หุ่นสายเสมา จิตวิญญาณไทยในศิลปะโลก

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ชัยชนะบนเวทีหุ่นโลกเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับคณะหุ่นสายเสมาของไทยในการไขว่คว้าให้ได้มา แต่ดูเหมือนว่า สิ่งที่ยากกว่ากลับเป็นการให้ได้มาแค่การยอมรับจากคนไทย ถึงจิตวิญญาณคนไทยที่พวกเขาอุทิศไว้เพื่อรับใช้ศิลปะอันบริสุทธิ์...ที่ไม่จำเป็นต้องแบ่งเชื้อชาติและชนชั้น


"It's a wonderful world when you give and receive. You will live and you will learn. Through the lessons of life as it turns. Look after your heart, don't fear of life. Because love will be your guiding light"

บทเพลง "It's a wonderful world" ดังขึ้นท่ามกลางเสียงดนตรีสากลสำเนียงเสียงเอื้อนแบบไทยที่แสนไพเราะ เป็นสื่อชั้นดีที่ชักนำอารมณ์ความรู้สึกที่แสนอบอุ่นจากความรักท่ามกลางโลกที่น่ากลัว ไปสู่ผู้ชมได้อย่างจับใจ เพลงนี้ประพันธ์โดยปรมาจารย์ทางดนตรีไทย แห่งวงกอไผ่อย่างอานันท์ นาคคง และชัยภัค ภัทรจินดา

เมื่อบวกกับลีลาเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตของหุ่นสายหน้าตาไทยๆ บทสนทนาที่เรียงร้อยด้วยถ้อยคำภาษาที่สวยงาม ยิ่งตรึงตาตรึงใจผู้ชมอยู่กับละครหุ่นสายเรื่อง "เจ้าเงาะ" ของคณะ "หุ่นสายเสมา" ได้ตลอดการแสดงที่ยาวเกือบชั่วโมง

คณะหุ่นสายเสมาเพิ่งนำการแสดงเรื่องนี้ไปคว้ารางวัลสำคัญบนเวทีหุ่นโลกในงาน World Festival of Puppet Art 2008 ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเชค เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

จากคณะหุ่นหลากหลายประเทศ 25 คณะ ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจาก 200 คณะทั่วโลก คณะหุ่นสายเสมา ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใน 3 รางวัล ได้แก่ สาขาวรรณกรรม สร้างสรรค์ดีเด่น สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และสาขาการแสดงยอดเยี่ยม

รางวัลดีเด่นในสาขาวรรณกรรมสร้างสรรค์ (The Most Poetic Creation) ก็ตกเป็นของหุ่นสายไทย ด้วยความเป็นเลิศด้านศิลปะการเชิดหุ่น ดนตรีที่ไพเราะและบทละคร ที่สวยงาม

บนเวทีเดียวกันนี้ คณะนาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) จากประเทศไทยก็บิน ไปคว้ารางวัลสูงสุด หรือรางวัลการแสดงยอดเยี่ยม (A special Traditional Thai Puppet Show) มาครองได้เช่นกัน

หุ่นถือเป็นศิลปะแห่งการเล่าเรื่องและศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งที่มีอยู่ในแทบทุกชนชาติ แม้ว่าประเทศไทยมีการนำหุ่นมาใช้ในการแสดงมาตั้งแต่ 300 กว่าปีก่อน ในบรรดาหุ่นที่ถูกรับรู้และเรียกขานว่า "หุ่นไทย" มีอยู่หลายประเภท แต่ยังไม่มีหุ่นสาย (marionette)

ไม่มีข้อมูลแน่นอนว่าหุ่นสายมีต้นกำเนิดมาจากประเทศใด บางตำราว่ามีที่มาจากประเทศจีน เชื่อกันว่าองค์ความรู้ทางหุ่นสายถูกพัฒนามานานหลายศตวรรษ ปัจจุบัน มีการแสดงหุ่นสายกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ก็ล้วนมีหุ่นสายเล่นกันอย่างแพร่หลาย

พลังและเสน่ห์ของหุ่นสายคือ ผู้เชิดสามารถปลดปล่อยความคิดเห็นและคำพูดได้ง่ายกว่าและปลอดภัยกว่า ทั้งนี้เพราะทัศนวิจารณ์ใดที่ก้าวร้าวหยาบคายดูเหมือนจะนุ่มนวล และลดความรุนแรงลงได้ เมื่อถูกนำมาพูดผ่านหุ่นสาย

นี่จึงเป็นเหตุให้หน้าที่ของหุ่นสายจากแรกเริ่มที่เป็นศิลปะในการเล่าเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นเครื่องมือในการล้อการเมือง และกลายมาเป็นสื่อเพื่อสาระบันเทิงหรือ folk art ในปัจจุบัน

นิมิตร พิพิธกุล หัวหน้าคณะหุ่นสายเสมา เชื่อว่าหุ่นสายเคยเข้ามาในเมืองไทยในยุคสมัยของการล่าอาณานิคม หุ่นสายจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการล่าอาณานิคม ซึ่งส่วนใหญ่มักถูกใช้และถูกตีความไปในทางลบ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่ถูกเชิด หรือการเชิดจากด้านบนที่ผู้เชิดต้องอยู่สูงกว่าหุ่นและคนดู ด้วยขนบธรรมเนียมของสังคมไทย ในเวลานั้นที่เคร่งครัดเรื่องเทพเจ้าและราชวงศ์ว่าเป็นของสูง

"เพราะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบบการเชิดชู จะเห็นว่าหุ่นไทยจึงมีลักษณะเป็นหุ่นเชิดหมด หุ่นของเราจึงไม่มีแบบที่จะมาเชิดอยู่สูงกว่า" นิมิตรให้เหตุผล

หุ่นสายเสมาก่อตั้งเมื่อต้นปี 2547 นับเป็นหุ่นสาย ร่วมสมัยคณะแรกของเมืองไทย โดยนิมิตรได้รับแรงบันดาลใจจากวศิน มิตรสุพรรณ และพสุธีร์ จุรณะโกเศศ ศิลปินกลุ่มแกะดำ...ดำ ผู้นำหุ่นสายต้นแบบที่พวกเขาพัฒนาด้วยตนเองมาปรึกษากับเขา

สาเหตุที่กลุ่มแกะดำ...ดำ ต้องหันหน้ามาปรึกษากับนิมิตร เพราะเขาถือเป็นหนึ่งผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะการแสดงของเมืองไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการแสดงหลากรูปแบบ

นิมิตรเป็นศิลปินศิลาธร สาขาศิลปะการแสดงแห่งปี 2550 และเป็นผู้ก่อตั้ง "มันตาศิลปะการแสดง" บริษัทโปรดักชั่นเฮาส์ที่นิยามตัวเองว่าเป็น Art & Culture Management และตั้งตำแหน่งตัวเองว่าเป็น "ผู้บริหารจัดการศิลปะเพื่อให้อยู่ได้" หรือผู้จัดการแสดงแขนงต่างๆ เพื่อไปโชว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เขาเริ่มต้นทำงานในสายงานด้านละครเวที เป็นแกนนำคนหนึ่งของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว มะขามป้อม และคณะละคร 28 ภัทราวดีเธียเตอร์ และได้รับรางวัลศิลปินแห่งละครเวที สาขา กำกับการแสดง ทั้งยังเคยก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในฐานะอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสอนการแสดงของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โดยทำหน้าที่คัดเลือกและสอนการแสดงให้กับนักแสดงในภาพยนตร์ระดับรางวัลมาแล้วหลายเรื่อง

"ตอนที่เขามาบอกว่ากลุ่มแกะดำ...ดำ อยู่ไม่ได้แล้ว เราก็เห็นว่าศิลปะหุ่นสายที่งดงาม ที่พวกเขาได้สร้างไว้ อย่าให้หายไปเลย ไหนๆ ประเทศไทยก็ยังไม่เคยมีสื่อการแสดงแบบหุ่นสายมาก่อน ผมก็เลยมาพัฒนาต่อ"

โดยส่วนตัว นิมิตรชื่นชอบการแสดงหุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถึงขนาดไปเรียนเชิดหุ่นกระบอกกับครูหุ่นกระบอกชื่อดังของเมืองไทยระดับศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นกระบอก) อย่าง "ป้าชื้น สกุลแก้ว" มาแล้ว

สำหรับชื่อคณะ นิมิตรได้แรงบันดาลใจจาก "ใบเสมา" ซึ่งมีศิลปะรูปทรงที่เขาชื่นชอบ มีความหมายของการเป็นเขตแดนแห่งธรรม และปราการป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้าย แผ้วพาน ด้วยคุณธรรม ความดี และศรัทธาในพระพุทธศาสนา บทละครส่วนใหญ่จึงเป็น วรรณกรรมเยาวชนร่วมสมัยที่แฝงจริยธรรม วัฒนธรรมประเพณีไทย และค่านิยมความดีในสังคม จึงเหมาะที่จะเป็นสื่อการสอนในโรงเรียนและชุมชน

บทละคร "เจ้าเงาะ" ดัดแปลงมาจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทองในรัชกาลที่ 2 โดยเปลี่ยนมาใช้มุมมองของเจ้าเงาะในฐานะผู้เล่าเรื่อง นี่จึงเป็นเหตุให้หุ่นเจ้าเงาะตัวใหญ่กว่าทุกตัวในเรื่อง ซึ่งกลุ่มเสมาจึงต้องพัฒนาหุ่นแบบใหม่ขึ้นมา เรียกว่า Rod Marionette

หลายคนที่เคยติดตามดูละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ จะเห็นว่าทุกครั้งก็เน้นที่เนื้อหา เกี่ยวกับความรักต่างวรรณะระหว่างพระธิดาสาวสวยกับเจ้าเงาะ และโมหะโทสะในตัว พระราชาผู้พ่อ ไม่ว่าจะเวอร์ชั่นไหนก็ล้วนแต่นำเสนอความบ้าใบ้ของเจ้าเงาะเป็นเรื่องน่าขบขัน และตอนจบเจ้าเงาะต้องถอดรูปและครองเมืองอย่างมีความสุข

"เจ้าเงาะ" ของหุ่นสายเสมาถูกตีความให้เป็นตัวละครที่กลัวการเผชิญกับโลกที่น่ากลัว จึงไม่กล้าออกมาเจอโลกแอบอยู่แต่ในหอยสังข์ จนผู้เป็นแม่ต้องทุบหอยสังข์ ต่อมาเมื่อเจอบ่อทองก็ลงไปชุบตัว แต่ด้วยความกลัวที่จะเผชิญโลกแห่งความจริง ก็ยังเอาชุดเจ้าเงาะสวมไว้ไม่ยอมถอด แต่ในโลกที่น่ากลัวก็ยังมีสิ่งสวยงามอยู่ นั่นก็คือความรัก บริสุทธิ์เหมือนกับความรักที่เจ้าเงาะได้จากแม่และรจนา

นอกจากบทร้องบทละคร ลีลาการเชิดยังเป็นอีกเสน่ห์สำคัญที่ทุกคนพากันปรบมือชื่นชม และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เอกลักษณ์ของหุ่นสายเสมาอยู่ที่การเคลื่อน ไหวเหมือนมีชีวิต มากกว่านั้นคือเป็นการเคลื่อนไหว "แบบไทย" ในขณะที่หุ่นสายของประเทศอื่น ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในลักษณะที่ค่อนข้างแข็ง ...สมกับเป็นหุ่น

"เทคนิคก็คือคนกับหุ่นต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เราดูในรายละเอียดกับการเคลื่อนไหวให้เหมือนคนมากที่สุด ต้องเหมือนคนไทยด้วยนะ ไม่ว่าจะนั่งจะยืนจะกราบจะก้ม อะไรก็ตามก็ต้องดูเนิบนาบ และอ่อนน้อมเหมือนคนไทย นี่เองที่ทำให้ต่างชาติยอมรับว่านี่คือหุ่นสายแบบไทย" นิมิตรกล่าวอย่างภูมิใจ

กว่าจะฝังความเป็นไทยลงในหุ่นสายได้สำเร็จ กลุ่มเสมาเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างหุ่นและการผูกเชือกแบบพิเศษที่พัฒนาขึ้นเอง โดยบางส่วนพัฒนาองค์ความรู้เดิมมาจากหุ่นสายของแกะดำ...ดำ ที่เหลือเป็นจินตนาการล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็น การหล่อและสร้างหุ่นที่มีความเป็นไทยร่วมสมัย การออกแบบเสื้อผ้าที่ทำให้หุ่น เคลื่อนไหวง่าย เทคนิคข้อต่อและการร้อยรัดผูกพันสายเชือก เป็นต้น

นิมิตรยกตัวอย่างหุ่น "กล้วยไม้" ที่ตอนสร้างผู้ออกแบบนึกถึงใบหน้าสาวเซ็กซี่อย่าง "น้องบอลลูน" เป็นต้นแบบ แต่ก็คงเป็นหุ่นน้องบอลลูนที่ดูไม่เซ็กซี่และไฮโซเลย เพราะอยู่ในชุดปอนๆ สไตล์ folk art ไม่มีเพชรนิลจินดา ปีกแมลงทับ หรือดิ้นทองประดับให้ดูหรูหราแบบหุ่นไทยคลาสสิก ศิลปินหลายคนจึงมองว่าหุ่นสายเสมา เป็นหุ่นราคาถูก แต่ก็สอดคล้องกับหน้าที่ของหุ่น ในการเป็นสื่อการสอนเด็กและเยาวชนตามโรงเรียนในแหล่งชุมชนและชนบท

องค์ความรู้สำคัญอีกอย่างที่กลุ่มเสมาค้นคว้าและพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มเติมความเป็นไทยก็คือ เทคนิคการเชิดแบบใช้ทั้งสองมือเกาะเกี่ยวเส้นเชือกสายต่างๆ เวลาที่ผู้เชิด กรีดกรายนิ้วจึงราวกับดูการร่ายรำแบบไทยที่กำลังร่ายมนต์อยู่เหนือหุ่นไปพร้อมกัน

"ผมภูมิใจที่การเคลื่อนไหวของหุ่นสายของเราไม่เหมือนกับของชาติอื่น ผมเชื่อว่าของเรามีชีวิตมากกว่า แต่ก็บอกไม่ได้ว่า ความมีชีวิตมาจากการฝึกฝน หรือขนบการเคลื่อนไหว หรือมาจากความศรัทธาในครูบาอาจารย์ของพวกเรา" นิมิตรเล่าว่าก่อนการแสดง ผู้เชิดจะไหว้หุ่นอย่างเคารพไม่ต่างจากไหว้ครู

ทุกเดือนมกราคมหุ่นทุกตัวจะนำเข้าพิธีไหว้ครู คณะเสมาทุกคนเชื่อว่าหุ่นของพวกเขามีครู และต้องปฏิบัติกับหุ่นด้วยความนอบน้อมและเคารพ ขณะที่หุ่นสายชาติอื่นก็ถูกปฏิบัติเยี่ยงหุ่น ...ความเชื่อนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้หุ่นไทยไม่เหมือนหุ่นชาติอื่น ทำให้ฝรั่งหลายคนทึ่งจนขนลุก

แม้ว่าชาวโลกจะชื่นชมความเป็นไทยในหุ่นสายเสมา แต่ดูเหมือนว่าคนไทยหลายคนยังไม่ยอมรับความเป็นไทยร่วมสมัยที่อยู่ในหุ่นสายเสมาอย่างเปิดใจนัก

หลังจากกลับมาจากเวทีหุ่นโลกหมาดๆ นิมิตรเคยถูกผู้ใหญ่ในสายวัฒนธรรมตั้งคำถาม ที่ทำให้เขาอึ้งหลายคำถาม เช่น คิดยังไงถึงเอาหุ่นตะวันตกไปแข่งกับฝรั่ง? คิดว่าหุ่นสายเสมา เป็นไทยกี่เปอร์เซ็นต์? บางครั้งก็เจอกับคำพูดทำนองที่ว่า หุ่นสายไม่ใช่เอกลักษณ์ไทย! คนไทย ต้องรักษาเอกลักษณ์ไทย!

"การฟื้นฟูเชิงอนุรักษ์คำนี้เพิ่งมาในตอนที่คนไทยเราเริ่มสร้างชาติ สร้างอัตลักษณ์หรือ เอกลักษณ์เพื่อสร้างความภูมิใจให้ตัวเอง ในวงเล็บก็เพื่อสร้างการขาย อะไรก็ตามที่เรียกว่าวัฒนธรรมไทย" นิมิตรกล่าว

ขณะที่คนไทย "หลงใหล" กับคำว่าศิลปะอนุรักษ์ แต่ประเทศศรีลังกามองตรงกันข้าม หลังจาก ประทับใจความเป็นพุทธร่วมสมัยของหุ่นสายเสมา รัฐบาลศรีลังกาจึงส่งศิลปินอาวุโสผู้มีหน้าที่ดูแลด้านศิลปวัฒนธรรมมาขอให้นิมิตรไปช่วยงานบูรณาการหุ่นสายของเขาให้กลายเป็นศิลปะร่วมสมัย และกลับมามีชีวิตอีกครั้ง แทนการถูกแขวนอนุรักษ์ไว้เฉยๆ เช่นทุกวันนี้

หากมองศิลปะอย่างคนศิลปะ หุ่นสายถือเป็นศิลปะของโลก ไม่ว่าหุ่นสายจะถูกจับไปใช้ด้วยจิตวิญญาณของชนชาติใดก็ตาม หากให้ความยุติธรรมกับศิลปะเพิ่มขึ้นอีกนิด หุ่นสายก็ควรจะถูกสืบสานให้อยู่คู่ชาวโลกตราบนานเท่านาน ด้วยนักเชิดและผู้ชมที่เข้าใจศิลปะการเล่าเรื่องแบบหุ่นสาย

สำหรับการสืบสานเอกลักษณ์ประจำชนชาติหนึ่ง ความร่วมสมัยเป็นอีกแนวทางในการนำพาศิลปะ ดั้งเดิมให้ก้าวผ่านยุคสมัยและกระแสถาโถมจากศิลปะต่างชาติ ด้วยการประนีประนอมระหว่างศิลปะประจำชาติกับศิลปะจากที่อื่น ถือเป็นวิวัฒนาการทาง ศิลปะที่มีทั้งรากและยอด

แทนที่จะรับของใหม่ไว้ทั้งหมดหรือจะเอาแต่รักษาของเก่าเพียงอย่างเดียว เพราะนี่คือ เส้นทางสู่ความล้มหายตายไปของศิลปะบางอย่าง

"ผมเชื่อว่าสิ่งที่เป็นของไทยมาแต่ดั้งเดิม ล้วนผ่านคำว่าร่วมสมัยของยุคนั้นๆ มาก่อนแล้ว ฉะนั้นมันไม่มีคำว่าร่วมสมัยหรืออนุรักษ์ มีแต่ศิลปะที่อยู่กับจิตวิญญาณไทยแล้วเติบโตมาตามวาระ ถ้าคนไทยเข้าใจตรงนี้แล้วให้คุณค่ากับเขา ก็จะทำให้ศิลปะไทยไปได้อีกไกล" นิมิตรอธิบายเพิ่มเติม

สำหรับคนที่อยากดูการแสดงหุ่นสายไทยเรื่อง "เจ้าเงาะ" อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้ชม เพราะพวกเขาไม่มีโรงละครหุ่นเป็นของตัวเอง ไม่มีหลักแหล่งประจำที่ใช้โชว์ จะมีงานแสดงบ้างเมื่อมีผู้ว่าจ้างออกไปแสดง ซึ่งมีงานแสดงหุ่นสายเข้ามาอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นรายได้หลักของบริษัท มันตาศิลปะการแสดงไปแล้ว

แต่ถ้าใครอยากชื่นชมความน่ารักของหุ่นสายไทยคณะนี้ สามารถรอชมได้ที่รายการ "เพื่อนพอเพียง" ทางช่อง TITV

ฟังดูคล้ายจะเป็นข้อจำกัด แต่ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานความพอใจและความพอเพียง นิมิตร เองไม่เคยต้องการให้ทีมงานยึดการแสดงหุ่นสายเป็นอาชีพประจำ ทุกวันต้องหิ้วหุ่นออกไปแสดงตามงานจนไม่มีเวลาสร้างสรรค์งานศิลปะบริสุทธิ์ เขาแค่อยากสร้างศิลปะให้เติบโตอย่าง มั่นคงและพอเพียงไปพร้อมกับศิลปิน บนพื้นฐานความเชื่อว่า เมื่อศิลปะอยู่ได้คนทำศิลปะก็อยู่ได้ ผู้ชมก็อยู่ได้ สังคมก็อยู่ได้ โลกก็ถูกจรรโลงด้วยศิลปะ

...ไม่ว่าศิลปะนั้นจะเป็นศิลปะไทย ศิลปะโลก หรือศิลปะไทยร่วมสมัยก็ตาม ล้วนสามารถจรรโลงโลกให้สวยงามได้เช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.