คุณพร้อมหรือยัง?


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

คุณผู้อ่าน ที่เป็นแฟนประจำผู้จัดการรายเดือนคงได้อ่านเรื่องจากปกฉบับ เดือนเมษายน ที่เจาะลึกวงการดอทคอมบ้านเราไปแล้ว และคงทำให้ปฏิเสธไม่ได้ ถึงความมาแรงของกระแสธุรกิจดอทคอม ตลอดจนการแข่งขัน ที่ส่อเค้าดุเดือดยิ่งขึ้นต่อจากนี้ไป

และถ้าคุณเป็นคนหนึ่งในวงการดอทคอม หรือแวดวง ที่ข้องเกี่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งครอบคลุมถึงวงการไอที ธุรกิจค้าส่ง สินค้าอุปโภคบริโภค สิ่งพิมพ์ การโฆษณา ตลอดจนวงการไฟแนนซ์ คุณนึกสงสัยบ้างไหมว่า คุณจะตกงานเมื่อไร ถ้าคุณตามสาระ กลไก และ ที่สำคัญสุดคือ วิธีคิดของวงการดอทคอมไม่ทัน

หากคุณเริ่มรู้สึกตงิดตงิดกับคำว่า "ดอทคอม" และบริษัท ที่จ้างคุณก็ไม่เคยส่งคุณไปอบรมเรื่องเคียงใกล้กับวงการนี้ละก็ คุณควรเริ่มหันมาดูเรื่องของโลกการศึกษาดอทคอมบ้าง เพราะนี่คือ แหล่งให้ความรู้ ที่ทันสมัยที่สุดแล้ว สำหรับวงการที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกธุรกิจ ซึ่งคาบเส้นอยู่ระหว่างปัจจุบัน และอนาคต

โลกการศึกษาดอทคอมคือ อะไร

ฝรั่งเรียกเรื่องนี้อย่างเก๋ไก๋แต่ได้ใจความว่า เอ็ดดูเคชั่นดอทคอม และ ณ วันนี้ ผู้คนที่ใช้คำนี้บ่อยๆ มักจะหมายถึงการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจเป็นหลัก โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต และรวมถึงผู้เล่นหรือซัปพลายเออร์ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ที่มีโปรแกรมเอ็มบีเอมีชื่อเสียง มหาวิทยาลัยเปิด บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ที่ตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจของตนเอง ที่เรียกว่า คอร์ปเปอเรตยูนิเวอร์ซิตี้ บริษัท ลูกครึ่ง- กึ่งมหาวิทยาลัยกึ่งบริษัทดอทคอม และล่าสุดนี้ ที่เริ่มมีมากขึ้นคือ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ด้านการศึกษาดอทคอม

ถามว่าทำไมถึงเกิดขึ้นได้ และอย่างไร

ก่อนจะตอบว่าทำไม และอย่างไร ขออ้างอิงสถิติ ที่น่าสนใจจาก Corporate University Xchange บริษัทที่ปรึกษา และวิจัยด้านการศึกษา ดังนี้

ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัย ที่มีภาคเรียนบังคับให้เรียนจบภาย ใน 4 ปี ปิดตัวลงถึง 100 แห่ง

ในช่วงเดียวกันนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ และ ที่อยากเป็นยักษ์ขนาดใหญ่ได้ตั้งมหาวิทยาลัย และ วิทยาลัยของบริษัทเองเพิ่มขึ้นจากเพียง 400 แห่ง เป็น 1,600 แห่ง โดยเน้นการเรียนการสอนระบบอินทราเน็ตเป็นหลัก

บริษัทที่ปรึกษาแห่งนี้คาดการณ์ว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า การเรียนรู้ผ่านระบบอินทราเน็ต ตามบริษัทต่างๆ จะขยายสัดส่วนขึ้นไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของการเรียนรู้ทั้งหมด ที่จะเกิดขึ้น

ฟังดูแล้วอย่าเพิ่งตกใจ เพราะยังมีสถิตินำเสนอให้น่าสะกิดใจยิ่งขึ้นอีก :

* บริษัทไอดีซี-International Data Corpor ation-บอกว่า ในปี 2541 มีผู้คนลงทะเบียนเรียนหนังสือในหลักสูตรการศึกษาทาง ไกล 710,000 คน ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าภายใน 2-3 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 2.2 ล้านคน

* ส่วนตัวเลขชุดสุดท้ายนี้ ผู้เขียนหามาเองจากอินเทอร์เน็ต เพราะความอยากรู้อยากเห็นเรื่องการศึกษาทางไกล ได้กลายเป็นหัวข้ออ่านอดิเรกสำหรับผู้เขียนมาเป็นเวลา 3-4 ปีแล้ว นับแต่เจ้านายเคยให้ทำโปรเจกต์เรื่องนี้ กล่าวคือ จำนวนเว็บไซต์ภายใต้หัวข้อการศึกษาทางไกล*ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยเศษๆ เมื่อราว 2 ปีมาแล้วเป็น 556 ไซต์ในปัจจุบัน แยกแยะตามประเภทต่างๆ ได้ถึง 38 ประเภทหลักๆ ได้แก่ หลักสูตรออนไลน์ การอบรมผ่านอินเทอร์เน็ต บริษัทที่ปรึกษาให้คำแนะนำด้านหลักสูตร นิตยสารออนไลน์ ให้ข้อมูลข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการเรียนรู้ออนไลน์ ฯลฯ

* ส่วนในรายละเอียด ที่เกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาทางไกลระดับอุดมศึกษานั้น ในปัจจุบันมีโปรแกรมระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ในทั้ง สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย ถึง 195 โปรแกรม ส่วนระดับปริญญาตรีนั้น มีจำนวนตามมาไล่ๆ ถึง 125 โปรแกรม ซึ่งในกรณีหลังนี้นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทีเดียวเมื่อเทียบกับเมื่อ 3-4 ปี ก่อน ที่มีเพียงหยิบมือเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ต่อข้อถามว่าโลกการศึกษาดอทคอมเกิดขึ้นได้อย่างไร สถิติเหล่านี้มี ที่มาเหมือนกันอยู่ประเด็นหนึ่ง นั่นคือ การสื่อความรู้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

บริษัทเอกชน ที่เข้ามาในวงการศึกษาโดยใช้อินเทอร์เน็ตมีจำนวนไม่น้อย และจำนวนเงินลงทุนก็ไม่น้อยเช่นกัน บริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งประมาณตัวเลขลงทุนนับแต่ปี 2537 ว่าน่าจะสูงถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหตุผลของการลงทุนฟังดูก็น่าสนใจไม่น้อย นั่นคือ เขาเหล่านี้มองว่า การศึกษาเป็นวงการที่เหมาะกับการลงทุนยิ่งขึ้นๆ เพราะตลาดการศึกษากระจัดกระจายอย่างไม่มีศักยภาพ ขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการ เหมาะที่สุด ที่จะเป็นเขตแดนใหม่สำหรับนักลงทุนมืออาชีพ เฉพาะอย่างยิ่งหากใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเข้าไปจัดระเบียบ เพราะข้อดีของอินเทอร์เน็ตคือ การทำให้ระบบอะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้น ให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเร็วขึ้น บริษัทเอกชนให้การศึกษาเหล่านี้กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการ "reinvent" การเรียนรู้ให้ได้ระดับมาตรฐานเช่นเดียวกับ amazon.com หรือ yahoo.com กล่าวคือ จะต้องเป็นตามระบบ self-service ยืดหยุ่น และเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เลือกอย่างไรจึงจะได้ผล

หัวข้อนี้ไม่ได้ถามว่าจะเลือกอะไร เพราะหลักสูตร "อะไร" นั้น มีมากมาย ทั้งตามสาขาวิชาชีพ และหัวข้อวิชา ที่เหมาะกับการให้ความรู้ใหม่หรือเสริมความรู้เดิมให้แกร่งยิ่งขึ้น แต่คุณผู้อ่านอาจจะต้องถามตนเองว่าถนัด และ เหมาะกับวิธีการเรียนรู้แบบใด เพราะโลกการศึกษาดอทคอม มีทางเลือกให้หลากหลายทั้ง ที่เป็ น

(1) วิธีการแบบโบราณ เพียงแต่ยกเครื่องใหม่จากมหาวิทยาลัยเปิด ที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษาทางไกลมานาน เช่น Open University และ Henley Management ในประเทศอังกฤษหรือ

(2) วิธีการแบบลูกครึ่ง คือ การรับเนื้อหาออนไลน์ผนวกกับการเรียนรู้ในชั้นเรียนกับครูหรือผนวกกับซีดีรอม หรือ

(3) วิธีการแบบออนไลน์ทั้งดุ้นโดยผู้เรียนกำหนดตารางเรียน ตาราง ประเมินผลเอง

ที่ปรึกษาด้านการศึกษาดอทคอมหลายรายตั้งคำถามสำคัญว่าคนเรา เรียนรู้ออนไลน์กันอย่างไร และเทคโนโลยีอะไร ที่จะมาช่วยตรงนี้ได้ พวกเขาเหล่านี้ได้ให้คำตอบกลายๆ ว่า ณ ขณะนี้ การเรียนรู้ ที่น่าจะให้ผลดีที่สุดควรจะต้องมีติวเตอร์-tutor -ออนไลน์ช่วยไกด์ และเกื้อหนุนผู้เรียนด้วย และอีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือ การเรียนรู้ในห้องเรียนด้วย ดังนั้น บริษัทให้การศึกษาดอทคอมที่ดีนั้น จะต้องลงทุนอบรมติวเตอร์ และผู้ดำเนินหลักสูตรด้วย

แปลกแต่จริง เพราะนี่ก็คือ ข้อสรุป ที่ผู้เขียนได้เช่นกันจากการทำโปรเจกต์การศึกษาทางไกลให้เจ้านาย ซึ่งจบลงเมื่อสองปีก่อน แถมด้วยประเด็นสำคัญสำหรับผู้เรียนไทย ที่ฝรั่งไม่ได้พูดถึงเลย นั่นคือ ความจำเป็นต้องเรียนภาษาอังกฤษอย่างเร่งรัด และมุ่งเฉพาะหัวข้อหลักสูตรด้วย

* เก็บความจาก Financial Times Survey... Business Education ฉบับวันที่ 3 เม.ย.2543

** หากคุณผู้อ่านสนใจจะเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมขอแนะให้ใช้ คำว่า distance learning ไม่ใช่ distance education เพื่อจะได้ต้องตามคำนิยมของ อเมริกันผู้ครองโลกเว็บ และได้ข้อมูลมากกว่าคำหลัง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.