บอนด์ยังผันผวนวอลุ่มซื้อขายหดนักลงทุนเก็บของ


ผู้จัดการรายวัน(30 กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

กองทุนไม่ห่วงตลาดรองซื้อขายตราสารหนี้ได้รับผลกระทบ หลังแบงก์ชาติปรับแผนออกพันธบัตรถี่ขึ้น "อาสา" ระบุ ปริมาณเพียงพอและมีการซื้อขายต่อเนื่อง ส่วนภาพรวมตลาดบอนด์ยังคงผันผวน โดยเฉพาะวอลุ่มซื้อขายที่ลดลง เหตุนักลงทุน-ฟันด์แมเนเจอร์ เก็บสต๊อกไว้เป็นสภาพคล่อง ส่งผลให้ของหายาก ด้าน"พิชิต" ชี้ มาตรการการแก้ปัญหาสภาพคล่อง 7 แสนล้านเหรียญฯ เป็นปัจจัยกดดันหลัก ลุ้นช่วยพยุงให้ระบบการเงินแดนมะกันทั้งระบบอยู่ได้ และต้องไม่กระทบวงกว้างถึงการลงทุนและการบริโภค

นายอาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยการกรรมการผู้จัดการ สายการลงทุนตราหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด หรือ เอวายเอฟ เปิดเผยว่า การปรับแผนออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยการออกในระยะเวลาที่ถี่ขึ้นและจำนวนน้อยลงนั้น ไม่น่าจะส่งผลต่อการซื้อขายในตลาดรองแต่อย่างใด เพราะปริมาณของตราสารที่ออกมายังมีจำนวนมากและเพียงพออยู่ ขณะเดียวกัน ปัญหาของตลาดรองอยู่ที่สถานะของผู้ซื้อมากกว่า ถ้าซื้อแล้วถือตลาดรองก็ไม่เกิด แต่ปัจจุบัน ตราสารที่ถือส่วนใหญ่ มีอายุสั้นๆ เพียง 3 เดือน - 1ปี เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากการออกพันธบัตรดังกล่าวมีอายุยาวมากกว่า อาจจะส่งผลให้ตลาดผันผวนเยอะ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้หรือนักลงทุนที่แอกทีฟ

"ในช่วงนี้ คงจะเห็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นออกมาเยอะขึ้น และได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากขึ้น ส่วนพันธบัตรระยะยาวอาจจลำบากหน่อย เพราะซื้อบอนด์ได้น้อยลง"นายอาสากล่าว

สำหรับแนวโน้มตราสารหนี้ในประเทศ นายอาสากล่าวว่า ในช่วงนี้คงยังผันผวนในแง่ของวอลุ่มในการซื้อขายลดลง เพราะแน่นอนว่าในภาวะที่สภาพคล่องในตลาดมีปัญหาเช่นนี้ นักลงทุนหรือผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ จะต้องสำรองเป็นสภาพคล่องเอาไว้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นพันธบัตรระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือน เพื่อเป็นการประกันเอาไว้ก่อน รวมถึงกองทุนรวมเช่นกัน ถึงแม้ว่าลูกค้าจะไม่ตระหนักมากนัก แต่ก็ต้องสำรองเอาไว้ ดังนั้น จังส่งผลให้พันธบัตรระยะยาวไม่ค่อยมีการซื้อขายกัน

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนดังกล่าว ในระยะสั้นอาจจะส่งผลให้ทำงานยากขึ้น โดยในส่วนของกองทุนปิดระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือนเองอาจจะยังขายได้ แต่ว่าอาจจะหาของได้ยากขึ้นจากการสำรองเอาไว้ ซึ่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยนั้น อาจจะทรงๆ อยู่ในระดับเดิมไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในแง่ของดอกเบี้ยระยะยาวอาจจะปรับขึ้นบ้าง สำหรับนักลงทุน ในช่วงนี้ คงต้องพิจารณาเครดิตของตราสารที่จะเข้าไปลงทุนให้ดี ว่าน่ากลัวหรือเปล่า

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC กล่าวว่า การปรับแผนออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย เชื่อว่าเป็นความต้องการของ ธปท. ที่พยายามให้ความผันผวนของราคาในตลาดมีความสมดุลมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เอง ทางกระทรวงการคลังน่าจะได้ประโยชน์ด้วย

อย่างไรก็ตาม การปรับแผนออกพันธบัตรดังกล่าว ไม่น่าจะส่งผลให้นักลงทุนหันไปเล่นในตลาดหลักมากขึ้นกว่าเดิมจนกระทบต่อการซื้อขายในตลาดรอง เนื่องจากเป็นเพียงการปรับระยะเวลาในการออกตราสารเท่านั้น ในขณะที่ปริมาณรวมของพันธบัตรดังกล่าวยังเท่าเดิมโดยไม่มีการปรับลดลงแต่อย่างใด แต่การปรับแผนออกถี่ขึ้นและออกมาในจำนวนที่น้อยลงนั้น อาจจะทำให้มองว่าปริมาณที่ออกมาอาจจะลดลงไป

"เรื่องนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบ เพราะปริมาณรวมในการออกพันธบัตรยังเท่าเดิม ซึ่งหากปริมาณในการออกยังไม่หายไปไหน การซื้อขายในตลาดรองก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพียงแต่การซื้อขายในตลาดหลักจะถี่ขึ้นเท่านั้น"นายพิชิตกล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่าหลังจากนี้ ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกจะยังต้องเจอกับความผันผวนต่อไปอีกระยะ หลังจากผันผวนอย่างรุนแรงก่อนหน้านี้ โดยปัจจัยหลักๆ ยังคงขึ้นอยู่กับมาตรการการแก้ปัญหาสภาพคล่องในสถาบันการเงินของรัฐบาลสหรัฐ เนื่องจากวิกฤตการเงินดังกล่าว เกี่ยวข้องกับออกบอนด์ในตลาดเพื่อระดมทุนไปแก้ไขปัญหา ดังนั้น จึงทำให้ยังคงเห็นความผันผวนต่อไปอีก

อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เอง ต้องติดตามว่าตลาดขาดแคลนสภาพคล่องมากน้อยเพียงใด แล้วต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปแค่ไหน เพื่อไม่ให้ปัญหาของสถาบันการเงินวิกฤตไปมากกว่านี้ เนื่องจากหากสภาพคล่องในระบบไม่พอ จะส่งผลกระทบก้าวข้ามไปสู่ระบบการเงินทั้งระบบ ซึ่งหากระบบการเงินไม่ทำงาน ก็จะส่งผลกระทบวงกว้างต่อไปถึงการลงทุนและการบริโภคชะลอตามไปด้วย ดังนั้น มี 2 สิ่งที่ต้องติดตามดูในการแก้ปัญหาของสหรัฐในครั้งนี้ นั่นคือ การพยุงให้ระบบการเงินทั้งระบบอยู่ได้ และต้องมองไปข้างหน้าเพื่อไม่ให้กระทบในวงกว้างถึงการลงทุนและการบริโภคด้วย

นายพิชิตกล่าวว่า สำหรับผลกระทบดังกล่าว จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับดอกเบี้ยและสภาพคล่องในประเทศไทยด้วย และน่าจะเห็นชัดมากขึ้น ซึ่งเดิมที ไม่คิดว่าสถานการณ์ในสหัฐจะรุนแรงขนาดนี้ แต่เชื่อว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้วยวงเงิน 7 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐของรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาแล้ว ภาพรวมของปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐ น่าจะเริ่มคลี่คลายได้ภายในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน ก็จะเห็นการควบรวมกิจการระหว่างสถาบันการเงินมากขึ้น ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปด้วย

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเปิดเผยว่า หลังจากที่เกิดปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ธปท.ได้ปรับกลยุทธ์การออกพันธบัตรของ ธปท.ใหม่ โดยเพิ่มความถี่ในการออกพันธบัตรมากขึ้นและลดมูลค่าของวงเงินลง ซึ่งเป็นการปรับให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพตลาด

นอกจากนี้ ยังย้ำว่าขณะนี้ไม่ต้องกังวลว่าสภาพคล่องในตลาดจะตึงตัว เพราะ ธปท.ได้ติดตามดูแลสภาพคล่องในระบบอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว โดยการออกพันธบัตรไม่จำเป็นต้องออกจำนวนมาก แต่ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด พร้อมยืนยันว่า สภาพคล่องในระบบการเงินของไทยในขณะนี้ ยังมีเพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่ง ธปท.ได้ดูแลอยู่แล้ว หากมีปัญหา ธปท.ก็พร้อมอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แม้ว่าในปัจจุบันกฎหมายฉบับใหม่ระบุให้ ธปท.ไม่ต้องขออนุมัติวงเงินการออกพันธบัตรในแต่ละปีจากกระทรวงการคลัง แต่การออกพันธบัตรของ ธปท.แต่ละครั้งจะต้องมีการหารือไปยังสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อไม่ให้พันธบัตรออกสู่ระบบมากจนเกินไปและไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ด้วย ถือเป็นระเบียบทั่วไปในการออกตราสารหนี้ของภาครัฐที่ต้องประสานงานกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.