|
จี้คลังคุมเข้มบาทบอนด์ แบงก์ห่วงสภาพคล่อง
ผู้จัดการรายวัน(30 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาคมธนาคารไทยเปิดเกมรุก ยื่น 5 มาตรการเสนอ รมว.คลังทบทวนและเข้มงวดการออกบาทบอนด์หวั่นกระทบการลงทุนของประเทศในระยะยาว ย้ำแก้ปัญหาสภาพคล่องในระบบ รับมือวิกฤตการเงินสหรัฐ ขณะที่ “สุชาติ ธาดาธำรงเวช” รับข้อเสนอไปพิจารณา ส่วนการตัดสินใจจะเกิดขึ้นภายหลังขอข้อมูลตลาดทุนและประกาศนโยบายของรัฐบาล
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างสมาคมธนาคารไทยและนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง ว่า สมาคมธนาคารไทยได้เสนอแนะมาตรการ 5 ข้อเพื่อให้ รมว.คลังนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือติดตามปัญหาสภาพคล่องที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามการเปลี่ยนแปลงทางการเงินของโลก
โดยข้อเสนอทั้ง 5 ข้อประกอบไปด้วย 1.ต้องการให้ภาครัฐมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์โดยเร็วเพื่อเป็นการกระตุ้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและต่างชาติเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตต่อไปได้ 2.การติดตามดูแลสภาพคล่องในระบบโดยเฉพาะกรณีที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนออกพันธบัตรสกลุเงินบาทหรือบาทบอนด์ในประเทศแล้วนำเงินที่ออกบอนด์นี้ออกไปเป็นสกุลเงินดอลลาร์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของประเทศในระยะยาวได้
“การทำบาทบอนด์แล้วสวอปเงินดอลลาร์ออกนอกประเทศนั้นไม่อยากให้ต่างชาติทำได้ง่ายนักแม้ว่าตอนนี้เมื่อพิจารณาสภาพคล่องโดยทั่วไปแล้วจะยังไม่พบว่ามีปัญหา แต่สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหาจากวิกฤตการเงินของสหรัฐทำให้สภาพคล่องในประเทศต่างๆ หดหาย เราเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีสสภาพคล่องเหลืออยู่หากไม่เก็บเอาไว้แล้วในอนาคตหากต้องการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่แล้วอาจไม่มีเงินลงทุนที่เพียงพอ” นายอภิศักดิ์กล่าว
ขอคลังออกซอฟท์โลนได้โดยตรง
ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวต่อว่า เรื่องที่ 3. ที่สมาคมได้เสนอคือ เรื่องภาษีและผลประโยชน์จากการปรับโครงสร้างหนี้โดยเมื่อปี 2540 ที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤตทางการเงินนั้นรัฐบาลได้มีกฎหมายเพื่อยกเว้นภาษีสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้แต่เมื่อปัญหาคลี่คลายแล้วได้ยกเลิกมาตรการนี้ไป จึงอยากให้รัฐบาลทบวนเรื่องนี้เพราะในอุตสาหกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ถือเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ เนื่องจากหากให้ลูกค้าที่มีปัญหาด้านการเงินต้องเสียภาษีเพิ่มถือว่าไม่สมเหตุสมผลเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว
ข้อเสนอที่ 4. หลังจากที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกเลิกการให้สินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลนแล้ว ต้องการให้กระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งโดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกซอฟท์โลนเอง เนื่องจากยังมีบางภาคอุตสาหกรรมและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินส่วนนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“แต่เดิมแบงก์ชาติจะให้แบงก์พาณิชย์กู้เงินส่วนนี้ไปปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำแต่ภายหลังได้มีการยกเลิกไปแล้วจึงอยากให้กระทรวงการคลังทบทวนอีกครั้งจะหารือโดยให้นำเงินของกระทรวงมาปล่อยกู้แทนเงินของแบงก์ชาติ เพราะยังมีหลายภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการเงินไปขยายธุรกิจรวมทั้งพื้นที่เสี่ยงภัยชายแดนใต้ หรือหากรัฐบาลมีนโยบายที่ต้องการส่งเสริมในบางภาคธุรกิจแบงก์พาณิชย์ก็พร้อมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายนั้น” ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าว
จี้ใช้สินค้าคงคลังเป็นหลักประกันเงินกู้
สำหรับประเด็นสุดท้ายที่สมาคมธนาคารไทยเสนอคือเรื่องของกฎหมายหลักประกัน เนื่องจากที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้เสนอกฎหมายไปหลายครั้งโดยมีประเด็นที่ว่าให้ภาคเอกชนสามารถนำสินทรัพย์ที่เป็นสินค้าคงคลังจากเดิมที่ไม่มีกฎหมายรองรับให้สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีที่สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้น
“ข้อเสนอต่างๆ ที่สมาคมธนาคารเสนอไปนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะเห็นด้วยในประเด็นใดบ้างและนำมาพิจารณาประกาศใช้ ซึ่งสมาคมเป็นห่วงว่าวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นจากสหรัฐได้ขยายมายังยุโรปและประเทศอื่นๆ ประเทศไทยเองก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรนักหากเกิดผลกระทบจะมีการถอนการลงทุนออกไปและกระทบกับสภาพคล่อง ข้อเสนอต่างๆ ที่เสนอไปก็เป็นความประสงค์ดีก็ขึ้นอยู่กับระดับนโยบายของรับบาลจะช่วยหรือไม่” นายอภิศักดิ์กล่าว
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า การที่ ธปท.ได้ออกมาบอกว่าจะทำการออกพันธบัตรรัฐบาลในวงเงินที่น้อยลงไม่ออกเป็นก้อนใหญ่ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่จะทำการค่อยๆ ดูดสภาพคล่อง
"การจะออกนโยบายอะไรของทางการอยากให้มีการอธิบายให้กับต่างชาติให้เข้าใจว่าเราไม่ใช่ว่าอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน ควรอธิบายให้รอบคอบ ต้องอธิบายให้ดี" นายประสารกล่าว
คลังได้แค่รับไปพิจารณา
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังยินดีรับข้อเสนอของสมาคมธนาคารไทยทั้ง 5 ข้อ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับสภาพคล่อง ซึ่งสถานการณ์วิกฤตการเงินที่กำลังเกิดขึ้นกระทรวงการคลังและหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจทั้ง 5 ก็เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดจะต้องประตัวให้ทันและเสนอแนะมาตรการต่างๆ ใช้เครื่องมือที่หน่วยงานทั้ง 5 มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยน้อยที่สุด
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต้องรีบดูและทำอยู่ตลอดเวลา ข้อเสนอทั้ง 5 ที่สมาคมเสนอมาก็จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือที่มีอยู่เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ ซึ่งเรื่องนี้แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และแบงก์พาณิชย์ต่างก็ทำกันอยู่แล้วและจะนำมาคิดพิจารณาร่วมกันรวมทั้งทำงานร่วมกันมองให้ชัดและมองให้ไกลมากขึ้น” นายศุภรัตน์กล่าว
รมว.คลังขอไปทำนโยบายรัฐบาล
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลังกล่าวว่า การหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยครั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่ามีปัญหาอะไรบ้างเกิดขึ้นกับประเทศไทยที่เป็นผลกระทบจากวิกฤตการเงินในสหรัฐ ซึ่งในวันพุธที่ 1 ตุลาคมจะได้ไปหารือกับภาคตลาดทุนเพื่อรวมรวมข้อมูลไปใช้ในการบริหารประเทศ ซึ่งข้อเสนอที่สมาคมธนาคารยื่นมาทั้ง 5 ข้อนั้นในระหว่างนี้กระทรวงการคลังก็จะพิจารณาแต่จะตัดสินใจดำเนินการเรื่องใดบ้างก็ต้องรอให้มีการแถลงนโยบายของรัฐบาลออกมาเป็นทางการเสียก่อน
“ตอนนี้แบงก์พาณิชย์ทุกแห่งก็ดูแลสภาพคล่องของลูกค้าตนเองเป็นอย่างดีแล้วทุกเรื่องที่เสนอมาก็รับไว้พิจารณาการคุยกันวันนี้และในวันพุธเพื่อรวบรวมข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซอฟท์โลน บาทบอนด์หรือเรื่องใดๆ จะตัดสินใจทำหรือไม่ก็ขอให้ประกาศนโยบายของรัฐบาลออกมาก่อน” นายสุชาติกล่าวและว่า หากสื่อมวลชนต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมให้สอบถามได้ที่นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|