รัฐเข็น6มาตรการพยุงศก.-ธปท.ผวาดอลลาร์ล่องหน


ผู้จัดการรายวัน(14 ตุลาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ครม.สมชายดิ้นออก 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟุ้งวงเงินรวม 1.2 ล้านล้านรับมือวิกฤติการเงินโลก “โอฬาร” รู้เวลาเหลือน้อย บอกพร้อมลาออกหากมาตรการฯ ไม่ได้ผล ไล่บี้ทุกหน่วยงานทำตามเป้าหมาย ชง ครม.อนุมัติขยายวงเงินลดหย่อนภาษี RMF-LTF จาก 5 แสนเป็น 7 แสนบาท เข้าครม.วันนี้ ขณะที่แบงก์ชาติเผยสัญญาณร้ายตลาดล่วงหน้าไร้ธุรกรรมดอลลาร์ ต้องจับตาเป็นพิเศษ ห่วงผู้นำเข้า-ส่งออกต้นทุนพุ่ง

เช้าวานนี้ (13 ต.ค.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมด่วนรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ พร้อมด้วยผู้บริหารจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหามาตรการรองรับเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินสหรัฐ ใช้เวลาหารือกว่า 3 ชั่วโมง นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้กำหนด 6 มาตรการเพื่อรองรับวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้น พร้อมกำหนดเป้าหมายให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการเพื่อให้มีจำนวนเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 52 ให้ได้อย่างน้อย 1.2 ล้าน ๆ บาท เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างน้อยปีละ 4% โดยจะติดตามผลการดำเนินงานทุกเดือน

“หากทำไม่สำเร็จก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะตนเองในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็ขอลาออกทันที แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมืองที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วย เพราะหากการเมืองสะดุดก็ทำให้ทุกอย่างชะงักตามไปด้วย” นายโอฬารกล่าวและว่า 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการด้านตลาดทุน วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท ได้แก่ การขยายวงเงินการซื้อกองทุน RMF และ LTF จาก 5 แสน เป็น 7 แสนบาท การดึงกองทุนแมชชิ่งฟันด์ กองทุนภาคเอกชน และกองทุนต่าง ๆ รับมือการขายหุ้นของต่างชาติที่มีในไทย การจัดตั้งกองทุนโดยความร่วมมือของเอกชนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 2 พันล้านบาท และการจัดตั้งกองทุนแมชชิ่งฟันด์ ของ ตลท.กับสถาบันการเงิน รวม 1 หมื่นล้านบาท การส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ซื้อหุ้นคืน 3 หมื่นล้านบาท

2.มาตรการดูแลสภาพคล่อง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันสภาพคล่องในระบบมีเพียงพอประมาณ 1 ล้านล้านบาท และจะดูแลให้มีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจะพยายามให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 5% หรือ 4 แสนล้านบาท ส่วนธนาคารรัฐจะขยายสินเชื่อเพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาท

3.มาตรการเร่งรัดรายได้ส่งออกและการท่องเที่ยว เพื่อให้การส่งออกและท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% โดยให้การส่งออกทำรายได้เพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาท ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 6 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงพาณิชย์จะขยายตลาดที่ยังพอมีกำลังซื้อ โดยใช้ทีมไทยแลนด์ซึ่งมีผู้บริหารภาครัฐและเอกชนร่วมกันเจรจาการค้าการลงทุน 4.มาตรการสร้างเศรษฐกิจในประเทศ ด้วยการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยกระทรวงการคลังจะเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.8 แสนล้านบาท

5.มาตรการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนจาก 2.5 แสนล้าน เป็น 3.5 แสนล้านบาท โดยเร่งรัดลงทุนระบบรถไฟฟ้า 6 หมื่นล้านบาท การพัฒนาระบบขนส่งทั่วประเทศ 1 หมื่นล้านบาท และการลงทุนด้านพลังงานอีก 3 หมื่นล้านบาท และ 6.มาตรการประชาคมการเงินเอเชีย เพื่อความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในแถบอาเซียน โดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำอาเซียน โดยจะมีแนวทางหารือเจรจาการขยายความร่วมมืออาเซียน +6 เพื่อให้เป็นศตวรรษใหม่ของเอเชีย ด้วยการเสนอให้อาเซียนร่วมมือกับออสเตรเลีย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

นายโอฬารกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลและธนาคารกลางของสหรัฐและยุโรปได้เร่งเพิ่มเงินเพื่ออุ้มธนาคารขนาดใหญ่ที่กำลังมีปัญหา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนโดยจะไม่มีธนาคารขนาดใหญ่ปิดกิจการอีก น่าจะส่งผ่านมายังภาคธุรกิจในประเทศเอเชีย ซึ่งดูเหมือนว่าเหตุการณ์กำลังคลี่คลาย แต่รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงต้องเตรียมมาตรการรองรับล่วงหน้าไว้ก่อน รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ราคาหุ้นของธนาคารของสหรัฐและยุโรปที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วว่าดีขึ้นหรือไม่ หากไม่ดีขึ้นนั่นหมายความว่าเหตุการณ์กำลังเลวร้ายลงอีก

ขยายวงเงินลดหย่อน RMF-LTF เข้าครม.

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ลงนามเพื่ออนุมัติการขยายวงเงินลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุนอาร์เอ็มเอฟแล้ว โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (14 ต.ค.) ส่วนการลดหย่อนภาษียังอยู่ในอัตราเท่าเดิม คือไม่เกิน 15% ของรายได้ ส่วนการสูญเสียรายได้ของรัฐนั้นยังอยู่ในอัตราเดิมประมาณ 900 ล้านบาท/ปี แต่ฐานะการคลังในปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาจึงสามารถดำเนินการได้ และตั้งแต่ปีที่ผ่านมาคลังก็สามารถเก็บภาษีได้ 50,000 ล้านบาทแล้ว

ธปท.ยันสภาพคล่องท่วม

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งระเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการเข้าร่วมประชุมกับ ครม.ว่า รัฐบาลได้กำชับให้ธปท.เข้าไปดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินและสถาบันการเงินให้เพียงพอภายใต้ความผันผวนที่เกิดจากวิกฤตการเงินโลก ซึ่งธปท.ได้ยืนยันว่าในขณะนี้ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบมีเพียงพอและสามารถกระจายลงไปในภาคธุรกิจได้ทุกส่วน และให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อไปได้

“อัตราการขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ คือ 11% และเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ต้องการที่จะกระจายสินเชื่อไปยังลูกค้าให้มากที่สุด แต่ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ทำให้แบงก์ต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพราะต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่าสินเชื่อที่ปล่อยออกไปแล้วจะไม่กลับมาสร้างปัญหาภายหลัง ซึ่งจะมีผลต่อฐานะธนาคารนั้นๆ ด้วย”

ตลาดล่วงหน้าปิดหลังดอลลาร์หาย

นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) ธปท.ได้ประชุมร่วมกับฝ่ายบริหารเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยและธนาคารต่างชาติ เพื่อหารือถึงสถานการณ์การเงินโลกที่มีความผันผวนมากในขณะนี้จะมีผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยอย่างไรบ้าง โดยภายหลังการประชุม นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า ฝ่ายบริหารเงินของสถาบันการเงินต่างเริ่มเห็นสัญญาณที่ผิดปกติในตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Swap) ซึ่งเป็นผลจากสภาพคล่องเงินดอลลาร์ในต่างประเทศที่ลดลงอย่างรุนแรง ตั้งแต่เริ่มวิกฤตการเงินโลก เมื่อ1-2 เดือนที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมเงินบาทในตลาด Swap หรือ Implied Thai Baht Fix ปรับลดลงมาก นอกจากนั้นจำนวนธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าก็ปรับลดลงมาก

“เหตุผลที่อัตราดอกเบี้ยไทยบาท ปรับตัวลดลงเนื่องจากไปอิงกับอัตราดอกเบี้ยซื้อขายดออลาร์ล่วงหน้าในตลาดสิงค์โปร์ หรือตลาดลอนดอน ซึ่งสภาพคล่องดอลลาร์มีน้อย ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ไทย และต่างประเทศในไทยที่มีสภาพคล่องดอลลาร์ในมือ ก็ไม่อยากที่จะขายดอลลาร์ล่วงหน้า เพราะไม่แน่ใจว่า สภาพคล่องดอลลาร์ในตลาดโลกจะเป็นอย่างไร และไม่แน่ใจความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนฯ รวมทั้งต้นทุนการถือดอลลาร์ของแต่ละธนาคารก็แตกต่างกัน ทำให้ในตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า มีความต้องการขายบาทมากกว่าขายดอลลาร์ และน่าเป็นห่วงกว่านั้น คือไม่มีธุรกรรมเกิดขึ้นจริง แม้ว่าราคาดอลลาร์ล่วงหน้าจะสูงขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าสภาพคล่องเงินดอลลาร์ในตลาดการเงินไทยหายไป ในขณะนี้ทั้งสภาพคล่องเงินบาท และดอลลาร์ยังมีเพียงพอ และในตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศทันที (SPOT) หากมีความต้องการซื้อดอลลาร์ก็ยังมีขายในราคาดอกเบี้ยปกติ แต่เมื่อเป็นตลาดล่วงหน้าความไม่แน่นอนของตลาดเงินโลกที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เล่นรีรอไม่อยากทำธุรกรรม ทำให้เหมือนว่าตลาดปิด ทำให้มีความเป็นห่วงว่า หากในช่วงต่อไปผู้นำเข้า และส่งออกต้องการที่จะซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ผู้ส่งออกนำเข้าไทยอาจจะมีต้นทุนในการประกันความเสี่ยงสูงขึ้น ดังนั้น การแก้ไขปัญหาในขณะนี้คือ ธปท.จะเข้าไปพิจารณาการเข้าไปขายเงินดอลลาร์ล่วงหน้ามากขึ้น เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยไทยบาทไม่ผิดเพี้ยนจากต้นทุนที่แท้จริงมากนัก

นอกจากนั้น ยังมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างธปท. และสมาคมผู้ค้าเงินตราต่างประเทศว่าเมื่อ อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมในตลาดสิงค์โปร์ (Sibor) และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมในตลาดลอนดอน (Libor) อยู่ในอัตราที่ผิดเพี้ยน จากความต้องการเงินดอลลาร์ในตลาดโลกที่มากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือัตราดอกเบี้ยไทยบาทควรจะมาอิงกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (Bibor) แทนดอกเบี้ยกู้ยืมในต่างประเทศ เพราะจะสะท้อนต้นทุนการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในตลาดเงินไทยมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.