|
The Last page…ความร่วมมือท่ามกลางการแข่งขัน
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
"การแข่งขันท่ามกลางความร่วมมือกับความร่วมมือท่ามกลางการแข่งขัน"
วลีข้างต้นเป็นข้อเสนอที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียนกับสหภาพยุโรปที่จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้หนึ่งเสนอเข้ามาในที่ประชุม
การสัมมนาครั้งนี้เป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นกับตัวแทนผู้ประกอบการแขนงต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ หากมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีดังกล่าวขึ้น โดยมีกรมเจรจาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพ
เป็นการสัมมนาที่จัดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ภายหลังการล้มละลายลงของบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส ธนาคารเพื่อการลงทุนอันดับ 4 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังเป็นที่หวั่นวิตกว่าจะลามออกไปกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก
ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักธุรกิจไทย เพราะเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะได้ข้อสรุป
วลีที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาผู้นี้เสนอเข้ามาเป็นเรื่องที่น่าคิด
เพราะขณะที่ภาครัฐของไทย โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์พยายามมองการณ์ไกล ถึงการขยายการค้าการลงทุนของไทยไปถึงสหภาพยุโรป
แต่น้ำหนักการพูดคุยถึงเรื่องความร่วมมือทางการค้า การลงทุนของไทย กับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน กลับไม่มีการพูดถึงในการสัมมนาครั้งนี้มากนัก
วิทยากรที่เข้าร่วมบรรยายในการสัมมนาครั้งนี้ผู้หนึ่ง บอกว่าเขาให้ความสำคัญกับเวทีนี้เพราะเป็นเรื่องที่พูดกันเกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งมีโอกาสต่อยอดออกไปถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน หรืออินเดียในอนาคตซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคนควรต้องตระหนัก
เป็นความจริงที่ว่าแม้ความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียนช่วงที่ผ่านมา มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ แต่เนื่องจากความหลากหลายของเชื้อชาติของผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ ทำให้ท่ามกลางความร่วมมือดังกล่าวก็มีลักษณะของการแข่งขันกันอยู่ในที
ไม่ต้องไปมองกว้างไปถึงอาเซียน แค่เฉพาะประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ใกล้บ้านของไทยเราเอง ลักษณะความร่วมมือและการแข่งขันก็ค่อนข้างซับซ้อน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีทางรถไฟระหว่างประเทศ ที่วิ่งจากจังหวัดหนองคาย ไปยังท่านาแล้งของลาวที่เพิ่งเปิดใช้งานได้ไม่นานมานี้
เชื่อว่าหลายคนในประเทศไทย มองเส้นทางรถไฟเส้นนี้ว่าเป็นเพียงเส้นทางสัญจรท้องถิ่น ไม่เห็นความสำคัญมากนัก
หากมองให้ดีๆ ทางรถไฟเส้นนี้ หากเชื่อมต่อไปทางเหนือจะผ่านเวียงจันทน์ขึ้นไปถึงแขวงหลวงน้ำทา เชื่อมกับเส้นทางรถไฟทางตอนใต้ของจีนที่ขึ้นไปถึงนครคุนหมิง มลฑลหยุนหนัน
หากเชื่อมต่อไปทางตะวันออกขนานกับเส้นทางหมายเลข 8 จะทะลุไปถึงเวียดนาม ต่อลงไปออกทะเลได้ที่ท่าเรือดานัง
การมองอะไรในมุมที่แคบไป บางครั้งก็เสียเปรียบ ขณะเดียวกัน การมองอะไรที่กว้างหรือไกลเกินไป บางครั้งก็ไม่ได้ประโยชน์
เพราะในขณะที่เรากำลังพูดกันอยู่ถึงเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียนกับสหภาพยุโรปนั้น
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีการประชุมกันระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจของจีน และกลุ่มประเทศอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์ได้มีการพูดถึงการลงทุนในโครงข่ายเส้นทางรถไฟสายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเชื่อมประเทศสิงคโปร์กับนครคุนหมิง ระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อทางรถไฟเส้นนี้สร้างเสร็จ (ตามข่าวว่ายังเหลือเส้นทางอีกประมาณ 550 กิโลเมตรในลาว) จะเชื่อมการเดินทางระหว่างจีนตอนใต้กับเวียดนาม พม่า ลาว ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์
ทั้งๆ ที่ไทยเราน่าจะเกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ใจกลางพื้นที่ก่อสร้าง มีเส้นทางรถไฟพาดผ่านเป็นระยะทางแทบจะยาวที่สุด
แต่กลับไม่ค่อยได้ยินใครที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้มากนัก
เป็นเรื่องที่น่าคิด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|