|
APFเมินวิกฤตลงทุนไทยต่อ
ผู้จัดการรายวัน(14 ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
"APF Group" ไม่สนภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกและการเมือง เดินหน้าเทคโอเวอร์กิจการนอน-แบงก์ และอสังหาริมทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ย้ำแหล่งเงินทุน ไร้ปัญหา พร้อมชูความได้เปรียบ หลังคู่แข่งสำคัญอย่างมอร์แกน สแตนย์เลย์ และโกลด์แมน แซกส์ เจอปัญหาสภาพคล่อง ส่วนต่างแดนเน้นทุ่มเงินเฉพาะในตลาดเอเชีย แย้มมีกว่า10โครงการที่รอสรุปดีล คาดเริ่มทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ธันวาคมนี้ ฟุ้งเงินทุนเหลือเฟือเหลือแค่คนขายตัดสินใจ พร้อมใส่เงินเพิ่มทุนในธุรกิจประกันภัยล็อตที่2ช่วงตุลาคม และดันบลจ.ยูไนเต็ดเจาะตลาดอาหรับ ดึงเศรษฐีเปอร์เซียลงทุนแดนสยาม ส่วนลีสซิ่งพอร์ตสินเชื่อโต60%
นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Asia Partnership Fund Group (APF Group) กล่าวถึงทิศทางการลงทุนในปี 2552 ว่า ยังมีนโยบายซื้อกิจการเพื่อการลงทุน โดยกลุ่มธุรกิจหลักๆ ยังสนใจอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) รวมไปถึงธุรกิจประเภทอื่นๆ ที่น่าสนใจ แต่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกลุ่มไหน จะเน้นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้น
"เรามองว่าประเทศไทยในภาพรวม ยังเป็นประเทศเกษตรกรรม ไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรมโดยหลัก ส่วนปัญหาการเมืองก็ไม่มีผลกระทบการลงทุนของเราแน่นอน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนของกลุ่ม ยังเชื่อมั่นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย ขณะเดียวกัน ยืนยันว่าแหล่งเงินทุนของผู้ร่วมทุนทุกราย ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยยังคงมองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมาดีที่สุด"
นอกจากนี้ ภาวะวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อคู่แข่งทางการลงทุนของกองทุน เช่น มอร์แกน สแตนย์เลย์ และโกลด์แมน แซกส์ ที่เกิดปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของกองทุน ในการเข้าลงทุนในแหล่งผลตอบแทนดีโดยปราศจากคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม จะไม่ลงทุนตามกระแสนิยมของโลก เช่น เวียดนาม และยืนยันว่าจะไม่เข้าไปซื้อหุ้นไทยที่ราคาตกลงในขณะนี้ เพราะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์และนโยบายของกองทุน
นายมิทซึจิกล่าวต่อว่า ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง มีแนวโน้มที่จะชะลอตัว ทำให้นักลงทุนหลายรายชะลอการลงทุน แต่สถานการณ์แบบนี้ทาง APF Group กลับมองว่าเป็นโอกาส ถ้าได้เป้าหมายที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงได้ทีมผู้บริหารที่สามารถเข้าไปดูแลธุรกิจให้ได้ผลตอบแทนที่ดี ก็จะเข้าไปลงทุน แต่ต้องสามารถSynergy ได้ดีกับกลุ่มบริษัทเดิมที่ได้เข้าไปลงทุนไว้ก่อนหน้าด้วยเช่นกัน
"เกี่ยวกับนอนแบงก์เราก็กำลังมอง มีการพูดคุยกันทั้งในประเทศไทย และในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งโดยหลักๆ แล้วเราเน้นในโซนเอเซียเป็นหลัก เพราะปัจจุบันมีนักลงทุนที่สนับสนุนด้านเงินทุนกับทางเอพีเอฟ กรุ๊ป มาแล้วมากกว่า 10 โปรเจกต์โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง 3-4 โครงการ ส่วนเรื่องเงินทุนเรามีความพร้อม”
สำหรับนโยบายการทำธุรกิจของ APF Group ที่ผ่านมา ทางกลุ่มยึดหลักวัฒนธรรมองค์กรที่มีวิธีคิดในทิศทางเดียวกัน คือ ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เช่น ยึดตามกฎ ตามมาตรฐาน ตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนอกจากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับแล้ว ยังมองถึงทิศทางการเติบโตในอนาคตว่าเป็นอย่างไร เพราะการลงทุนในแต่ละครั้งเป็นการลงทุนในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมา แต่ละธุรกิจที่ เข้าไปลงทุนได้เริ่มทำกำไรแล้ว บางธุรกิจทำกำไรได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น กรณีของ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตที่ดี
"โครงการที่เรากำลังเจราจา 3- 4 โปรเจกต์ บางโปรเจกต์อาจจะเกิดขึ้นเร็วมาก แต่ส่วนใหญ่แล้ว ช้าหรือเร็วจะขึ้นอยู่กับผู้ขาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทางกลุ่ม ซึ่ง บางดีลอาจจะจบภายในปีนี้ ส่วนในประเทศไทยจะเป็นนอนแบงก์ และ อสังหาริมทรัพย์แน่นอน”
ปัจจุบัน พอร์ตการลงทุนของ APF Group อยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ สัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยการเพิ่มขึ้นของพอร์ตการลงทุนนั้น นอกจากจำนวนสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนด้วย ไม่ใช่แค่การเพิ่มขึ้นจากการซื้อสินทรัพย์เพียงอย่างเดียว
ประกันภัยในเครือเตรียมเพิ่มทุนต.ค.
นายมิทซึจิ กล่าวถึง บริษัท เอพีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์ จำกัด หรือ APFII ซึ่งเป็นน้องใหม่ของกลุ่มว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กร และจะมีการเพิ่มทุนอีกครั้งภายในเดือนตุลาคมนี้จำนวน 50 ล้านบาท เพื่อเตรียมรองรับการขยายงาน และลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากยอดขายจะเพิ่มขึ้นช่วงปลายปี ซึ่งเงินทุนดังกล่าวน่าจะเพียงพอไปจนถึงประมาณมีนาคม 2552 ก่อนจะทำการเพิ่มทุนอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2552
"เรื่องของเงินทุน เราไม่มีปัญหาสำหรับ APFII เราพร้อมจะใส่เงินเพิ่มขึ้นหากต้องการ หลังจากการเพิ่มทุนครั้งนี้แล้ว ก็จะมาดูกันอีกครั้งว่า ปีหน้าจะต้องใช้เงินเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน ส่วนงานที่มาจากบริษัทในกลุ่ม ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ เอพีเอฟไอไอ มีลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงานด้านมอเตอร์เพิ่มขึ้นแน่นอน รวมทั้งก็ยังมีการพูดคุยกันในช่องทางทำการตลาดทางด้านอื่นๆ ด้วย"
มั่นบล. – บลจ.ยูไนเต็ตฉลุย
ส่วน บล.ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) หรือ US นอกจากเป็นผู้ดำเนินการทางด้านดีลต่างๆ ให้กับเอพีเอฟ กรุ๊ป แต่ในแง่การทำธุรกิจแล้ว จะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เน้นการบริหารจัดการที่ดีให้ประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า และผู้ถือหุ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาพรวมของบล.ยูไนเต็ดดีขึ้น โดยเฉพาะอัตราการเติบโต เช่นเดียวกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูไนเต็ด จำกัด หรือ UAM ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรในตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยเฉพาะตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดยได้เข้าไปเสนอช่องทางการลงทุนในประเทศไทยในลักษณะ Exclusive Service ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง หลังมีการทำสัญญากันแล้ว จะทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้น จะมีการขยายตัวได้อย่างมาก นอกจากนี้ทาง UAM ยังขยายฐานลูกค้าโดยเข้าบริหารพอร์ตการลงทุนให้กับบริษัทในกลุ่มด้วย เช่น APFII ด้วย
“การบริหารพอร์ตของธุรกิจประกันภัยของบลจ.ยูไนเต็ดนั้น ในระยะแรกจะเริ่มต้นที่ประมาณ 50-60 ล้านบาท เน้นการลงทุนระยะสั้น ที่ให้ผลตอบแทนดี เพราะธุรกิจประกันวินาศภัยจะต้องมีสภาพคล่องเพื่อการเคลมประกัน แตกต่างจากประกันชีวิตที่ต้องเน้นการลงทุนระยะยาว”
GLพอร์ตสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง
ขณะที่ในส่วนของ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อเติบโตกว่า 60% ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการได้อนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 275 ล้านบาท เป็น 399 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่ 124 ล้านบาท ออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 2 (GL-W1) จำนวน 24.30 ล้านหน่วย เพื่อขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น และออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 3 (GL-WB) จำนวน 5 แสนหน่วย เพื่อจัดสรรให้กับกรรมการและพนักงานของบริษัท รวมไปถึงการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อรองรับการใช้สิทธิของ GL-W1 และ GL-WB
"การออกหลักทรัพย์เพิ่ม เพื่อรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุน และนำเงินมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ เป็นการเพิ่มสภาพคล่อง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้โครงสร้างทางการเงิน ลดความเสี่ยงในระยะยาว ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจซึ่งคาดการณ์ได้ยาก หากสามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ และบริหารจัดการหนี้เสียให้อยู่ในระดับต่ำ ก็น่าจะพอรักษาระดับการเติบโตได้"
อสังหาฯ-บันเทิง-กีฬารอชัดเจนปลายปี
ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซีโวล่ารีสอร์ท ตั้งแต่เข้าซื้อกิจการเมื่อเดือนมีนาคม 2551 ผลประกอบการออกมากระแสเงินสดดีขึ้น มีการทำ Package ใหม่ๆ น่าสนใจ เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยว เช่น Package งานแต่งงาน ที่มีสนใจจำนวนมาก พูลวิลล่ากำลังจะแล้วเสร็จขณะนี้เริ่มออกโปรโมชั่นรองรับแล้ว ปีหน้าคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตมากขึ้น เพราะมีการวางแผนทำตลาดญี่ปุ่นเพิ่มเติม ขณะเดียวกันตลาดที่ ยุโรป อเมริกา ก็ยังเติบโตดี
ด้านความคืบหน้าของธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น เช่น บริษัท เว็ดจิ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งทำธุรกิจบันเทิงครบวงจร ก็มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร และมีแผนในการขยายธุรกิจในประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับค่ายเพลงรายใหญ่ รวมทั้งผู้ผลิตอนิเมชั่นในประเทศไทยอีกด้วย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้าทุกอย่างจะชัดเจนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน บริษัท โชวะ รับเบอร์ จำกัด ที่ทำเกี่ยวกับธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางพาราแบบครบวงจรรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น เร็วๆ นี้จะเข้ามาพูดคุยกับผู้ประกอบการสวนยางบางแห่ง โดยมี 2 แนวทาง เช่น อาจจะนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยเข้าไปที่ญี่ปุ่นมากขึ้น หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ อาจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะนี้ทุกอย่างอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุน และภาวะเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศด้วยเช่นกัน
สุดท้าย ธุรกิจกีฬา กลุ่มของซันวา อาทิ ซันวาเทนนิส อเคเดมี ซึ่งอยู่ที่สุขุมวิท 24 ขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างสนามใหม่ คาดว่าประมาณปลายเดือนธันวาคมนี้จะแล้วเสร็จ และจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ซึ่งธุรกิจนี้ถือเป็นธุรกิจแรกๆ ของกลุ่มเอพีเอฟ ในประเทศไทยที่ได้มาตรฐานระดับสากล และมีอัตราการเติบโตมาโดยตลอด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|