สถาปัตยกรรมที่งามสง่าหลังนี้ ในอดีตเมื่อสมัยเกือบ 100 ปีมาแล้ว
เคยเป็นห้างสรรพสินค้าของเอกชน ก่อนกลายมาเป็นที่ทำการของรัฐบาล
และปัจจุบันคือ อาคารพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตัวอาคารตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาจะมองเห็นได้ชัดเจน
แต่น้อยคนนักที่เคยเข้าไปเยี่ยมเยือน ทั้งๆ ที่เพียงแค่งานสถาปัตยกรรมภายนอก
ซึ่งสวยงามแปลกตาด้วยอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกรูปแบบนีโอคลาสสิกแล้ว ภายในยังเป็นพิพิธภัณฑ์
เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยองค์หนึ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย
นอกจากเป็นศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ความรู้ด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และยังมีห้องจัดเก็บเอกสารและจดหมายเหตุให้บริการในการศึกษาวิจัย
และมีบริการสารสนเทศครบสมบูรณ์ตามมาตรฐานสากล ตลอดทั้งปียังมีนิทรรศการหมุนเวียน
ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ศิลปวัฒนธรรมในรัชสมัย
และวิวัฒนาการการเมืองการปกครองของไทย
ย้อนหลังกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้างยอนแซมป์สัน
แอนด์ซัน ซึ่งเป็นสาขาร้านจำหน่ายผ้าตัดเสื้อ รองเท้า รวมทั้งอานม้าที่มีชื่อเสียงในย่านบอนด์สตรีท
กรุงลอนดอน ได้ขยายสาขามาตั้งในเมืองไทย ตามคำชักชวนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปี พ.ศ. 2441 โดยทางห้างได้เช่าตึกแถวตรงถนนพระสเมรุเป็นที่ทำการแห่งแรก
ในปี พ.ศ.2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้ให้กรมพระคลังข้างที่
ลงทุนก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่บนพื้นที่ 1,008 ตารางวา เชิงสะพาน ผ่านฟ้า เป็นผลงานการออกแบบของ
ชาร์ล เบเกอแลง สถาปนิกชาวฝรั่งเศส-สวิส ลักษณะอาคารเป็นตึก 3 ชั้น หันหน้าอาคารไปยังถนนราชดำเนินกลาง
แล้วต่อปีกทอดยาวออกไปสองข้างตามแนวถนนหลานหลวง และถนนดำรงรักษ์ อาคารที่แม้มีรูปทรงแบบฝรั่งเหมือน
อาคารอื่นที่สร้างในยุคเดียวกัน แต่เมื่อสร้างล้อไปกับแนวถนน จึงดูแปลกตาไม่เป็นเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมธรรมดา
มีหอคอยยอดโดม ตกแต่งลวดลายปูนปั้นแบบ กรีก-โรมัน ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2455
ใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี นับว่าเป็นห้างเดียวที่อยู่บนถนนราชดำเนินนอก ซึ่งก่อนหน้านั้นโปรดให้เป็นที่ตั้งของวังเจ้านาย
และสถานที่ราชการเท่านั้น
ต่อมา ทางหลวงไมตรีวานิช (เฉลิม ยอดมณี) ได้เช่าต่อเป็นที่ทำการของห้างสุธาดิลก
จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและสุขภัณฑ์สมัยใหม่ โดยที่สัญญาเช่าได้หมดลงเมื่อวันที่
30 กันยายน พ.ศ.2475
ปี พ.ศ.2476 กรมโยธาธิการ (กรมนครภิบาล) ได้ขอเช่าเป็นที่ทำการของกรมฯ
ในปี 2538 กรมศิลปากร จึงได้ขึ้นทะเบียน และกำหนดที่ดินและอาคารเป็นพื้นที่
โบราณสถาน
กรมโยธาธิการได้เช่าอาคารหลังนี้ต่อจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
จนถึงปี พ.ศ.2545 จึงได้มอบสิทธิการเช่าให้สถาบันพระปกเกล้า และตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2545