|
ปธ.สมาคมแบงก์วิตกการเมืองศก.ชะงัก-ลูกค้าแบงก์มีปัญหา
ผู้จัดการรายวัน(10 ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ประธานสมาคมแบงก์ห่วงการเมืองกระทบการลงทุนและการใช้จ่าย ย้ำเศรษฐกิจของไทยหยุดเดินมา 1-2 ปีแล้ว ส่วนผลกระทบต่อแบงก์เริ่มที่ลูกหนี้กลุ่มโรงแรม เผยจากการพูดคุยลูกค้ากรุงไทยตัวเลขยอดจองห้องพักเดือน พ.ย.หายเกือบหมด ด้านแบงก์กรุงไทยยันกำไรไตรมาส 3 ยังดี พร้อมสำรองCDO ครบ 100%
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ในขณะนี้รู้สึกค่อนข้างเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ที่ปัจจุบันยังไม่เห็นถึงทางออกว่าจะจบอย่างไรซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคการลงทุนและการใช้จ่าย และหากปัญหายังลากยาวต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี)ในปีหน้าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในปีนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากตอนนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลงไปมาก
อีกทั้งยังมีปัจจัยลบจากต่างประเทศที่เกิดวิกฤตทางการเงินเข้ามากระทบอีกทางหนึ่ง ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้ว่าตอนนี้จะได้รับผลกระทบน้อย แต่ในที่สุดก็คงจะต้องลามมาถึงแน่นอน แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อมาถึงแล้วจะมีความรุนแรงมากแค่ไหน และทุกฝ่ายต่างก็รู้ว่าในที่สุดแล้วผลกระทบจะมาถึงประเทศไทย แต่ทุกฝ่ายก็ยังไม่คิดวิธีที่จะดูแลประเทศร่วมกันเลย ทั้งนี้เศรษฐกิจของไทยหยุดเดินมา 1-2 ปีแล้ว ภาคการผลิตไม่ได้มีการลงทุนใหม่ แม้ว่ามีการใช้กำลังการผลิต 70-80 % ซึ่งการหยุดการลงทุนใหม่ จะทำให้กำลังการผลิตล้าหลัง ไม่สามารถแข่งขันได้
"เราค่อนข้างเป็นห่วงและพูดมาหลายครั้งแล้วว่าอยากให้ทุกอย่างสงบโดยเร็ว แต่นี้ก็ลากยาวมา 2 ปี ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ที่ทำเป็นการเมืองจริงๆ ไม่ใช่เหตุและผลและไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้น แต่กลับคิดว่าจะชนะทางการเมืองอย่างไร ทุกอย่างก็เสียหาย เศรษฐกิจประเทศก็เสียหาย แนวโน้มไม่รู้จบอย่างไร เอกชนก็อยากรู้ถ้าปล่อยให้มีเซอร์ไพร์สอย่างนี้ออกมาเรื่อยๆ การลงทุนการใช้จ่ายก็จะไม่เกิด และพอโลกเกิดปัญหาก็กระทบการส่งออกจีดีพีก็คงหาย จะพึ่งได้ก็แค่การใช้จ่ายภาครัฐแต่ก็ไม่รู้จะใช้ได้หรือเปล่า"
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก โดยลูกค้ากลุ่มโรงแรมที่ใช้สินเชื่อของธนาคาร ได้มีการพูดคุยกันบ้าง โดยขณะนี้ตัวเลขยอดจองห้องพักในเดือน พ.ย.นี้ หายเกือบหมด ส่วนเดือน ธ.ค.ยังไม่แน่ แต่ในขณะนี้ลูกค้าของธนาคารยังดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ ธนาคารยังไม่ต้องเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ แต่หากเริ่มมีปัญหาธนาคารก็พร้อมจะให้เข้าความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามหากปัญหาหาความขัดแย้งทางการเมืองลากยาว ประกอบกับเศรษฐกิจในต่างประเทศไม่ดี และมีปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศต่างเช่นนี้ การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ก็จะส่งผลให้กระทบธุรกิจท่องเที่ยว
“ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยถือว่ามีเสน่ห์ สามารถดึงนักท่องเที่ยวได้ เห็นได้จากในช่วงที่เกิดสินามิ มีการประเมินว่า ธุรกิจท่องเที่ยวจะต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้น แต่ความเป็นจริงใช้เวลาเพียง 1 ปีเศษก็ฟื้นทั้งหมด นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเหมือนเดิม เห็นได้จากยอดการจองโรงแรมที่ภูเก็ต”
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยมองว่าเป็นโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินต่างประเทศขาดสภาพคล่องทำให้ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ ดังนั้นบริษัทที่เคยกู้กับต่างประเทศจะหันมากู้กับธนาคารในประเทศมากขึ้นซึ่งธนาคารในประเทศเองก็ต้องมีการระดมเงินฝากไว้เพื่อเตรียมความพร้อมในการปล่อยสินเชื่อที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันแหล่งเงินทุนมาจากเงินฝากในประเทศเพียงอย่างเดียว หรือถ้าหากเป็นการออกหุ้นกู้จะต้องเป็นการออกหุ้นกู้ในประเทศเช่นกัน อย่างไรก็ตามในประเด็นดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการแย่งชิงลูกค้าเงินฝากได้
KTBยันกำไรไตรมาส3ยังไปได้ดี
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 3/2551 ธนาคารยังมีผลกำไรที่ดี แม้ว่าในไตรมาสนี้ธนาคารจะตั้งสำรองในการลงทุนตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (CDO) เพิ่มอีก 20% หลังจากไตรมาสที่ 2 ธนาคารได้ตั้งสำรอง 80% แล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันการตั้งสำรอง CDO ครบ 100% จากเงินลงทุน 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการตั้งสำรองดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อกำไรในไตรมาสที่ 3 อีกทั้งธนาคารได้กำไรจากเงินปันผลกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งเป็นปกติที่จะเข้ามาในไตรมาสที่ 3 ทุกปี ส่วนการปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มลดลงจากไตรมาสที่ 2 เนื่องจากธนาคารไม่ต่ออายุสินเชื่อหมุนเวียนที่ครบกำหนดให้กับบริษัทบางบริษัทที่มีความเสี่ยง ส่วน แนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) มีสัญญาณลดลง แม้ว่าจะยังทรงตัวจากไตรมาสที่ 2 แต่เนื่องจากมีการแข่งขันด้านเงินฝากจึงทำให้กระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว
อย่างไรก็ตามธนาคารยังคาดว่าปีนี้จะสามารถรักษา หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ไว้ที่ 8.9% แม้ว่าจะมีสัญญาณการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้ในส่วนที่ได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้เมื่อหลายปีที่แล้วและมีบางส่วนที่จะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ แต่มองว่าผลจากปัญหาดังกล่าวน่าจะเริ่มเห็นในอีก 6 เดือนถึงหนึ่งปี
"เราไม่ได้ปรับเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อให้เข้มกว่าเดิมเพราะเราเป็นแบงก์รัฐ แต่ในภาวะแบบนี้ลูกค้าที่เข้าเงื่อนไขน้อยลง และลูกค้าเอสเอ็มอีก็มีแนวโน้วลดน้อยลงเยอะ ลูกค้าบางกลุ่มก็เริ่มทบทวนการลงทุนว่าจะลงทุนเพิ่มดีหรือไม่ ส่วนลูกค้าส่งออกต้นปีดีมาก ตอนนี้ก็ยังดีอยู่ แต่แนวโน้มเริ่มชะลอ"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|