและแบรนด์ระดับเอเชียด้วยกันเอง ที่ก้าวไปไกลจนได้รับความเชื่อถือและกลายเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดโลกไปแล้ว

ปัจจัยที่ใช้ในการสำรวจครั้งนี้ เป็นการสอบถามว่าหากผู้ตอบคิดถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการหรือรูปแบบของสินค้าที่ดีที่สุดในด้านแบรนด์ในใจ ขอให้นึกถึงสุดยอดในด้านความเชื่อถือได้ และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมากที่สุดเรียงตามลำดับ

นอกจากขอให้เลือกแบรนด์สุดยอดอันดับ 1 แล้วแบบสอบถามยังขอให้ผู้ตอบระบุด้วยว่าอะไรคือแบรนด์ที่ควรจะครองอันดับ 2 รองลงมาด้วย

ประเทศที่มีการเพิ่มเติมแบบสอบถามในปีนี้เพิ่มเติมจากปีที่แล้วก็คือ ญี่ปุ่น เกาหลี และออสเตรเลีย รวม 3 ประเทศ ซึ่งเพิ่มเติมจากผลตอบรับในตลาดเดียวกับปีที่แล้วจากจีน ฮ่องกง อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย

ในการสอบถามครั้งนี้ ทีเอ็นเอสแบ่งประเภทแบรนด์ตามธุรกิจออกเป็นหลายประเภทคือ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และบุหรี่ บริการทางการเงิน รถยนต์ สุขภาพ ค้าปลีก อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องไฟฟ้า มีเดีย และโทรคมนาคม และผลิตภัณฑ์เด็ก ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ และเครื่องสำอาง

แม้ว่าสุดยอดแบรนด์ในดวงใจของผู้บริโภคในเอเชียจะมีแบรนด์ในเอเชียอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงไม่กี่แบรนด์ และเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ของสหรัฐฯเสียมากกว่า

แม้ว่าจะมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่มาจากผู้ประกอบการในเอเชีย แต่ก็ยังดีที่โซนี่ครองอันดับ 1 และแคนอนครองอันดับ 2 ขณะที่อันดับ 3 คือไนกี้

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งจากผลการจัดอันดับครั้งนี้ก็คือ ผลที่ออกมาย่อมจะถือว่าเป็นดัชนีหลักในการชี้วัดอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงความสำเร็จของบรรดาแบรนด์ทั้งหลายในการที่สามารถจะนำเอาความเข้าใจ พันธะสัญญาในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เป็นประชากรในผ่านเอเชีย-แปซิฟิก

อีกประการหนึ่งคือ มีการกระจายของบริษัทที่ติดอันดับ 20 อันดับแรกที่มีประเทศแม่แตกต่างกัน อย่างเช่น กิจการด้านไฮเทคโนโลยีไม่ได้มาจากแหล่งเดียว ฮิวเลตต์-แพคการ์ด และแอปเปิลอาจจะมาจากมุมมองของผู้ประกอบการสหรัฐฯ แต่ก็มาจากเกาหลีใต้ถึง 2 รายคือ ซัมซุงและแอลจี ขณะเดียวกันจากญี่ปุ่นก็มีทั้งโซนี่และพานาโซนิค

ที่น่าสนใจคือกรณีของโซนี่นั้น พบว่าไม่ได้ถูกจัดอันดับเฉพาะทีเอ็นเอสเท่านั้น แต่ผลการจัดอันดับโพลล์อื่นที่ออกมาก็สนับสนุนผลอย่างเดียวกัน โดยเป็นการแซงหน้าโนเกียที่เคยเป็นแชมป์ในย่านนี้มาก่อน

ผลที่ออกมานี้น่าจะสะท้อนว่า โซนี่น่าจะกำลังผลิกฟื้นทางธุรกิจและดีวันดีคืน หลังจากที่ย่ำแย่มาหลายปีเหมือนกัน เพราะหาหนทางที่จะพัฒนาต่อยอมความยิ่งใหญ่และการเติบโตของตนเองอย่างไร

นอกเหนือจากนั้น การที่ผลการสำรวจในปี 2008 ออกมาและแตกต่างจากปีก่อนหน้า น่าจะมาจากการที่ปีนี้มีการรวมเอาจีน ตลาดใหญ่ที่สุดของเอเชียเข้าไปด้วย ทำให้น่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะปัจจุบันเป็นตลาดใหญ่สุดและเป็นเป้าหมายของสินค้าแบรนด์เนมดังทั้งหลายโดยทั่วหน้า

โซนี่ การตลาดสร้างสาวก นำเทรนด์ให้คู่แข่งเดินตาม

โซนี่ผู้นำตลาดเครื่องไฟฟ้าหมวดภาพและเสียง ที่ประสบความสำเร็จจากความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ได้อย่างโดนใจ นับแต่เครื่องเล่นเพลงวอล์คแมนที่พลิกโฉมให้คอเพลงสามารถไปไหนมาไหนกับเสียงเพลงได้แบบทุกที่ทุกเวลา จนก่อให้เกิดสาวกแบรนด์ที่พร้อมจะเดินตามเส้นทางที่โซนี่กำหนดขึ้นมาให้ ส่งผลให้โซนี่มีความโดดเด่นในการทำการตลาดด้วย Emotional Marketing โดยไม่ต้องมานั่งอธิบายสรรพคุณต่างๆนานา เพียงแค่ชี้เทรนด์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ก็ทำให้บรรดาสาวกเปลี่ยนตัวเองไปตามที่โซนี่บอก จึงไม่น่าแปลกใจที่แบรนด์โซนี่ จะเป็นแบรนด์ที่ครองใจผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกอยู่ในอันดับ 1

ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคเท่านั้น หากแต่บรรดาคู่แข่งก็ยังต้องเดินตามรอยโซนี่ ล่าสุดคือกรณีของเครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ที่สามารถเอาชนะเทคโนโลยีเอชดีดีวีดีของค่ายโตชิบา ทำให้ผู้ผลิตรายอื่นหันมาผลิตเครื่องเล่นบูลเรย์ดิสก์ตาม และด้วยความผูกพันของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์โซนี่ ส่งผลให้โซนี่สามารถสร้างมูลค่าได้สูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่หลายแบรนด์พยายามไปให้ถึงซึ่งความภักดีต่อแบรนด์

แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งจากญี่ปุ่นและเกาหลี เคยวางคอนเซปต์ในการทำการตลาดด้วยเทคโนโลยียูบิควิตัส การเชื่อมต่อเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ความสมบูรณ์แบบจะเกิดได้ต้องอาศัยระบบ 3จี หรือระบบบรอดแบนด์ ซึ่งวันนี้ยังไม่เกิดขึ้นในเมืองไทย โซนี่ จึงหยิบเอาแนวคิด HD World เข้ามาสร้างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการใช้งานเชื่อมต่อกัน สร้างอรรถรสความบันเทิงที่สมบูรณ์แบบชิงตลาดก่อนค่ายอื่น

ความสำคัญของ Full HD ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีที่สูงกว่า แต่อยู่ที่การสร้างประสบการณ์บันเทิงให้ผู้บริโภคได้ประทับใจเต็มรูปแบบทั้งภาพและเสียง ทว่าในห้วงเวลาที่การออกอากาศของประเทศไทยยังไม่ได้เข้าสู่ระบบดิจิตอลทำให้สัญญาณภาพที่ได้รับยังเป็นสัญญาณธรรมดา ดังนั้นโซนี่จึงสร้างตลาดบันทึกภาพในระบบ Full HD ทั้งในส่วนที่เป็นผู้ผลิตรายการเพื่อรองรับอนาคต และผู้บริโภคทั่วไปที่สามารถบันทึกภาพผ่านกล้องแฮนดี้แคม หรือกล้องไซเบอร์ช็อท แล้วนำมาต่อเชื่อมกับแอลซีดีทีวีบราเวีย ตลอดจนสามารถตัดต่อผ่านโน้ตบุ๊คไวโอ้ได้ โดยประสบการณ์บันเทิงเหล่านี้สามารถสร้างมาร์จิ้นเพิ่มขึ้นให้กับโซนี่ โดยจะเห็นได้จากส่วนแบ่งการตลาดเชิงมูลค่าของโซนี่สูงกว่าส่วนแบ่งการตลาดเชิงปริมาณซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของโซนี่สามารถสร้างมูลค่าได้สูงกว่าคู่แข่งด้วยเทคโนโลยีที่สร้างประสบการณ์บันเทิงที่เหนือกว่า

อย่างไรก็ดีเนื่องจากบรรดาสาวกโซนี่ในยุควอล์คแมนเริ่มมีอายุมากขึ้น ในขณะที่คู่แข่งก็พยายามขยายตลาดไปสู่ฐานผู้บริโภครุ่นใหม่ ทำให้โซนี่ต้องทำการสร้างแบรนด์ไปสู่ผู้บริโภครุ่นใหม่ก่อนที่จะถูกคู่แข่งชิงตลาดไป โดยกลยุทธ์ Color Marketing ที่ใส่สีสันให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆของโซนี่ทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคโดยเฉพาะเพศหญิงที่ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์สีสันมากกว่าเรื่องเทคโนโลยี หรือกรณีของแอลซีดีทีวีก็มีการลอนช์แอลซีดีทีวี 20 นิ้วออกมาในราคาประมาณ 10,000 กว่าบาท เพื่อตอบสนองไลฟ์ไสตล์ผู้บริโภครุ่นใหม่ในคอนโดฯหรืออพาร์ตเมนต์ โดยยังมีสีสันต่างๆให้ผู้บริโภคเลือก

ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการขยายฐานลูกค้ารุ่นใหม่แล้ว โซนี่ยังมองถึงการจูงใจให้ผู้บริโภคที่คิดจะซื้อซีอาร์ทีทีวี หรือทีวีจอโค้งแบบเก่า เปลี่ยนการตัดสินใจมาซื้อแอลซีดีทีวี เพื่อรับประสบการณ์บันเทิงก่อนจะทำการกระตุ้นลูกค้าเหล่านี้ให้หันมาใช้แอลซีดีทีวีจอใหญ่ขึ้นไป หรือกรณีลูกค้าที่มีแอลซีดีทีวีอยู่แล้วก็มีการใช้แอลซีดีทีวี 20 นิ้วเป็นตัวตอบโจทย์ความเป็นส่วนตัวในห้องนอนที่อาจจะไม่ได้เน้นความบันเทิงแบบจอใหญ่เหมือนห้องนั่งเล่น ส่งผลให้แอลซีดีทีวี 20 นิ้วสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้หลายกลุ่ม

ขณะเดียวกันโซนี่ก็พยายามอัปเกรดลูกค้าที่มีกำลังซื้อโดยแอลซีดีทีวี 40 นิ้วขึ้นไปที่ลอนช์ในปีนี้จะเป็นรุ่น Full HD ทั้งหมด ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างของโซนี่จะเน้นการเชื่อมต่อเพื่อสร้างประสบการณ์ความบันเทิงเต็มรูปแบบเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อแต่สินค้าของโซนี่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีในการสร้างแบรนด์ลอยัลตี้

HP เปิดแผนโฟกัสเอเชียแปซิฟิก เต็มตัว

ยักษ์ใหญ่วงการไอทีสัญชาติอเมริกัน แบรนด์ฮิวเลตต์-แพคการ์ด ยังสามารถครองใจผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก สูงถึงอันดับ 5 ในปีนี้ แม้ตลาดไอทีในภูมิภาคเอเชีย จะถูกท้าทายจากแบรนด์คู่แข่งในท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งรายเดิมๆ จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และหน้าใหม่จากประเทศจีน

แต่เอชพี ก็ตระหนักดีถึงการคุกคามส่วนแบ่งตลาดในย่านเอเชียแปซิฟิกจากแบรนด์ท้องถิ่นเหล่านี้ที่นับวันจะยิ่งแข็งแกร่งเทียบเท่าแบรนด์อินเตอร์ แผนการตลาดในปีนี้ของเอชพี จึงให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากเป็นพิเศษ โดยกำหนดกลยุทธ์หลักด้วยการมุ่งสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคทั่วเอเชียได้มีโอกาสใช้สินค้า และรับรู้ถึงเทคโนโลยีอันล้ำหน้าของเอชพีอย่างทั่วถึง ด้วยการเปิดตัวรูปแบบร้านค้าสไตล์ใหม่ "HP Alternate Experience Center"โดยตั้งเป้าหมายเปิดให้ครบ 25,000 แห่งภายในปี 2010

HP Alternate Experience Center เป็นช่องทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงเทคโนโลยีของเอชพีได้ง่ายขึ้นผ่านการขยายช่องทางค้าปลีก โดยเอชพีจะนำสินค้าเอชพีเทคโนโลยีรุ่นล่าสุด ตั้งแต่คอมพิวเตอร์พีซี โน้ตบุ๊ก และเครื่องพิมพ์ ออกแสดง มีพนักงานคอยให้คำแนะนำ สาธิตการใช้งาน และให้ผู้บริโภคได้สัมผัส ทดลองใช้งานจริงก่อนตัดสินใจซื้อ

ซี ชิน เต็ก รองประธานอาวุโส กลุ่มธุรกิจเพอร์ซันแนล ซิสเต็มส์ เอชพี เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กล่าวว่า HP Alternate Experience Center จะมุ่งนำเสนอประสบการณ์เทคโนโลยีเอชพีที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้เอชพีสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยการปรับเทคโนโลยีให้กลมกลืนไปกับแนวความสนใจ ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม โดย HP Alternate Experience Center จะช่วยเสริมและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ช่องทางค้าปลีกที่กำลังขยายตัวของเอชพี

แผนการรุกตลาดเอเชียแปซิฟิก โดยการเปิด HP Alternate Experience Center นั้น เอชพีตั้งเป้าด้วยการจับมือกับคู่ค้าซึ่งเป็นร้านค้าปลีก พัฒนาขึ้นให้ได้ในช่วงปีแรก 7,500 ศูนย์ กระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่กว่า 1,000 เมือง ทั่วทั้งภูมิภาค โดยเน้นไปในกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ จีน อินเดีย และประเทศในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าภายในปี 2010 HP Alternate Experience Center จะขยายร้านค้าได้ถึง 25,000 แห่ง

นอกเหนือจากการนำเสนอด้านการบริการเพื่อการเข้าถึงผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว ในด้านการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ เอชพี ก็ยังให้ความสำคัญกับการนำเอกลักษณ์ของเอเชียมาดีไซน์ตัวผลิตภัณฑ์โน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ HP Vivienne Tam Special Edition ที่จะวางตลาดในปี 2009

HP Vivienne Tam Special Edition เป็นการร่วมมือระหว่างเอชพี กับ Vivienne Tam แฟชั่นดีไซน์เนอร์ระดับโลก จากฮ่องกง ที่สร้างงานแฟชั่นในสไตล์ตะวันออก ผลิตโน้ตบุ๊กรุ่นพิเศษ ดีไซน์คอลเลกชั่นดอกโบตั๋น ตั้งแต่ตัวผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์เสริม จนถึงบรรจุภัณฑ์ โดยจะนำออกแสดงที่ร้าน Vivienne Tam บางแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ช่วงต้นปีหน้า

โน้ตบุ๊ก HP Vivienne Tam Special สะท้อนถึงความต้องการของหญิงเอเชียยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องแฟชั่น แต่ยังคงหลงใหลในเทคโนโลยี ดีไซน์การออกแบบด้วยดอกโบตั๋น แสดงถึงความโดดเด่นของการผสมผสานความมีเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเข้ากับวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจจากดีไซน์สไตล์ China Chic ของ Vivienne Tam ที่ได้รับการยอมรับจากวงการแฟชั่นในมิลาน มาจนถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปักกิ่งเกมส์

ยักษ์ใหม่ ซัมซุง แบรนด์เกาหลีเขย่าโลก

ซัมซุง แบรนด์จากเกาหลีผู้เขย่าวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังจากที่ตลาดเมืองไทยถูกครอบครองโดยแบรนด์ยุโรป และแบรนด์ญี่ปุ่น ความสำเร็จของซัมซุงมีจุดเริ่มต้นจากการสร้างความยิ่งใหญ่ในเวทีโลกด้วยการดีไซน์โทรศัพท์มือถือแบบฝาพับเครื่องแรกของโลกที่ซ่อนเสาอากาศไว้ภายในตัวเครื่อง สร้างชื่อของซัมซุงให้ถูกจับตามองทั้งในตลาดโลกและเมืองไทย

ซัมซุงมีการพัฒนาเทคโนโลยีและดีไซน์ เพื่อปรับเกมรุกตลาดพรีเมียมมากขึ้นโดยอาศัยความครบเครื่องของไลน์อัพสินค้าที่มีทั้งเอวีและเอชเอ ไม่ว่าจะเป็นแอลซีดีทีวี ตู้เย็นไซด์บายไซด์ เครื่องซักผ้าระบบซิลเวอร์นาโน ตลอดจนการพัฒนาโปรแกรมการตลาดให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับแมสไปถึงพรีเมียม มีการแบ่งเซกเมนต์ตลาดตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคหรือการทำ STP(Segment Target Positioning) โดยโฟกัสไปที่ 3 กลุ่มหลักคือ High-Life Seeker เป็นผู้ที่ไวต่อเทคโนโลยี แม้จะมีรายได้ระดับกลางแต่ก็ยอมจ่ายเพื่อได้เทคโนโลยีใหม่ๆ Sensory เป็นกลุ่มที่ไวต่อเทคโนโลยีน้อยกว่าและใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อนานกว่ากลุ่มแรก Rational เป็นกลุ่มที่ซื้อเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการใช้งานเท่านั้น ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มรวมกันแล้วมีมากถึง 60% ของตลาดทั้งหมด ในขณะที่อีก 40% ที่เหลือจะพิจารณาจากราคาเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ ทว่าซัมซุงก็ยังคงสินค้าราคาถูกไว้เพื่อตีกันคู่แข่งที่เล่นสงครามราคา

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแคมเปญการตลาดใหม่ๆเพื่อดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าในเครือซัมซุงเช่นแคมเปญ 11 Days Special ซึ่งเป็นการ Mix & Match นำสินค้าทั้ง 4 กลุ่ม หมวดภาพและเสียง(เอวี) เครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน(เอชเอ) โทรศัพท์มือถือ และไอที มาทำโปรโมชั่นร่วมกันเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ความหลากหลายของสินค้าซัมซุง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างตลาดให้กับสินค้าแต่ละกลุ่มที่มีการทำโปรโมชั่นร่วมกันโดยเน้นสินค้าพรีเมียมซึ่งลูกค้าที่ซื้อสินค้าหลากหลายหมวดก็จะได้รับส่วนลดมากขึ้น

การทำ มิกแอนด์แมตช์ เป็นการแสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ การขยายฐานลูกค้าไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้ซัมซุงสามารถสร้างยอดขายในปริมาณที่มากขึ้น เช่นการร่วมกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการขายสินค้าซัมซุงผ่านโครงการ การร่วมมือกับธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในการทำ Total Solution Provider แบบครบวงจรโดยมีการออกแบบห้องต่างๆ พร้อมทั้งเครื่องไฟฟ้าซัมซุงและเฟอร์นิเจอร์ในห้อง นอกจากนี้ยังมีตลาดสถาบันการเงินโดยซัมซุงจะมีการทำไฟแนนเชียลแพกเกจให้กับลูกค้าของธนาคาร หรือการทำโปรโมชั่นพิเศษร่วมกับร้านเวดดิ้ง ตลอดจนการให้ส่วนลดพิเศษแก่ข้าราชการทหาร

11 Days Special สะท้อนความเป็น Total Solution Provider ที่มีสินค้าเทคโนโลยีครบทุกหมวด โดยมีแพกเกจโปรโมชั่นที่หลากหลายเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกให้เหมาะกับตัวเองและเป็นการสร้างประสบการณ์ในการใช้สินค้าซัมซุงให้กับผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นการเพิ่ม Household Share นอกจากนี้ยังเป็นการปูทางไปสู่ความเป็นไอคอนแบรนด์ของโลกแห่งดิจิตอลคอนเวอร์เจนซ์

นอกจากนี้ ซัมซุงยังมีการย้ายฐานการผลิตสินค้าไฮเอนด์มาสู่ประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นฮับในการส่งออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆในเอเชียแล้วยังทำให้สินค้าไฮเอนด์ของซัมซุงมีราคาถูกลง ส่งผลสะเทือนไปถึงแบรนด์คู่แข่งอย่างโซนี่ พานาโซนิค ตลอดจนเป็นการสกัดการรุกไล่ของแอลจี และไฮเออร์ที่ใช้ความสำเร็จของซัมซุงเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจ

ซัมซุงตั้งเป้าว่าจะสามารถปิดยอดขายในปีนี้ได้ 23,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ปิดได้ 16,000 ล้านบาท โดยหลังการย้ายฐานการผลิตสินค้ไฮเอนด์มาสู่ประเทศไทย ซัมซุงคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายเป็น 33,000 ล้านบาท ในปีหน้า และจะเพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาทในปีถัดไป

เซเว่นอีเลฟเว่น ความสะดวกที่โดนใจลูกค้า

"เพื่อนที่รู้ใจ ใกล้ๆคุณ" คือโพสิชันนิ่งที่เซเว่น อีเลฟเว่น วางเอาไว้ในการเป็นร้านสะดวกซื้อที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยคีย์ซักเซสที่สำคัญของเซเว่นอีเลฟเว่นเมืองไทยคือการสร้างเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ

ปัจจุบันเซเว่นอีเลฟเว่นมีสาขากว่า 4,600 สาขา ซึ่งถือเป็นอาวุธสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ปริมาณสาขาที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีอำนาจต่อรองกับซัปพลายเออร์ในการสั่งซื้อสินค้าได้ในราคาถูก แต่เซเว่นอีเลฟเว่นก็ไม่ได้ขายราคาถูกกว่า เท่ากับว่าบริษัทได้มาร์จิ้นที่สูงขึ้น อีกทั้งเครือข่ายที่มีมากมายทำให้บรรดาซัปพลายเออร์ยอมจ่ายค่าหัวเชลฟ์เพื่อให้สินค้าตัวเองสะดุดตาผู้บริโภค ทำให้เซเว่นอีเลฟเว่นมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายสินค้าตามปรกติ

อย่างไรก็ดีความสำเร็จของเซเว่นอีเลฟเว่นเมืองไทย ยังได้ต่อยอดธุรกิจเพื่อขายความสะดวกไปสู่ผู้บริโภค เช่น บัตรสมาร์ทเพิร์สหรือกระเป๋าเงินสดที่มอบความสะดวกและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค อีกทั้งทางเซเว่นเองก็สามารถรู้ถึงความต้องการของลูกค้าเหล่านี้ทำให้สามารถจัดหาสินค้าได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งข้อมูลอาจถูกขายไปสู่ซัปพลายเออร์เพื่อการผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการของตลาด ช่วยลดของเสียจากการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นเครือของซีพีส่งผลให้เซเว่นอีเลฟเว่นกลายเป็นช่องทางหนึ่งในการระบายสินค้าในเครือซีพี ซึ่งไม่เพียงแค่ซีพีเอฟที่ผลิตอาหารแปรรูป หากยังมีการให้บริการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าโทรศัพท์ ค่าเคเบิ้ลทีวี ทำให้มีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการให้บริการ ตลอดจนการทำกิจกรรมร่วมกับธุรกิจในเครือซีพี เช่น กรณีการใช้ศิลปินเอเอฟเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา หรือการเป็นสปอนเซอร์ในรายการอะคาเดมีแฟนเทเชีย เพื่อสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการมีเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางและการเป็นเครือข่ายของกลุ่มซีพีทำให้มีสินค้าและบริการมาตอบสนองลูกค้าได้หลากหลาย จนเป็นที่นิยม และยากที่จะมีคู่แข่งรายใดเข้ามาตีตลาดได้

รูปโฉมที่โดนใจ แรงผลักดันฮอนด้าสู่ตลาดเมืองไทย

ตลาดเมืองไทยถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญของแบรนด์รถยนต์ฮอนด้า ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ปัจจุบันฮอนด้าใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์หลากหลายรุ่น หลากเซกเมนต์ มีรถยนต์ที่ผลิตจากเมืองไทยกว่า 1 ล้านคัน ออกสู่ตลาดทั่วเอเชียและหลายๆ ประเทศในโลกรวมถึง ญี่ปุ่น

รถยนต์ฮอนด้า เปิดตลาดอย่างเป็นทางการในเมืองไทยเมื่อ 27 ปีก่อน หากเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า มิตซูบิชิ หรือนิสสัน ถือว่าเข้ามาทีหลัง แต่กลับสามารถสร้าง และผลิตรถยนต์ให้เป็นที่นิยมในประเทศไทยและเอเชียได้ในเวลารวดเร็ว

ฮอนด้า มีความแข็งแกร่งอย่างมากในเกือบทุกเซกเมนต์รถยนต์นั่ง รวมถึงในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ ประเภท SUV ปัจจุบันฮอนด้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไทย แต่ในตลาดรถยนต์นั่งแล้ว ฮอนด้า คือแบรนด์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากโตโยต้าเท่านั้น

ตลอดการเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ฮอนด้ามีเงื่อนไขหลักในการจำหน่ายรถยนต์ให้กับลูกค้าในประเทศไทย ด้วยการห้ามนำรถยนต์ฮอนด้าไปใช้เป็นรถบริการสาธารณะ หรือแท็กซี่ ด้วยเหตุนี้ทำให้ฮอนด้าเสียโอกาสในการสร้างยอดขายไปจำนวนหนึ่ง แต่ก็ได้ในเรื่อง "คุณค่าของแบรนด์" เป็นการตอบแทน ฮอนด้าใช้มาตรการปฏิเสธการให้บริการหลังการขายและ การรับประกันสินค้า สำหรับลูกค้าที่ฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าว

เคนจิ โอตะกะ ประธาน บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความสำเร็จของการผลิตรถยนต์ครบ 1 ล้านคัน เป็นการแสดงถึงความไว้วางใจที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ฮอนด้า และความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อพนักงานฮอนด้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการออกแบบรถยนต์ของฮอนด้าประเทศไทย

อาจกล่าวได้ว่ารถยนต์ฮอนด้า แทบจะทุกรุ่นที่ถูกส่งเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ได้รับความนิยมและตอบรับจากตลาดเป็นอย่างมาก ฮอนด้าระบุว่า การออกแบบรถยนต์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เป็นหัวใจหลักในการพัฒนารถยนต์แต่ละรุ่น นอกจากนี้เครื่องยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า V-TEC ก็เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้รถยนต์เมืองไทยและมีชื่อเสียงไปทั่วโลกด้วย

ซิตี้ และ แจ็ส รถยนต์เซกเมนต์ ซับคอมแพ็กต์ ที่จับตลาดกลุ่มวัยรุ่น และวัยเริ่มทำงาน อาจรวมถึงกลุ่มครอบครัวคนรุ่นใหม่ ฮอนด้า ซิตี้ รุ่นใหม่ล่าสุดที่ผลิตออกมาจำหน่ายสามารถทำยอดจองได้ถึง 2,500 คันในช่วง 5 วันของการเปิดตัว ส่วน แจ็ส มียอดจองสูงถึง 10,000 คันในช่วง 2 เดือนของการเปิดตัว และยังเป็นรถขนาดซับคอมแพ็กต์ 5 ประตูรุ่นแรกของฮอนด้าในตลาดเมืองไทย แต่ก็ได้รับความนิยมสูงมากด้วยเช่นกัน

ฮอนด้า ซีวิค รุ่นเก๋งขนาดเล็กล่าสุดหลังเปิดตัวเพียง 2 เดือนเศษ ก็สามารถกวดยอดจองได้มากกว่า 12,000 คัน เป็นปรากฏการณ์ที่ฮอนด้าประหลาดใจ เพราะเป็นยอดจองที่มากเกือบครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่วางไว้ทั้งปี ส่วนฮอนด้า แอคคอร์ด ในเซกเมนต์รถยนต์นั่งขนาดกลางนั้นในรุ่นล่าสุด มียอดจองกว่า 3,000 คันในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือนหลังเปิดตัว

ส่วน ซีอาร์-วี รถอเนกประสงค์ยอดนิยมเองก็หลังการเปิดตัวโมเดลใหม่ในช่วง 3-4 เดือนก็ทำยอดจองได้ถึง 5,000 คัน จากเป้า 8,000 คันตลอดทั้งปี เหล่านี้เป็นสิ่งยืนยันถึงการเป็นรถยนต์ที่ได้รับความนิยมจากตลาดเมืองไทยในหลายๆ เซกเมนต์ได้เป็นอย่างดี

ไม่เพียงการออกแบบตัวผลิตภัณฑ์ได้อย่างตรงใจกลุ่มเป้าหมาย แต่บริการหลังการขายของ ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยผลักดันยอดขาย เพราะภายหลังเกิดกรณีทุบรถประจาน ของลูกค้า ซีอาร์-วี เมื่อหลายปีก่อน ฮอนด้าก็มีการรื้อระบบการให้บริการหลังการขายให้เข้มแข็ง และเข้มงวดมากขึ้น เป็นสิ่งที่หลายตลาดรถยนต์ส่วนใหญ่มองว่า เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสของแบรนด์ฮอนด้า

ฮอนด้า ออโตโมบิล(ประเทศไทย)จำกัด วางเป้าหมายในปีนี้ไว้ ว่าจะมียอดขายไว้มากกว่า 85,000 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 13.6% ของตลาดรวมที่คาดว่าจะมีอยู่ราว 600,000-700,000 คัน ขณะที่กำลังการผลิตรถยนต์ในปีนี้จากโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา มีอยู่ประมาณ 120,000 คัน ซึ่งส่วนที่เหลือจากการทำตลาดในประเทศจะเป็นการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ความสามารถการผลิตรถยนต์ของฮอนด้าในเมืองไทย ปัจจุบันมีสูงถึง 140,000 คัน และจะเพิ่มเป็น 240,000 คันในปีนี้ จากการลงทุนขยายโรงงานมูลค่ากว่า 6,500 ล้านบาทเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ฮอนด้า ยังมีอาวุธในการเข้าทำตลาดอีกหลายๆ อย่าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการโรดโชว์โปรโมท หุ่นยนต์ "อาซิโม" ที่มีชื่อเสียงในการเลียนท่าทางต่างของมุนษย์ได้ใกล้เคียงมากที่สุด และเป็นการสะท้อนการพัฒนาเทคโนโลยีสมองกลและยานยนต์ของฮอนด้าได้อย่างดี รวมถึงโครงการที่เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ หรือ CSR ที่ลงทุนพัฒนาในเรื่องสังคมและการศึกษาของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ก็เป็นสิ่งที่ผลักดันแบรนด์ฮอนด้าให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

"คอลเกต" แชมป์ยาสีฟันตลอดกาล

"คอลเกต" แบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมานาน 50 ปี ในฐานะแชมป์ผู้ครองตัวเลขสูงกว่า 35% จากตลาดยาสีฟันมูลค่า 5,200 ล้านบาท ซึ่งยากที่ใครจะเข้ามาต่อกรหรือช่วงชิงตำแหน่ง แม้จะเป็น "ใกล้ชิด" เด็กปั้นจากยูนิลีเวอร์ ยักษ์คอนซูเมอร์โปรดักส์ที่มีความแข็งแกร่งและมีสตาร์โปรดักส์ในมือหลายแบรนด์ที่ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในแต่ละตลาด แต่ตลาดยาสีฟันค่อนข้างชัดเจนว่า "ใกล้ชิด" คงมีวาสนาเพียงแค่ "รองแชมป์" หรือแม้แต่คู่แข่งคนสำคัญในตลาดโลกอย่างพีแอนด์จี ที่ครั้งหนึ่ง "เครส" แบรนด์ที่โด่งดังมากในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยสร้างนวัตกรรมยาสีฟันสามารถต่อต้านการเกิดพลัค หรือแผ่นคราบแบคทีเรีย ทว่าไม่นานนัก "คอลเกต" ได้โต้กลับด้วย "คอลเกต โททอล" นวัตกรรมเกี่ยวกับการลดปัญหาโรคเหงือก จุดขายใหม่เอี่ยมอ่องที่ทั่วโลกยอมรับ จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใด "ฟลูโอคารีล" และ "ออรัล-บี" ที่พีแอนด์จีส่งลงสมรภูมิจึงยังไม่ติดอันดับ Top 5 ในตลาดยาสีฟันบ้านเรา

สำหรับ การสร้างแบรนด์ หรือ กลยุทธ์ที่เป็นตัวผลักดันให้ "คอลเกต" ครองแชมป์ได้อย่างต่อเนื่อง และดูทันสมัยเข้ากับผู้บริโภคได้ทุกยุค นั่นคือ "นวัตกรรม" ที่ค่ายนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การลอนช์ "คอลเกต เฮอร์เบิ้ล" รุกในเซกเมนต์สมุนไพรที่ตอนนี้แบรนด์ดอกบัวคู่นั่งแท่นผู้นำ การเปิดตัวสูตร "แม็กซ์เฟรช" ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของ คูลลิ่งคริสตัล หรือแผ่นฟิล์มขนาดเล็กที่มีส่วนผสมของน้ำยาบ้วนปาก ผสมเข้าไปในเนื้อของยาสีฟัน ออกมาตอบโจทย์เรื่องปัญหากลิ่นปาก และเน้นไปยังคนรุ่นใหม่อายุ 15 - 25 ปี หรือการลอนช์ "คอลเกต เฮอร์เบิ้ล ซอลท์" ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของทั้งสมุนไพร เกลือ และฟูลออไรด์ที่ช่วยป้องกันฟันผุ

หรือล่าสุดการทุ่มงบ 60 ล้านบาทเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดตัว "คอลเกต โททอล 12 โปรเฟสชันแนล คลีน" สูตรที่ชูประสิทธิภาพการขจัดคราบพลัค ซึ่งเป็นตัวที่ต่อยอดจาก "คอลเกต โททอล 12" เพื่อเจาะตลาดยาสีฟันระดับพรีเมียม จากเดิมที่เน้นทำตลาดแมสมาโดยตลอด นอกจากเป็นการปรับตัวและพัฒนาให้เข้ากับสุขภาพช่องปากของผู้บริโภคแล้ว การพัฒนานวัตกรรมของค่ายนี้ยังเน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

นอกจากกลยุทธ์ดังกล่าวแล้ว สิ่งสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์นี้เป็นที่คุ้นเคยและอยู่ในใจของผู้บริโภคบ้านเรา จนยากที่แบรนด์ใดจะเข้ามาชิงตำแหน่งนี้ไปง่ายๆ คงอยู่ที่ การสร้างความผูกพันกับผู้บริโภคผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ "โครงการตรวจฟันฟรี" ที่ล่าสุดจัดเดินสายเปิดคลินิกทันตกรรมเคลื่อนที่กว่า 400 จุด ตามออฟฟิศทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ "Dentist Next Door Clinic" แม้ชื่อโครงการอาจดูไม่คุ้น แต่หากมองคอนเซ็ปต์การตรวจฟันฟรี จะเห็นว่าคอลเกตเป็นแบรนด์ที่รุกเข้าถึงผู้บริโภคในลักษณะนี้มานานแล้ว เช่น โครงการ "คอลเกต โททอล 12: ตรวจฟันฟรียิ่งใหญ่ทั่วไทยปี2548 ซึ่งนอกจากสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคตรง แบรนด์นี้ยังได้ความน่าเชื่อถือจากตัวผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเป็นผู้การรันตีแบรนด์ด้วย

ขณะที่ การรักษาฐานลูกค้าของ "คอลเกตกล่องแดง" ยาสีฟันตัวแรกของค่ายนี้ ที่แม้จะฝ่ามรสุมมานานกว่า 50 ปี ทว่า โปรดักส์กลุ่มนี้ยังทำรายได้มากกว่า 50%ของแบรนด์คอลเกตทั้งหมด ที่สำคัญยังสามารถขยายฐานได้อย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้คอลเกตยังกอดคอกับลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างเหนียวแน่น คงเป็นเพราะ การรุกหนักด้านกิจกรรมอย่างไม่ขาดสายเหมือนกับการทำตลาดสูตรอื่น โดยเฉพาะการเริ่มแคมเปญแจกบ้านในฝันตั้งแต่ 3 ปีก่อน ที่ใช้งบรวมสูงถึง 8 ล้านบาทมากสุดในรอบ 10 ปี และยังเป็นแคมเปญที่จัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรียกว่าเป็นหมัดเด็ดและขาดไม่ได้ในการทำตลาดยาสีฟันบ้านเรา นั่นคือ การลดราคา แม้ว่าคอลเกตจะเป็นผู้นำที่ทิ้งห่างคู่แข่งก็ตาม ทว่า จากความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่มีฐานในเมืองไทย ส่งผลให้ผู้นำรายได้มีศักยภาพอย่างมากในการงัดกลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้ได้ตลอดเวลา เช่น การออกแพ็คคู่ หรือ การซื้อ 2 แถม 1 ชนิดที่สร้างแรงเหวี่ยงให้กับผู้เล่นในตลาดปวดหัวไปตามๆกัน เนื่องจากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค พบว่า ราคา เป็นปัจจัยที่ผลต่อการตัดสินใจซื้อ รองจากแบรนด์

จับกระแส เนสท์เล่ ไทยพลาดโอกาสกระแสสุขภาพ

เนสท์เล่ แบรนด์องค์กรที่กำเนิดขึ้นมานานนับร้อยปี และมีอัมเบลล่าแบรนด์ที่อยู่ในธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม ได้เริ่มเข้ามาทำตลาดไอศกรีมในเมืองไทยเมื่อปี 2539

เนสท์เล่ เข้ามาในตลาดเมืองไทยครั้งแรก ด้วยการเปิดตัว นมผงตราหมี เข้าสู่ตลาดมาเป็นเวลากว่า 90 ปี ตามด้วยสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของเนสท์เล่ คือ ผลิตภัณฑ์นมสเตอริไลส์ ตราหมี ซึ่งทำให้ตราหมีเป็นแบรนด์ที่มีความผูกพันกับคนไทยและสังคมไทยมาเป็นเวลานานกว่า 90 ปี และยังเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งทั้งทางด้านภาพลักษณ์โดยเฉพาะตัวโลโก้ตราหมี ซึ่งแบรนด์ตราหมีจะเป็นการสื่อถึงความรัก ความผูกพันจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูกหรือเป็นการสื่อจากรุ่นสู่ต่อรุ่นได้เป็นอย่างดี

มาถึงปัจจุบันนมผงตราหมี เนสท์เล่ ครองความเป็นผู้นำตลาดนมผงสำหรับเด็กโต ด้วยส่วนแบ่ง 51 % จากตลาดนมผงสำหรับเด็กโต มูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท

ล่าสุด เนสท์เล่ กำลังพยายามฐานเข้าไปช่วงชิงบัลลังก์ในตลาดนมผงพรีเมียมเด็กโต มูลค่า 3.2 พันล้านบาท โดยมีนมผง โพรเท็กซ์ชัน สูตรใหม่ เป็นสินค้าหลักที่จะเข้ามาชิงชัยกับเอ็นฟาโกร และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 28.5% เป็นเบอร์สองรองจากเอ็นฟาโกร

ไม่เพียงเท่านั้น ยอดขายหลักๆของบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ซึ่งจะมีการเติบโตจากตลาดกาแฟสำเร็จรูป ควบคู่กับการทำตลาดเครื่องดื่มสุขภาพที่กำลังมาแรง ซึ่งการเข้าไปเปิดแนวรุกในตลาดกาแฟสำเร็จรูป ภายใต้ตราแบรนด์ " เนสกาแฟ เรดคัพ"และทำให้ "เนสท์เล่"ผงาดขึ้นผู้นำตลาดกาแฟสำเร็จรูป และในยุคต่อมาเมื่อไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบของคนเมืองยุคใหม่ ได้เข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนทำให้ตลาดกาแฟเกิดเซกเมนต์ใหม่ๆ ซึ่งอยู่ในรูปแบบกระป๋อง และเนสกาแฟ มายคัพ แบบซองทรีอินวัน เข้ามาในตลาดและได้รับความนิยมมากขึ้น

ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า อีกทั้งรักษาความเป็นผู้นำตลาด เนสกาแฟ ได้แตกไลน์สินค้าใหม่เข้าไปในตลาด โดยเปิดตัว เนสกาแฟ ทรีอินวัน เข้ามาเป็นสินค้าที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้ผลิตภัณฑ์กาแฟ ภายใต้แบรนด์ "เนสกาแฟ"

สินค้าที่มีครอบคลุมในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของ เนสท์เล่ ในแต่ละประเภท ส่วนใหญ่จะครองส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสอง ของตลาด โดยปัจจุบันเนสท์เล่ ครองส่วนแบ่งกาแฟ 80 % เป็นเบอร์หนึ่งของตลาด

ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆที่เป็นเบอร์รอง และวางเป้าหมายเพื่อทำให้แบรนด์ของเนสท์เล่ ขึ้นสู่บัลลังก์เจ้าตลาดนั้นคือตลาดนมพร้อมดื่ม ไอศกรีม น้ำดื่ม น้ำผลไม้และเครื่องดื่มรสชอกโกแลต ไมโล

การทำตลาดน้ำผลไม้พาสเจอไรซ์ 100 % ของเนสท์เล่ที่ผ่านมา สามารถสร้างยอดได้เป็นอย่างดีจนทำให้มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสอง รองจากทิปโก้ ในสควีซ ส่วนการแข่งขันในตลาดนม ถือว่า เนสท์เล่ เป็นคู่แข่งรายสำคัญของดัชมิลล์ และโฟร์โมสต์ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดนมพร้อมดื่ม

ตลาดไอศกรีมเป็นแนวรุกที่ เนสท์เล่ ได้เริ่มเข้ามาทำตลาดไอศกรีมในเมืองไทยเมื่อปี 2539 ออกมาล่าสุดเคลื่อนไหวในตลาดเพื่อจะเข้าไปช่วงชิงกับคู่ปรับอย่างไอศกรีมวอลล์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นมีการเคลื่อนไหวในตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดตัวแคมเปญการตลาด ไอศกรีมเนสท์เล่ เอ็กซ์ตรีม ที่จับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น และจับกลุ่มเด็ก ด้วยแบรนด์เอสกิโม

ส่วนบทบาทของแบรนด์เนสท์เล่ ที่อยู่ในตลาดน้ำดื่มบรรจุขวด ภายใต้แบรนด์ เนสท์เล่ เพียวไลฟ์ นั้น จากข้อมูลส่วนแบ่งตลาดของตลาดรวมมูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาทในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา น้ำดื่มเนสท์เล่ มีส่วนแบ่ง 21-22% เป็นอันดับ2 รองจากน้ำดื่มสิงห์ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 27% ขณะที่การทำตลาดน้ำแร่ในประเทศ ภายใต้ แบรนด์มิเนเร่นั้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด

อย่างไรก็ การที่เนสท์เล่ มีจำนวนแบรนด์และหลากหลายประเภทสินค้าครอบคลุมทุกตลาด ถือว่าเป็นข้อจำกัดในการทำตลาด เพราะสินค้าบางประเภทอาจขายไปในช่องทางเดียวกัน แต่บางประเภทก็แยกทำตลาดกันอย่างสิ้นเชิง

นั่นเป็นเหตุผลทำให้เมื่อปี 2550 เนสท์เล่ ในเมืองไทย ได้ยกเลิกการทำตลาดสินค้ากลุ่มนมแช่เย็น และเครื่องดื่ม ทุกประเภทของเนสท์เล่ พร้อมทั้งขายกิจการให้บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศมาเลเซีย

เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทางด้านระบบการกระจายสินค้ากลุ่มแช่เย็นที่มีอายุสินค้าที่สั้น ทำให้ต้องแช่เย็นและต้องส่งสินค้าแบบรวดเร็วากปัญหาด้านระบบจัดจำหน่ายซึ่งเป็นสิ่งที่เนสท์เล่เคยเผชิญมาก่อนหน้านี้ จะเห็นได้จากการทำตลาด เมื่อ2 ปีที่ผ่านมา เนสกาแฟกระป๋อง ปรับระบบการตลาดและช่องทางการขายจากที่มีบริษัทไทยน้ำทิพย์ เป็นผู้ทำตลาด ปรับมาเป็นเนสท์เล่ทำตลาดเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.