Final Accounting


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การล้มครืนของจรรยาบรรณและ Arthur Andersen

ชื่อของ Arthur Andersen กลายเป็นสิ่งที่มีความหมายเดียวกับการทำลายเอกสาร การตกแต่งบัญชี และการฉ้อฉลของบริษัทไปเสียแล้วอย่างน่าเสียดาย หลังจากบริษัทสอบบัญชียักษ์ใหญ่รายนี้ต้องล่มสลายลงเพราะการขาดความรับผิดชอบของบริษัทเอง หาใช่เพราะคนอื่นไม่ นี่คือข้อสรุปของ Barbara Ley Toffler อดีตหุ้นส่วนคนหนึ่งของ Arthur Andersen ผู้รับผิดชอบงานให้บริการที่ปรึกษาด้านความรับผิดชอบและจริยธรรมธุรกิจซึ่งเป็นบริการหนึ่งของ Arthur Andersen

Toffler ชี้ว่า การล่มสลายของ Arthur Andersen คือการฆ่าตัวตายเอง หาใช่เป็นเพราะล่มสลายตาม Enron ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทไม่ Enron เป็นเพียงฟางเส้นสุดท้ายเท่านั้นของบริษัทสอบบัญชียักษ์ใหญ่แห่งนี้ ที่มุ่งหวังแต่จะกอบโกยรายได้จากค่าธรรมเนียมให้มากๆ และแสวงหาอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยลืมเลือนเป้าหมายที่แท้จริงของบริษัท นั่นคือการปกป้องนักลงทุน

Arthur Andersen ก่อตั้งโดย Arthur Andersen ในปี 1913 ที่ชิคาโก ผู้ก่อตั้งคือ Andersen เป็นคนอเมริกันรุ่นแรกของประเทศ และเป็นนักบัญชีหนุ่มวัย 28 ผู้ภาคภูมิใจในจรรยาบรรณและความซื่อสัตย์ในฐานะนักบัญชีของตนยิ่งนัก Arthur Andersen เมื่อแรกก่อตั้งเป็นสถานที่ซึ่งการยืนหยัดในสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูกต้องเป็นคุณความดีอันมีค่า และเป็นองค์กรที่ยึดมั่นในการทำสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าทำสิ่งที่ง่าย Toffler และ Leonard Spacek ผู้สืบทอดของเขา ต่างยืนอยู่ข้างนักลงทุนเสมอ หวงแหนชื่อเสียงอันดีงามยิ่งชีวิต และกล้าคัดค้านการทำผิดมาตรฐานบัญชีและนโยบายที่ผิดพลาดทุกรูปแบบ

ยุครุ่งเรือง

หลังจาก Andersen เสียชีวิตในปี 1947 บริษัทยังคงเจริญรุ่งเรืองถึงขนาดกลายเป็นบริษัทบัญชีที่ได้รับการยกย่องนับถือสูงสุดในโลก รายได้กระโดดขึ้น 3 เท่าในช่วงปี 1947-1956 เป็น 18 ล้านดอลลาร์ ในปี 1963 รายได้พุ่งขึ้นเป็น 51 ล้านดอลลาร์จากสำนักงาน 55 แห่งใน 27 ประเทศ ในเวลานั้น Arthur Andersen ยังคงยึดมั่นในการปฏิเสธลูกค้ารายใหญ่ทว่าการทำบัญชีมีปัญหา รายได้จากทั่วโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 2.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 1988 แต่ในเดือนสิงหาคม 2002 Arthur Andersen ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม เนื่องมาจากกรณีการล่มสลายของ Enron และไม่อาจรับงานสอบบัญชีลูกค้าได้อีกต่อไป

Toffler ชี้ว่า วัฒนธรรม "Androids" ของ Arthur Andersen คือตัวการที่นำไปสู่ความหายนะของบริษัท Androids หมายถึงพนักงานใหม่ของ Andersen ที่ผ่านโปรแกรมการฝึกอบรมและพัฒนาของบริษัทอันเข้มงวดกวดขัน เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดลงไปในตัวพนักงานใหม่ทุกคนก่อนเริ่มทำงาน กฎเกณฑ์อันเคร่งครัดนี้จุกจิกไปถึงแม้กระทั่งวิธีการถือออร์เดิร์ฟที่ถูกต้องในงานเลี้ยงค็อกเทลด้วย วัฒนธรรมที่ควบคุมพนักงานไปทุกฝีก้าวเช่นนี้ ย่อมนำความหายนะมาสู่บริษัทเมื่อเกมธุรกิจเปลี่ยนทิศ และผู้นำเปลี่ยนทางในการทำธุรกิจ

Toffler ซึ่งเข้าร่วมกับ Andersen ในปี 1995 ต้องใช้เวลาถึง 4 ปีในการปรับตัวเข้ากับระบบการทำงาน จรรยาบรรณ และสภาพแวดล้อมภายในบริษัท ที่ล้วนอยู่ในสภาพยุ่งเหยิงสับสน สิ่งที่เธอเห็นคือบริษัทที่กำลังหลงทาง และมุ่งแต่จะหาเงินให้ได้มากๆ เป็นสรณะ เธอยังพบว่า การดำเนินธุรกิจอย่างแข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์ และการยอมรับการกระทำที่ไม่ถูกต้องเพียงเพราะว่า "ที่นี่เราทำกันแบบนี้มานานแล้ว" นั้นคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ผู้ชายผิวขาวเป็นใหญ่ โดยไม่มีชนส่วนน้อย ผู้หญิงหรือผู้ที่มิได้เป็นชาวอเมริกันเข้าร่วมอยู่ในฝ่ายบริหารระดับสูงสุดของบริษัทเลยแม้แต่คนเดียว

ความไม่ชอบมาพากลของ Enron

Toffler เล่าอย่างละเอียดถึงพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลของ Enron และการที่ Andersen ยังคงยอมรับ Enron เป็นลูกค้าต่อไปแม้จะมีพฤติกรรมการจัดทำงบการเงินที่น่าสงสัย ด้วยความละโมบในค่าธรรมเนียมก้อนโตจำนวนหลายล้านดอลลาร์ Andersen จึงยังคงรับรองงบการเงินของ Enron ต่อไป และสั่งย้ายทุกคนที่ไม่ยอมรับรองบัญชีของ Enron ออกไปไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับบัญชีของ Enron อีกต่อไป Toffler ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับการล้มละลายของ Enron และ WorldCom's (บริษัทยักษ์ใหญ่ที่อื้อฉาวอีกรายที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของ Andersen) และการทำลายเอกสาร อันนับเป็นการเล่าจากปากของคนวงในอย่างเธอ มิหนำซ้ำยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจรรยาบรรณการบริหาร ผู้เห็นการล่มสลายของ Andersen กับตา

สิ่งหนึ่งที่ Toffler เห็นว่าเป็นปัญหาคือ แม้ใครคนใดคนหนึ่งในองค์กรจะมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับวัฒนธรรมองค์กร แต่ก็ลำบากที่จะพูดเพราะไม่มีอำนาจอยู่ในมือ เธอจึงเห็นว่า ควรถือเป็นหน้าที่ของผู้นำและผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีอำนาจที่จะบันดาลความเปลี่ยนแปลง จะต้องคอยเฝ้าสังเกตปัญหาที่เกิดขึ้นกับวัฒนธรรมองค์กร และต้องลงมือแก้ไขอย่างทันท่วงทีก่อนที่ปัญหานั้นจะกัดกร่อนทำลายองค์กรไปในที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.