แอร์เอเชียVSเจ็ตสตาร์เกมล้มยักษ์โลว์คอสต์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

การโหมประชาสัมพันธ์กระหึ่มไปทั่วทั้งเอเชียว่าจะยึดโซนแถบอาเซียนและเอเชียของสายการบินต้นทุนต่ำของ เจ็ทสตาร์แอร์ไลน์ ภายใต้อ้อมแขนของ สายการบินแควนตัส จากกลุ่มทุนออสซี่ ส่งผลให้ ดาโต๊ะโทนี เฮอร์นันเดซ (Tony Hernandez) ซีอีโอของของแอร์เอเชีย มาเลเซีย มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานที่มั่นทางการตลาดไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุด

หลังจากที่นำโลว์คอสต์แอร์ไลน์บินเข้ามายังไทย ด้วยเครื่องโบอิ้ง 737-300 ขนาด 148 ที่นั่ง นำร่องเปิดให้บริการใน 2 เส้นทางจากนั้นก็เพิ่มทั้งฝูงบินใหม่อย่าง แอร์บัส A320 เข้ามาพร้อมกับขยายเส้นทางบินไปเรื่อยๆตามหัวเมืองท่องเที่ยวหลักจนกระทั่งล่าสุดมีเส้นทางบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอยู่จำนวนมาก ด้วยการวางตำแหน่งทางการตลาดในราคาถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือต่ำกว่าราคาตลาดที่สายการบินนานาชาติบินกันอยู่

ด้วยโครงสร้างราคาตลาดที่วางไว้ถึง 11 ราคาของแอร์เอเชีย ซึ่งจะมีราคา สูง-ต่ำแตกต่างกันประมาณ 5-10% ขึ้นอยู่กับใครจองก่อน เพราะบัตรขึ้นเครื่องจะไม่พิมพ์เลขที่นั่งให้ผู้โดยสารเลือกเองตามสะดวก ระหว่างบินจะไม่เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม แต่กลับเน้นตัวโปรดักส์ในเครื่องบิน เก้าอี้สบาย มีเทคโนโลยีสมัยใหม่

ด้วยจุดขายนี้เองส่งผลให้ผลประกอบการของ "แอร์เอเชีย"เติบโตแบบดีวันดีคืนสามารถสร้างเม็ดเงินกำไรเข้าสู่บริษัทได้เป็นอย่างกอบเป็นกำ จนทำให้คู่แข่งขันในวงการธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำเกิดการขยายตัวเปิดให้บริการกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศที่นับวันจะมีการขยายตัวและแข่งขันกันมากขึ้น

สอดคล้องกับสายการบินเจ็ตสตาร์ที่เดินหน้าขยายบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศหวังตอบรับความสำเร็จจากการเปิดให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกลในปีแรก ด้วยการเปิดแคมเปญคืนเงินส่วนต่าง 2 เท่าหากมีสายการบินอื่นเปิดจองที่นั่งบนเว็บไซต์ในราคาที่ต่ำกว่าที่สำคัญสายการบินเจ็ตสตาร์มีการเติบโตมากกว่า 3 เท่าหลังจากเริ่มเปิดดำเนินการด้วยการเป็นสายการบินภายในประเทศออสเตรเลียเมื่อ 3 ปีก่อน และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกเกือบ 10 เท่าในปี 2553/2554 และในปีงบประมาณ 2550 ที่ผ่านมา เจ็ตสตาร์ให้บริการรับส่งผู้โดยสารไปแล้วรวมทั้งสิ้นกว่า 7.6 ล้านคน

ส่งผลให้ แอร์เอเชีย ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นสายการบินที่มีค่าโดยสารราคาประหยัดรายแรกของโลกและเปิดบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งในระยะใกล้และไกลมาก่อน

ล่าสุดเส้นทางระยะไกล แอร์เอเชีย ดึง "เวอร์จิ้น บลู" เข้าถือหุ้นส่วนถึง 20% พร้อมตั้งเป้าบุกเบิกธุรกิจโลว์คอสต์เจาะตลาดบินระยะไกลชนิดข้ามทวีป โดยมีเส้นทางนำร่อง กัวลาลัมเปอร์-ออสเตรเลีย พร้อมกับงัดกลยุทธ์เดิมดั๊มฟ์ราคาตั๋วโปรโมชั่นจูงใจนักเดินทางลดลงเหลือเพียง 900-19,000 บาทโดยใช้ฝูงบินก่อนเพียง 1 ลำ ขณะเดียวกันก็มีการสั่งซื้อฝูงบินแอร์บัส A330-300s ใหม่ 15 ลำ ไว้รองรับการขยายเส้นทางตลาดระยะไกลในทันที

โดยมีจุดหมายอื่นที่พร้อมจะเปิดเพิ่มเส้นทาง หางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน หวังเชื่อมเครือข่ายตลาด แอร์เอเชียเพื่อหวังจะเจาะเข้าสู่ออสเตรเลีย สนับสนุนเวอร์จิ้นและช่วยสร้างจุดเชื่อมต่อนักเดินทางจากยุโรปเข้าออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดหลักที่ในทุกๆปีจะมีจำนวนสูงมาก

ความพยายามครั้งนี้เป้าหมายคือจะวางตำแหน่งการตลาดของ แอร์เอเชีย ให้เป็นสายการบินต้นทุนต่ำอย่างแท้จริง เพื่อให้บริการบินระยะใกล้หรือไกลเป็นรายแรก

"การเลือกเปิดตลาดแรกเข้าออสเตรเลีย เพราะมั่นใจว่าตลาดมีความต้องการสูง ขณะเดียวกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดหมาย อันดับต้นๆ ของออสเตรเลีย อีกทั้งกัวลาลัมเปอร์มีศักยภาพส่งต่อผู้โดยสารไปยังจุดหมายอื่นในภูมิภาค เช่น บาหลี โคตากินาบาลู กรุงเทพฯ"โทนี่ กล่าว

ปัจจุบันแอร์เอเชียมีการผลิตนักบินที่สถาบันแอร์เอเชีย อคาเดมี โดยมีนักบินฝึกหัด 400 คน/ปี รวมทั้งสนับสนุนเครื่องบินสำรองแก่แอร์เอเชีย เอ็กซ์ทั้งหมด 10 ลำ เพื่อผลักดันกัวลาลัมเปอร์เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศต้นทุนต่ำของอาเซียน

ขณะที่ เจ็ตสตาร์มีแควนตัส เป็นหุ้นส่วนที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของวงการธุรกิจการบินให้ดูดีขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้กับลูกค้า ด้านแอร์เอเชีย ใช้ เวอร์จิ้น บลู เป็นหุ้นส่วนที่จะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของแอร์เอเชีย ในตลาดโลก รวมทั้งการเชื่อมสัมพันธ์กับสนามบินนานาชาติ

ส่งผลให้ปัจจุบันแควนตัสซึ่งเป็นเจ้าของ เจ็ตสตาร์แอร์เวย์ส กำลังพยายามหาทางย้ายฐานการบินแบบโลว์คอสต์ออกไปจากสิงค์โปร์ ซึ่งมีข้อจำกัดทางสภาพภูมิศาสตร์ทำให้ขาดทุนมาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันการมีสัมพันธ์ทางธุรกิจกับแปซิฟิกแอร์ไลน์จะช่วยให้แควนตัสกับเจ็ตสตาร์เปิดช่องทางทำธุรกิจบินโลว์คอสต์ในตลาดใหญ่อย่างเวียดนาม และในภูมิภาคเอเชียได้

จึงไม่แปลกที่เห็นเจ็ทสตาร์เน้นการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายคือให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกลของเจ็ตสตาร์

“เราเริ่มด้วยการจัดตั้งฐานลูกเรือขึ้นในกรุงเทพฯ ที่รองรับลูกเรือกว่า 100 คน นับเป็นฐานลูกเรือสำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกลเพียงแห่งเดียวของเจ็ทสตาร์ที่ตั้งอยู่นอกประเทศออสเตรเลีย” แหล่งข่าวระดับสูงของเจ็ทสตาร์กล่าว

ปัจจุบัน เจ็ตสตาร์ให้บริการเที่ยวบินซิดนีย์-บาหลี และซิดนีย์-เมลเบิร์นและได้ขยายบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศด้วยการเปิดบริการเส้นทางบินใหม่ระหว่างออสเตรเลีย-มาเลเซีย และการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างแคนส์-โอซากา

ความปลอดภัยสูงสุดกลายเป็นประเด็นสำคัญของธุรกิจการบิน ดังนั้น เจ็ตสตาร์เป็นสายการบินรายแรกของออสเตรเลียที่กำลังจะปรับเปลี่ยนไปใช้ฝูงบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์รุ่นใหม่ รวม 15 ลำ ซึ่งจะนำไปใช้ในเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกล และก้าวขึ้นเป็นสายการบินระหว่างประเทศระดับแนวหน้าที่มีการใช้ประโยชน์จากฝูงบินในอนาคต

สอดคล้องกับที่ปัจจุบัน เจ็ตสตาร์ได้รับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ330-200 ใหม่เพิ่มอีก 2 ลำ ส่งผลให้ฝูงบินแอร์บัส เอ330-200 ของเจ็ตสตาร์มีอายุโดยเฉลี่ยเพียง 3 ปี สำหรับการซ่อมบำรุงฝูงบินของเจ็ตสตาร์อยู่ภายใต้การดูแลและรับผิดชอบของบริษัท แควนตัส เอ็นจิเนียริ่ง นอกจากนี้ การดำเนินงานของเจ็ตสตาร์ยังใช้มาตรฐานความปลอดภัยเดียวกับสายการบินอื่นๆ ในเครือแควนตัส ซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในสายการบินที่มีความปลอดภัยสูงสุดในโลก

ด้าน แอร์เอเชีย กลับมั่นใจที่เปิดให้บริการในเส้นทางบิน เนื่องจากลูกค้าซึ่งเป็นประชากรของไทยและมาเลเซียซึ่งมีอยู่กว่า 70 ล้านคน ในจำนวนนี้จะมีคน 2% ของพลเมืองทั้งหมด เข้ามาใช้บริการเที่ยวบินแอร์เอเชีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลย์ 80% เลือกมาเที่ยวเมืองไทยเป็นอันดับแรก ต่อไปการท่องเที่ยวไทยจะคึกคักมากขึ้น เพราะคนมีโอกาสเลือกเดินทางในราคาถูกลงโดยใช้เวลาเดินทางสั้นลงด้วย

ซีอีโอแอร์เอเชีย กล่าวถึงการลงทุนในครั้งที่เปิดให้บริการครั้งแรกว่า ธรรมดาแอร์ เอเชีย ไม่มีหนี้สิน หลังจากมีแผนเปิดบินเข้าไทยจึงได้กู้เงินจากธนาคารดีบีเอสฯ 1,100 ล้านบาท (100 ล้านริงกิต) นำไปซื้อเครื่องโบอิ้ง 737-300 ซึ่งปัจจุบันมีการทยอยส่งมอบเครื่องบินใหม่รุ่นแอร์บัส A320 นำมาใช้เปิดให้บริการลูกค้าแทนเครื่องบินรุ่นเก่าและคาดว่าภายในปี 2553 แอร์เอเชียจะมีเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A320 อยู่ในมือถึงจำนวน 40 ลำทีเดียว

ว่ากันว่า แอร์เอเชียมีแผนที่จะเปิดข่ายการบินแบบโลว์คอสต์เชื่อมทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ ในภูมิภาคนี้น่าทึ่งจริงๆ หากใครเดินเกมไม่ทันก็จะกลายเป็นผู้ตามทันที

แผนการจัดตั้งสายการบินโลว์คอสต์แห่งที่ 2 นี้ ย่อมจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสายการบินแปซิฟิกแอร์ไลน์ ที่จำหน่ายหุ้นในสัดส่วนเดียวกันนี้ให้กับสายการบินแควนตัส หวังเชื่อมปลายทางต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนั้นการซื้อหุ้นในแปซิฟิกแอร์ไลน์ของแควนตัสก็เพื่อให้สายการบินเจ็ตสตาร์มีโอกาสเปิดตลาดใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่การบินโลว์คอสต์เติบโตอย่างไม่หยุดยั้งในไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สังเกตได้ว่าการรุกคืบของแอร์เอเชีย จะส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนจากออสเตรเลียในแปซิฟิกแอร์ไลน์โดยตรง ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น การปรากฏตัวของฮับการบินเอเชียแห่งที่ 2 ของ แอร์เอเชีย ในเวียดนามยังจะส่งผลโดยตรงถึงสายการบินแห่งชาติเวียดนามแอร์ไลน์สอีกเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีการครอบครองเส้นทางหลักภายในประเทศ ที่ล้วนเป็นเส้นทางทำกำไรแทบทั้งสิ้น

จึงไม่แปลกที่ แอร์เอเชียมีการประกาศขยายเส้นทางใหม่จากไทยและมาเลเซียไปยังฮ่องกง เนื่องจากปัจจุบันแอร์เอเชียมีเครื่องบินใช้งานจำนวน 50 ลำ เป็นเครื่องแอร์บัส A320 จำนวน 15 ลำ กับ โบอิ้ง737-300s อีก 35 ลำ แต่เมื่อปี 2548 บริษัทแม่แอร์เอเชียในมาเลเซียได้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องแอร์บัส A320 ล็อตใหญ่จำนวน 150ลำ ทั้งหมดมีกำหนดจะขึ้นบินได้ในปี 2552

การสั่งซื้อครั้งใหม่นี้จะทำให้แอร์เอเชียเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชย มีเครื่องบินรวมประมาณ 200 ลำมากกว่าสายการบินขนาดใหญ่ในเอเชียทุกสายในปัจจุบัน และยังเป็นสายการบินที่มีเครื่องแอร์บัส A320 ในฝูงมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งท้ายที่สุดว่ากันว่าแอร์เอเชียอาจจะใช้ฐานในเวียดนาม เปิดบินเชื่อมปลายทางต่างๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่อีกด้วย

โมเดลการตลาดที่แยบยลเต็มไปด้วยสงครามหั่นราคาตั๋วโดยสารสำหรับเส้นทางระยะไกลข้ามทวีปแบบนี้ กอปรกับแนวคิดที่จะหาวิธีช่วงชิงลูกค้าให้เข้าไปใช้บริการให้มากที่สุดจึงต้องจับตาดูว่า ระหว่าง แอร์เอเชีย กับ เจ็ตสตาร์ สองเสือผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลว์คอสต์เอเชียและใครจะมีดีกรีพอที่จะสร้างตัวเองให้เป็นผู้นำมากกว่าผู้ตาม!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.