อนาคตของเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ในฐานะผู้นำธุรกิจปรับโครงสร้างหนี้สัญชาติออสเตรเลีย เฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน จะวางกลยุทธ์อย่างไร เพื่อรักษาอัตราการเติบใหญ่ในตลาด หลังจาก ลูกค้าเริ่มใช้บริการน้อยลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทันทีที่วอร์วิค นีล เดินทางเข้ามารับ ตำแหน่งผู้อำนวยการ เฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน ในประเทศไทยเมื่อช่วงปี 2540 เขารู้สึกแปลกใจอย่างมากกับมูลหนี้จำนวนมหาศาล ที่ก่อขึ้นโดยบริษัทท้องถิ่นไทย แต่ไม่แตกต่างไปจากช่วงปี 1989 ที่วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นในออสเตรเลีย

ความเข้าใจต่อสถานการณ์อย่างชัดเจน เนื่องจากก่อนหน้านั้นวอร์วิคเคยเป็น แบงเกอร์และผู้บริหารสินทรัพย์ในออสเตรเลียมาก่อน "มีความคล้ายคลึงกันมาก โดย ก่อนเกิดเหตุการณ์พวกเราพยายามปล่อยกู้เพื่อให้งบดุลในบัญชีของธนาคารจะได้ดูดี ขณะที่บริษัทต่างๆ มองว่ากู้เงินง่ายก็ไม่ลังเลที่จะนำไปขยายกิจการ"

บรรยากาศระหว่างไทยและออสเตรเลียจึงไม่แตกต่างกันที่บรรดาแบงเกอร์วิ่งเข้าหาลูกค้า โดยไม่ระมัดระวังต่อความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม หลังจากเศรษฐกิจล่มสลายแล้วเจ้าหนี้ในออสเตรเลียกลับยอมรับการเจรจาและยืดหยุ่นกับลูกหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้ในประเทศไทยไม่ค่อยเห็นด้วยกับรูปแบบดังกล่าว

"อีกทั้งกฎหมายการฟื้นฟูกิจการเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปี 2542 ดังนั้นความชัดเจนจึงอยู่ในระดับที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง" วอร์วิคให้ความเห็น

จากเหตุการณ์ดังกล่าวและท่ามกลางซากปรักหักพังทางเศรษฐกิจเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน บริษัทที่ปรึกษาอันดับหนึ่งของออสเตรเลียรุกคืบสู่ตลาดเมืองไทยอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการเข้ามาให้บริการด้านการปรับโครงสร้างหนี้และการปรับโครงสร้างองค์กร

กับตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ 17 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้การดูแลของบริษัททั่วเอเชีย และ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐในประเทศไทย นับเป็นการเข้ามาดำเนินธุรกิจที่ถูกจังหวะอย่างยิ่ง และดูเหมือนว่าลูกค้ายกย่องบริษัทอย่างมาก ในการเข้าไปให้บริการ

"เฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน มองการแก้ปัญหาของลูกค้าเป็นสำคัญ ขณะที่บรรดาที่ปรึกษา Big 4 ไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก" แบงก์เกอร์รายหนึ่งบอก "พวกเขา ไม่เคยมองจำนวนหนี้เป็นอันดับแรก"

ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่เฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สันสร้างชื่อเสียงในตลาดเมืองไทยด้านบริการปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างองค์กร และเป็นธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญและไม่มีใครปฏิเสธ "ข้อดีของพวกเรา ไม่มีเรื่องความขัดแย้งเชิงธุรกิจ เนื่องจากไม่ได้ให้บริการด้านภาษี กฎหมาย และตรวจสอบบัญชี" วอร์วิคกล่าว

มีคำถามตามมาถึงการรักษาระดับอัตราการเจริญเติบโตของเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน เนื่องเพราะตลาดการปรับโครงสร้างหนี้และองค์กรเริ่มลดน้อยลงจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่าวอร์วิคไม่ได้กังวลต่อการดำเนินธุรกิจแม้จะยอมรับว่า การปรับโครงสร้างหนี้ในไทยเริ่มหดหายไปจากตลาด ขณะที่ในแง่ของลูกค้ากลับเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น อาจจะไม่ใช่การเข้าไปบริการปรับโครงสร้างหนี้โดยตรง แต่เป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่ลูกค้าต้องการ เช่น เงินทุนหมุนเวียน

"อย่าลืมว่าบริษัทที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ส่วนใหญ่ต้องการเงินทุน เข้ามาดำเนินธุรกิจ พวกเรากลายเป็นตัวแทนของพวกเขาเพื่อแสวงหานักลงทุนเข้ามา อาจจะเป็นในเชิงกลยุทธ์หรือนักลงทุนที่เรียกว่า Financial Investor"

สำหรับด้านเจ้าหนี้ที่มีบางรายหลังจากปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้สำเร็จต้องการถอนตัวออกไป เฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน มีหน้าที่หาผู้ซื้อหนี้ต่อจากเจ้าหนี้รายเดิม "รูปแบบการทำงานแบบนี้พวกเราเริ่มเน้น มากขึ้น"

ส่วนธุรกิจต่อเนื่องบริษัทให้ความสำคัญกับการให้บริการควบคุมกระแสเงินสดและผลการดำเนินงานของกิจการ หรือ Cash and Performance Monitoring เป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการร่วมกับกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างกิจการ

เนื่องจากในปัจจุบันบรรษัทภิบาลเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการควบคุมกระแสเงินสดถือเป็นองค์ประกอบของการสร้างความโปร่งใสภายในองค์กร

"ที่ผ่านมาพวกเราเข้าไปให้บริการควบคุมกระแสเงินสดให้กับลูกค้าหลายรายแล้ว เช่น บมจ.พรีเชียส ชิปปิ้ง, ห้างโรบินสัน และเอสวีโอเอ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าที่ผ่านมาลูกค้าดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่" วอร์วิคอธิบาย

การควบคุมกระแสเงินสดเป็นการควบคุมการเข้า-ออกกระแสเงินสดของแต่ละธุรกิจให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินงาน ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาได้สมบูรณ์แบบ แต่สามารถอธิบายได้ว่าปัญหากำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง ดังนั้นบริษัทสามารถจัดการกับปัญหาได้ทันท่วงที

ในอดีตที่ผ่านมาบริษัทท้องถิ่นไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการควบคุมกระแสเงินสด แต่ปัจจุบันเริ่มสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และได้รับบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจ

"หากพวกเขาไม่ดำเนินการแล้วอาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาอีกรอบ เนื่องจากการใช้เงินทุนที่ไม่เหมาะสม" วอร์วิคบอก "แต่เมื่อเข้าไปให้บริการพวกเขามีความมั่นใจว่ามีคนคอยจับตามองอย่างใกล้ชิดในการใช้จ่ายเงินตลอดเวลา"

ดังนั้น เมื่อบริษัททั้งหลายเห็นความสำคัญต่อการควบคุมกระแสเงินสดจึงเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจของเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน "พวกเราเข้าใจว่าทุกองค์กรรู้ว่ามันสำคัญ แต่ไม่เคยสนใจจนกระทั่งเกิดวิกฤติขึ้นมาจึงกระตือรือร้นและเห็นข้อดี"

วอร์วิคอธิบายต่อไปว่าการควบคุมกระแสเงินสดช่วยลดปัญหาการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นเมื่อบริษัทเข้าไปเสนองานจะต้องให้ลูกค้าดำเนินการควบคู่กันไปด้วยตลอดเวลา

สำหรับปัญหาของบริษัทท้องถิ่นเขาบอกว่าไม่ว่าจะเป็นอยู่ในช่วงเวลาใดอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ตลอด ดังนั้นธุรกิจการปรับโครงสร้างหนี้จะยังคงมีต่อเนื่อง แต่จำนวนหนี้อาจจะมีปริมาณน้อยลง เนื่อง เพราะองค์กรหลายแห่งเริ่มตื่นตัว

สมมติว่าหากเริ่มเห็นว่าธุรกิจตนเอง กำลังเกิดปัญหาจะเริ่มเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน ด้วยการจ้างที่ปรึกษาเข้าไปช่วยจัดการแก้ไข "นี่คือความ เคลื่อนไหวสำหรับบริษัทไทยในปัจจุบัน"

จากบรรยากาศและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว และยังมีบริษัทหลายแห่งยังไม่สามารถหลุดออกจากวังวนแห่งความเสียหาย การดำเนินธุรกิจของเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน ยังอยู่ในเส้นทางสดใสต่อเนื่อง

"พวกเราไม่มีปัญหาที่จะรักษาการเติบโตในการทำงาน" วอร์วิคมั่นใจ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.