|
พาณิชย์กลับลำลดเป้าส่งออกปี52เหลือแค่10%
ผู้จัดการรายวัน(15 ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
“พาณิชย์”กลับลำหดเป้าส่งออกปีหน้าเหลือโตแค่ 10% หลังก่อนหน้านี้ตั้งตัวเลขโอเว่อร์สูงถึง 15% ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโลกส่อแวววิกฤตลุกลามไปทั่วโลกจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯ เตรียมจับเข่าคุยเอกชนอีกครั้งปลายปีนี้กำหนดตัวเลขให้ชัด พร้อมทำแผนรักษาส่งออกตลาดหลัก และเพิ่มยอดส่งออกไปตลาดใหม่ ขณะที่เอกชนยังหวั่นหากวิกฤตการเมืองไม่จบ 6 มาตรการที่ออกมาก็ไม่มีผล เพราะความเชื่อมั่นไม่เกิด
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทำให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคในตลาดชะลอตัวลง และยอมรับว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงพาณิชย์จึงได้ปรับประมาณการเป้าหมายการส่งออกสินค้าไทยในปี 2552 จากเดิมที่เคยตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 15% ลงเหลือเพียง 10%
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคาดว่าการส่งออกในปีหน้าจะขยายตัวได้ 10-12% หรือมูลค่าเพิ่มจากปีนี้ที่คาดว่าจะส่งออกได้ 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15-20% เพิ่มเป็น 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐได้อย่างแน่นอน แม้ว่าเศรษฐกิจและการค้าในตลาดโลกจะชะลอตัวลง แต่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดทำแผนรองรับไว้แล้ว ทั้งการรักษาตลาดหลัก และเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดใหม่
ส่วนการที่รัฐบาลได้คาดว่าการส่งออกในปีหน้าจะขยายตัวได้เพียง 5% นั้น อาจคาดเคลื่อนจากเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงิน อาจจะชะลอตัวลงบ้าง แต่มั่นใจว่าไทยจะยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ โดยจะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจากการที่จีนและเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย มีปัญหาในด้านคุณภาพสินค้า ทำให้ไทยจะส่งออกไปทดแทนได้มากขึ้น แต่สินค้าเกษตร อาจจะมีปัญหาด้านราคาบ้าง เนื่องจากราคาอาจจะไม่ดีเท่ากับในปีนี้
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกปีหน้าอย่างเป็นทางการ กรมฯ จะมีการหารือกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ โดยจะมีการจัดทำเป้าหมายของแต่ละกลุ่มสินค้า เนื่องจากเป้าหมายที่กรมฯ มีอยู่เป็นเป้าหมายภาพรวมของการส่งออกทั้งหมด โดยมั่นใจว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10%
“ที่คณะรัฐมนตรีมี 6 มาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แล้วในนั้นกำหนดให้การส่งออกขยายตัวเพิ่ม 5% หรือเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาทนั้น เรามั่นใจว่าการส่งออกปีหน้าจะโตได้เกิน 10% หรือเพิ่มขึ้น 6 แสนล้านบาท”นายราเชนทร์กล่าว
ทั้งนี้ กรมฯ จะนำมาตรการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกที่รัฐบาลกำหนดออกมาในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งออกไปจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ ซึ่งรายละเอียดส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับแผนที่กรมฯ ดำเนินการอยู่แล้ว คือ การเน้นส่งเสริมการส่งออกไปตลาดใหม่และตลาดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงิน เช่น เอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง
ขณะเดียวกัน จะพยายามสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถทำธุรกิจระหว่างประเทศได้มากขึ้น แต่ยอมรับว่าวิกฤตการเงินโลกขณะนี้อาจกระทบต่อ SMEs ซึ่งกรมฯ จะกำหนดแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือ SMEs ตามมาตรกรช่วยเหลือของภาครัฐที่กำหนดออกมาแล้วต่อไป
ก่อนหน้านี้ นายไชยาได้ประกาศไว้ว่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2552 จะขยายตัวได้สูงถึง 15% โดยได้ย้ำว่าได้มีการประเมินวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และได้ลุกลามไปยังเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ไว้แล้ว พร้อมทั้งได้มีมาตรการรับมือไว้แล้วเช่นกัน เช่น การรักษาส่วนแบ่งตลาดหลักไว้ไม่ให้ลดลง และการเพิ่มยอดการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ แต่ล่าสุดได้มีการประกาศปรับตัวเลขลดลงเหลือเพียงแค่ 10%
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 6 มาตรการเพื่อรับมือวิกฤติการเงินโลกที่รัฐบาลประกาศออกมานั้น หลักการเป็นเรื่องที่ดี แต่เห็นว่าสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการเมืองภายในประเทศที่เกิดความวุ่นวายให้ได้เสียก่อน เพราะแม้จะมีกี่มาตรการออกมา หากการเมืองไม่นิ่งก็คงจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างก็สอบถามมาค่อนข้างมากถึงความปลอดภัยที่จะเข้ามาลงทุนเมืองไทย
“จะออกมาสักกี่มาตรการก็คงจะไร้ผลหากการเมืองภายในยังเป็นปัญหาเช่นปัจจุบันซึ่งรัฐบาลจะต้องแก้ไขเรื่องนี้ก่อนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแล้วเรื่องอื่นๆ จะตามมาเอง”นายวิบูลย์กล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า 6 มาตรการที่รัฐบาลออกมานั้นถือว่าดีกว่าไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลย แต่ยอมรับว่าปัญหาของไทยนั้นต้องเผชิญทั้งภาวะวิกฤติการเงินโลก และยังต้องเผชิญกับวิกฤติศรัทธารัฐบาลหรือวิกฤติการเมืองในประเทศซึ่งเห็นว่าความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ไขทั้งสองเรื่องด้วย
“คงจะต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากภาวะตลาดหุ้นนั้นค่อนข้างอ่อนไหวง่าย หากวิกฤติการเมืองไม่จบก็ยังไม่แน่ใจว่าเงินจะช่วยได้จริงหรือไม่เมื่อถึงเวลาแล้ว เช่นเดียวกับงบท่องเที่ยวซึ่งเห็นว่าถ้าการเมืองเป็นอย่างนี้คงไม่เป็นประโยชน์ควรนำไปใช้ปีหน้าจะดีกว่า ส่วนมาตรการดูแลสภาพคล่องของเอกชนนั้นต้องยอมรับว่ามาตรการที่จะเพิ่มสินเชื่อนั้นรัฐมีกลไกหรือเงื่อนไขใดๆ ที่จะดูแลให้ถึงมือผู้ประกอบการจริงหรือไม่โดยเฉพาะเอสเอ็มอีซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นชัดแล้วว่าแบงก์พาณิชย์ถึงเวลาก็ไม่ได้ปล่อยจริง”นายธนิตกล่าว
นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ ประธานกรรมการบริหารบริษัทเอกรัฐวิศวกรรม จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า 6 มาตรการรัฐที่จะรับมือวิกฤติการเงินโลกนั้นถือว่าหลักการดีแต่จะต้องดูว่าปฏิบัติได้หรือไม่หลายเรื่องเป็นเรื่องเดิมแต่ทางปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมาเองท้ายสุดก็ไม่เป็นรูปธรรมเช่น เมกะโปรเจกต์ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเนื่องจากปัญหาการเมืองยังไม่นิ่ง
“กำลังซื้อในประเทศลดลงอย่างนี้ทุกคนก็ประหยัดแรงซื้อมันลดลงอยู่แล้ว ต่างประเทศเองก็หดตัวด้วย ซึ่งมาตรการที่ออกมาคงต้องติดตามสักระยะหนึ่งว่าจะทันกับสถานการณ์หรือไม่อย่างไร เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากยากที่จะคาดเดา ซึ่ง 6 มาตรการที่ออกมาสิ่งหนึ่งที่ต้องการฝากรัฐบาลคือต้องการให้ถึงมือเอกชนจริงๆ อย่ามีคอร์รัปชั่นต้องโปร่งใสไม่เช่นนั้นจะเป็นการฟ้องร้องกันท้ายสุดการปฏิบัติก็ไม่เกิด”นายเกียรติพงษ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|