ประเทศไทย...เมืองบันเทิง


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

การจัดงานมหกรรมอุตสาหกรรมบันเทิงไทย 2551 หรือ Thailand Entertainment Expo 2008 โดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา อาจเป็นก้าวแรกของการเดินทางไกลที่ยังไม่รู้ว่าจะบรรลุเป้าหมายเมื่อใด

เพราะโดยเป้าหมายที่จะประกาศความยิ่งใหญ่ และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมบันเทิงไทยระดับภูมิภาค ภายใต้สโลแกน "งานบันเทิงทุกอย่างเกิดได้ที่เมืองไทย" มหกรรมบันเทิงครั้งนี้กลับกลายเป็นเพียงเทรดแฟร์ดาดๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป

ความมุ่งหมายของกรมส่งเสริมการส่งออกที่ต้องการรวบรวมธุรกิจบันเทิงทุกสาขาไว้ที่เดียวกัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ

โดยหวังว่ากลไกดังกล่าวจะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมถึงการยกระดับไปสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจ บันเทิงของภูมิภาคในอนาคตนั้น

ถึงที่สุดแล้ว Thailand Entertainment Expo ในครั้งนี้ยังอยู่ห่างไกลจากการเป็นมหกรรมตามมาตรฐานสากลอย่างไม่อาจเทียบ มิพักต้องกล่าวถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในวงการบันเทิงแต่ละรายที่ดูเหมือนจะให้ความสนใจอยู่อย่าง กระจุกตัวเท่านั้น

ในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นครั้งแรก ที่แยกอุตสาหกรรมบันเทิงออกมาจัดเป็นมหกรรมส่งเสริมการส่งออกอย่างเป็นเอกเทศ

แต่ขณะเดียวกันกรณีดังกล่าวอาจบ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบ การบางรายได้ก้าวพ้นการรอคอยให้หน่วยงานรัฐเข้ามาเป็น คนกลางในการจับคู่ทางธุรกิจไปแล้ว

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่ธุรกิจบันเทิงไทยเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุน
โดยในปี 2550 ที่ผ่านมา ธุรกิจบันเทิงไทยมีมูลค่าการตลาด รวมประมาณ 140,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 160,000 ล้านบาทและมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องอีก

หากแต่ในความเป็นจริง อุตสาหกรรม บันเทิงของไทยไม่ได้เข้มแข็งมากพอที่จะดำเนินการให้ก้าวหน้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่ว่านี้ได้ แม้ว่าจะมีศักยภาพ และคุณภาพมากพอสมควรก็ตาม

เพราะมิติมุมมองของการส่งเสริมธุรกิจบันเทิงไทย ซึ่งได้รับการขับเน้นโดยหน่วยงานภาครัฐอยู่ที่การสนับสนุนให้ประเทศ ไทย เป็นแหล่งถ่ายทำและผลิตภาพยนตร์ ซึ่งไม่ต่างจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมประเภท อื่นๆ ที่เคยย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงก่อนหน้านี้

สิ่งที่กลไกรัฐรวมถึงผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยควรตระหนักน่าจะอยู่ที่การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในเชิงเนื้อหา (content) ที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ควบคู่กับรูปแบบการนำเสนอที่เป็นสากลและมีมาตรฐาน ทางวิชาชีพ

ก่อนที่มหกรรมอุตสาหกรรมบันเทิงไทยที่อาจจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2-3 ในปีต่อๆ ไป จะต้องเปลี่ยนสโลแกนจาก "งานบันเทิงทุกอย่างเกิดได้ที่เมืองไทย" ไปสู่ "ที่เมืองไทย...ทุกอย่างเป็นเพียงงานบันเทิง" ซึ่งย่อมมีนัยความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ที่สำคัญ ย่อมหาประโยชน์และแก่นสารใดๆ ไม่ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.