|
Shell Bitumen เมื่อยักษ์บุก
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
การเปิดศูนย์เทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ยางมะตอย หรือ Shell Bitumen Technology Center อาจให้ภาพเป็นเพียงความเคลื่อนไหวทางธุรกิจปกติ
หากในข้อเท็จจริงของความเป็นไปด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางมะตอย เพื่อรองรับความต้องการในประเทศไทยและอาเซียน นี่คือความเคลื่อนไหวทางยุทธศาสตร์ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
แม้ว่าเชลล์จะเป็นผู้ประกอบการและจัดจำหน่ายยางมะตอย รายใหญ่ที่สุด ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลก โดยมีลูกค้ารวมกว่า 1,600 ราย ใน 35 ประเทศทั่วโลก และมียอด จำหน่ายยางมะตอยรวมมากถึง 15,000 ล้านตันต่อวัน
แต่สำหรับตลาดยางมะตอยในประเทศไทย ซึ่งมียอดการจำหน่ายรวมกว่า 750,000 ตันต่อปี เชลล์กลับมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในอันดับสอง เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น
"ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้งานยางมะตอยมากเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน แต่เทคโนโลยีที่จะรองรับการ เติบโตของอุตสาหกรรมยางมะตอยยังพัฒนาได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ" ธีรพจน์ วัชราภัย ประธานกรรมการ บริษัทเชลล์ แห่งประเทศไทย ระบุ
การรุกคืบเปิดศูนย์เทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ยางมะตอยดังกล่าว ในด้านหนึ่งอาจดำเนินไปภายใต้แผนการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอีกร้อยละ 5 ในปีหน้า แต่นั่นอาจเป็นเพียงองค์ประกอบย่อยของแผนใหญ่ที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนทั้งระบบด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหรืออินโดจีนนั้น มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วและกำลังทวีบทบาทสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้อย่างมีนัยสำคัญด้วย
ความตื่นตัวของภูมิภาคอินโดจีนดังกล่าวส่งผลให้มีการเร่งจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างหลาก หลาย ซึ่งเชลล์ประเมินว่กรณีเช่นนี้จะผลักดันให้ปริมาณความต้องการยางมะตอย สำหรับการซ่อม-สร้าง และปูผิวจราจร รวมถึงสนามบินในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งกว่าช่วงที่ผ่านมา
ในปัจจุบันกว่า 85% ของสนามบินในภูมิภาคเอเชียใช้ผลิตภัณฑ์ ยางมะตอยของเชลล์เป็นวัสดุปูพื้นลานบินอยู่แล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจของ Bitumen Technology Center อยู่ที่การตั้งเข็มมุ่งไปที่การเป็นผู้นำด้าน Road Pavement Solutions ซึ่งมีความหมายกว้างไกลกว่าการเป็นเพียง supplier ยางมะตอยในการก่อสร้างทางเท่านั้น
นอกจากนี้การเชิญนิกร บุญศรี อธิบดีกรมทางหลวงไปร่วมเปิดศูนย์เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ยางมะตอย สะท้อนให้เห็นมิติการทำงานของเชลล์ ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างชัดเจน
"สิ่งที่เชลล์จะดำเนินการถัดจากนี้คือ การประสานกับผู้ประกอบการรับเหมาแต่ละราย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ยางมะตอยที่เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้สามารถคำนวณ ต้นทุนการก่อสร้างและการบำรุงรักษาได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น" Fred Funnell ผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางมะตอยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าว
การรุกคืบของยักษ์ใหญ่อย่างเชลล์ในครั้งนี้จะสัมฤทธิผล อย่างไร คงไม่สามารถประเมินจากท่วงทำนองของเชลล์แต่เพียงลำพังได้
หากต้องพิจารณาความเป็นไปของผู้ประกอบการแอสฟัลต์รายใหญ่ของไทยที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึงกว่าร้อยละ 40-45 ด้วยว่าจะตอบสนองต่อปรากฏการณ์นี้อย่างไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|