เมื่อเวทีเศรษฐกิจการค้า ดำเนินไปท่ามกลางการแข่งขัน
และเพิ่มพูนความได้เปรียบด้วยเทคนิคการบริหารจัดการแผนใหม่ องค์กรวิชาชีพที่มีเกียรติประวัติและความเป็นมายืนยาวใกล้
40 ปี
แห่งนี้ กำลังปรับตัวพร้อมกับแสวงหาแนวทางเพื่อรองรับกับกระบวนการเหล่านี้อย่างมีนัยสำคัญ
การเปิดตัวหลักสูตรพัฒนาผู้บริหาร (Management Development Program : MDP)
ของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association
: TMA) ซึ่งได้เปิดรับผู้สนใจเข้าอบรมรุ่นแรกมาตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม
2546 ที่ผ่านมา หากพิจารณาอย่างผิวเผินหลักสูตรดังกล่าวอาจเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อยืนยันการคงอยู่
และแสวงหารายได้ให้กับองค์กรแห่งนี้ ไม่แตกต่างไปจากกิจกรรมประจำปี ที่คณะผู้บริหารสมาคมฯ
ในแต่ละช่วงปีจำเป็นต้องทำ
ซึ่งนั่นย่อมมิใช่สิ่งที่ ดุสิต นนทะนาคร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทค้าวัสดุซิเมนต์ไทย
(CDC) ในฐานะประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย คนปัจจุบันต้องการ
และพึงใจที่จะดำเนินไปอย่างแน่นอน
เพราะในอีกด้านหนึ่ง หลักสูตรพัฒนาผู้บริหารนี้ได้สะท้อนความพยายามของ
TMA ที่จะหนุนนำพัฒนาการเรื่องการบริหารจัดการภายในองค์กรธุรกิจไทย ให้สามารถยืนหยัดและเบียดแทรกการรุกคืบขององค์กรธุรกิจข้ามชาติได้อย่างเท่าเทียม
"จุดแข็งของ TMA ตั้งแต่อดีตอยู่ที่หลักสูตรการอบรมต่างๆ ซึ่งต้องถือว่าหลักสูตรการบริหารจัดการของ
TMA เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการศึกษาในเรื่องเหล่านี้ อย่างจริงจัง ทั้งในแวดวงการศึกษาและธุรกิจไทย
แต่ใน ช่วงที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจอาจทำให้กิจกรรมส่วนนี้ลดบทบาทไปบ้าง พร้อมกับการเกิดขึ้นของแนวคิดการบริหารแบบใหม่
TMA-MDP จึงเป็นเหมือนการเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง"
ดุสิตบอก
แต่ความสมบูรณ์ที่ดุสิตต้องการเติมให้กับ TMA ดูจะมีมากและกว้างไกลกว่านั้น
การปรับตัวของ TMA ในยุคที่มีดุสิตเป็นประธานสมาคมฯ จึงขยายบริบทไปสู่การสร้างให้เกิดคุณค่าใหม่ๆ
ขึ้นมา ผสานกับพื้นฐานที่มั่นคงดั้งเดิมขององค์กร เพื่อให้สามารถสอดรับกับผู้คนและยุคสมัย
หากเปรียบเทียบเวลาที่ผ่านมาขององค์กรแห่งนี้เป็นประหนึ่งช่วงชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งแล้ว
ต้องนับว่าเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะและมีหลักฐานมั่นคงพอสมควร แต่ความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ประสบความสำเร็จ
ในเชิงธุรกิจนั้น อาจเป็นกรณีที่มิได้เกี่ยวข้องกับอายุเท่านั้น หากยังมีปัจจัยว่าด้วยทัศนะที่ถูกต้องเหมาะควร
และจังหวะเวลาที่ลงตัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากกว่า
ดุสิตเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฯ ในจังหวะเวลาที่สำคัญมากช่วงหนึ่ง
เพราะนอกจากจะเป็นห้วงยามที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกำลังอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อ
ระหว่างการฟื้นตัวและการทรุดลงแล้ว
เขายังเป็นประธานสมาคมฯ ที่กำลังนำพาองค์กร วิชาชีพที่มีความเก่าแก่แห่งนี้เคลื่อนตัวผ่านหลักอายุ
39 ปี เข้าสู่การเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งในปี 2547 ด้วย
"TMA กำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคที่สี่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและท้าทายมาก
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมิได้หมายความว่าสิ่งที่ผ่านมาไม่ดี ไม่ใช่ หากแต่
TMA ต้องมีการปรับตัวให้มีลักษณะที่สามารถเข้าถึงและเข้ากันได้กับผู้คนและสังคมธุรกิจ"
นับตั้งแต่การก่อตั้งสมาคมฯ ในปี 2507 กล่าวได้ว่าในช่วง 10-15 ปีแรกเป็นช่วงเวลาที่บรรษัทจากต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทในการส่งผ่านเทคนิควิธี
ในการบริหารจัดการธุรกิจให้กับสมาชิกขององค์กรแห่งนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น
Shell, Lever Brothers โดยผนวกเข้ากับฐานความรู้ท้องถิ่นที่มีปูนซิเมนต์ไทยเป็นแกนหลัก
ทศวรรษที่ 2520 ซึ่งถือเป็นยุคที่ 2 นับเป็นช่วงเวลาที่สมาคมฯ แห่งนี้
สั่งสมความสำเร็จและเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดองค์กรวิชาชีพอื่นๆ อย่างกว้างขวางพร้อมๆ
กับการที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสมัยของ "วาทกรรมแห่งความโชติช่วงชัชวาล" ขณะที่หลักสูตรการอบรมของสมาคมฯ
ได้รับการพัฒนาไปสู่การเป็นหลักสูตรพื้นฐานสำหรับนักศึกษาวิชาบริหารธุรกิจด้วย
กระทั่งในช่วงปลายของทศวรรษที่ 2530 เค้าลางของการล่มสลายทางเศรษฐกิจได้ครอบคลุมบริบทของธุรกิจอย่างกว้างขวาง
องค์กรแห่งนี้จึงเข้าสู่ภาวะชะงักงันควบคู่กับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดำเนินเนิ่นนานมากว่าครึ่งทศวรรษ
พร้อมกับสัญญาณว่าด้วยการฟื้นตัว ที่แฝงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ดุสิต นับเป็นผู้บริหารระดับสูงของปูนซิเมนต์ไทย คนที่ 5 ที่เข้ามามีบทบาทนำในสมาคมฯ
แห่งนี้ และการเข้าดำรงตำแหน่งประธานสมาคมของเขา เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องหลังจากที่ปูนซิเมนต์ไทย
ได้ผ่านการปรับเปลี่ยนองค์กรภายใน และสามารถก้าวข้ามวิกฤติการณ์มาได้ท่ามกลางการระบุให้เป็นอีกหนึ่งในกรณีศึกษาของแวดวงธุรกิจไทย
"ก่อนหน้านี้ ปูนซิเมนต์ไทยมีบทบาทในสมาคมนี้อย่างมาก ซึ่งหลังจากที่สามารถข้ามพ้นช่วงเวลาที่หนักหน่วงของเรามาแล้ว
นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากอีกครั้งหนึ่งที่ปูนซิเมนต์ไทยจะได้มีโอกาสร่วมกับองค์กรอื่นๆ
สร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคมธุรกิจไทยไปพร้อมกัน"
ทัศนะว่าด้วยการปรับเปลี่ยนของดุสิต ที่มีต่อองค์กรแห่งนี้มีความชัดเจนและนำไปสู่รูปธรรมในทางปฏิบัติบ้างแล้ว
เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ ของสมาคมฯ จากเดิมที่นำอักษรย่อของสมาคมฯ
ทั้ง TMA และ สจธ. มาประกอบเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ที่เน้นความมั่นคงและสะท้อนลักษณะพุ่งทะยาน
มาสู่การวางเรียงตัวอักษร TMA ในแนวระนาบ และสร้างน้ำหนักด้วยการไล่เฉดสีจากเข้มไปหาอ่อน
พร้อมกับการจัดกิจกรรมเปิดตัวตราสัญลักษณ์ใหม่ที่เป็นเสมือนการ re-launch
TMA เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
เป็นการปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ที่เรียบง่าย แต่สะท้อนเรื่องราวมากมาย
เพราะดุสิตมิได้จำกัดอักษร TMA ไว้เพียงการหมายถึงชื่อเรียกขานสมาคมแห่งนี้เท่านั้น
แต่เขาได้เพิ่มเติมคุณค่าให้กับอักษรทั้งสามนี้อย่างน่าสนใจ
"ในทัศนะของผม T หมายถึง trust คือความน่าเชื่อถือ ส่วน M เป็นเรื่องของ
modern มีความทันสมัย และ A คือ active กระฉับกระเฉง ตื่นตัวอยู่ตลอด TMA
ในวัย 40 ปี จึงเป็นเรื่องขององค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ เข้ากับยุคสมัยและเปี่ยมด้วยความตื่นตัวว่องไว"
คุณค่าและความหมายที่ดุสิตเพิ่มเติมเข้าสู่องค์กรแห่งนี้มิได้เกิดขึ้นจากสุญญากาศ
หากเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นและสั่งสมยาวนานจากการที่เขาทำงานเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในปูนซิเมนต์ไทย
องค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมรากฐานที่มีความเกี่ยวพันกับพัฒนาการของสังคมธุรกิจไทย
และเป็นองค์กรธุรกิจแห่งแรกๆ ที่นำเสนอแนวทางในการประกอบธุรกิจด้วยการเน้นเรื่องความเป็นธรรม
(fairness) กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นวาทกรรมยอดนิยมในนามของบรรษัทภิบาลไปแล้ว
นอกจากนี้ การได้มีโอกาสรับผิดชอบกิจกรรมของ บริษัทค้าวัสดุซิเมนต์ไทย
(CDC) ในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมดำเนินไปท่ามกลางความซบเซา ขณะที่รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ
ที่เติบโตขึ้นในนามของ eBusiness กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น ย่อมทำให้เขามีความเข้าใจและตระหนักถึงประเด็นว่าด้วยความทันสมัยเป็นอย่างดี
ประสบการณ์โดยตรงของดุสิต ในฐานะ strategic user หนึ่งในจำนวนไม่มากนัก
ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนองการปรับเปลี่ยนในเชิงยุทธศาสตร์อย่างได้ผล ดูจะเน้นย้ำข้อเท็จจริงนี้
แต่มิได้หมายความว่ากิจกรรมการออกเยี่ยมตัวแทนจำหน่ายของปูนซิเมนต์ไทยในภูมิภาคต่างๆ
ที่ดำเนินมาเป็นประหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติจะลดลงแต่อย่างใด ขณะที่บทบาทและกิจกรรมทางสังคมในมิติอื่นๆ
ที่มีอยู่หลากหลายของดุสิต ทำให้เขาเป็นผู้บริหารที่ดำรงอยู่ด้วยความกระฉับกระเฉง
และในหลายกรณีดำเนินไปในลักษณะที่ถึงลูกถึงคนยิ่ง
"บางครั้งมีภารกิจไม่ว่าจะเป็นการประชุมโดยสมาคมหรือการเจรจาทางธุรกิจกับองค์กรที่ต่างกัน
ในเวลาที่เหลื่อมกัน จะหวังให้รถยนต์ที่เรานั่งไปถึงที่หมายทันเวลาอย่างเดียวไม่ได้
บางทีเราต้องตัดสินใจกระโดดลงเลย มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ต้องเอาละ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
เหมือนกับธุรกิจซึ่งต้องกล้าที่จะเลือก กล้าที่จะตัดสินใจ บนพื้นฐานของความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้น"
เขาเทียบเคียงก่อนที่จะบอก "ผู้จัดการ" อย่างอารมณ์ดีว่า กำลังหาซื้อหมวกนิรภัยติดไว้ในรถยนต์ให้พร้อมสำหรับกรณีฉุกเฉินยามที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นประจำ
ความคิดและบุคลิกภาพส่วนตัวของดุสิตที่ได้สะท้อนออกมานี้ อาจเป็นแรงกระตุ้นสำหรับการกำหนดทิศทางใหม่ของ
TMA แต่ประสบการณ์ในฐานะอดีตนักกีฬารักบี้ฟุตบอล ที่เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีมมากกว่าความสามารถส่วนบุคคล
ทำให้เขาให้ความสำคัญกับคณะผู้บริหารของสมาคมฯ ในการผลักดันภารกิจ re-launch
องค์กรแห่งนี้ไปสู่ความสำเร็จ พร้อมกับการผนวกรวมผู้คนในแวดวงธุรกิจเข้าเป็นเครือข่ายอย่างกว้างขวาง
ซึ่งความสำเร็จของดุสิต นนทะนาคร ในฐานะประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย
ในห้วงเวลาจากนี้จะได้รับการบันทึกไว้อย่างไร เป็นกรณีที่ท้าทายให้ค้นหาคำตอบอย่างยิ่ง