|
CPF เล็งลงทุนหมูครบวงจร‘จีน-รัสเซีย’จ่อคิว-ยึดรูปแบบแปดริ้ว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
CPF เปิดโรงงานต้นแบบ “แปดริ้ว” โชว์ไลน์การผลิตทั้งคุณภาพ-มาตรฐานจนถึงมือผู้บริโภค เผยส่งออก “เนื้อหมูสด” ได้แค่ประเทศเดียวคือฮ่องกง เล็ง2ยักษ์ใหญ่ “จีน-รัสเซีย”ผุดโรงงานครบวงจรตั้งแต่เชือดจนถึงแปรรูป ขณะที่ “บอสใหญ่”CPF ฟันธงมีนี้ยอดขายทะลัก 1.5 แสนล้านบาทและยังขยายตัวถึงไตรมาส 2 ปีหน้า
หากจะพูดถึงธุรกิจอาหารในบ้านเราแน่นอนต้องมีชื่อบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ ที่รู้จักกันในนาม CPF ซึ่งมีสินค้าที่จำหน่ายในแบบแปรรูปละไม่แปรรูปในผลิต 6 ชนิดด้วยกันคือ ไก่,หมู,กุ้ง,ปลา,เป็ด และ ไข่ไก่ ซึ่งนอกจากจะจำหน่ายในประเทศแล้วยังส่งออกไปขายในต่างประเทศกว่า 21 ประเทศทั่วโลก โดย CPF มีเป้าหมายที่จะยกระดับตัวเองให้เป็น “ครัวของโลก” ในอนาคตขณะเดียวกันในปีนี้ “บอสใหญ่” ของ CPF ก็ฟันธงออกมาแล้วว่าจะมียอดขายรวมทุกธุรกิจทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาทและธุรกิจยังจะโตต่อเนื่องถึงโตรมาส 2 ของปี 2552 โน่นเลย
อย่างไรก็ดีหนึ่งในธุรกิจของ CPF ที่เป็นธุรกิจหลักคือธุรกิจหมูครบวงจรเริ่มตั้งแต่เลี้ยงในฟาร์ม จนถึงมือผู้บริโภคด้วยมาตรฐานระดับโลกซึ่งมีจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ และเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่กำลังจะผลักดันสู่นอกประเทศทั้งในจีนและรัสเซียแบบวงจรในอนาคต
‘โมเดล’โรงงานต้นแบบ
“นารายณ์ ฉิมมิ” รองกรรมการผู้จัดการด้านธุรกิจโรงงานแปรรูปสุกร บริษัท กรุงเทพผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CPF กล่าวถึงโรงงานต้นแบบว่า โรงงานแห่งนี้ลงทุนก่อสร้างด้วยมูลค่า 700 ล้านบาท โดยโรงงานแห่งนี้ถือเป็นต้นแบบโรงงานแปรรูปเนื้อสุกร ที่มีการคัดสายพันธ์และรับจากฟาร์มของ CPเอง 90% และจากฟาร์มอื่นเพียง 10% ที่ต้องผ่านการรับรองจากสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ แล้วนำสุกรส่งไปโรงชำแหละมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ หลังจากนั้นนำเนื้อหมูเข้ามายังโรงงานแปรรูปเพื่อลดอุณหภูมิเนื้อสุกรให้เย็นลงที่ 4 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงตัดแต่งชิ้นส่วนภายในห้องควบคุมความเย็นสม่ำเสมอตลอดเวลาโดยเนื้อสุกรจะไม่สัมผัสพื้นและมือโดยตรงตลอดกระบวนการ
ทั้งนี้ก่อนบรรจุสำเร็จจากโรงงานจะถูกเก็บรักษาในรูปแบบ Chill ที่ 0-4 องศาเซลเซียสและแบบ Frozen ภายใต้ขบวนการที่ทำให้อุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส เพื่อให้แกนเนื้อของสุกรมีอุณหภูมิที่ -18 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ทำให้เนื้อสุกรยังมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และยังสามารถรักษาความสดได้ 100%
ขณะที่วิธีการขนส่งจะบรรทุกด้วยรถห้องเย็นควบคุมอุณภูมิตลอดเวลาเพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนก่อนถึงมือผู้บริโภค
“สด-สะอาด”จนถึงมือผู้บริโภค
สำหรับโรงงานแห่งนี้ได้สร้างเมื่อ 5 ปีที่แล้วแต่โรงงานยังไม่มีกำไรเพราะต้องแบกรับการผลิตมีต้นทุนสูงและยังมีการพัฒนารูปแบบสินค้าตลอดเวลาในโรงงานแห่งนี้โดยในปี 2550 มียอดขายทั้งสิ้น 2,700ล้านบาทโดยมีกำลังการผลิตที่ 1,300ตัว/วัน, ปี 2551คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านบาทด้วยยอดกำลังการผลิตที่ 1,450 ตัว/วัน, ปี 2552 คาดว่าจะมีกำลังการผลิตที่ 1,600ตัว/วันและมียอดจายที่ 3,500 ล้านบาท และ ในปี 2553 โรงงานแห่งนี้จะเริ่มคุ้มทุนเพราะจะผลิตได้เต็มกำลังคือ 1,800ตัว/วันและมียอดขายเพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท
โดยผลิตภัณฑ์ในโรงงานแห่งนี้จะส่งออกไปประเทศฮ่องกง 15% และอีก 85% จะใช้ในประเทศ โดยแบ่งเป็น 50% ส่งให้บริษัทในเครือCP นำไปผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกอื่นๆ 35% ที่เหลือวางขายในโมเดิร์นเทรดยังแบ่งได้เป็นหมูสดอนามัยตรา CP จะวางขายที่ ท็อป, เทสโก้ โลตัส, คาร์ฟูร์, บิ๊กซี, ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น ขณะเดียวกันยังส่งตามร้านอาหารที่สั่งพิเศษ เช่น เอ็มเคสุกี้ โออิชิ ส่วนผลิตภัณฑ์เนื้อหมูสำเร็จรูป 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ขาหมูพะโล้, ซี่โครงหมูตุ๋นเยื่อไผ่,ขาหมูตุ๋นเห็ดหอม, ซี่โครงหมูตุ๋นเยื่อไผ่ และ ซี่โครงหมูตุ๋นยาจีน จะมีจำหน่ายที่ CPเฟรชมาร์ท ทุกสาขา
นอกจากนี้แล้วเพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจทางCPF ยังได้นำเทคโนโลยีระบบการตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์ว่ามาจากที่ใด เพียงแค่นำรหัสสินค้าไปตรวจสอบอินเตอร์เน็ต หรือผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเลขชุดการผลิตทำให้มั่นใจสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทุกชนิดรายการที่ออกวางสู่ตลาด
“จีน”พร้อมที่สุดลุยครบวงจร
อย่างไรก็ดีเพราะการส่งออกเนื้อหมูสดไปต่างประเทศมีข้อกีดกันจำนวนมากซึ่งตอนนี้CPF ส่งออกได้เพียงประเทศเดียวคือฮ่องกง โดยขณะนี้CPF มีฟาร์มเลี้ยงเลี้ยงหมูใน 2 ประเทศยักษ์ใหญ่คือจีนและรัสเซียซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีประชากรในประเทศจำนวนมากซึ่งโรงงานต้นแบบแห่งนี้จะเป็นแบบอย่างมีการผลิตตั้งแต่การเชือดจนถึงขั้นตอนการแปรรูปในประเทศนั้น
“ประเทศที่น่าจะมีความพร้อมมากที่สุดคือจีน เพราะCPF มีฟาร์มหมูอยู่ในหลายมณฑล อาทิ หนานหนิง หูเป่ย แต่ยังต้องพัฒนาในด้านคุณภาพและมาตรฐานอีกสักระยะ ทั้งสภาพภูมิศาสตร์ที่หนาวจัดที่ต้องลงทุนมากกว่าฟาร์มที่เมืองไทย และ เรื่องเทคนิคยังเป็นปัญหา แต่เชื่อว่าหากCPF ไปลงทุนในต่างประเทศจีนน่าจะมีความพร้อมมากที่สุด”รองกรรมการผู้จัดการด้านธุรกิจโรงงานแปรรูปสุกร กล่าวยืนยัน
“รัสเซีย”อีกหนึ่งความหวังในยุโรป
ขณะที่การลงทุนจากรัสเซียก็ไม่ได้ละเลย “อดิเรก ศรีประทักษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เผยถึงธุรกิจในต่างประเทศว่า CPF กำลังจะเปิดดำเนินกิจการโรงงานอาหารสัตว์และฟาร์มเลี้ยงสุกรที่ทันสมัยที่สุดในโลกในประเทศรัสเซียในเร็วๆนี้ ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มสดใสดีมาก เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศที่ขาดแคลนอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ ขณะที่ชาวรัสเซียนิยมบริโภคเนื้อสุกรอย่างมาก ถึงขนาดเป็นผู้นำเข้าเนื้อสุกรอันดับต้นๆ ของโลก
“ขณะรายได้ในครึ่งปีหลังที่จะเป็นไปตามเป้าหมายด้วยยอดขาย 150,000 ล้านบาท และจะสดใสต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปี 2009 ด้วย”
แน่ละการลงทุนธุรกิจในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายๆยิ่งการบุกเบิกด้วยแล้วยิ่งยากเป็น 2 เท่าและยังต้องคำถึงการขาดทุนและกำไรไปพร้อมๆกันแต่หากสามารถปักธงได้กำไรก็คุณ 2 เช่นกันอยู่ที่ว่าจะกล้าลงทุนจริงจังสักกี่มากน้อย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|