วิสาหกิจที่กระชับ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ประสบการณ์ของคนเข้าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ชั่วโมง เพื่อรอตรวจรักษาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยง เป็นเพราะว่าระบบการจัดการที่ใช้เวลายาวนานของแต่ละแผนก

สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ องค์กรการเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (APO) และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เป็นที่ปรึกษาประจำ โครงการร่วมมือภายใต้โครงการที่เรียกว่า Demonstration Project for Lean Application in Healthcare Industry หรือผนึกความร่วมมือพัฒนาคุณภาพเฮลท์แคร์ ไทย

มีเป้าหมายให้เป็นโครงการต้นแบบพัฒนาโรงพยาบาลภาคสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพโดยใช้แนวคิด Lean พัฒนาบริหารศักยภาพองค์กรเริ่มต้นจากการพัฒนาคน แต่ไม่มีเป้าหมายหลักเพื่อลดต้นทุน

ระบบลีนเป็นระบบที่มีพื้นฐานแนวทางมาจากระบบการบริหารการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่นเพื่อลดความสูญเสียในกระบวนการและสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มในกระบวนการผลิตต่อมาแนวคิดลีนได้แพร่หลายไปสู่กระบวนการงานด้านบริการ

คำว่า "ลีน" (Lean) แปลว่า ผอม หรือบาง แต่ลีนที่นำมาใช้มีความหมายในด้านบวก ถ้าเปรียบเป็นคนหมายถึงคนที่มีร่างกายสมส่วนปราศจากไขมันส่วนเกิน แข็งแรง กระฉับกระเฉง แต่ถ้าเปรียบกับองค์กรหมายถึงกระบวนการทำงานที่ปราศจากความสูญเสียในทุกๆ กระบวนการ มีความสามารถในการปรับตัวตอบสนองความต้องการของตลาดและความเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที

บางครั้งเรียกว่า "วิสาหกิจแบบลีน" แต่หากวัดด้วยเกณฑ์ คุณภาพแห่งชาติ เรียกว่า "วิสาหกิจที่กระชับ"

ระบบลีนเปรียบเสมือนเครื่องมือในการจัดการกระบวนการที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่องค์กร จึงเป็นเหตุผลที่สถาบันเพิ่มผลผลิตและพันธมิตรเลือกที่จะนำมาจัดการระบบโรงพยาบาล เพราะกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนและไม่มีระเบียบ ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน 60-70 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการนำร่อง 5 ราย คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และโรงพยาบาลเสาไห้ โรงพยาบาลชุมชน จังหวัดสระบุรี

โรงพยาบาล 5 แห่ง มีความแตกต่างกันทั้งขนาดองค์กรและความเป็นภาครัฐและเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน 1 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่ง โรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย 2 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง

โครงการมีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2551 ถึง 30 พฤศจิกายน 2552 และ 4 เดือนที่ผ่านมา ได้จัดการอบรมทีมงานของโรงพยาบาลและสถาบันเพิ่มผลผลิตได้เยี่ยมชมโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เพื่อติดตามผลงานอีกครั้งภายใน 3 เดือน หรือเดือนธันวาคมปลายปีนี้

ความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นการลดความสูญเสียของกระบวน การเริ่มจากการปรับปรุงในภาคส่วนต่าง อาทิ ลดกระบวนการซ้ำซ้อนด้านเอกสารของผู้ป่วย จำนวนคิวในการรอคอย การขนย้ายเอกสาร การเคลื่อนที่ของเจ้าหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์และยา

พานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ บอกว่าระบบลีนไม่ใช่เรื่องใหม่ของโรงพยาบาลไทยแต่ระบบดังกล่าวได้มีการทดลองใช้ในศูนย์แพทย์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลารอคอยน้อยลง 2-3 ชั่วโมงจากเดิมที่ต้องออกจากโรงพยาบาล 15.00-16.00 น. แต่ปัจจุบันสามารถออกจากโรงพยาบาลก่อน 14.00 น.

วิธีการทำงานของศูนย์แพทย์ได้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวไว้ที่คนไข้และตรวจสอบความเคลื่อนไหวของคนไข้จากระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถรู้ว่าคนไข้อยู่ ณ จุดใดของศูนย์บริการ และแผนกใดที่มีคนไข้รอจำนวนมากทำให้ตรวจสอบสาเหตุและแก้ไขได้

สิ่งที่นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบัน พัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล กล่าวไว้น่าสนใจก็คือประเทศไทยเป็นประเทศที่เรียนรู้การสร้างคุณภาพมากที่สุดในโลก แต่การนำไปใช้ภาคปฏิบัติมีน้อยเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.