ป่าศักดิ์สิทธิ์ ระบบอนุรักษ์อันเก่าแก่

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงหน้ามรสุม ผืนนาของรัฐเบงกอลตะวันตกจะเขียวขจีไปด้วยกล้าข้าวแข็งแรง ท้องฟ้ามักครึ้มด้วยเมฆฝนที่คล้อยตัวต่ำ เคลื่อน และเปลี่ยนทิศรวดเร็ว อีกภาพที่เห็นจนเจนตาคือหมู่นกกระยางที่ร่อนปีกหากินอยู่ตามนาข้าว ลำตัวขาวผ่องของพวกมันเหมือนดอกไม้แซมท้องนา เหมือนปุยนุ่นที่ลมจะพัดหอบไปตามใจ

แม้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผืนป่าและละเมาะไม้ที่เคยเป็นแหล่งอาศัยของนกกระยางและสัตว์น้อยใหญ่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เบงกอลตอนล่างยังถือเป็นเขตที่อุดมด้วยไม้ยืนต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ตามละเมาะหรือป่าขนาดย่อมที่ถือกันว่าเป็น "ป่าศักดิ์สิทธิ์"

ป่าศักดิ์สิทธิ์ที่พบทั่วไปในอินเดีย มักเป็นผืนป่าละเมาะ หมู่ไม้ขนาดย่อม หรือไม้ยืนต้นใหญ่เก่าแก่ ที่ชุมชนอุทิศหรือนับถือสืบทอดกันว่าเป็นที่สถิตของวิญญาณบรรพบุรุษ เทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการตั้งกฎและข้อห้ามถือปฏิบัติร่วมกัน เช่น ห้ามตัดไม้ใหญ่ ห้ามล่าสัตว์ จนถึงห้ามสวมรองเท้าเข้า ไปในพื้นที่ป่า ป่าศักดิ์สิทธิ์บางแห่งยังเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับจัดงานพิธีโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการเพาะปลูก

จากการพัฒนาทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ล้มเหลวตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อพื้นที่ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้นักนิเวศและผู้สนใจด้านสิ่งแวดล้อมสาขาต่างๆ หันมาศึกษาและวิจัยภูมิปัญญาชาวบ้าน ในพื้นที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พบว่าความเชื่อเรื่องป่าศักดิ์สิทธิ์ นอกจากจะช่วยอนุรักษ์ผืนป่ายังมีส่วนสำคัญต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและความสมดุลทางธรรมชาติ

พิพิธภัณฑ์มนุษยศาสตร์แห่งชาติของอินเดีย เมืองโบปาล (The Indira Gandhi Rashtriya Manav Sangrahalaya : IGRMS) องค์กรสำคัญที่ศึกษาในเรื่องนี้ประเมินว่า ทั่วอินเดียมีป่าศักดิ์สิทธิ์ อยู่มากกว่า 50,000 แห่ง หนาแน่นมากในรัฐเคราล่า มหาราชตระ และมัธยประเทศ ซึ่งแต่ละรัฐมีมากกว่า 2,000 แห่ง ป่าศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละพื้นที่มีลักษณะทาง ภูมิประเทศ ชีวภาพ ตลอดจนระบบความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไป รวมถึงระบบกรรมสิทธิ์และการจัดการ ในรัฐอรุณาชัลและสิกขิม ป่าศักดิ์สิทธิ์มักอยู่ในความดูแลของวัดในพุทธศาสนา ในราชาสถานมักขึ้นกับวัดฮินดู ส่วนพื้นที่อื่นๆ บ้าง อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ กรมสรรพสามิต องค์กรศาสนา ชนพื้นเมืองตระกูลใดตระกูลหนึ่งบ้าง เป็นสมบัติสาธารณะที่ดูแลร่วมกันโดยชุมชน

เพื่อร่วมฟื้นฟูความสำคัญของป่าศักดิ์สิทธิ์ ในปี 1999 ทางพิพิธภัณฑ์ฯ จัดเทศกาลป่าศักดิ์สิทธิ์ ขึ้น นอกจากจะมีการสัมมนาทางวิชาการ การแสดง ทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมในป่าศักดิ์สิทธิ์ อาทิ ระบำเตยัมจากรัฐเคราล่า ระบำ Lai Haraoba ของชาวมานีปุรี งานฉลองซาร์หุลของชาวไบกัสจาก รัฐมัธยประเทศ ฯลฯ พร้อมกับจำลองลักษณะป่าศักดิ์สิทธิ์ที่โดดเด่นจาก 6 รัฐ มาปลูกในโซนสาธิตของพิพิธภัณฑ์ ได้แก่

Kovil-Kadu ป่าศักดิ์สิทธิ์จากรัฐทมิฬนาดู ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของพญางู ในวัน พระจันทร์เต็มดวง ชาวบ้านนิยมกราบไหว้บูชา โดย เชื่อว่าความอุดมสมบูรณ์ของป่าศักดิ์สิทธิ์มีผลต่อฟ้าฝนและความอยู่ดีมีสุขของพวกเขา ติดกับบริเวณ ป่าที่ถือเป็นพื้นที่สงวน ชาวบ้านยังกันพื้นที่ไว้เป็นแปลงปลูกดอกไม้สำหรับใช้ในพิธีบูชา

Maw-Bukhar ป่าศักด์สิทธิ์จากรัฐเมฆาลัย ซึ่งสืบทอดประเพณีความเชื่อกันมาในหมู่ชนพื้นเมือง ก่อนการเข้ามาของศาสนาคริสต์และฮินดู ปัจจุบันชาวบ้านยังคงความเชื่อที่เหนียวแน่นว่าการรบกวนผืนป่าเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดเพทภัยนานาประการ

Devrahati ป่าศักดิ์สิทธิ์ที่พบในรัฐมหาราชตระ ตามประเพณีดั้งเดิมการจัดการป่าเหล่านี้จะอยู่ ในความดูแลของกรรมการชุมชนที่เรียกว่า Mankaries และ Goakars แต่ปัจจุบันตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมสรรพสามิต ป่าเหล่านี้ถือเป็นแหล่งพืชสมุนไพร และพันธุ์ไม้หายากหลายชนิด ซึ่งบางชนิดไม่พบในแหล่งธรรมชาติใดอีกนอกจากในผืนป่าศักดิ์สิทธิ์

Oran ป่าศักดิ์สิทธิ์ที่พบในภูมิประเทศกึ่งทะเลทรายในรัฐราชาสถาน อยู่ในความดูแลของวัดประจำหมู่บ้านของชาวบิชนอย ซึ่งมีกฎเหล็กในการคุ้มครองพืชและสัตว์ในป่าโอรัน ผืนป่าขนาดย่อมเหล่านี้เป็นที่อยู่และแหล่งหากินสำคัญของนกและแบล็กบัคส์ ทั้งเป็นเสมือนธนาคารที่เก็บรักษาพันธุ์พืช ใกล้สูญพันธุ์ไว้กว่าร้อยชนิด

Sarna ป่าศักดิ์สิทธิ์ที่พบในรัฐจาร์คันด์และชัตติสการ์ห ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่สถิตของ Mahadani เทพารักษ์ที่คอยปกปักรักษาหมู่บ้านของพวกเขา นอกจากกฎและข้อห้ามที่จะไม่รบกวนพืชและสัตว์ในป่าเหล่านี้ ทุกสามปีชาวบ้านจะทำพิธี บูชายัญด้วยการเชือดควายถวาย ป่าศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ยังเป็นที่สำหรับจัดงานเทศกาลสำคัญประจำปี อาทิ วันขึ้นปีใหม่ งานฉลองโค กระบือ งานทำขวัญกล้าและทำขวัญข้าว เป็นต้น

Pavithra Vanam หรือ Kavu ป่าศักดิ์สิทธิ์ที่พบในรัฐเคราล่า ซึ่งมีความเชื่อแตกต่างกันไประหว่างภาคเหนือและใต้ โดยภาคเหนือเชื่อว่าป่าเป็น ที่สิงสถิตของดวงวิญญาณบรรพบุรุษและเทพฝ่ายหญิง เช่น อัมมา ธุรคา มรุธา ฯลฯ ขณะที่ทางใต้ถือว่าป่าเป็นที่ของพญางูและพญานาค งานประเพณีสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับป่าคาวู ได้แก่ พิธี Sarpam Pattu ที่จะจัดขึ้นทุก 10 หรือ 12 ปี และระบำเตยัม อันขรึมขลังและขึ้นชื่อของเคราล่า

ตลอดกลางปีที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ถึงความสำคัญของป่าศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน ทาง พิพิธภัณฑ์ฯ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดนิทรรศการสัญจรไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับในรัฐเบงกอลตะวันตก นอก จากตัวนิทรรศการและงานแสดงทางวัฒนธรรมแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ร่วมกับ Centre for Interdisciplinary Studies (CIS) ได้จัดทริปนำชมป่าศักดิ์สิทธิ์ในท้องถิ่น อาทิ ป่าศักดิ์สิทธิ์ ของหมู่บ้านปาปุรี ซึ่งเป็นแนวต้น มะขามและป่าไผ่เก่าแก่ ส่วนหนึ่งตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน อีกส่วนอยู่รอบสระน้ำสาธารณะ เป็นที่อยู่และวางไข่ของนกกระยาง แห่งที่สองเป็นหมู่ต้นมะขามเก่าแก่ของหมู่บ้านจักกินาการ์ ซึ่งเป็น ที่อยู่ของ Open-bill stork หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ชามุกโคล์ หรือนกกินหอย

แห่งสุดท้ายเป็นละเมาะไม้ค่อนข้างทึบ อาณา บริเวณราว 3 ไร่ ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน Pashuya จากม้านั่งหินเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ใกล้ศาลขนาดเล็ก ประมาณ ว่าป่าศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มีอายุไม่น้อยกว่า 500 ปีปัจจุบันถูกขนาบด้วยพื้นที่เพาะปลูก วัดในศาสนาฮินดู และทางหลวงแผ่นดิน เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ ปลูกป่าในความดูแลของกรมป่าไม้ที่อยู่อีกฟากของถนน เห็นได้ชัดถึงความแตกต่างของความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่ป่าของกรมป่าไม้มีแต่แนวต้นกระถินณรงค์ แต่ป่าศักดิ์สิทธิ์ในระบบอนุรักษ์อันเก่าแก่ดกดื่นไปด้วยไม้ยืนต้น เถาวัลย์ ไม้พุ่ม และพืชคลุมดินนานาชนิด โดยเฉพาะต้นไทรและอินทผาลัม ซึ่งถือเป็นกุญแจบอกความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศทั้งเป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมาก

ทุกวันนี้ ระบบอนุรักษ์ในรูปของป่าศักดิ์สิทธิ์ ส่อเค้าถึงความอ่อนแอ ทั้งในเชิงประเพณีความเชื่อและความเสื่อมโทรมทางชีวภาพ จากปัจจัยสำคัญ เช่น การตัดไม้เชิงพาณิชย์ โครงการพัฒนารูปแบบต่างๆ การท่องเที่ยวและการแสวงบุญ การเข้ามาของศาสนาและความเชื่ออื่น ซึ่งทำให้ประเพณีความเชื่อดั้งเดิมที่มักอยู่ในรูปของการบูชาธรรมชาติ อ่อนแอลง

นิทรรศการสัญจรดังกล่าวจึงมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของป่าศักดิ์สิทธิ์ในชุมชนของตน และไม่ด่วนตัดสินประเพณีความเชื่อเก่าแก่ว่าเป็นเพียงเรื่องคร่ำครึงมงายเสมอไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.