|

บ้านกันแผ่นดินไหวโครงสร้างแบบ "Rahmen"
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
แวบแรกที่ได้เห็นด้านนอกของบ้านสร้างด้วยไม้ซีดาร์และกระจกหลังนี้ อาจทำให้คุณรู้สึกถึงความเป็นปริศนาและเกิดข้อสงสัยขึ้นในใจมากมาย แต่เมื่อได้ย่างเหยียบเข้าไปภายในตัวบ้าน ความคลุมเครือในใจก็มลายหายไปทันที เหลือไว้แต่ความโปร่งใสและโปร่งตาโปร่งใจอย่างบอกไม่ถูก
กับคำกล่าวที่ว่า บ้านหลังนี้ทำให้คุณได้เห็นวิวของป่าที่อยู่ล้อมรอบแบบรอบทิศทาง 360 องศา ก็ดูเหมือนจะน้อยไปด้วยซ้ำ ติดตามอ่านต่อไปคุณจะได้คำตอบว่าทำไม?
บ้านที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นรีสอร์ตสำหรับฤดูร้อนโดยเฉพาะนี้ตั้งอยู่ที่ Karuizawa ห่างจากกรุงโตเกียวเพียงหนึ่งชั่วโมง ถ้านั่งรถไฟหัวกระสุน bullet train
ทั้งสถาปนิก Makoto Takei และ Chie Nabeshima ตกลงใจจะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในบริเวณนี้ให้ได้สูงสุดดังที่ Makoto เล่าว่า
"เราต้องการสร้างบ้านในรูปลักษณ์แตกต่างจากบ้านในเมืองหรือบ้านในชนบทโดยสิ้นเชิง เราอยากสร้างบ้านที่กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของป่า เป็นองค์ประกอบที่ไม่แปลกแยกออกจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ ที่สำคัญเราจงใจสร้างและออกแบบให้ภายในและภายนอกของตัวบ้านมีความเป็นปริศนาที่อยู่นอกเหนือ ความคาดหมายโดยสิ้นเชิง เช่น เมื่อมองจากข้างนอก ไม่มีใครรู้หรอกว่าข้างในตัวบ้านมีทั้งหมดกี่ชั้น และไม่มีวันรู้ด้วยว่ามีการจัดสรรการใช้พื้นที่กันอย่างไร"
สองสถาปนิกหัวเห็ดญี่ปุ่นใช้เทคนิค การสร้างบ้านที่มีลักษณะเหมือนหอคอยสูง 10 ชั้น ด้วยโครงสร้างแบบ "Rahmen" ของญี่ปุ่นโดยเฉพาะ โดยโครงบ้านฝังตัวอยู่ในแผ่นคอนกรีตและประกอบด้วยเสาไม้จำนวนมากซึ่งทำหน้าที่พยุง "วงแหวน" ไม้ซีดาร์ขนาดต่างๆ ที่มีถึง 10 วง และติดตั้งห่างกันเป็นระยะ แต่ละระยะก็จะติดกระจก ที่ทำหน้าที่เป็นผนังอาคารไปในตัวด้วย
เพราะภูมิภาคแถบนี้อยู่ในแนวแผ่นดิน ไหวซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก จึงต้องออกแบบให้เสาและคานไม้เชื่อมต่อกับวงแหวนที่มีความยืดหยุ่นสูงกลายเป็นโครงสร้างแข็งแรงคือ สามารถโค้งงอและแกว่งไกวในลักษณะคล้ายๆ กับการแกว่งไกวของต้นไม้ยามต้องแรงลมที่พัดกระโชกแรงๆ
ลักษณะเด่นของโครงสร้างแบบ "Rahmen" คือ ไม่จำเป็นต้องมีการยึดตรึงจากภายใน และไม่ต้องติดตั้งแผงป้องกันแผ่นดินไหวไว้ที่ด้านหน้าของตัวบ้านด้วย ทำให้สถาปนิกสามารถ ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ภายในตัวบ้านขนาด 34 ตารางเมตรได้เต็มที่ เพราะจะไม่มีเสาบ้านเกะกะกีดขวาง และสามารถติดกระจกบาน มหึมาได้ด้วย
วงแหวนและเสาไม้ซีดาร์ที่อยู่นอกตัวบ้านจะทาสีดำเพื่อให้กลมกลืนกับสีลำต้นของต้นไม้ ขณะที่วงแหวนและเสาในบ้านจะทาสีขาวเพื่อให้ภาพวิวและธรรมชาติที่อยู่ล้อมรอบโดดเด่นขึ้นมา ที่ต้องสังเกตคือ ความกว้างของวงแหวนจะเปลี่ยนไปตามประโยชน์ใช้สอยของห้องต่างๆ อาทิ เมื่ออยู่ที่ระดับพื้น วงแหวน จะมีหน้าแคบเพื่อให้คนในบ้านมองเห็นทิวทัศน์ข้างนอกได้จุใจเต็มตา แต่ถ้าเป็นวงแหวนที่อยู่แนวเดียวกับห้องนอนชั้นบนก็จะมีหน้ากว้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่คล้ายผนังซึ่งสามารถเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ผู้อยู่ในห้องนอนนั้นๆ ได้อย่างวิเศษ
ปริศนาแห่งองค์ประกอบอันน่าทึ่งและสุดมหัศจรรย์ทั้งหมด นี้จะปรากฏแก่สายตาของผู้มาเยือนในทันทีที่เดินข้ามสะพานเข้ามาถึงชั้นที่หนึ่งของตัวบ้าน ซึ่งชั้นนี้ออกแบบให้พื้นที่ใช้สอยเป็นส่วนของ "โซนกลางวัน" ที่ประกอบด้วยห้องครัวและห้องนั่งเล่นแบบ open-plan ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่กลางป่า มีลมพัดมาโดนตัวจึงเย็นสบายตลอดเวลา นอกจากนี้การใช้สีขาวกับพื้นผิวต่างๆ รวมทั้งการใช้ไม้สีอ่อนในการปูพื้น หรือใช้ไม้แต่งส่วนต่างๆ ของประตูหน้าต่าง หรือใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ ล้วนช่วยเสริมความรู้สึกโปร่งเบาและเปิดโล่งมากขึ้นด้วย
ส่วนของชุดบันได (staircase) ที่ใช้วัสดุเป็นโครงเหล็กรูปทรงโปร่งและไม้เป็นหลักนั้น ออกแบบให้หลบอยู่ตรงมุมบ้านเพื่อไม่ให้กีดขวางส่วนที่เป็นพื้นที่ว่าง รวมทั้งไม่ต้องการให้บดบังวิวสวยๆ ข้างนอกบ้านด้วย
ชุดบันไดที่ว่านี้ยังนำไปสู่ส่วนของ "โซนกลางคืน" ซึ่งต้อง เดินลงบันไดไปยังชั้นใต้ดินอันเป็นที่ตั้งของห้องรับรองแขก (tatami guest room) ขณะที่ชั้นบนของบ้านเป็นที่ตั้งของห้องนอนใหญ่ซึ่งออกแบบให้อยู่บนที่สูงเหมือนรังนกอินทรีบนชั้นสูงสุดของหอคอย สถาปนิกยังออกแบบให้ห้องน้ำอยู่ชั้นบนตามคำร้องขอของเจ้าของบ้านที่ต้องการห้องน้ำแบบมองเห็นวิวข้างนอกด้วย แถมอ่างอาบน้ำก็ยังให้ความรู้สึกเหมือนคนที่นอนแช่อยู่ในอ่างกำลังลอยอยู่บนยอดไม้อีกต่างหาก
Makoto บรรยายจนชวนเคลิบเคลิ้มว่า
"ในฤดูร้อน คุณจะถูกล้อมรอบด้วยสีเขียวขจีของป่าโดยรอบ ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังอาบน้ำกลางป่าทีเดียวแหละ แน่นอนว่าคุณจะผ่อนคลายเอามากๆ ส่วนฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งใบไม้พากันผลัดใบร่วงหล่นจากต้น คุณจะได้เห็นวิวที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เพราะเบื้องหน้าไกลออกไปลิบๆ ในยามที่ไม่มีใบไม้บดบังสายตา จะเห็นเป็นแนวสันเขาต่างๆ แทน เมื่ออยู่บ้านหลังนี้จึงไม่มีคำว่าน่าเบื่ออย่างแน่นอน เพราะทิวทัศน์ของแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกันออกไปตลอดทั้งปี"
บ้านหลังนี้ยังสร้างให้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากสภาพอากาศทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาวได้เต็มที่ เพราะทุกชั้นจะมีหน้าต่างสำหรับเปิดรับลมและเป็นทางระบายอากาศในฤดูร้อน เมื่อถึงฤดูหนาว ป่าทั้งป่าถูกปกคลุมไปด้วยหิมะหนาราว 50 ซม.นั้น สถาปนิกก็ออกแบบให้สามารถรับมือกับความหนาวเหน็บด้วยการสร้างเตาผิงแบบให้ความร้อนด้วยไม้ฟืนขึ้นในห้องนั่งเล่น ซึ่งสามารถให้ความอบอุ่นได้ทั่วทั้งบ้านแม้ในคืนที่อากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ
เห็นได้ชัดว่าทั้งเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านจะเน้นเป็นแบบเรียบๆ ทั้งหมด เพราะไม่ต้องการให้ความโดดเด่นของสิ่งเหล่านี้เข้ามาดึงความสนใจไปจากธรรมชาติข้างนอกซึ่งสวยงามและวิเศษสุดอยู่แล้วตามคำรับประกันของ Makoto ที่ว่า
"แม้เมื่ออยู่ในบ้าน คุณก็ยังรู้สึกเหมือนยืนอยู่กลางป่าอยู่ดี เพราะเราออกแบบให้สภาพแวดล้อมภายในบ้านคล้ายคลึงกับข้างนอก และมีความเงียบสงบเหมือนอยู่ในป่าด้วย"
สำหรับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นดีไซเนอร์ชาวโตเกียว เขาจะมาพักที่บ้านหลังนี้ทุกวันสุดสัปดาห์พร้อมเพื่อนๆ และคนในครอบครัว เพราะเป็นที่ที่สามารถหลุดพ้นจากความกดดันของชีวิตในเมืองใหญ่ได้โดยสมบูรณ์ เมื่อได้อยู่ท่ามกลางต้นสนและต้นเชอร์รี่ญี่ปุ่น จึงช่วยไม่ได้ที่เขาจะรู้สึกเหมือนโตเกียวอยู่ไกลออกไปสักล้านไมล์!
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|