ธ.ทหารไทยราคาB/Vลด46%หลังเพิ่มทุน


ผู้จัดการรายวัน(30 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติมั่นใจฐานะแบงก์ทหารไทยเข้มแข็ง หลังผู้ถือหุ้นเดิมใส่เงินเพิ่มทุน ขณะที่ บล.ธนชาติ คาดผู้หุ้นใหญ่ทหารไทยใส่เงินเพิ่มทุนครบ 1.5 หมื่นล้านบาท ที่เหลือต้องรอลุ้นจากรายย่อย หากแมลงเม่า ไม่เอาด้วย "กองทุนวายุภักษ์ 2" เสียบแน่ ชี้การเพิ่มทุนทำให้มูลค่าทางบัญชีลด 46% แต่มีเงินสำรองพอไถ่ถอนซูเปอร์แคป ด้าน ผลประกอบการปีนี้ขาดทุนแน่ เพราะตั้งสำรองก้อนโต

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยถึงการเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยว่า การที่ธนาคารทหารไทยมีแผนเพิ่มทุนที่ชัดเจน โดยไม่มีกลุ่มผู้ร่วมทุนจากต่างชาติเข้าร่วมด้วยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี หากแผนการเพิ่มทุนดำเนินการได้สำเร็จทันเดือนกันยายนจะส่งผลให้ธนาคารมีความเข้มแข็งขึ้น

"การเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทย จะทำด้วยวิธีไหนก็ได้ทั้งนั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวกระทรวงการคลังได้เข้ามาดำเนินการเพิ่มทุนทั้งหมด เป็นการให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ธปท.ไม่ได้ขัดข้อง จะเป็นวิธีใดก็ตามขอให้เพิ่มทุนให้ทันและมีเงินกองทุนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ"

สำหรับประเด็นที่จะมีการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ออกไป ส่งผลให้ธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง หรือ ANZ ไม่เข้าร่วมทุนกับธนาคารทหารไทยนั้น ไม่ถือว่าเป็นประเด็นหรือเป็นสาระอะไร ซึ่งขณะนี้ไม่ต้องมีการเจรจาอีกต่อไปแล้ว เพราะธนาคารมีแผนเพิ่มทุนที่ชัดเจน โดยไม่ต้องให้ต่างชาติเข้ามาร่วมทุน

ด้านนางสาวรัชนก ด่านดำรงรักษ์ นักวิเคราะห์ บล.ธนชาติ กล่าวถึงแผนการเพิ่มทุนธนาคารทหารไทยในอัตราส่วน 5:8 ที่ราคา 3.50 บาท ต้องการเงิน 2.24 หมื่นล้านบาท ภายในไตรมาส 3 นี้ หลัง ANZ ปฏิเสธนั้น สำหรับ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 4 อันดับแรกไม่น่ามีปัญหาในการใส่เงินเพิ่มรวม 1.5 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันธนาคารมีทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว 4,003 ล้านหุ้น (พาร์ 10 บาท) แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 2,011 ล้านหุ้น มีกองทัพทั้ง 3 เหล่า นายพานทองแท้ ชินวัตร และช่อง 5 เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 19.05%, 7.46% และ 6.82% ตามลำดับ ส่วนหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมด 1,992 ล้านหุ้นถือโดยกระทรวงการคลัง

แน่นอนว่าภาระหลักจะต้องตกอยู่ที่ผู้ถือหุ้น ใหญ่อย่างกระทรวงการคลังที่ต้องใส่เงินเพิ่ม กึ่งหนึ่งหรือ 1.12 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็น กองทัพทั้ง 3 หมู่เหล่ารวม 2.15 พันล้านบาท, นายพานทองแท้ 840 ล้านบาท และช่อง 5 อีก 769 ล้านบาท ที่เหลืออีก 7.51 พันล้านบาทต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากรายย่อย กำหนดขึ้น XR 6 ส.ค. ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 1 ก.ย. และจ่ายตังค์ 8-12 ก.ย. แต่ยังไม่มีคำแนะนำอย่างเป็นทางการเนื่องจาก NATSEC ทำดีลเพิ่มทุนครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี หากนักลงทุนรายย่อย 33% ไม่เอาด้วย คาดคลังดันวายุภักษ์เข้ามาเสียบ เพราะคาดว่าการจัดตั้งและการระดมทุนของ กองทุนวายุภักษ์จะเสร็จภายในเดือน ก.ย. นี้ โดยการลงทุนใน TMB สอดคล้องกับหลักการในเบื้องต้นของ "วายุภักษ์ 2"

ปัจจุบัน TMB สำรองฯต่ำสุดในระบบเพียง 27.6% ของ NPLs แต่หลังเพิ่มทุนโดยกันเงินส่วนหนึ่ง 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทไว้ตั้งสำรองฯ ส่งผลให้ Coverage ratio พุ่งขึ้นเกือบเท่าตัว เป็น 52% แต่ในเวลาเดียวกันผลของการเพิ่มทุนเพื่อไปตั้งสำรองฯก็ทำให้ BV ลดลง 46% เหลือ 2.16 บาท อีก 29% ที่เหลือเตรียมไว้ไถ่ถอน Super CAPS มูลค่า 1.33 หมื่นล้านบาทกลางปีหน้า หลังไถ่ คาดดำรง Tier 1 และ CAR ได้ 6.34% และ 9.88% ตามลำดับ 71% ของเงินเพิ่มทุนจะใช้ตั้งสำรองฯเพื่อเพิ่ม Coverage ratio เป็น 52% ทันทีที่ธนาคารได้เงินเพิ่มทุน มา 2.24 หมื่นล้านบาท จะจัดสรรก้อนใหญ่สุด 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทในการกันสำรองค่าเผื่อหนี้ สงสัยจะสูญ เพื่อเพิ่ม Coverage ratio โดยตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณตามตารางข้างล่างจะใช้ตัวเลขสูงสุดคือ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่งผล ให้ Coverage ratio ของ TMB ซึ่งปัจจุบันต่ำสุดในระบบที่ 27.6% ของ NPLs ขยับขึ้นมาเกือบเท่าตัวเป็น 52% (ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยแบงก์ใหญ่ที่ประมาณ 60%)

ผลการเพิ่มทุนเพื่อนำไปตั้งสำรองฯทำให้ราคาตามมูลค่าบัญชี (BV) ลดลง 46% เหลือ 2.16 บาท/หุ้น BV ล่าสุดของ TMB ณ สิ้น 2Q03 อยู่ที่ 4.03 บาท/หุ้น การเพิ่มทุน 6.4 พันล้านหุ้นที่ราคา 3.50 บาท ซึ่งต่ำกว่า BV ทำให้ BV เบื้องต้นหลังเพิ่มทุนลดลงเหลือ 3.70 บาท แต่เนื่องจาก 71% ของเม็ดเงินที่ได้จากการ เพิ่มทุนหรือ 1.6 หมื่นล้านบาท นำมาใช้ในการกัน สำรองฯซึ่งมีผลให้ธนาคารต้องขาดทุน ก็เสมือนกับว่าธนาคารได้เงินสุทธิจากการเพิ่มทุนเพียง 6,417 ล้านบาท ดังนั้น ราคา BV หลังเพิ่มทุนและตั้งสำรองฯแล้วจะเหลือเพียง 2.16 บาท/หุ้น ลดลง 46.2% จาก BV ปัจจุบัน

จัดสรรเงินเพิ่มทุนที่เหลืออีก 6.42 พันล้านบาท รองรับการไถ่ถอน Super CAPS กลางปีหน้า อีกหนึ่งวัตถุประสงค์หลักของการเพิ่มทุนในครั้งนี้ นอกเหนือจากตั้งสำรองฯ คือเพื่อเตรียมความพร้อมในการไถ่ถอน Super CAPS ในเดือน มิ.ย.ปีหน้า ปัจจุบันเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1) มีอยู่เพียง 2.35 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 7.59% ของสินทรัพย์เสี่ยง มีส่วนผสม ของ Super CAPS ที่นับเป็น Tier 1 อยู่ 9.96 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 42% ของ Tier 1

ดังนั้นหลังไถ่ถอนจะทำให้ Tier 1 ลดลงเหลือ 4.37% ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งต่ำกว่า 4.5% ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารที่ไถ่ถอน SLIPS/CAPS ต้องดำรง Tier 1 และ CAR ไม่ต่ำกว่า 4.5% และ 9% ตามลำดับ ดังนั้นเม็ดเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ ทำให้หลังไถ่ถอน Super CAPS ธนาคารจะสามารถดำรง Tier 1 ที่ 6.34% ของสินทรัพย์เสี่ยง ส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) อยู่ที่ 9.88%

ด้านผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าทหารไทย จะขาดทุนเพิ่มเป็น 1.54 หมื่นล้านบาท หลังนำเงินเพิ่มทุนมากันสำรองฯก้อนโต ก่อนหน้า นี้เราคาดว่าธนาคารจะตั้งสำรองฯเพียง 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ แต่การเปลี่ยนประมาณการในครั้งนี้สะท้อน 2 สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ 1) เพิ่มทุน 2.24 หมื่นล้านบาท โดยการออกหุ้นเพิ่มทุน 6.4 พันล้านหุ้น ซึ่งเราจะใช้เกณฑ์ fully diluted ในการคำนวณหา per share ratio และ 2) นำเงิน 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทที่ได้จากการเพิ่มทุนดังกล่าวมากันสำรองฯ เพื่อเพิ่ม Coverage ratio ให้เกิน 50% ส่วนตัวแปรอื่นให้คงเดิม ผลลัพธ์ที่ออกมาคือทำให้ธนาคารขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 9.29 พันล้านบาท เป็นขาดทุน 1.54 หมื่นล้านบาท (คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.48 บาท) ส่วนปีหน้าคาดพลิกเป็นมีกำไรสุทธิ 104 ล้านบาท (คิดเป็นกำไรต่อ 0.01 บาท/หุ้น)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.