|
อวสานดุริยบรรณ มายามรณะของชุมชนดนตรีไทย
โดย
วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่เคยได้แวะเวียนไปหาซื้อเครื่องดนตรีที่ร้าน "ดุริยบรรณ" ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกคอกวัว ย่านบางลำพู เมื่อทราบข่าวการปิดกิจการตอนอายุครบ 90 ปีพอดี ต่างก็พูดได้แค่คำว่า "เสียดาย"
ภาพบรรยากาศขรึมๆ เรียบๆ ภายในร้านที่มีเครื่องดนตรีและชิ้นส่วนต่างๆ เกือบ ทุกประเภทวางเรียงรายเป็นระเบียบ โดยมีเจ้าของร้านผู้หญิงสูงวัยคอยออกมาต้อนรับ พร้อมๆ กับมีครูดนตรีผู้มากฝีมือนั่งเทียบเสียง และคอยให้คำแนะนำความรู้ด้านดนตรีแก่ผู้มาเยือนแบบกันเอง ทั้งมือใหม่ มือสมัครเล่น และมืออาชีพ ที่แห่งนี้เป็นร้านขายเครื่องดนตรีครบครัน ซึ่งเลื่องชื่อด้านคุณภาพและความเป็นตำนานที่เติบโตคู่กับชุมชนดนตรีไทย ณ ย่านบางลำพู...
ชุมชนดนตรีไทยที่ย่านบางลำพู
ย่านบางลำพูเจริญขึ้นมาจากการที่มีพื้นที่ใกล้กับวังเจ้านายหลายแห่ง ประกอบกับมีวัดสำคัญมากมาย ต่อมามีการตั้งสถาบันการศึกษา และหน่วยราชการสำคัญอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ทำให้ย่านนี้ก่อตัวกลายเป็นชุมชนของศิลปินรุ่นโบราณ จนถึงปัญญาชนสมัยใหม่ มีกิจกรรมตั้งแต่การอยู่อาศัย ศึกษาเล่าเรียน ทำมาหากิน และการบันเทิงเริงรมย์ เพื่อตอบสนองคน ในชุมชนอย่างครบถ้วนมาโดยตลอด
ความสัมพันธ์ของบ้าน-วัด-วัง-หน่วยราชการ-สถานศึกษา เป็นตัวแปรส่งเสริมให้ชุมชนคนดนตรีไทยที่ย่านบางลำพู มีกำเนิดและเติบโตคู่มากับพัฒนาการของย่าน จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ระดับประเทศ เพราะเป็นแหล่งรวมแหล่งบันเทิง บ้านนักดนตรีคนสำคัญ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แหล่งบันเทิงในอดีตที่ปัจจุบันเลิกกิจการไปหมดแล้ว ได้แก่ วิกลิเกตาข่วง (วิกไทบรรเลง) วิกลิเกตลาดนานา วิกลิเกหอมหวน กัลยาณมิตร (ที่ตรอกไก่แจ้) โรงละครร้องแม่บุนนาก วิกลิเกตลาดทุเรียน คณะหมื่นสุขสำเริงสรวล โรงหนังบุศยพรรณ โรงหนังศรีบางลำพู เป็นต้น
สำหรับบ้านนักดนตรีคนสำคัญ คือ บ้านเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) หรือวังพระอาทิตย์ สมัยรัชกาลที่ 7 สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมศิลปินของ ราชสำนักมากมาย เพราะท่านเจ้าของบ้านเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง เมื่อมีการตั้งกรมศิลปากร ศิลปินจากที่แห่งนี้ได้โอนย้ายเข้าไปรับราชการ นอกจากนี้ยังมีบ้านนักดนตรีสำคัญของยุคสมัยมากมาย อาทิเช่น สำนักบ้านบางลำพูของตระกูลดุริยประณีตและเครือญาติ บ้านครูบุญยงค์และ ครูบุญยัง เกตุคง บ้านครูโองการ กลีบชื่น บ้านเจ้าเทพกัญญา (ณ เชียงใหม่) บูรณพิมพ์ บ้านครูมนตรี ตราโมท บ้านครูช่าง แสงดาวเด่น บ้านพระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) บ้านหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยชีวิน) เป็นต้น
หน่วยงานสำคัญที่เคยสนับสนุนวงการดนตรีไทย ปัจจุบันบางหน่วยงานยุบ ไปและย้ายไปอยู่ที่อื่น ได้แก่ ศูนย์สังคีต ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า สถานีวิทยุ ท.ท.ท. กรมประชาสัมพันธ์ ทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 กองการสังคีต และวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร โรงเรียนผู้ใหญ่วัดชนะสงคราม
สำหรับร้านค้าที่รองรับคนดนตรี ได้แก่ ร้าน ต.เง็กชวน ที่ถนนพระสุเมรุ ขายแผ่นเสียงที่ขึ้นชื่อ และร้านดุริยบรรณ ขายเครื่องดนตรีมีคุณภาพดีอยู่ใกล้สี่แยกคอกวัว ทั้งสองได้เลิกกิจการไปแล้ว ยังคงเหลือร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ถนนราช ดำเนินที่เปิดแผนกขายเครื่องดนตรีไทยและเพลงไทยสำหรับนักเรียนนักศึกษา
ปัจจุบันบางลำพูเปลี่ยนแปลงไปมาก จากชุมชนการค้าที่รองรับคนในชุมชน และชาวต่างจังหวัดที่เข้ามาทำกิจธุระในกรุงเทพฯ กลายเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกรู้กันดีว่า เป็นแหล่งพักอาศัยราคาถูก คือบริเวณถนนข้าวสารและรอบๆ ซึ่งมีกิจการเกสต์เฮาส์ และร้านอาหารเครื่องดื่ม พร้อมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและเครื่องประดับเงินราคาถูก เป็นจำนวน มาก หน่วยงานหลายแห่งย้ายออกไป กิจการที่เคยรุ่งเรืองค่อยๆ ทยอยปิดตัวลง กิจการที่ยังดำเนินอยู่ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนแปลกหน้าต่างถิ่นที่หมุนเวียนมาทำมาหากิน
ผศ.ณรงค์ เขียนทองกุล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง "สำนักดนตรีบ้านบางลำพู" กล่าวถึงความ เปลี่ยนแปลงของย่านบางลำพู ที่ส่งผลต่อชุมชนคนดนตรีไทยว่า
"ด้วยกระบวนการเติบโตของสังคมเมือง คนในพื้นที่กระจายตัวออกไปเพราะ พื้นที่มีราคาสูงขึ้น เช่น เคยมีสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 พอย้ายไปสี่แยก อสมท แหล่งนักดนตรีและแหล่งบันเทิงก็หายไปด้วย สมัยก่อนนักดนตรีจะมีแหล่งที่มาจับกลุ่มกันยามว่าง เช่น ไปร้านจิตรอารี จะเห็นครูละเมียดนั่งกินเหล้าแก้มมะขามป้อม แล้วก็เดินเข้าไปในกรมศิลปากร เรื่องราวแบบนี้ก็จะหายไป ครูตายไป ลูกหลานโตขึ้นก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น พอกรมประชาสัมพันธ์ ถูกไฟเผาปี 2535 ก็ย้ายออกไปอีก สิ่งที่เคยเป็นของคู่กับชุมชนแล้วหายไป เกิดผลกระทบทางวัฒนธรรมคือ เกิดจุดเปลี่ยน เพราะสัญลักษณ์หายไป แม้ประชาคมบางลำพูค่อนข้างเข้มแข็ง พยายามจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น ชุมชนบางลำพู กับถนนคนเดิน แต่ในที่สุดก็เงียบกันไป เพราะบรรยากาศและสภาพพื้นที่เปลี่ยนไปมาก"
ร้านดนตรีรองรับชุมชน
กล่าวได้ว่า "ร้านดุริยบรรณ" เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งด้านตำนานการก่อกำเนิดและพัฒนาการเติบโต ตลอดจนวาระสุดท้ายแห่งกิจการ ที่สะท้อนสภาพพื้นที่ได้อย่างชัดเจน
ปราณี (ดุริยางกูร) พุ่มพวง ทายาท รุ่นสุดท้ายที่สืบทอดกิจการ เล่าเท้าความว่า ร้านก่อกำเนิดโดยการก่อตั้งของคุณตาสาย ดุริยางกูร ซึ่งสืบเชื้อสายจากครูมีแขก "ต้นตระกูลดุริยางกูร" ผู้เป็นบรมครูทางดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 ท่านรอบรู้ดนตรีในทุกเครื่อง โดยเฉพาะปี่และซอสามสาย ได้รับราชการเป็นครูปี่พาทย์ในกรมปี่พาทย์ ฝ่ายพระบวรราชวัง (พระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระประดิษฐ์ไพเราะ ท่านมีผลงานการประพันธ์เพลงมากมายที่เป็นอมตะ กลายเป็นต้นแบบเพลงประเภท ลูกล้อลูกขัด จนได้รับฉายาว่าเป็น "เจ้าแห่งเพลงทยอย"
ครูมีแขกมีบุตรชายชื่อถึก มีความสามารถในการสีซอด้วง แต่ไม่ได้รับราชการ ต่อมานายถึกมีบุตรชายชื่อสาย มีความสามารถในซอด้วงและซอสามสาย และไม่ได้รับราชการเช่นกัน นายสายได้ก่อตั้งร้านดุริยบรรณขึ้น
"คุณตาสายได้ตั้งร้าน "ดุริยบรรณ" ขึ้นในปี 2457 ซึ่งเป็นชื่อที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงพระกรุณาตั้งชื่อประทาน เพราะเป็นร้านที่ขายทั้งหนังสือและเครื่องดนตรี เน้นการผลิตเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพ มาตรฐานตามแบบอย่างโบราณ และใช้วัสดุอย่างดี สั่งมาจากเมืองนอกก็มี เช่น หางม้า สั่งซื้อจากเยอรมนี เครื่องฝั้นสายซอก็สั่งนำเข้าจากบริษัทบีกริมแอนด์โก ประเทศเยอรมนี แล้วนำมาดัดแปลงเพื่อให้ได้สายซอที่นำไปสีแล้วเสียงนุ่มหวาน ไม่เหมือนใคร จนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของร้าน สินค้าทุกอย่างมีเอกลักษณ์เด่นชัด" ปราณีเล่า
ประมาณปลายรัชกาลที่ 6 นายสายได้ร่วมมือกับขุนเจริญดนตรีกาล (นาย ดาบเจริญโลหิตโยธิน) คิดโน้ตตัวเลขบันทึกเพลงไทยแทนนิ้วซอ นิ้วจะเข้ และขลุ่ย พิมพ์ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม 2464 โดยใช้ชื่อว่า "เลขา สังคีตย์" ได้รับความนิยมมาก ทั้งได้นำขึ้น ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เมื่อเดือนมกราคม 2471 ทรงมีพระราชดำรัสชมเชยว่า "เป็นประโยชน์ในการฝึกหัดดนตรีชั้นต้นได้ดี" ยังความปลื้มปีติแก่ผู้สืบสกุล "ดุริยางกูร" เป็นล้นพ้น
ร้านดุริยบรรณมีความสัมพันธ์กับวัด วัง และรับใช้ชุมชนมาตั้งแต่แรก ศ.นพ.พูนพิศ อมาตยกุล เล่าถึงความเป็นลูกค้าดุริยบรรณว่า สกุล "อมาตยกุล" เป็นตระกูลใหญ่จากอยุธยา มาอยู่แถววัดพระยาธรรม ถนนอรุณอมรินทร์ ซึ่งมีชุมชน คนละคร คนในตระกูลชอบเล่นดนตรีก็ได้กลายเป็นลูกค้าประจำ จากรุ่นสู่รุ่นมาจน ถึงวาระสุดท้ายของกิจการ
"ทวดของผมคือ พระยามหาอำมาตย์ เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้าฯ เป็นเพื่อนรักกับครูมีแขก และลูกของพระยามหาอำมาตย์ป้อมคนหนึ่ง ก็เล่นดนตรีกับครูมีแขก พอลูกหลานมาเปิดร้านขายเครื่องดนตรี พวกเราก็ไปอุดหนุนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 พ่อผมสีซอด้วงและไวโอลินด้วย พ่อจะไปซื้อสายซอที่นั่น พ่อสนิทกับนายสาย ผมก็มีซอด้วงและจะเข้ เป็นของสกุล อมาตยกุล ซื้อจากร้านดุริยบรรณ พอโทนรำมะนา ขาด ผมก็แบกไปให้ดุริยบรรณซ่อม พอทางร้านเห็นก็บอกว่า "อันนี้ของเก่า ที่ร้านทำขายเอง" ที่นี่มีครบทุกอย่าง ผมได้พึ่งดุริยบรรณมาโดยตลอด"
ชีพจรที่เต้นตามจังหวะคนดนตรี
ร้านดุริยบรรณเติบโตต่อเนื่องมาเรื่อย ตราบเท่าที่ยังคงมีการเล่นและสอนดนตรีกันในหมู่คนที่นิยมดนตรีไทย แม้วงการดนตรีไทยทั่วไปจะซบเซาลง ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ห้ามเล่นละครและดนตรีไทย เพราะมองว่าเป็น สัญลักษณ์ของศักดินา แต่นักดนตรีก็ยังแวะเวียนไปสังสรรค์ถ่ายทอดวิชาตามบ้านแบบพี่ๆ น้องๆ ร้านดุริยบรรณก็ยังคงได้ลูกค้ากลุ่มนี้อุดหนุนต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นไม่ขาดสาย
เมื่อเวลาผ่านไป กิจการตกทอดมาถึงยุคของเปี่ยมศรี ผู้เป็นมารดาของปราณี ซึ่งได้พัฒนาร้านจนเฟื่องฟูสูงสุด โดยมีหลานชายช่วยที่โรงงาน ทางร้านได้ฝึกฝนช่างจนชำนาญหลายคน เช่น ช่างเชาว์ ช่างนพ ช่างจ้อน เป็นต้น ที่นี่ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานการทำเครื่องดนตรีของสถาบันการศึกษาต่างๆ ไปในตัว
ปราณีเล่าว่า "คุณแม่บริหารโรงพิมพ์ศิลารักษ์และร้านดุริยบรรณ ตอนอายุ 17 ปี ยังเรียนอยู่ชั้น ม.4 ต้องลาออก มาช่วยกิจการของครอบครัว เนื่องจากพี่สาวเสียชีวิตระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เลิกกิจการโรงพิมพ์ เหลือร้านดุริยบรรณ ท่านได้ทุ่มเทจนเป็นที่รู้จักและเชื่อถือในคุณภาพ ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ช่วง 15 ปีก่อนหน้านี้จะขายดีที่สุด เราไม่เน้นกำไร ใช้วัสดุชั้นดี ซื้อไม้จากโรงเลื่อยที่เชื่อถือได้ ใช้แบบที่คุณตาคิดค้นมาตามแบบโบราณ แต่อุปกรณ์ทันสมัย"
สุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์ไทย) พ.ศ.2536 ที่มีความคุ้นเคยสนิทสนมกับร้านดุริยบรรณมาตั้งแต่รุ่นคุณแม่เล่าว่า
"แถบย่านบางลำพู มีสำนักดนตรีดังๆ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านนี้ หรือสำนักครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะที่ย่านวัดใหม่อมตรส หรือสำนักบ้านครูจางวางทั่ว (วัดกัลยาณมิตรวาส) ที่วังบางขุนพรหม คนที่เล่นดนตรี จากทั่วประเทศก็ต้องมาหาซื้อเครื่องดนตรีที่นี่ ก่อนจะมีร้านดุริยบรรณที่บ้านก็เคยทำเครื่องดนตรีขาย คุณพ่อเคยรับราชการก็ต้องลาออกมาทำเครื่องดนตรี เพราะคนมาซื้อเครื่องดนตรีจะเอาลูกหลานมาฝากเรียนเป็นปี พอได้วิชาก็กลับไปตั้งวงที่บ้าน สมัยก่อนการหาซื้อเครื่องดนตรีจะไปว่าจ้างกันตามบ้านที่มีชื่อเสียง คุณพ่อตั้งร้านได้ 10 กว่าปีก็เลิก เพราะมีขั้นตอนยุ่งยาก และกำไรน้อย ตอนหลังทางร้านดุริยบรรณ มาเปิดกิจการ ก็ไปซื้อเครื่องดนตรีทุกอย่าง ได้ที่นี่"
ปกติทางร้านดุริยบรรณจะขายปลีก หน้าร้านและขายส่ง โดยมีคนมารับไปขาย หรือส่งขายไปตามโรงเรียนทั่วประเทศ กิจการรุ่งเรืองมาโดยลำดับ จนกระทั่งเปี่ยมศรีถึงแก่กรรมไม่นานก็เกิดภาวะวิกฤติ เศรษฐกิจในปี 2540 ทางร้านขาดทุนมาโดยตลอด จึงตัดสินใจขายร้านบริเวณสี่แยก คอกวัวแก่ร้านทำเครื่องประดับเงิน แล้วย้ายกิจการไปอยู่แยกถนนสุโขทัย หลังจากนั้นไม่นานก็ปิดกิจการเป็นการถาวรมาแล้ว 2 ปี ด้วยสาเหตุหลายประการ นอกจากการขายที่ลดลงจนอยู่ในภาวะขาดทุนต่อเนื่องแล้ว ที่สำคัญคือเครื่องทำสายซอซึ่งซื้อจากบริษัทบีกริมแอนด์โก ประเทศเยอรมนี มาดัดแปลงใช้งานนานกว่า 90 ปี ไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป
ด้านการผลิตก็ประสบปัญหามาก มาย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อวัสดุล่วงหน้านานเป็นปี พอของที่เคยสต็อก เช่น ไม้ที่สั่งซื้อไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้วหมดลง ต้องสั่งซื้อไม้ใหม่เข้ามา ราคาล่าสุดจึงเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นเท่าตัว วัสดุก็หายากขึ้น จึงเกิด วัสดุทดแทนที่ราคาถูกกว่ามาก เช่น ในท้องตลาดใช้สายซอและคันชักที่ทำจากไนล่อนหรือเลยอง หรือขลุ่ยพลาสติก มีราคาถูกและทนทานกว่า แต่ทำให้เกิดเสียง สูงแหลม ฟังกระด้างกว่า
ขั้นตอนการผลิตและนำเข้าวัสดุบางอย่างจากต่างประเทศ มีความยุ่งยาก เช่น หางม้าจากเยอรมนีใช้ทำคันชักซอ ต้องเสียภาษีนำเข้าสูงมาก จะสั่งเข้ามาขายครั้งละ 20 กิโลกรัม ขายนาน 7-8 ปี การนำเข้าต้องให้กรมปศุสัตว์ออกใบรับรองว่าปราศจากเชื้อโรค แล้วจึงนำมาฟอก แช่น้ำร้อน ก่อนนำไปประกอบเป็นสินค้า
อีกทั้งการบริหารจัดการ เป็นลักษณะอุตสาหกรรมครอบครัว ใช้คนงานประมาณ 10 กว่าคน ตอนหลังช่างหลายคนแยกออกไปตั้งโรงงานผลิตเอง ประกอบ กับปราณีทายาทผู้ดูแลกิจการ มีอายุ 72 ปีแล้ว
เธอกล่าวว่า "เลิกกิจการเพราะรู้สึกล้า คนซื้อหลายคนแยกแยะไม่ออกระหว่างของดีกับของราคาถูก แม้เสียดายแต่ก็โล่งใจ ลูกๆ ก็มีการงานที่มั่นคง เขาไม่สืบทอดกิจการต่อ เพราะไม่อยากรับปัญหาการควบคุมดูแลช่าง ที่นี่อยู่กันแบบลูกหลาน ก็ทำให้ช่างขาดความตรงไปตรงมา มีคนเอารายชื่อช่างที่อ้างว่าเคยทำงานที่นี่ ซึ่งได้จากเว็บไซต์ดนตรีไทยมาให้ดู ดิฉันไม่รู้จักสักคน มีการอ้างชื่อทางร้านมากมาย แต่ไม่อยากฟ้องร้อง และได้จดลิขสิทธิ์ชื่อร้านไว้แล้ว"
เมื่อเลิกกิจการไปแล้ว ในแต่ละวันปราณียังมานั่งตรงที่เคยเป็นร้าน คงสภาพบรรยากาศการตั้งโชว์สินค้าเท่าที่เหลือจากการขาย เหมือนเมื่อสมัยยังเปิดกิจการ และหาเวลาว่างไปตีกอล์ฟบ้าง ตกบ่ายก็กลับมานั่งพักผ่อนฟังเพลงยุคเก่าๆ และมองผู้คนผ่านไปมาบนท้องถนน เธอได้มอบเครื่องดนตรีให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ภาคตะวันออก กรมศิลปากร ตั้งแสดง อยู่ที่วัดโบสถ์ อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี สามารถแวะเวียนไปเยี่ยมชมกันได้
"เพลงที่เล่นกันทุกวันนี้ไม่เหมือนสมัยดิฉันยังเด็กๆ คิดว่าเป็นเพราะเครื่องดนตรีมีลักษณะเปลี่ยนไป ดิฉันเล่นดนตรีไม่เป็น แต่ชอบฟังเพลง เพลงสมัยก่อนฟังแล้วเย็นชื่นใจ แต่สมัยนี้มีเสียงสูงขึ้น รู้สึกหนวกหูมากกว่า ดีใจที่เห็นคนเปิดร้านขาย เครื่องดนตรีขึ้นมาหลายแห่ง แต่อยากให้นึกถึงมาตรฐานคุณภาพดนตรีไทยด้วย"
ดนตรีไทยในคนรุ่นใหม่
แม้วันนี้ร้านดุริยบรรณจะปิดตัวลง แต่คนในแวดวงดนตรีไทยกลับมีทางเลือกซื้อหาเครื่องดนตรีได้มากขึ้น เพราะมีร้านขายเครื่องดนตรีเปิดกิจการขึ้นอีกมากมายทั่วประเทศ รวมทั้งมีการการันตีจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ว่าเป็นสินค้าชุมชน (OTOP) ได้มาตรฐาน มีขายผ่านทางเว็บไซต์ในทุกระดับราคา
แต่ความเป็นตำนานของดุริยบรรณ ยังอยู่ในความทรงจำของคนดนตรี ที่ไม่มีใครมาเทียบเทียมได้ ไม่ว่าจะเป็นการสืบเชื้อสายมาจากบรมครูแห่งยุคสมัย และมีพัฒนาการคู่มากับชุมชนดนตรีไทยอย่างแท้จริง หรือลักษณะการบริการแบบมืออาชีพที่เป็นกันเอง โดยการเอาครูดนตรีมานั่งเทียบเสียงกันที่หน้าร้าน คอยให้คำแนะนำคนซื้อในสไตล์คอดนตรีด้วยกัน จนกระทั่งหลายรายได้ฝากตัวเป็น" ศิษย์-อาจารย์" กันอย่างไม่ถือตัว พร้อมสินค้าคุณภาพดีที่ครบครัน ซึ่งถ้าหากคนซื้อยังไม่พอใจ ทางร้านก็แนะนำแหล่งที่มีชื่อเสียงให้อย่างเปิดกว้าง
ครูสุดจิตต์กล่าวว่า "เดี๋ยวนี้สังคมกว้างขึ้น แต่ละปีมีนักศึกษาด้านดนตรีไทย จบกันไปไม่ต่ำกว่า 500 คน ฟังดูเหมือนจะขยายตัวแต่ก็ไม่ก้าวหน้า เพราะวิชาน้อยลง ครูสมัยนี้ไม่รอบด้านพอ ครูเก่าๆ ก็ตายไปเยอะ ใครอยู่ถึง 70-80 ปี เขาให้ไปสอนไม่ได้หยุด จนต้องเหนื่อยตายเอง พอเปิดบ้านสอนก็เป็นภาระ หนวกหูทั้งวัน นอนไม่ได้ เปิดตั้งแต่เช้ากว่าจะเลิกก็ 2 ทุ่ม ครูไม่เคยคิดหยุด ทำแล้วก็ต้องทำต่อไปเพราะเด็กมาเอาวิชา แต่ทางราชการไม่เคยสนับสนุนเลย ถ้ารัฐบาลส่งเสริมดนตรีไทยให้คู่บ้านเมือง จะรุ่งเรืองไม่มีวันจบสิ้นและจะพัฒนาคนด้วย ไม่มีดนตรีไทย ประเทศจะอยู่อย่างไร"
แต่ที่ผ่านมาทุกรัฐบาล ล้วนมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามอย่างตะวันตกและได้เบียดขับพื้นที่ทางวัฒนธรรม ในชีวิตประจำวันให้ค่อยๆ สลายตัวไปจากชุมชนสมัยใหม่ กลายเป็นกระแสของคนรุ่นใหม่ที่ทำไปตามหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ไม่ได้รู้สึกอภิเชษฐ์ชื่นชมในชีวิตจริง ผศ.ณรงค์นำเสนอทางออกว่า
"นักดนตรีไทยรุ่นใหม่แข่งกันมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะมีการประชันมากขึ้น ก็เป็นศัตรูกัน คนเล่นกันมากขึ้นด้วย จึงไม่ รู้จักกัน และไม่มีย่านที่มาพบปะกันได้อย่าง บางลำพูในอดีตอีกแล้ว จึงไม่มีบรรยากาศ เป็นกันเอง มาเล่นเพราะมีความสุขที่ได้เล่น อย่างแต่ก่อน ย่านบางลำพูเปลี่ยนไป มีคนต่างชาติเข้ามาเยอะ มีความพยายามจะรักษาวัฒนธรรมเพื่อดึงดูดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่เป็นแบบปลอมๆ คือ เป็นสิ่ง สร้างใหม่ที่ไม่เคยมีในย่านนี้มาก่อน เช่น ร้านค้าที่ตกแต่งให้ดูเก่า การเล่นสงกรานต์ ที่ถนนข้าวสาร อีกทั้งเจ้าของพื้นที่ก็เปลี่ยน มือจากเดิมไปมาก
ภาครัฐควรจัดให้มีกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม เพราะคนที่อนุรักษ์เป็นกลุ่มย่อยๆ ก็ทำได้ระดับหนึ่ง เรื่องพวกนี้ไม่ทำ กำไร แล้วตัวเจ้าของก็ไม่เห็นความสำคัญ การดูแลรักษาก็ไปคนละทิศละทาง แต่พอมีเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ความเปลี่ยน แปลงต่างๆ ก็ตามมาอย่างรวดเร็ว ถ้าเราดูต่างประเทศในโซนเมืองเก่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรนัก เพราะพอเปลี่ยนผังเมือง วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย อยู่รอดได้ บ้าง ไม่รอดบ้าง ก็เป็นไปตามสภาพ การที่ ร้านดุริยบรรณปิดตัวไป ภาครัฐน่าจะมาช่วยให้เป็นแหล่งสาธารณะ ให้วิชาได้รับการถ่ายทอด หรือดำเนินการต่อได้"
แต่การนำเสนอเรื่องกองทุนอุดหนุน การดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องทางวัฒนธรรม ดูจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยไปอีกนาน เพราะงบประมาณภาครัฐส่วนใหญ่วนเวียนอยู่กับการสร้างเขื่อน ถนน ไฟฟ้า ประปา ส่วนภาคธุรกิจก็มุ่งแสวงหาผลกำไรเป็นหลัก แม้จะมีกระแสอนุรักษ์กันบ้าง แต่ก็ไม่ได้เข้าถึงแก่นแท้ของชุมชนรอบตัวกันสักเท่าไร การทำเรื่อง CSR เป็น ได้เพียงแฟชั่น ศ.นพ.พูนพิศมองว่าโดยตัวธุรกิจในแวดวงดนตรีไทยเองก็ดูจะโตได้ไม่ไกลนัก
"นักดนตรีมีเยอะขึ้น แต่ร้านขายเครื่องดนตรีอยู่ไม่ได้ เพราะเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งใช้ไปได้ตลอดชีวิต แล้วเด็กที่จะฝึกหัดเล่นก็ต้องใช้เครื่องราคาถูก ซึ่งคุณภาพไม่ดี เล่นๆ ไปแล้วก็เบื่อเลิกไป ธุรกิจดนตรีไทย แบ่งได้เป็น 1. การเรียนการสอนในโรงเรียน 2. ร้านขายเครื่องดนตรี 3. การบันทึกเสียง ธุรกิจดนตรีไทยไปโตตรงที่ Production ตั้งแต่การบันทึกเสียงไปจนถึงเรื่องลิขสิทธิ์เพลง ซึ่งมีปัญหากฎหมายอยู่เบื้องใต้ และมีการปั่นโดยค่าย เพลง ทำให้วงการเติบโตไม่ได้จริง เป็นเรื่อง "ต่างคนต่างทำ" กระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้ สนับสนุน จะอยู่กันได้หรือไม่...ก็อยู่โดยตัวมันเอง"
ทว่าความจริงแล้ว การดูแลมรดกวัฒนธรรมที่มีลมหายใจ (Living Heritage) เช่นนี้ น่าจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรม และการทำให้เกิดรูปธรรมต้องร่วมกับกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
บำรุง พาทยกุล หัวหน้าภาควิชาดุริยางค์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรมและผู้อำนวยการโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ ให้ความเห็นในฐานะที่มีหน้าที่โดยตรงว่า
"ดนตรีไทยค่อยๆ หมดไปจากชีวิต ประจำวัน เพราะสังคมไทยไม่เหมือนก่อน ไม่นิยมนำดนตรีมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ แล้ว ถ้าจะฟังเพื่อความเพลิดเพลิน ก็ไม่เข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ การจะรักษาศิลปวัฒนธรรมที่เป็นแบบแผน ก็สำคัญอยู่ แต่โลกเปลี่ยนไปแล้ว เราจะปรับตัวก้าวตามโลกวันนี้พรุ่งนี้อย่างไร เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมไทยยังเป็นไทยในโลกใหม่ อย่าไปมองว่าการทำอะไรที่แตกต่างจะทำลายแบบแผนเดิมลง มันเป็นเพียงการปรับตัวให้เกิดสิ่งใหม่ๆ บนรากฐานเดิม แล้วต่อยอดออกไปได้ไม่สิ้นสุด
ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์ทำทั้งอนุรักษ์ และเผยแพร่ แต่ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้ารัฐมีนโยบายส่งเสริมดูแลวงการดนตรีไทย เหมือนที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ สนับสนุน นักกีฬาอย่างเป็นระบบ จะไปได้เร็วมาก เพราะการสร้างมาตรฐานทำหมดแล้ว ทั้งเครื่องดนตรี การฝึกสอนและผลงานเพลงต่างๆ แต่ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างจริงจังในสังคม"
ร้านดุริยบรรณเป็นเพียงตัวอย่างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมและชุมชน ซึ่งสะท้อนภาพภาครัฐและเอกชน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ โดยไม่คิดถึงการโอบอุ้มคุณค่าที่ดำเนินคู่มากับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน วิถีใหม่ที่คนรุ่นหลัง ดำเนินไปจึงไม่สอดคล้องกับหยาดเหงื่อแรงงานของคนรุ่นก่อน ที่พัฒนาสั่งสมกันมายาวนานหลายชั่วคน ทำให้เกิดความแปลกเปลี่ยน และส่งผลให้วัฒนธรรมของชาติไม่อาจคงอยู่ เพื่อรองรับชุมชนคนรุ่นหลังได้ต่อไป
แต่ละวันที่ล่วงไปในยามค่ำคืนอันสงบงันอย่างวังเวง ณ บ้านพระอาทิตย์อันเป็นแหล่งต้นกำเนิดกรมศิลปากรไทยนั้น ไร้สรรพสำเนียงดนตรีไทยที่เคยเจื้อยแจ้วจากฝีมือนักดนตรีชั้นครูมานานแล้ว ที่นี่กลายเป็นกิจการหนังสือพิมพ์ภายใต้หัว "ผู้จัดการ" มายาในอดีตซ้อนเงาด้วยสภาพการเมืองที่วุ่นวาย ซึ่งมาพร้อมกับภาวะหดตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ถนนพระ อาทิตย์ที่เคยมีชาวต่างชาติเดินท่องราตรีกันขวักไขว่ไม่นานมานี้ หายไปราวกับมายา เช่นกัน
หากทว่าบนถนนยังมีรถวิ่งไปมาเป็นระยะๆ ปรากฏแสงไฟส่องสว่างออกมาจากร้านเหล้าริมถนนตลอดรายทาง สลับกับเสียงเพลงฝรั่งต่างยุคต่างสไตล์ ตามแต่ละร้านจะสรรหามาเรียกลูกค้า ดังรอดมาระคนเสียงสรวลเสเฮฮาของผู้คนในร้านที่อยู่ในวัยกำลังศึกษาเล่าเรียนเป็นส่วนใหญ่
สัญลักษณ์ของย่านบางลำพูค่อยๆ ลบเลือนไป ความเป็นชุมชนคนดนตรีไทย ณ ที่แห่งนี้ก็จางหายไปตามกัน แม้แต่ในความทรงจำอันรางๆ ของคนรุ่นเก่า เพราะที่นี่ไม่มีพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์วัฒนธรรมของชุมชนที่จะคอยเล่าขานเรื่องราวแก่ผู้คนที่ผ่านไปมา ให้ได้รับรู้ถึงจิตวิญญาณของสิ่งที่ไม่มีวันกลับมาอีกเลย...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|