|
กลต.ลั่นไม่เลื่อนเปิดเสรีค่าคอมฯ
ผู้จัดการรายวัน(20 ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
สำนักงานก.ล.ต. ยืนยันภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังแกร่ง หลังหารือร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ถึงผลกระทบจากวิกฤตการเงินที่ลุกลามทั่วโลก พร้อมกำชับให้โบรกเกอร์ดูแลทรัพย์สินลูกค้าให้รัดกุม หลังพบการทุจริตบ่อยครั้ง “ธีระชัย” เผยยังไม่เลื่อนกำหนดเปิดเสรีค่าคอมมิชชัน-ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตในปัจจุบัน เหตุโบรกเกอร์ยังมีเวลาปรับตัว
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึง ผลการประชุมระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. กับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ประจำไตรมาส 3 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงความสามารถของระบบควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์และฐานะของบริษัทหลักทรัพย์ที่จะรองรับความผันผวนของตลาดทุนอันเป็นผลจากภาวะวิกฤตการเงินทั่วโลก รวมทั้งการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าบริษัทหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ในที่ประชุมสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ได้รายงานว่า ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งมีฐานะที่แข็งแกร่ง มีเงินกองทุนที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำมาก รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้น) มีสัดส่วนน้อยมากและมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
พร้อมกันนี้ บริษัทหลักทรัพย์ยังให้ความสำคัญกับความเสี่ยง รวมทั้งดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อลูกค้า ต่อบริษัทหลักทรัพย์ และต่อระบบการซื้อขายโดยรวม ทำให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถดำเนินธุรกิจด้วยความมั่นใจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ สำนักงานก.ล.ต.เองได้ติดตามสถานการณ์และภาวะตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อนำมาประมวลภาพรวมกับข้อมูลที่ได้จากการติดตามฐานะและสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ของทั้งบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน ซึ่งยังไม่มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด
“ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวน โบรกเกอร์จะต้องให้ข้อมูลข่าวสารแก่ลูกค้าเพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ รวมทั้งให้คำแนะนำในการซื้อขายหลักทรัพย์แก่ลูกค้าด้วยความระมัดระวังเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม”
นอกจากนี้ สมาคมได้แจ้งว่าสมาคมได้จัดทำข้อความเตือนเรื่องหลักทรัพย์ที่มีอัตราการซื้อขายหมุนเวียนสูง (Turnover list) โดยในคำเตือนดังกล่าวจะระบุถึงรายชื่อและลักษณะของหลักทรัพย์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด และได้ซักซ้อมให้บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งนำไปเผยแพร่แก่ผู้ลงทุนตามช่องทางต่างๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์เหล่านี้
สำหรับเรื่องการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้านั้น สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่า บริษัทหลักทรัพย์ควรจะกำหนดมาตรการดูแลทรัพย์สินของลูกค้าที่ไม่มีความเคลื่อนไหวให้รัดกุมยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมามีผู้หาประโยชน์โดยการทุจริตทรัพย์สินของลูกค้าที่ไม่มีธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์เป็นเวลานาน เช่น ปลอมแปลงลายมือชื่อลูกค้า เพื่อขอเปลี่ยนแปลงที่อยู่และข้อมูลลูกค้า ก่อนที่จะขายหรือโอนหลักทรัพย์ของลูกค้าไปยังบัญชีของบุคคลอื่น ซึ่งทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย
ส่วนเรื่องการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) และการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์ ที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์เสนอให้พิจารณาเลื่อนออกไปก่อน นั้น นายธีระชัย กล่าวว่า สถานการณ์ในอนาคตน่าจะดีขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีแผนที่จะเลื่อนระยะเวลาประกาศใช้ออกไป แต่ช่วงนี้ควรเร่งหารือถึงแนวทางในการเตรียมความพร้อมของบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งในเรื่องของการลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ การพัฒนาสินค้าใหม่ ช่องทางการหารายได้รวมทั้งกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการเตรียมความพร้อม ซึ่ง ก.ล.ต. พร้อมที่จะรับฟังและแก้ไขกฎเกณฑ์ในทุกเรื่อง
“ที่ผ่านมาโบรกเกอร์เริ่มปรับตัวกันแล้วหลายราย โดยบางรายขายธุรกิจประเภทที่ไม่ชำนาญออกไปเพื่อเน้นธุรกิจด้านที่ตนเองชำนาญ หรือบางรายได้ควบรวมกิจการเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการทำธุรกิจและขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก.ล.ต. ยังสนับสนุนให้มีการพัฒนาสินค้าใหม่ เช่น TCR, Gold Futures, Stock Futures และ Derivative Warrants ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์”
นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะนี้บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการตรวจสอบระบบการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และการก่อหนี้ของลูกค้าอย่างเข้มงวด และได้มีการประสานงานให้ข้อมูลแก่สำนักงาน ก.ล.ต. อย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประมวลภาพรวมของทั้งระบบได้อย่างถูกต้อง
ขณะเดียวกันสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จะระดมความคิดเห็นของสมาชิกเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการเตรียมตัวสำหรับการเปิดเสรีใบอนุญาต รวมทั้งหาแนวทางที่จะลดต้นทุนในการทำธุรกิจเพื่อให้สามารถขยายธุรกิจได้ง่ายขึ้นและต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง ซึ่งจะทำให้การลงทุนและการระดมทุนในตลาดทุนน่าสนใจยิ่งขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|