วนา พูลผล New CEO

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับแวดวงธุรกิจกองทุนรวมแล้วไม่มีใครไม่รู้จัก วนา พูลผล ผู้บริหารกองทุนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง อย่างมาก ปัจจุบันเขากำลังพิสูจน์ฝีมือตนเอง ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตการทำงานกับ บลจ.บีโอเอ

"พวกเราจะเป็นกองทุนรวมที่ดีที่สุดในโลก" เป็นคำพูดของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บีโอเอ วนา พูลผล ที่ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" เพียงไม่กี่เดือนหลังจากตัดสินใจเข้ามารับภารกิจครั้งสำคัญในชีวิตสำหรับเส้นทาง การทำงาน

คำพูดดังกล่าวเป็นความใฝ่ฝันของผู้บริหารทุกคน และวนาก็ไม่แตกต่างไปจากผู้บริหารมืออาชีพรุ่นใหม่ไฟแรงหลายๆ คนที่แสวงหาความสำเร็จในเส้นทางของตนเอง และในขณะที่เขาให้สัมภาษณ์เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นอย่างยิ่ง

ทันทีที่วนาเข้ารับตำแหน่งใหม่ได้จัดประชุมพนักงานทุกคนเพื่อระดมความคิด สร้างวิสัยทัศน์พร้อมกับเชิญผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาให้คำแนะนำ

"ผมถามทุกคนว่าใน 3-5 ปีข้างหน้า ต้องการให้บริษัทเป็นอย่างไร" เขาเล่า

การสร้างความคุ้นเคยและร่วมมือกันกำหนดทิศทางการดำเนินงานภายใต้ผู้นำคนใหม่วัย 38 ปี ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน และผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นข้อความสั้นๆ ที่อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ "มุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า"

คำถามก็คือ บลจ.บีโอเอจะดำเนินการอย่างไรให้บรรลุความสำเร็จ เพราะหากพิจารณากันแล้วพบว่าบรรดากองทุนรวมที่เปิดให้บริการในปัจจุบันไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะกลยุทธ์การสร้างผลตอบแทนในระดับน่าพอใจให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน

"อันดับแรกจะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่ต้องการลงทุนในกองทุนของพวกเรา หมายถึงสามารถซื้อหน่วยลงทุนผ่านสาขาธนาคารเอเชีย และพันธมิตรของบริษัท" วนาบอก

นอกจากนี้เขายังพยายามสร้างการลงทุนผ่านกองทุนรวมให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ให้เป็นเรื่องปกติเหมือนกับการฝากเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นการดึงดูดลูกค้าด้วยการนำเสนอสิทธิพิเศษ จึงถูกจัดให้เป็นกิจกรรมที่สำคัญ

นอกเหนือไปจากผู้ถือหน่วยลงทุนไว้วางใจ บลจ.บีโอเอ พร้อมกับตัวเลขผลตอบแทนในระดับน่าพอใจ แต่พวกเขาต้องการให้ลูกค้าได้มากกว่านี้ สิทธิพิเศษทั้งส่วนลดร้านอาหาร โรงแรม กิจกรรมรูปแบบต่างๆ จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"ในที่สุดแล้ว พวกเขาคิดไม่ถึงว่าจะได้รับความพิเศษแตกต่างไปจากกองทุนรวมอื่นๆ" วนาชี้ "พวกเราไม่ได้ให้แค่ผลตอบแทน ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่บริษัทคาดหวังเอาไว้ในปัจจุบัน"

นอกเหนือไปจากบริษัทได้นำรูปแบบ และกลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาใช้สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าแล้ว การสร้างผลตอบแทนและการนำเอาเทคโนโลยีทันสมัยสำหรับควบคุมความเสี่ยงเป็นอีกภารกิจสำคัญ

เนื่องเพราะปัจจุบันการแข่งขันอุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศเปิดกว้างอย่างมาก และส่วนใหญ่เน้นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพื่อควบคุมความเสี่ยงให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไว้วางใจ เช่นเดียวกับ บลจ.บีโอเอที่เริ่มจัดการกับเรื่องดังกล่าว

ทุกวันนี้บริษัทเพิ่มระบบของการคัดเลือกการลงทุนเข้มงวดมากยิ่งขึ้น คือ การควบคุมความเสี่ยง ด้วยการสนับสนุนจาก บลจ.เอบีเอ็น แอมโร ธุรกิจในเครือ ของธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ผู้ถือหุ้นใหญ่บลจ.บีโอเอ ผ่านธนาคารเอเชีย

ภายใต้ความเสี่ยงดังกล่าวบริษัทพยายามแสวงหาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีภายใต้ความเสี่ยงที่ผู้ถือหน่วยลงทุนยอมรับได้ ดังนั้นจากนี้ไปผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบธรรมดา (Plain Vanilla) ลดความสำคัญลงจากการ ลงทุนที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

จากการปรับปรุงการดำเนินงานภายใต้การควบคุมความเสี่ยง ส่งผลให้กองทุนรวมเอบีเอ็น แอมโร ทรัพย์มั่นคง ตราสารหนี้ (ABNSS) สร้างผลตอบแทนในระดับน่าพอใจ เช่นเดียวกับกองทุนรวมเอบีเอ็น แอมโร มิลเลนเนียม แอดวานเทจ (ABNMA) และเอบีเอ็น แอมโร มิลเลนเนียม โกรว์ธ (ABNMG)

"จุดเด่นของพวกเราอยู่ที่การได้เป็นบริษัทในเครือของเอบีเอ็น แอมโร ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนอง ลูกค้าได้ดีเป็นอย่างมาก" วนากล่าว

หากพิจารณาถึงแนวทางการบริหารกองทุนแล้วพบว่า บลจ.บีโอเอ ค่อนข้างอนุรักษนิยม (Conservative) พอสมควร สังเกตจากเน้นกองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Funds) มากกว่ากองทุนรวมตราสารทุน (Equity Funds)

เหตุผลเนื่องจากผู้ถือหน่วยลงทุนล้วนแล้วแต่เป็นลูกค้าผู้ฝากเงินกับธนาคาร เอเชีย ดังนั้นจึงรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ แม้ว่าที่ผ่านมากองทุน ABNMG ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งสามารถสร้างผลตอบแทนในตัวเลขสองหลักก็ตาม

"สิ่งที่มาอันดับแรกไม่ใช่ผลตอบแทน แต่เป็นความปลอดภัยของเงินลูกค้า" วนาเล่า "ตัวเลขผลตอบแทนอาจจะไม่ได้เป็นที่หนึ่งตลอดเวลา แต่ดีกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด และเมื่อเห็นความเสี่ยงจงถอยห่างออกไป เพราะพวกเราไม่ต้องการเห็นความเสียหายเกิดขึ้นเหมือนอดีตที่ผ่านมา"

จากลักษณะอนุรักษนิยม มีคำถามตามมาว่า ความท้าทายสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่มีมากน้อยเพียงใด "ชนะใจ ลูกค้าและเน้นการตลาดมากขึ้นและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ทำให้พวกเขาไว้วางใจให้ได้"

จากวันแรกที่เข้ามารับผิดชอบในบลจ.บีโอเอ ดูเหมือนว่าเส้นทางของวนาเริ่มต้นได้สวยงามและประทับใจพอสมควร แม้ว่าเขาไม่ต้องการเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมกองทุนรวม แต่ต้องการให้ลูกค้ามีความพอใจและอยู่กับบริษัทตลอดไป

นอกจากนี้หากพิจารณาในแง่การเติบโต บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดปรับตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากก่อนหน้าที่วนาจะเข้ามารับตำแหน่งส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ระดับ 6% แต่ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.31% ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการดำเนินธุรกิจ

อีกทั้งสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ล้านบาท หรือมากกว่า 25% จากปลายปีที่ผ่านมา 28,000 ล้านบาท เป็น 35,000 ล้านบาท "เป้าหมายของพวกเราในปีนี้คาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 260% และเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเป็นสองเท่าภายใน 2 ปีข้างหน้า

จากความมุ่งมั่นของวนาสามารถลดแรงกดดันให้กับตัวเองและผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้อย่างมาก เนื่องเพราะตลอดระยะเวลา เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา บลจ.บีโอเอ เปลี่ยนตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาแล้ว 2 คน

ปลายปี 2542 นิคิล ศรีวาสัน เข้ารับตำแหน่งดังกล่าวหลังจากปีก่อนหน้าทำงานให้กับธนาคารเอเชีย ในฐานะหัวหน้า กลุ่มงานวางแผนด้านกลยุทธ์ ดูแลการกำหนดกลยุทธ์รุกธุรกิจในกลุ่มธนาคารพาณิชย์

ภารกิจสำคัญในครั้งนั้นของเขา ก็คือการปรับองค์กรใหม่ แต่บริหารงานได้ไม่กี่เดือนก็ลาออก โดยมีอดิศร เสริมชัยวงศ์ เข้ามารับหน้าที่แทนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2543 และครั้งแรกที่ "ผู้จัดการ" สัมภาษณ์ เขาบอกถึงความตั้งใจว่า "เราต้องการเป็น Asset Management ที่ดีที่สุด"

อย่างไรก็ตาม อดิศรตัดสินใจลาออกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และบลจ.บีโอเอได้วนาเข้ามาบริหารงานต่อภายใต้บรรยากาศ ตลาดทุนไทยกำลังฟื้นตัว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่เขาจะพิสูจน์ตัวเองจากความเชื่อมั่น นับตั้งแต่ตัดสินใจรับหน้าที่สำคัญนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.