ฉีกกรอบประเพณีแบงก์


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลอดช่วงบ่ายต่อเนื่องถึงย่ำค่ำของวันที่ 17 กรกฎาคม บริเวณด้านหน้าอาคารสมัชชาวาณิช 2 ปากซอยสุขุมวิท 33 เต็มไปด้วยความคึกคัก เพราะเป็นวันที่สถาบันการเงิน 2 แห่ง เลือกใช้เป็นวันเปิดตัวให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ ซึ่งฉีกออกไปจากกรอบประเพณี เดิมๆ ที่เคยปฏิบัติกันมาเป็นเวลานับ 10 ปี

ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการนำนวัตกรรมเข้าสู่ธุรกิจธนาคาร ได้เปิด ตัวสาขารูปแบบใหม่ Coffee Banking โดยเลือกสาขาบางกะปิ (สุขุมวิท 33) เป็นแห่งแรก

Coffee Banking เป็นการผสมผสานการให้บริการทางการเงินกับบริการของร้านกาแฟชื่อดังสตาร์บัคส์ โดยเปิดพื้นที่ให้สตาร์บัคส์เข้าไปตั้งร้านให้บริการภายในสาขาแห่งนี้

การตกแต่งบรรยากาศภายในสาขา ได้ปรับปรุงให้มีเอกลักษณ์โดดเด่น แตกต่างจากสาขารูปแบบเดิม โดยเน้นที่สีสันสดใส มีเก้าอี้นั่งคล้ายกับโซฟา ต่างไปจากธนาคารทั่วๆ ไป ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการได้รับความสะดวกสบายและเป็นกันเอง สามารถทำธุรกรรมได้โดยผ่อนคลาย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการให้บริการของธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้ยังมีมุมที่เป็นบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ ซึ่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกเข้ามาใช้บริการได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงพักเที่ยง หลังเลิกงาน หรือหลัง ดินเนอร์มื้อค่ำ

"สาขารูปแบบนี้มีเพียง 3 แห่งในโลก 2 แห่งแรกอยู่ในสหรัฐอเมริกา แห่งที่ 3 คือของธนาคารกสิกรไทย" ธงชัย เจริญสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอก

ชาครีย์ ติรชุลี ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารการขายทางสาขา ให้เหตุผลถึงการเลือกเปิด Coffee Banking แห่งแรกที่สาขานี้ว่าเพราะเป็นย่านที่มีกำลังซื้อสูง และวิถีชีวิตของคนแถบนี้ สามารถเข้ากันได้ดีกับการดื่มกาแฟ

Coffee Banking ของธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงบ่าย 3 โมง หลังจากนั้นอีกเพียง 1 ชั่วโมง บริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) ได้เปิด KTC Boutique Branch ขึ้นบริเวณสำนักงานที่อยู่ติดกับธนาคารกสิกรไทย

คอนเซ็ปต์ของ KTC Boutique Branch คล้ายคลึงกับ Coffee Banking ของธนาคารกสิกรไทย เพียงแต่ไม่ได้ดึงร้านกาแฟชื่อดังเข้าไปเปิดสาขา แต่มีการจัดบรรยากาศของสาขาให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของ ลูกค้าที่เน้นเป็นคนรุ่นใหม่ มีการจัดมุมพักผ่อน มุมสนทนา ที่สำคัญ มีดีเจคอยเปิดเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศ และเป็นคนคอยเรียกลูกค้าให้เข้าไปใช้บริการยังเคาน์เตอร์ตามหมายเลขคิวที่ลูกค้าได้รับ

นิวัตต์ จิตตาลาน กรรมการผู้จัดการ KTC กล่าวว่าการปรับแต่งสาขาในรูปแบบ Boutique Branch นอกจากเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้บริการของลูกค้าแล้ว ยังเป็นการรองรับการขยายตัวของธุรกิจใหม่ๆ ของ KTC ซึ่งประกอบไปด้วย สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loans) สินเชื่อเงินผ่อน (Asset Financing) และระบบการชำระเงิน (Payment Products)

นอกจากนี้ยังเป็นการนำภาพลักษณ์ขององค์กรให้ปรากฏสู่สายตาประชาชน และเป็นการสะท้อนบุคลิกขององค์กร ซึ่งได้แก่ ความเป็นมืออาชีพ (Professional) ทันสมัย (Modern) ไม่หยุดนิ่ง (Dynamic) เป็นมิตร (Friendly) สนุก (Fun) และเรียบง่าย (Simple)

ทั้งธนาคารกสิกรไทย และ KTC ยังจะขยายรูปแบบการให้บริการเช่นนี้ต่อไป โดยธนาคารกสิกรไทยได้มองถึงสาขาทั้งที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้า และย่านชุมชนเพื่อเปิดเป็น Coffee Banking เพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ยังได้มีการติดต่อกับธุรกิจอื่นที่เป็นพันธมิตร ที่จะนำเข้ามาผสมผสานรูปแบบการให้บริการนอกเหนือ จากสตาร์บัคส์ เช่น ร้านให้เช่าวิดีโอ ซึทายา

ส่วน KTC ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิด KTC Boutique Branch ให้ได้ประมาณ 12 สาขาภายในปีนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.