รกรากชาวบางลำพู

โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

"ชุมชนบางลำพู" ตั้งรกรากมานานกว่า 200 ปีแล้ว ชาวบางลำพูประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่อยู่บริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วัดชนะสงครามไปถึงวัดสังเวชวิศยาราม จรดวัดสามพระยา (ใกล้สี่แยกบางขุนพรหม) บริเวณเก่าแก่สุดได้แก่ ชุมชนรอบวัดชนะสงคราม รองมาเป็นชุมชนรอบวัดสังเวชฯ ชุมชนที่มาตั้งรกรากใหม่สุดคือ รอบวัดสามพระยา มีคนหลายกลุ่มมาอยู่ร่วมกัน ทั้งแขก มอญ จีน ไทย และลาว ชุมชนบางลำพูเป็นกลุ่มคนที่มีพัฒนาการมาจากหมู่บ้านชาวสวนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ห่างๆ กันมาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา เพราะเป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมขัง ในอดีตมีต้นลำพูขึ้นหนาแน่น ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่ต้นพอให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ตรงริมแม่น้ำใกล้ๆ สวนสันติชัยปราการ และไม่ปรากฏมีน้ำท่วมมากๆ มานานแล้ว

บริเวณตั้งแต่วัดชนะสงครามถึงกำแพงพระนครด้านคลองบางลำพู เป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการและขุนนางฝ่ายวังหน้ามาตั้งแต่แรก เป็นถิ่นฐานพวกแขกที่ถูกกวาด ต้อนมาจากการศึกสงคราม มีตลาดเล็กๆ อยู่กลางย่าน เรียกว่า "ตลาดยอด" หรือ "ตลาดบางลำพู" ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการกวาดต้อนผู้คนจากสงครามมาอยู่เพิ่มจนหนาแน่น มีการสร้างวัดรังสีสุทธาวาสและวัดบวรนิเวศ (ภายหลังรวมกัน) สมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนหลายสาย เช่น ถนนพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์ เป็นต้น ชุมชนบางลำพูจึงได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญต่อมา

ตลาดบางลำพูมีขายของตั้งแต่ของสด ของแห้ง ผลไม้ ขนมไทย ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องหอม ของไทยๆ ทองรูปพรรณ เครื่องถ้วยชาม ขันเงินตอกลาย เครื่องหนัง เสื้อผ้าอาภรณ์ อาหารไทย อาหารมุสลิม

บริเวณเชิงสะพานนรรัตน์ มีตลาดผลไม้อีกแห่ง พอหน้าทุเรียนจะมีทุเรียนจากสวนนนทบุรีมาขายมาก จึงเรียกว่า "ตลาดทุเรียน" มีวิกลิเก โต๊ะปิงปอง และโรงหนัง ต่อมากลายเป็น "ตลาดนรรัตน์" ซึ่งเลิกขายทุเรียนและวิกลิเกไปแล้ว เหลือแต่ร้านเสื้อผ้าสำเร็จรูป ชุดนักเรียน นาฬิกา และอื่นๆ ต่อมามีห้างนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขาย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.