หุ้นโคม่าสังเวยรัฐบาลทมิฬ ซ้ำเติมวิกฤตการเงินสหรัฐฯ โบรกหวั่นดัชนีหลุด500จุด


ผู้จัดการรายวัน(8 ตุลาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่กลียุค เจอพิษการเมืองป่วนหนัก หลังตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจำนวนมาก ซ้ำเติมวิกฤตสถาบันการเงินที่ลุกลามทั่วโลก กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นรูดหนักกว่าตลาดเอเชีย ปิดที่ 528.71 จุด วูบกว่า 23 จุด หรือ 4.18% ขณะที่ ปตท. ราคาหลุด 200 บาทแล้ว ด้านบล.กิมเอ็งฯ ประเมินหุ้นอาจหลุด 500 จุด หลังหั่นเป้าปีนี้เหลือแค่ 700 จุด ส่วนโบรกเกอร์ ประสานเสียงเตือนนักลงทุนให้ถือหุ้นเงิน จับตาปัจจัยเสี่ยงการเมืองปะทุ-วิกฤตการเงินโลก

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (7 ต.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นยังคงปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงต่อเนื่องจากวันก่อน ซึ่งเป็นไปตามตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ลุกลามขยายวงกว้างสู่ยุโรป บวกกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้มีประชาชนเสียชีวิต และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตั้งแต่เปิดการซื้อขายในช่วงเช้า โดยมีจุดสูงสุดที่ 546.36 จุด หลังจากนั้นได้มีแรงเทขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ดัชนีรูดลงอย่างหนัก และแตะระดับต่ำสุดที่ 527.70 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 528.71 จุด ลดลง 23.09 จุด คิดเป็น 4.18% มูลค่าการซื้อขายรวม 16,313.45 ล้านบาท

สำหรับหลักทรัพย์ที่การซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก้หุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงาน คือ บมจ. บ้านปู (BANPU) ที่ราคาลดลงมากสุดถึง 32 บาท หรือ 12.60% ราคาปิดที่ 222 บาท มูลค่าการซื้อขาย 1,948.26 ล้านบาท บมจ.ปตท. (PTT) ราคาปิด 195 บาท ลดลง 7 บาท หรือ 3.47% มูลค่า 1,892.07 ล้านบาท และบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTT) ปิดที่ 106 บาท ลดลง 4 บาท หรือ 3.64% มูลค่า 1,453.17 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศยังเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดขายสุทธิ 803.99 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 737.83 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,541.82 ล้านบาท

ปลอบต่างชาติไม่สนการเมืองร้อน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคจากได้รับผลกระทบจากปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ลุกลามไปยังยุโรป ทำให้ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกช่วงนี้มีความผันผวนสูง

ทั้งนี้ หากประเมินด้านความมั่นคงภายในประเทศเรื่องปัจจัยเศรษฐกิจนั้น ประเทศในเอเชียยังมีการเติบโตที่ดี จากการใช้จ่ายภายในประเทศ ทำให้เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยและในแถบนี้จะสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ซึ่งอยู่ในช่วงปรับฐานเช่นเดียวกัน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศกรณีเหตุการณ์ปะทะระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้าสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภานั้น ยังไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างประเทศมีความกังวลมาก และเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะสามารถคลี่คลายและหาทางประนีประนอมได้

“ปัญหาในประเทศยังไม่ได้ส่งผลต่อตลาดหุ้นมากนัก นักลงทุนหวังว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้ และยังไม่ต้องการให้ประเมินถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายถึงขั้นยุบสภาหรือเกิดการปฏิวัติ เพราะแม้จะมีมาตรการในการสลายการชุมนุมทำให้ตลาดตกใจอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าปัจจัยภายในประเทศจะมีประนีประนอมอยู่ได้”

นายธีระชัย กล่าวว่า นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดเล็กช่วงนี้ตะต้องมีความระมัดระวัง เพราะราคาหุ้นจะมีความผันผวนหรือเคลื่อนไหวสูง ขณะที่ประเด็นที่นักลงทุนถูกบังคับขายหุ้น (ฟอร์ตเซล) จะไม่ส่งผลรุนแรงมากนัก และกระทบต่อฐานะทางการเงินของโบรกเกอร์ในการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการปรับเพิ่มวงเงินการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันมากขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว

“ส่วนตัวผมยังมั่นใจว่าฐานะทางการเงินของโบรกเกอร์ไทยยังแข็งแรง จากมีสินทรัพย์ต่อทุนที่ต่ำ และเชื่อว่ายังไม่มีโบรกเกอร์ไหนที่ได้รับความเสียหายจนต้องปิดกิจการ แม้ขณะนี้ผมจะเดินทางไปประชุมอยู่ที่ดูไบ แต่สำนักงาน ก.ล.ต. จะมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด”

กิมเอ็งฯ ชี้ดัชนีหุ้นไทยหลุด 500 จุด

นางมยุรี โชติวิกรานต์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ค่อนข้างผันผวนในลักษณะที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่เปิดตลาด เกิดจากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ลุกลามไปสู่ยุโรป ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปแผนในการดูแลปัญหาดังกล่าว บวกกับปัจจัยการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่รัฐสภา

“แรงขายเกิดจากนักลงทุนตื่นตระหนกกับปัญหาวิกฤตสถาบันการเงิน บวกกับตลาดหุ้นไทยเองยังต้องเจอปัจจัยการเมืองที่ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยแย่หนักไปอีก ซึ่งเกิดจากอารมณ์ของนักลงทุน ไม่ใช้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นหรือบริษัทจดทะเบียนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี”

ทั้งนี้ บล.กิมเอ็ง ได้ปรับลดประมาณการดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 2551 เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยปรับลดดัชนีเหลือ 700 จุด จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 850 จุด แต่จากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินและการเมืองที่ร้อนแรงคงเป็นไปได้ยากที่ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงระดับ 700 จุด

ขณะเดียวกัน จากการที่บริษัทประเมินว่าดัชนีดาวโจนส์จะปรับลดลงเหลือ 9,000 จุด ซึ่งลดลงอีก 10%จากขณะนี้ที่อยู่ 9,900 จุด อาจจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่ำกว่า 500 จุด ได้ รวมทั้งนักลงทุนต่างประเทศยังคงเทขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงมีเงินซื้อสุทธิคงเหลือในตลาดหุ้นไทยอีกประมาณ 90,000 ล้านบาท จากการซื้อสะสมมาตั้งแต่ปี 2549

แนะถือเงินสด-หุ้นรูดยาวต่อ

นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงหนักกว่าตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับตัวลดลงที่ระดับ 3% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกว่า 4% เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ ทำให้นักลงทุนต่างกังวลว่าปัญหาดังกล่าวจะบานปลาย รวมทั้งยังต้องเผชิญปัญหาเรื่องการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก และปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินที่สภาพคล่องทางการเงินตึงตัวไปทั่วโลก

ขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าจะยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่หากมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจะมีแรงเทขายทำกำไรจากนักลงทุน ดังนั้นนักลงทุนควรชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนก่อน โดยมีแนวรับที่ระดับที่ 500-510 จุด และแนวต้านระดับ 550-570 จุด

นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้เหตุการณ์บานปลาย ผสมโรงกับปัจจัยต่างประเทศเรื่องวิกฤตสถาบันการเงินที่ลุกลามสู่ยุโรปยังไม่คลี่คลาย

“ตลาดหุ้นไทยวันนี้คาดว่าจะยังคงผันผวน โดยให้จับตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศว่าจะจบลงเมื่อใด ดังนั้นนักลงทุนควรถือเงินสด งดการลงทุน ให้แนวรับไว้ที่ 510 จุด และแนวต้านที่ 540 จุด” นายรณกฤต กล่าว

นางสาวจิตติมา อังสุวรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟาร์อีส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้รับแรงกดดันจากความรุนแรงทางการเมืองที่เข้ามาสมทบกับปัจจัยเรื่องวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่ลุกลามสู่ยุโรป ขณะที่แนวโน้มวันนี้ยังคงผันผวนตามสถานการณ์การเมืองและวิกฤตการเงินโลก โดยมีแนวนับที่ 510-520 จุด และแนวต้านที่ 536 จุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.