|
ทัวร์สุขภาพจะมาแรง
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปล/เรียบเรียง
เรื่อง ดิอีโคโนมีสต์ 14 สิงหาคม 2551
ถึงยุคทัวร์สุขภาพเฟื่องฟูได้ประโยชน์ถ้วนหน้าทั้งชาติร่ำรวยและยากจน
ในบรรดาอุตสาหกรรมทั้งหมด ดูเหมือนว่าการรักษาพยาบาลจะเป็นอุตสาหกรรมที่จำกัดตัวอยู่แต่ภายในประเทศมากที่สุดมานานแล้ว แต่กระแสโลกาภิวัตน์ยังคงแผ่ไปถึงจนได้ ขณะนี้การ outsource งานเก็บประวัติคนไข้และการอ่านภาพเอ็กซ์เรย์ โดยมอบหมายให้บริษัทในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่ารับงานไปทำแทนโรงพยาบาลในประเทศร่ำรวย ได้กลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ยังไม่ต้องพูดถึงการรับสมัครแพทย์และพยาบาลจากชาติกำลังพัฒนาเข้าไปทำงานในชาติร่ำรวยที่กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แม้ว่าจะยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่เลิก และสิ่งที่จะเติบโตเป็นส่วนต่อไปของอุตสาหกรรมนี้ก็คือ การที่คนไข้จากชาติร่ำรวยจะหลั่งไหลเข้าไปใช้บริการรักษาพยาบาลในชาติกำลังพัฒนาที่เรียกกันว่า "ทัวร์สุขภาพ" ซึ่งคาดว่าจะเฟื่องฟูอย่างมากในอีกไม่ช้านี้
มีชนชั้นกลางชาวอเมริกันนับสิบๆ ล้านคนที่ไม่ได้ทำประกันหรือทำประกันในวงเงินต่ำ ในขณะที่ค่ารักษาพยาบาล กลับสูงขึ้นทุกวัน ชาวอเมริกันเหล่านี้และบรรดานายจ้างที่ระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของพนักงาน รวมไปถึงบริษัทประกัน จึงพากันมองหาแหล่งให้บริการรักษาพยาบาลนอกประเทศที่สามารถจะช่วยประหยัดรายจ่ายในด้านนี้ลงได้ ในเวลาเดียวกันนั้นเอง โรงพยาบาลที่ดีที่สุดทั้งหลายในเอเชียและละตินอเมริกา ต่างก็สามารถผงาดขึ้นทัดเทียมและดีกว่าโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศร่ำรวย ทั้งในด้านความปลอดภัยและคุณภาพ มีการประมาณการว่า ชาวอเมริกันจะสามารถประหยัดเงินได้ถึง 85% หากเลือกไปใช้บริการโรงพยาบาลในต่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยว "ทัวร์สุขภาพ" ก็กำลังจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากต่ำกว่า 1 ล้านคน ในปีที่แล้ว จะพุ่งพรวดเป็น 10 ล้านคนภายในปี 2012 ซึ่งเมื่อ ถึงเวลานั้น โรงพยาบาลในชาติกำลังพัฒนาจะสามารถแย่งรายได้จากโรงพยาบาลในสหรัฐฯ ไปได้ถึงประมาณ 160,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางคนที่ไม่อยากให้ความรุ่งเรืองดังกล่าวมาถึง เพราะกลัวว่า หากคนไข้ต่างชาติแห่กันเข้าไปใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศกำลังพัฒนากันมากๆ แล้ว จะกลายเป็นตัวดูดเงินและความชำนาญออกไปจากระบบสาธารณสุข ของรัฐในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งก็มีงานล้นมือกันอยู่แล้ว ก่อให้เกิดภาวะสมองไหล และจะทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลชาวบ้านธรรมดายิ่งแย่ลงไปอีก บางคนก็ติงว่า หากคนไข้จากประเทศร่ำรวยนิยมไปเข้าโรงพยาบาลในประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้ประเทศร่ำรวยถือโอกาสไม่ยอมแก้ปัญหาในระบบสาธารณสุขของตัวเอง นั่นคือการพยายามลดค่ารักษาพยาบาลที่แสนแพงและปรับปรุงคุณภาพของการรักษาพยาบาล
ภาคเอกชนไม่ควรจะถูกกล่าวโทษสำหรับความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขภาครัฐในชาติกำลังพัฒนา ซึ่งทอดทิ้งละเลยคนยากจนมานานแล้ว ก่อนที่จะเกิดทัวร์สุขภาพ ของคนไข้จากต่างชาติเสียอีก อันที่จริงแล้ว การรับรักษาคนไข้ทัวร์สุขภาพจากชาติร่ำรวย อาจจะส่งผลดีต่อชาติกำลังพัฒนา เรียกว่าได้ประโยชน์ทั้งคนรวยและคนจน แน่นอนว่าโรงพยาบาลที่รับรักษา "นักท่องเที่ยวทางการแพทย์" ที่มากับทัวร์สุขภาพจากต่างประเทศ ต้องว่าจ้างบุคลากรในท้องถิ่น และสร้างงานใหม่ๆ นอกจากนี้ยังอาจจะจูงใจให้แพทย์และพยาบาลจากชาติกำลังพัฒนาที่ไปทำงานอยู่ในชาติร่ำรวยคิดจะกลับบ้านเกิดเมืองนอนได้ ทั้งยังจะกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นเข้าสู่อุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลมากขึ้น และยังจะเป็นกระจายความรู้ในด้านการแพทย์ รวมทั้งให้การรักษาพยาบาลแก่คนในท้องถิ่นได้ด้วย
ความจริงแล้ว การหนีออกนอกอเมริกาของบรรดา "ผู้ลี้ภัยทางการแพทย์" นับเป็นอาการที่แสดงถึงปัญหาในระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ เอง แต่การที่คนอเมริกันจะเกิดนิยมในทัวร์สุขภาพขึ้นมานั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำให้สหรัฐฯ ละเลยการปฏิรูปที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขของตนเสมอไป แต่น่าจะกลายเป็นตัวเร่งให้การปฏิรูปเกิดเร็วขึ้นเสียมากกว่าการตระหนักว่า อาจจะต้องสูญ รายได้มหาศาลไปให้แก่อินเดียหรือไทย กำลังทำให้บรรดาผู้บริหารโรงพยาบาลและบริษัทประกันในสหรัฐฯ รู้สึกตกใจ จนเริ่มเพิ่มมาตรฐานการรักษาและเพิ่มความโปร่งใสในในการคิดค่ารักษาพยาบาลแล้ว รวมทั้งพยายามจะทำให้ค่ารักษาถูกลง นอกจากนี้ยังอาจมีการดึงแรงกดดันทางการเมืองเข้ามาช่วยเร่งให้การปฏิรูปด้านการรักษาพยาบาลเกิดเร็วขึ้นอีกด้วย
แต่ทัวร์สุขภาพจะก่อให้เกิดประโยชน์ข้างต้นได้ จะต้องมี การกำจัดอุปสรรคหลายๆ อย่างเสียก่อน ปรากฏว่าในบางแห่งของ สหรัฐฯ ยังมีการห้ามไม่ให้แพทย์ในต่างประเทศให้คำปรึกษาแก่คนไข้ผ่านอินเทอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ขัดขวาง ไม่ให้แพทย์ในชาติกำลังพัฒนาสามารถติดตามผลการรักษาคนไข้ ในสหรัฐฯ ที่เคยไปทัวร์สุขภาพในประเทศกำลังพัฒนาได้ อุปสรรคทางด้านกฎหมายและการประกันก็ทำให้ยากที่นายจ้างจะเสนอสิ่งจูงใจทางการเงินให้แก่ลูกจ้าง เพื่อให้เลือกที่จะไปทัวร์สุขภาพในชาติกำลังพัฒนาแทนการเข้าโรงพยาบาลในสหรัฐฯ ที่แพงกว่า มาก ถึงแม้ว่าในขณะนี้บริษัทประกันในสหรัฐฯ จะได้รับอนุญาตให้สามารถเสนอสิ่งจูงใจเพื่อให้คนไข้เลือกที่จะไปรักษากับแพทย์ที่คิดค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าภายในสหรัฐฯ เองได้แล้วก็ตาม
ในประเทศกำลังพัฒนา ระบบการศึกษาด้านการแพทย์และพยาบาลมักจะเทอะทะและต้องพึ่งงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยากที่จะเติบโต โดยที่ไม่ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณที่อุดหนุนการศึกษาด้านแพทย์และพยาบาลไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาอาจดูฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์อนุญาตให้พยาบาลสามารถทำงานในโรงพยาบาลเอกชนหรือในต่างประเทศได้ หากยอมชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา อีกวิธีหนึ่งคือ ควรแบ่งส่วนหนึ่งจากรายได้ที่มาจากการรักษาคนไข้ชาวต่างชาติไปใช้เป็นค่ารักษาคนยากจนในประเทศกำลังพัฒนานั้นๆ หากรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนา สามารถใช้ประโยชน์เต็มที่จากความเฟื่องฟูของทัวร์สุขภาพที่กำลังจะมาถึง ทัวร์สุขภาพก็คงจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพของคนในชาติร่ำรวยและในชาติยากจนได้พอๆ กัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|