วิกฤตสหรัฐ-การเมืองถล่มหุ้นไทย


ผู้จัดการรายวัน(13 ตุลาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤตการเงินสหรัฐฯ ผสมโรงการเมืองในประเทศถล่มตลาดหุ้นไทยทรุดหนัก ตั้งแต่ต้นปีดัชนีวูบไปแล้ว 406 จุด หรือคิดเป็นกว่า 47% ขณะที่มูลค่าตลาดรวมหดเหลือ 3.63 ล้านล้านบาท ลดลงกว่า 3 ล้านล้านบาท ไปเกือบครึ่ง ด้านนายกสมาคมโบรกเกอร์ต่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติยังทิ้งหุ้นต่อ หลังไม่ทราบจุดต่ำสุดของปัญหาอยู่ที่ใด พร้อมประสานเสียงคนในวงการคาดการณ์ดัชนีไม่รูดหนักเท่าวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่อาการหนักว่าแบล็กมันเดย์ ขณะเดียวกันตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาลง ซบเซายาวนานอีก 2-3 ปี

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยถูกปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศรุมเร้าอย่างหนัก ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลงรุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยหลักเรื่องของวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงและลุกลามสู่ประเทศในแถบยุโรป ล้วนเป็นประเด็นหลักที่กดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง แม้ทางการของหลายๆ ประเทศประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน รวมถึงการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่กลับไม่สามารถช่วยอะไรได้

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเอง ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จากปัจจัยหลักๆ ดังกล่าวได้ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี ล่าสุดปิดที่ 451.96 จุด (10 ต.ค.) และทำให้มูลค่ารวมตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท เหลือแค่ 3.63 ล้านล้านบาท

หากเปรียบเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทย และมูลค่าตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ณ สิ้นปี 2550 ที่ดัชนีตลาดหุ้นปิดที่ 858.10 จุด มาร์เกตแคปอยู่ที่ 6.64 ล้านล้านบาท หรือดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง 406.14 จุด คิดเป็น 47.44% และมาร์เกตแคปลดลง 3.01 ล้านล้านบาท คิดเป็น 45.33% ตามลำดับ ขณะที่ยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศสูงกว่า 134,218.24 ล้านบาท

ลุ้นดัชนีตลาดหุ้นไม่หลุด420จุด

มล.ทองมกุฎ ทองใหญ่ ผู้บริหารฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ซิตี้ คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด และในฐานะนายกสมาคมโบรกเกอร์ต่างประเทศ กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐนั้นส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศต่างๆ ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความกังวลขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องจาก เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุน จากที่ไม่ทราบว่าปัญหาดังกล่าวจะจบเมื่อไร และมูลค่าเสียหายจะอยู่ที่เท่าไร

“ผมมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะไม่ปรับตัวลดลงไปต่ำกว่า 420 จุด เพราะตั้งแต่ต้นปีดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาจำนวนมาก แต่บริษัทจดทะเบียนไทยมีการเติบโตของกำไรสุทธิที่ดี หรือโตปีละประมาณ 4-5% บวกกับช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก จึงจะไม่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรง”

ทั้งนี้ หากปัจจัยทางการเมืองในประเทศสามารถคลี่คลายได้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตที่ดี และดึงความสนใจของนักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ รวมทั้งขณะนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดในภูมิภาค เมื่อนักลงทุนต่างประเทศมีการหยุดตกใจจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ แล้ว จะทำให้มีเม็ดเงินต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลรุนแรงทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเหลือ 200 จุด เหมือนช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 25540 แน่นอน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานบริษัทจดทะเบียนไทยในขณะนี้แข็งแกร่งกว่าเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัญหาในครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ครั้งนี้ผลกระทบมาจากปัจจัยต่างประเทศ

สำหรับการที่ดัชนีปรับตัวลดลงนั้น ส่วนตัวได้มีการเข้าไปซื้อกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) จากที่ได้รับผลประโยชน์ทางด้านภาษี และมองว่าในระยะยาวดัชนีตลาดหุ้นไทยจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ และเป็นการป้องกันตนเองว่าจะได้รับเงินคืน 30%

“ต่างชาติที่มีการขายหุ้นออกมาต่อเนื่องจาก จากตื่นตกใจจากปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันตนเองก่อนโดยต้องการถือเงินสดเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพราะเขาไม่รู้ว่าจุดต่ำสุดของปัญหาจะอยู่ตรงไหน แต่เชื่อว่านักลงทุนจะกลับเข้ามาซื้อแน่นอนจากปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทยดีกว่าในประเทศอื่นๆ และกำไรบจ.ก็เติบโตต่อเนื่อง”มล.ทองมกุฎ กล่าว

เชื่อยังเหนือกว่า 400 จุด

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บล.ทรีนีตี้ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) กล่าวว่า จากวัฏจักรการลงทุนในช่วง 10 ปีนั้น 7 ปี ดัชนีตลาดหุ้นจะดี และอีก 3 ปีนั้น ตลาดหุ้นจะไม่ดี ซึ่งทุกครั้งที่ดัชนีปรับตัวลดลงต่ำสุดนั้น แต่แต่ละครั้งนั้น จุดต่ำสุดจะเพิ่มขึ้นทุกครั้ง เนื่องจาก ธุรกิจหลักทรัพย์มีการเติบโตเพื่อขึ้นทุกปี ซึ่งวิกฤตการเงินในช่วงปี 2540 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอยู่ที่ 200 จุด แทนที่จะอยู่ที่ระดับ 300-400 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวิกฤตในรอบก่อนหน้านั้น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากปัญหาในประเทศไทย ทำให้ผลกระทบรุนแรง

“ปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ปัญหาเกิดจากในต่างประเทศ และเชื่อว่าจุดต่ำสุดของวิกฤตทุกครั้งนั้น จุดต่ำสุดที่ต้องสูงกว่าวิกฤตในก่อนหน้านั้น จึงคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้จะไม่ต่ำกว่า 400 จุด แน่นอน และการที่นักลงทุนต่างประเทศมีการขายหุ้นไทยออกไปต่อเนื่องนั้น ก็ไม่ได้มีการนำเงินออกนอกประเทศทันที แต่ต้องการขายให้ได้เงินเป็นจำนวนมากกว่าเพื่อประหยัดที่จะเสียภาษีเงินออก”

เบากว่าต้มยำกุ้ง-หนักกว่าแบล็กมันเดย์

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์ หลักทรัพย์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลงประมาณ 60% จากจุดสูงสุดที่ระดับ 924 จุด (ณ วันที่ 1 พ.ย. 2550) ซึ่งวิกฤตครั้งนี้รุนแรงกว่าวิกฤตแบล็กมันเดย์ในช่วงปี 2530 ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 52% แต่คงไม่ปรับตัวลดลงแรงถึงระดับ 80% ซึ่งดัชนีอยู่ที่ระดับ 200 จุด เหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 25540 แน่นอน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นต่างกัน ซึ่งปัญหาต้มยำกุ้งนั้นเกิดจากปัญหาภายในประเทศไทย แต่ปัญหาครั้งนี้นั้นเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ

“ส่วนตัวมองว่าจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเกิน 50% แต่จะเกินถึงระดับไหนนั้นยังตอบยาก แต่เชื่อว่าดัชนีจะไม่ปรับตัวลดลงถึง 80% เหมือนกับวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 40 แน่นอนที่ดัชนีเหลือระดับ 200 จุด จากปัจจัยพื้นฐานขณะนี้แข็งแรงกว่า และปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้เกิดในต่างประเทศ แต่ปัญหาที่เกิดในปี 40 นั้นเกิดจากปัญหาภายในประเทศไทยเอง ” นายสมบัติ กล่าว

มั่นใจพื้นฐานะตลาดหุ้นยังแข็งแกร่ง

ขณะที่นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่สามารถประเมินได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลงถึงระดับไหน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีการปรับตัวลดลงนั้นถือว่าปรับต้วลดลงมากมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะไม่รุนแรงเหมือนกับปี 2540 แน่นอน จากปัจจัยพื้นฐานในตลาดหุ้นไทยดี ดีกว่าในช่วงวิกฤตครั้งก่อน

คาดตลาดหุ้นซบเซาลากยาวอีก 2-3 ปี

นายชัย จีรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธการลงทุน บล. พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนได้ชะลอการลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อรอดูผลจากการแก้ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยทิศทางตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในช่วงขาลง และคาดว่าจะอยู่ในภาวะซบเซาต่อไปอีกถึง 2 ปี

นายพงศ์พันธุ์ อภิญญากุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. กิมเอ็ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังผันผวนจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ส่งผลโดยอ้อมต่อความมั่นใจของนักลงทุน หากมองในมุมกลับกันอาจจะส่งผลดีต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานอย่าง น้ำ, น้ำมัน, ไฟฟ้าและมองปัญหาที่เกิดขึ้นอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปี ถึงจะดีขึ้น ส่วนปัญหาการเมืองภายในประเทศ เริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดน้อยลง รวมมองว่าปัญหาน่าคลี่คลายในเร็วๆนี้

ส่วนกรณีที่นักวิเคราะห์บางรายออกมาพูดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทย จะลงไปแตะที่ระดับ 200 จุดนั้น คาดว่าไม่สามารถเป็นไปได้ เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่ศูนย์กลางของปัญหา รวมถึงมองว่าหุ้นที่น่าลงทุนจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูงอย่างหุ้นในกลุ่มบมจ. ปตท. หรือ PTT

นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บล. แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในช่วงขาลง และซบเซายาวนานอีก 2-3 ปี จากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นนักลงทุนจะต้องติดตามมาตรการการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ รวมถึงธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ออกมาจะช่วยบรรเทาวิกฤตที่เกิดขึ้นได้มากน้อยขนาดไหน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.